|
|
ป่าไม้จังหวัดขอนแก่น
จังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ทั้งหมด 10,885.99 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 6.8 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 3,644.28 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2.28 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 33.57 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด แต่พื้นที่ที่คงสภาพป่าเหลือเพียงประมาณ 509,613 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.50 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด ลักษณะป่าประกอบด้วยไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้รัง ไม้ยาง ไม้ประดู่ เป็นต้น พื้นที่ป่าของจังหวัดขอนแก่น จำแนกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ - พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 22 ป่า เนื้อที่ 1,706,770 ไร่ - พื้นที่ป่าเตรียมการสงวน จำนวน 1 ป่า เนื้อที่ 110,625 ไร่ - พื้นที่ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีที่ยังไม่ได้รังวัดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 1,138 ไร่ ผลการศึกษาและสำรวจพื้นที่พบว่า แหล่งทรัพยากรป่าไม้ของจังหวัดขอนแก่นคงเหลืออยู่น้อยมาก พบได้ในเขตอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ส่วนบริเวณพื้นที่ราบจะพบเป็นหย่อมเล็กๆ ในบางพื้นที่เท่านั้น แหล่งพื้นที่ป่าไม้สำคัญของจังหวัด สรุปได้ดังนี้ 1. พื้นที่ป่าไม้ตะวันตก พบในพื้นที่สำคัญดังนี้ 1.1 เขตป่าไม้ภูเปือย ภูผาม่าน ภูหินกอง ผานกเค้า ภูสามยอด ภูซำคูณ ภูตาดฟ้า ภูแอ่นเซิน ภูถ้ำพระ ภูผักเนา นับเป็นเขตป่าที่สมบูรณ์ที่สุดของจังหวัด ปัจจุบันถูกกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ชนิดป่าไม้ที่พบได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง 1.2 เขตป่าภูเวียง เป็นแนวทิวเขารูปคล้ายมดลูก พื้นที่ป่าไม้จะปรากฎตั้งแต่เชิงเขาทั้งพื้นที่รอบนอกและพื้นที่รอบใน เป็นที่ตั้งอุทยานแห่งชาติภูเวียง ป่าส่วนใหญ่ที่พบจะเป็น ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ 1.3 เขตป่าภูเขาโคก เป็นภูเขาหินปูนที่ไม่ต่อเนื่องกัน แนวทิวเขาหลัก คือ ภูเปือย ภูแอ่นเซิน ภูตาดฟ้า และภูผักเนา จะเป็นภูเขาขนาดเล็กๆโดยล้อมรอบด้วยพื้นที่ไร่ที่เป็นเนินเขา ลักษณะภูเขาเหล่านี้จะเป็นป่าคลุมอยู่หนาแน่นเป็นหย่อมๆตามลักษณะของสันฐานของภูเขา เช่น บริเวณภูถ้ำแกลง ภูผาคำ ภูซำจำปา ภูพาน้องเที่ยว ภูถ้ำจงอาง ฯลฯ 1.4 เขตปลูกสวนป่า ได้แก่ สวนป่าดงลาน 1-5 มีพื้นที่สวนป่าต่อเนื่องกับเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จนถึงภูซำจำปาและภูถ้ำจงอาง 1.5 เขตป่าภูพานคำ ได้แก่ บริเวณตั้งแต่ถ้ำพญานาค ถ้ำปลาพา จนถึงภูพระบาท และพองหนีบที่สร้างเขื่อนอุบลรัตน์ ลักษณะป่าส่วนมากจะเป็นป่าโคกเต็งรัง มีป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งไม่มากนัก 2. พื้นที่ป่าไม้ด้านทิศเหนือ ประกอบด้วย พื้นที่สำคัญดังนี้ 2.1 เขตป่าภูแอ่น-ภูวัด ซึ่งเป็นส่วนเหนือของอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ส่วนมากเป็นป่าเต็งรังในภูเขาหินทราย มีบางแห่งเป็นป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ เช่น บริเวณยอดภูเขาวัดและต้นกำเนิดห้วยคุมมุม 2.2 เขตป่าภูสวนกวาง เป็นเนินเขาเตี้ยๆอยู่ระหว่างรอยต่อของแอ่งโคราชกับแอ่งสกลนคร พืชพรรณส่วนใหญ่จะเป็นป่าโคกเต็งรัง บางแห่งที่มีความชื้นสูง ใกล้ริมธารและบริเวณแหล่งต้นน้ำลำธารจะมีสภาพเป็นป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณเป็นแนวแคบๆ และเป็นหย่อมเล็กๆ 2.3 เขตป่าภูโน ภูเค็ง แนวรอยต่อกับจังหวัดกาฬสินธุ์ ต้นกำเนิดห้วยสายบาตรไหลสู่ลำน้ำพอง ลักษณะป่าไม้เป็นป่าดิบแล้งที่มีไม้ตะเคียนหินมากที่สุดของจังหวัดจะอยู่บริเวณหลังของภูเขา นอกจากนี้ยังพบป่าเบญจพรรณและที่พบมากคือ ป่าเต็งรัง ซึ่งพบบริเวณเชิงเขา ส่วนป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณต่ำในพื้นที่ป่าดงมูลถูกทำลายหมดและเป็นเขต ปลูกพืชไร่ 2.4 เขตป่าวนอุทยานน้ำตกบ่าหลวง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าเต็งรังและเบญจพรรณแล้ง มีพื้นที่ขอบเขตอุทยานประมาณ 500 ไร่ เป็นแนวป่าต่อเนื่องระหว่างภูโนกับภูสวนกวาง 3. พื้นที่ป่าไม้บริเวณดอนกลางและด้านตะวันออกของจังหวัด ประกอบด้วยพืชพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ 3.1 ป่าโสกแต้ เป็นทั้งป่าสงวนแห่งชาติและป่าชุมชนที่ต่อเนื่องมาจากภูเขาภูพาน เป็นพื้นที่ป่ารอยต่อระหว่างอำเภอบ้านฝางและอำเภออุบลรัตน์ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง 3.2 ป่าเนินสนามบินน้ำพองและป่าดงซำ สภาพป่าเป็นป่าโปร่งที่ถูกลักลอบใช้ประโยชน์ และบางส่วนกำลังฟื้นสภาพ พื้นที่บางส่วนเป็นเขตทหารและบางส่วนเป็นสวนป่า เป็นพื้นที่ป่าหย่อมเล็กๆในเขตอำเภอน้ำพอง อำเภอกระนวนและกิ่งอำเภอซำสูง 4. พื้นที่ป่าด้านทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ประกอบด้วย 4.1 ป่าโคกหลวงและป่าตามแนวสันเขา ภูผาคำ ภูผาแดง ภูเม็ง ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง บางแห่งของหุบเขาหรือต้นกำเนิดลำธารจะเป็นป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ 4.2 ป่าภูหัน ภูระงำ พบพื้นที่ป่าในบริเวณเนินเขาเตี้ยๆและเนินเขาโคก ที่มีอาณาเขตของวัดครอบครองอยู่ ส่วนใหญ่เป็นป่าโคกเต็งรังและป่าเสื่อมสภาพ บางพื้นที่เป็นโครงการสวนป่า |
คลิกที่นี่ |
โดย: งาน: งานห้องสมุด อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: http://www.investmentthailand.com/th/FrestDet.asp?p=p08 |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |