[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

สิ่งมีชีวิตกับสภาพแวดล้อม

                                                                                           สิ่งมีชีวิตกับสภาวะแวดล้อม

     นิเวศวิทยา (Ecology) คือ วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบนิเวศทั้งมวล
     ระบบนิเวศ (Ecosystem) หมายถึง หน่วยของความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตหลายกลุ่มในแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิตที่แวดล้อมอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง
      กลุ่มสิ่งมีชีวิตหรือสังคมของสิ่งมีชีวิต (community) หมายถึง กลุ่มของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือแหล่งที่อยู่เดียวกัน   บทบาทของสมาชิกในแต่ละกลุ่มต่างก็มีความสัมพันธ์กันโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ประโยชน์จากการศึกษากลุ่มสิ่งมีชีวิตมีดังนี้ 
1. เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
2. เพื่อรักษาระดับประชากร ของสิ่งมีชีวิตให้เหมาะสมกับสภาพแหล่งที่อยู่
3. เพื่อกำจัดศัตรูพืช - สัตว์ ด้วยวิธีทางชีวะ
4. เพื่อพิจารณานำสิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศ โดยพิจารณาว่ามีผลกระทบต่อกลุ่มสิ่งมีชีวิตเดิมหรือไม่ 

      แหล่งที่อยู่อาศัย (habitat)   หมายถึง สถานที่ที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆทั่วไป เพื่อใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย, หาอาหาร, หลบภัยจากศัตรู, ผสมพันธุ์, วางไข่ เป็นต้น แหล่งที่อยู่อาศัยนี้มีขอบเขตที่แน่นอน แต่อาจมีขนาดแตกต่างกัน เช่น
      1.แหล่งที่อยู่อาศัยบนบก (terrestrial habitat) สิ่งมีชีวิตพวกนี้ต้องมีระบบร่างกายแข็งแรง สามารถควบคุมการสูญเสียน้ำจากร่างกายได้ แบ่งออกเป็น
             - แหล่งที่อยู่บนผิวดิน (ground habitat)
             - แหล่งที่อยู่ใต้ผิวดิน (underground habitat)
             - แหล่งที่อยู่อาศัยบนต้นไม้ (arboreal habita)
        2.แหล่งที่อยู่อาศัยในน้ำ (aquatic habitat) แบ่งออกเป็น
            - แหล่งที่อยู่ในทะเลหรือมหาสมุทร (marine habitat) เป็นสถานที่ที่สิ่งมีชีวิต มีการดำรงชีวิตแตกต่างกันตามลักษณะที่อยู่ และการหาอาหาร เช่น ปลา ปู หมึกสาย หอยนางรม หอยแมลงภู่ แพลงตอนพืช แพลงตอนสัตว์ เป็นต้น
            - แหล่งที่อยู่เป็นน้ำจืด (freshwater habitat) เป็นสถานที่ซึ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ต้องมีการปรับตัวในด้านต่าง ๆ เช่น มีร่างกายที่แข็งแรงพอที่จะต้านกระแสน้ำได้ หรือมีพฤติกรรมที่ว่ายทวนน้ำ ฯลฯ

       ชีวภูมิภาค (biomes) หมายถึง บริเวณหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่ประกอบด้วย ระบบนิเวศหลายระบบนิเวศมาสัมพันธ์กัน เช่น ทุ่งหญ้าชายป่าดงดิบ เกาะปะการัง ชายฝั่งทะเล เป็นต้น
      โลกของสิ่งมีชีวิต (biosphere) หมายถึง ระบบนิเวศทั้งหมดในโลกนี้มารวมกัน เป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก

                                                           โครงสร้างของระบบนิเวศ ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

       1.สิ่งมีชีวิต (living things หรือ biotic component) ได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทแตกต่างกันไป แต่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและมีความสัมพันธ์กันเองทั้งในรูปแบบเชิงอาหาร มีการถ่ายทอดพลังงานในลักษณะสายใยอาหารและห่วงโซ่อาหาร สัดส่วนของสิ่งมีชีวิตในห่วงโซ่อาหารหนึ่ง ๆ จะมีลักษณะเป็นรูปปิระมิดแบบต่าง ๆ เช่น ปิระมิดจำนวน ปิระมิดของมวลสิ่งมีชีวิต เป็นต้น เราเรียกสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิตว่าเป็นสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ (biological environment)
       2.สิ่งไม่มีชีวิต (non - living things หรือ abiotic component) ได้แก่ สารประกอบอินทรีย์ และอนินทรีย์ มีอยู่ทั้งในดิน น้ำ อากาศ อุณหภูมิ แสงสว่าง ความชื้น แร่ธาตุความเป็นกรด - เบส (pH) กระแสลม 
กระแสน้ำ ไฟ เป็นต้น ที่กล่าวมาจัดเป็นสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (physical environment) ซึ่งมีอิทธิพลในการควบคุมชนิดปริมาณการกระจายและพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต

       ระบบนิเวศในประเทศไทย ที่มีสถานภาพทางกายและชีวภาพแตกต่างกัน หลากหลายกระจายอยู่ในท้องถิ่นทั่ว ๆ ไป ได้แก่
         1.ระบบนิเวศน้ำจืด (fresh water ecosystem) มีทั้งสภาพธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น (ระบบนิเวศจำลอง) เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง คู บึง ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น ซึ่งมีทั้งแหล่งน้ำนิ่ง น้ำเชี่ยว (ซึ่งไม่พบแพลงตอน) เขตน้ำไหลเอื่อยเหมาะกับสิ่งมีชีวิตที่ว่ายไปมา แพลงตอน ไม่เหมาะกับสิ่งมีชีวิตพวกที่เกาะติดกับวัตถุ ระบบนิเวศน้ำจืดอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุและอินทรีย์สาร โดยเป็นแหล่งที่อยู่และประกอบอาชีพที่สำคัญของมนุษย์ด้วย
        ระบบนิเวศจำลอง เป็นการสร้างหรือจำลองระบบนิเวศขึ้นมา โดยจัดเลียนแบบจากระบบนิเวศในธรรมชาติ ซึ่งจัดอยู่ในตู้เลี้ยงปลา (aquarium) ระบบจำลองนี้มีขนาดเล็ก แต่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง และมีอายุของการสมดุลไม่นาน เช่น ในตู้เลี้ยงปลา บรรจุน้ำ ดิน ปลา หอย และสาหร่ายหางกระรอก โดยนำอ่างเลี้ยงปลาไปไว้ให้ถูกแสงบ้าง หอย และปลากินสาหร่ายและถ่ายมูลเป็นอาหารของสาหร่าย สาหร่ายให้ออกซิเจนแก่ปลา หอยและสาหร่ายเอง โดย ปลา หอย ให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แก่สาหร่าย เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง ทำให้เกิดสมดุลอยู่ระยะหนึ่ง ในที่สุดจะเสียสมดุล เมื่อน้ำเริ่มเสีย

         2.ระบบนิเวศทางทะเล (marine ecosystem) เป็นแหล่งรวมที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตแบบต่างๆเช่น
          ก.ระบบนิเวศหาดหิน (rocky shore) ประกอบด้วยชายฝั่งทะเล ซึ่งมีทั้งหาดทรายและหาดหิน เป็นบริเวณที่จะถูกน้ำทะเลซัดขึ้นมาตลอดเวลา ฉะนั้น สัตว์ที่อาศัยบริเวณนี้ต้องคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ได้แก่ แมลงสาบทะเล (ligio) หอยนางรม ลิ่มทะเล หอยหมวกเจ๊ก (limpets) เพรียงหิน เม่นทะเล ดอกไม้ทะเล สาหร่ายสีแดง
        ข.นิเวศหาดทราย (sandy beach) สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระบบนี้ต้องมีการปรับตัวมาก เพราะคลื่นซัดทรายในสภาพที่รุนแรง เช่น ปูลม เคลื่อนที่ได้รวดเร็ว และมีเหงือกใหญ่ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ทนความแห้งแล้งได้ดี นอกจากนี้ยังมีพวกหอยเสียบ หอยทับทิม ชอบฝังตัวหรือขุดรูอยู่ในทราย
        ค.ระบบนิเวศบริเวณไหล่ทวีป ทะเล มหาสมุทร เป็นแหล่งที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย แพลงตอนพืช สัตว์นานาชนิด หญ้าทะเล สาหร่าย กุ้ง หอย ปู ปลา พะยูน โบมา ฯลฯ โดยสิ่งมีชีวิตดังกล่าวอาศัยเป็นแหล่งอาหารในการเจริญเติบโต ทั้งทะเล และมหาสมุทร นับเป็นแหล่งอาหารแหล่งใหญ่ที่สุดของสิ่งมีชีวิต
        ง.ระบบนิเวศแนวปะการัง (coral reef) หรืออุทยานใต้ทะเล ปะการังสืบพันธุ์ด้วยการแตกหน่อเชื่อมติดกันมีสารหินปูนห่อหุ้มลำตัว กลุ่มก้อนปะการังที่สวยงามมาก ได้แก่ ปะการังเขากวาง ปะการังสมอง ปะการังเห็ด ปะการังต้นไม้ ฯลฯ พบที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี หมู่เกาะลันตา จ. กระบี่ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง และที่อื่น ๆ อีกมาก ระบบนิเวศแนวปะการังเป็นแหล่งที่ให้ความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย แหล่งอนุบาล ตัวอ่อนของสัตว์น้ำแต่ละชนิด เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายและให้ผลผลิตสูงมากในทะเล

สาเหตุที่ทำให้แนวปะการังถูกทำลายเพราะ
                1.เกิดจากการทำประมงไม่ถูกวิธี เช่นใช้ระเบิดในการจับปลา
               2.ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงทำลายปะการังแล้วนำมาขายให้นักท่องเที่ยว
               3.ความโลภ เห็นแก่รายได้ฝ่ายเดียว และมีความมักง่ายโยนสมอเรือลงไปโดยปะการัง
               4.การใช้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวไม่ถูกวิธีหรือมากเกินไป
               5.ปัญหาภาวะบริเวณชายฝั่งมีตะกอนที่เกิดจากการทิ้งขยะและการถ่าย เทน้ำเสียจากครัวเรือนและ
โรงงานอุตสาหกรรม
               6.ความเสื่อมโทรมของแนวประการังเกิดจากการระบาดของ ปลาดาวหนาม ซึ่งกินปะการังเป็นอาหาร มีการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็ว

การป้องกันการทำลายปะการัง มีหลายวิธี คือ
              1.ออกกฎหมายลงโทษผู้ทำลายปะการังให้เข้มงวดมีโทษรุนแรง และเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง
              2.ให้การศึกษา และให้ความรู้ถึงความสำคัญของปะการัง แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อให้ทุกคนหวงแหนสมบัติของชาติ
              3.ทำแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่มีปะการังอย่างชัดเจน
              4.สร้างแนวปะการังเทียม และศึกษาวิธีเพาะเลี้ยงปะการัง เพื่อที่จะเพิ่มจำนวนปะการังในระยะยาว 
โดยวางทุ่นรอบ ๆ แนวปะการังกันคนเข้าไป
              5.ไม่ทิ้งขยะหรือถุงพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำ
              6.ช่วยกันกำจัดปลาดาวหนาม ซึ่งมีอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่กองทัพเรือและกรมประมง ได้เริ่มจัดทำแล้ว ปะการังขอประเทศไทยสวยและมีมากติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก
        จ.ระบบนิเวศป่าชายเลน (mangrove forest) ประเทศไทยมีป่าชายเลนหลายแหล่ง แถบจังหวัดชายทะเลในภาคใต้ และภาคตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน้ำกร่อย มีสภาพแวดล้อมต่างจากป่าบกทั้งสภาพดิน ความเป็นกรด-เบส (pH) ความสมบูรณ์ของดิน (N,P,K) ทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลนต้องปรับตัวให้ดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ในแต่ละช่วงวัน
               กลุ่มพืชในป่าชายเลนได้แก่ แสม โกงกาง ลำพู มีรากค้ำจุนช่วยในการพยุงลำต้น มีรากหายใจโผล่พ้นดินขึ้นมา พืชพวกนี้มีใบหนา บางชนิดใบมีขนปกคลุม ใบมีลักษณะอวบน้ำ เพราะมีเนื้อเยื่อกักเก็บน้ำในใบ และที่สำคัญไม่เหมือนพืชอื่น ๆ คือ ผลของพืชพวกนี้มีเมล็ด ซึ่งงอกตั้งแต่อยู่บนต้นแม่ เมื่อหล่นลงสู่พื้นชายเลนก็จะเจริญได้ทันที เพราะผลเรียวยาวเสียบลงในเลนและตั้งเป็นต้น
               สัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลนมีทั้งสัตว์หน้าดิน ได้แก่ หอย ปู ปลาตีน ฯลฯ สัตว์ในดิน และนกจำนวนมาก ป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์อ่อนของสัตว์น้ำ ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในทะเลมากที่สุด เพราะเป็นแหล่งที่ตัวอ่อนของสัตว์น้ำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา เข้ามาอาศัยร่มเงาและหาอาหาร
               ในด้านนิเวศวิทยา ป่าชายเลนจัดว่าเป็นบริเวณที่มีผลผลิตทางชีวภาพสูง มีสัตว์นานาชนิด มีพันธุ์ไม้ที่เป็นพืชสมุนไพร ไม้โกงกางใช้เป็นเชื้อเพลิงที่ให้พลังงานสูงมาก ป่าชายเลนทำให้แผ่นดินงอกเป็นฉากกำบังลม ป้องกันการพังทลายของชายฝั่งรากช่วยกรองกสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ในน้ำลดความเน่าเสียของน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นสถานศึกษาหาความรู้และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อยใจ
               ปัจจุบันป่าชายเลนมีพื้นที่เหลือไม่ถึง 1,128,494 ไร่เท่านั้น จากที่เคยมีอยู่ถึง 2,229,375 ไร่ชั่วระยะเวลาจากการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ. 2504 ถึงปีพ.ศ. 2532

ป่าชายเลนถูกทำลายโดย
              1.การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อตัดไม้ทำฟืนและถ่าน ซึ่งป่าปรับสภาพไม่ทัน
              2.การเปลี่ยนแปลงสภาพป่าไปเป็นนากุ้ง เพาะเลี้ยงสัตว์และทำนาเกลือ
              3.การขยายพื้นที่เมือง ชุมชนอุตสาหกรรม เพื่อตั้งโรงงาน สร้างท่าเรือ      เป็นที่อยู่อาศัยบางแห่งทำถนนตัดผ่านเนื้อที่ผ่าน ทำให้ป่าเสื่อมโทรมหมดสภาพที่จะกลับมาเป็นป่าชายเลนอีก
              4.การทำเหมืองแร่ในป่าชายเลน และการสร้างเขื่อน เป็นต้น

วิธีการแก้ไขในการรักษาแนวป่าชายเลน
              1.จัดระบบการใช้พื้นที่ป่าชายเลนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ มีแผน การใช้ทรัพยากรอย่างมีประโยชน์และคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรควบคู่ไปด้วย
              2.ออกกฎหมายเพื่อวางมาตรการสงวนและคุ้มครองป่าชายเลน โดยกำหนดโทษผู้บุกรุกอย่างรุนแรง เพื่อจะได้ลดจำนวนผู้กระทำผิดลงและชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของป่าชายเลน

ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่งของประเทศและของโลก เพราะ
              - เป็นแหล่งรวมพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าต่าง ๆ
              - เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
              - ผลิตก๊าซออกซิเจน (O2) และช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)   เพราะนำไปเป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์แสง
              - ช่วยควบคุมอุณหภูมิและรักษาความชุ่มชื้นของผิวดินกับอากาศ
              - ลดความรุนแรงของน้ำป่าและการพังทลายของหน้าดินที่เกิดจากกระแสน้ำไหลบ่า
              - เป็นแหล่งสะสมปุ๋ยธรรมชาติ

               จากการสำรวจเนื้อที่ป่าไม้ของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2532 มีประมาณ 153,662.12 ตารางกิโลเมตร ลักษณะของป่าไม้และสังคม สิ่งมีชีวิตในประเทศไทยมีดังนี้

ป่าดิบชื้น (tropical rain forest) เป็นป่าไม้ไม้ผลัดมีฝนตกชุกตลอด พบทางภาคใต้และภาคตะวันออกบริเวณจังหวัดจันทบุรีและตราด เป็นไม้ยืนต้น เช่น ตะเคียน ไผ่ ไม้ยาง หวาย ปาล์ม เถาวัลย์ ไม้กะบากขาว ฯลฯ
ป่าพรุหรือป่าบึงน้ำจืด (fresh water swamp forest) พบตามที่ลุ่มภาคใต้ มีน้ำขังตอดปี น้ำมีความเป็นกรดสูง ดินมักเป็นทรายหรือโคลน พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น กันเกรา สำโรง ฯลฯ
ป่าสนเขา (coniferous forest) มักขึ้นทางภาคเหนือ พืชมีใบเรียวยาว ไม่ผลัดใบ เช่น สน 2 ใบ สน 3 ใบ พลวง เนื่องจากน้ำมันจากสนเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี จึงต้องป้องกันไฟป่าอย่างเข้มงวดและรัดกุม
ป่าเบญพรรณ (mixed deciduous forest) เป็นป่าผลัดใบ พบตามบริเวณภูเขาและที่ราบ เช่น ตะแบก ประดู่ มะค่าโมง ฯลฯ
ป่าแดงหรือป่าเต็งรัง (dry dipterocarp forest) เป็นป่าผลัดใบในฤดูแล้งเป็นป่าโปร่ง เช่น เต็ง รัง เหียง   พลวง พบทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

      ความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพกับสิ่งมีชีวิต
         องค์ประกอบสำคัญในสภาพแวดล้อมของแหล่งที่อยู่ มี 2 ส่วน คือ

            1.สภาวะแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต หรือสภาวะแวดล้อมทางกายภาพ (physical environment) ได้แก่ แสงสว่าง อุณหภูมิ ความชื้น กระแสลม ก๊าซ และแร่ธาตุ
            2.สภาวะแวดล้อมที่มีชีวิต หรือสภาวะแวดล้อมทางชีวภาพ (biological environment) ได้แก่ จุลินทรีย์ พืชและสัตว์ต่าง ๆ

อิทธิพลของสภาวะแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่

แสงสว่าง (Light) มีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิตดังนี้
     - กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชสีเขียว
     - การออกดอก การหุบ-บานของดอกไม้
     - การดำรงชีพและพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต เช่น การออกหากินในเวลากลางวัน แต่ก็มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดออกหากินในเวลากลางคืน เช่น พวกค้างคาว นกเค้าแมว สุนัขป่า ผีเสื้อกลางคืน (moth) เป็นต้น
     - แสง เป็นปัจจัยจำกัดจำนวนของกวางและนกบางชนิด โดยระบบสืบพันธุ์ของสัตว์พวกนี้ขึ้นอยู่กับเวลาของการได้รับแสงในแต่ละฤดู
     - สัตว์ทะเลมักเรืองแสงได้ (bioluminescence) เพราะใต้ทะเลลึกแสงอาทิตย์ส่องลงไปไม่ถึง ฉะนั้นการเรืองแสงเพื่อการมองเห็น การล่าเหยื่อ หรือเตือนภัย
     - ตัวอ่อนของแมลง เช่น ด้วง จะพบในบริเวณที่ไม่มีแสงหรือมีแสงน้อย
     - แม่เพรียง (palolo worm) แห่งหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้จะออกมาผสมพันธุ์กัน ในคืนวันเพ็ญ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายระหว่างเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายนทุกปี โดยปล่อยสารเรืองแสง สเปิร์ม และไข่ออกมาผสมกันในน้ำทะเล เป็นการตอบสนองต่อแสงจันในคืนวันเพ็ญ เรียกว่า ลูนาร์ออเรียนเตชั่น (lunar orientation) 
อุณหภูมิ (temperature) มีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิต คือ
      - การอพยพ (migration) ไปสู่ถิ่นใหม่ที่มีอุณหภูมิเหมาะสมเป็นการชั่วคราว ในบางฤดู เช่น นกนางแอ่นบ้าน จากประเทศจีนมาหากินในประเทศไทย และเลยไปถึงมาเลเซียราวเดือนกันยายนทุกปี ส่วนนกปากห่าง ที่วัดไผ่ล้อม จังหวัดปทุมธานี อพยพจากอินเดีย บังคลาเทศ พม่า ราวเดือนพฤศจิกายน เพื่อผสมพันธุ์กันแล้วก็กลับถิ่นเดิม
      - ความแปรปรวนทางอุณหภูมิภาคพื้นดินมีมากกว่าพื้นน้ำมาก สัตว์หลายชนิดต้องพักตัว เช่น การจำศีลในฤดูหนาว (hibernation) เพื่อลดอัตราเมทาบอลิซึมของกบ การจำศีลในฤดูร้อน (estivation ) ของสัตว์ทะเลทราย ค้างคาว สุนัขป่า เป็นการนอนหยุดพัก หลบหนีอากาศร้อย แล้วหากินในเวลากลางคืน หรือหอยโข่งลาย จะฝังตัวในดินเฉย ๆ เมื่ออากาศร้อน 
ความชื้น (humidity) และน้ำ (water) มีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิต คือ 
     - ความชื้นในบรรยากาศและปริมาณฝน เป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตและจำกัดบริเวณการกระจายของสิ่งมีชีวิต
     - น้ำเป็นที่วางไข่และเจริญของตัวอ่อนแมลงหลายชนิด เช่น ยุง แมลงปอ ชีปะขาว เป็นต้น 
กระแสลม (Wind current) มีอิทธิพลต่อการผสมพันธุ์ของพืชดอก การกระจายของเมล็ดพืชเพื่อขยายพันธุ์ในบริเวณกว้าง 
ก๊าซและแร่ธาตุ (gas and mineral) ในแหล่งน้ำมีก๊าซและแร่ธาตุละลายปนอยู่ ได้แก่ ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน ซึ่งมักมีปริมาณสูงที่ผิวน้ำ เนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนก๊าซกับอากาศจากกระบวนการหายใจและการสังเคราะห์ด้วยแสง บนพื้นดินมีก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าแหล่งน้ำ แร่ธาตุที่จำเป็นแก่พืช คือ N P K
     - ความเค็ม ดินและน้ำมีความเค็มต่างกัน พืชส่วนใหญ่จะไม่สามารถเติบโตได้ในดินเค็ม ฉะนั้นการทำเกลือสินเธาว์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดความเดือดร้อนเกี่ยวกับน้ำดื่ม น้ำใช้ พืชที่เจริญงอกงามดีในพื้นที่ที่มีดินเค็ม คือ ผักบุ้งทะเล ชะคราม มะพร้าว
     - ดินเค็ม ได้แก่ ดินที่มีเกลือเหล่านี้ปริมาณสูงกว่าปกติ คือ Na2SO4, Na3CO3, NaCl, CaSO4, CaCO3, CaCl2, MgSO4, MgCO3, MgCl2 ดรรชนีความเค็มคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เกลือเหล่านี้
     - ความเป็นกรด - เบส (pH) ในน้ำและดินแต่ละแห่งมีสภาพความเป็นกรด - เบส แตกต่างกันไป พืชที่มีรสเปรี้ยว พวกส้ม มะม่วง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความเป็นกรด (pH ต่ำกว่า 4 มีความเป็นกรดสูง pH มีค่าประมาณ 5 มีความเป็นกรดปานกลาง pH มีค่าประมาณ 6 มีความเป็นกรดอ่อน ๆ ) ตามเมืองใหญ่ ๆ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมาก ๆ ปรากฏว่าน้ำฝนมักจะเป็นกรด เพราะ CO2,SO2, NO2, ในบรรยากาศจะทำปฏิกิริยากับน้ำฝน ทำให้ดินและน้ำมักมีสภาพเป็นกรดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  





คลิกที่นี่


โดย:
งาน: งานห้องสมุด
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://www.eduzones.com/vichakan/bio/bio3.html

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 2

อ่าน 0 ครั้ง