|
|
สภาวการณ์ด้านศิลปะการแสดงในประเทศไทยในขณะนี้หากจะมองว่ากำลังรุ่งเรืองขึ้นหรือถดถอยลง ไม่อาจชี้ชัดได้ การเติบโตขึ้นของศิลปะการแสดงสดที่เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่เราประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก การจัดกิจกรรมบันเทิงซึ่งเคยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยสำหรับสังคมในช่วงนั้น ได้รับการพัฒนาด้วยกลไกทางการตลาด การบริหารจัดการ ทำให้ศิลปะการแสดงเหล่านี้กลายเป็น ''สินค้าทางวัฒนธรรม'' ที่สามารถ ''ขายได้'' และสร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบการในวงการนี้มานักต่อนัก
หลายคนคงคุ้นเคยกับการชมคอนเสิร์ตจากต่างประเทศ ดูละครเวที ดูโชว์ตามสถานที่ต่างๆ แม้กระทั่งดูตลกคาเฟ่ ศิลปะการแสดงแบบสดๆ ที่เรียกว่า Live เหล่านี้ โน้มน้าวให้เราควักเงินเสียค่าบัตรผ่านประตู เพื่อเสพความบันเทิงที่เราชอบพูดกันเสมอว่า ''อลังการ'' ได้เป็นอย่างดี เราจึงยอมจ่ายมากเพื่อแลกกับการเสพความอลังการและบรรยากาศสดๆ ของละครเพลงเรื่องยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่ง มากกว่าการชมละครน้ำเน่าจากโทรทัศน์ที่บ้าน หรือบ้างก็จ่ายเพื่อแสดงความมีหน้ามีตาและแสดงสถานะทางสังคม เช่น การชมคอนเสิร์ตหรือการแสดงจากต่างประเทศที่มีราคาค่าบัตรสูงลิบลิ่ว ศิลปะการแสดงเป็นส่วนหนึ่งของ ''วัฒนธรรม'' ซึ่งกินความกว้างไปถึงสภาพวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การดำเนินกิจกรรมทางสังคมของมนุษย์ มนุษย์จึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบวัฒนธรรม และเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดทิศทางของวัฒนธรรมด้วยตัวเอง โดยเฉพาะสังคมไทยเป็นสังคมแบบ ''ว่าอะไร ว่าตามกัน'' เมื่อการแสดงใดได้รับการประชาสัมพันธ์อย่างดี ได้รับการตอบรับจากสื่อ คือ เห็นโฆษณาทางโทรทัศน์อยู่เป็นนิจ ประชาชนให้ความสนใจและกำลังอยู่ในกระแสนิยม การแสดงนั้นย่อมทำรายได้มหาศาลให้กับผู้จัด เป็นเม็ดเงินที่ไหลเวียนอยู่ในธุรกิจบันเทิงประเภทนี้มากมาย หันกลับมามองในมุมอับๆ แคบๆ ของศิลปะการแสดงดั้งเดิมของชนชาติไทย ที่ไม่รู้ว่าคนไทยเราเองลืมไปแล้วหรือยังว่าเรายังมี ''นาฏยศิลป์ประจำชาติ'' อยู่ เด็กไทยปัจจุบันได้ไหลเคลื่อนไปตามกระแสวัฒนธรรมประชานิยม (Popular culture) หรือ ''ตามแฟชั่น'' เด็กทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะเลือกชมการแสดงที่กำลัง ''ป๊อป'' หรือ ''อินเทรนด์'' มิฉะนั้น จะมิได้รับการยอมรับจากเพื่อนพ้อง จึงไม่แปลกเลยที่เด็กที่กำลังเรียนรำไทยหรือสนใจรำไทยจะถูกมองจากเพื่อนกลุ่มหนึ่งว่า ''หัวโบราณ'' หรือ ''เชย'' หรือ ''OUT'' ?!! จากภาวะเช่นนี้จึงเป็นที่น่าวิตกว่า นาฏยศิลป์ไทยจะไปได้รอดสักกี่น้ำ และจะยังคงเหลือถึงลูกหลานของเราในวันข้างหน้าหรือไม่ เหตุใดรำไทยจึง ''ไม่มีใครดู'' ?…. เหตุผลที่เรามักจะได้ยินเสมอๆ คือ …….น่าเบื่อ น่ารำคาญ ชักช้า ยืดยาด ง่วง ไม่มีพลัง (ไม่มี Power เอาซะเลย) เทคนิคแย่ ฉากก็งั้นๆ รำซ้ำไปซ้ำมาอยู่นั่นแหละ ไม่เห็นเข้าใจ ของมันสูงจนปีนบันไดดูไม่ถึง ไม่เห็นอลังการเลย ฯลฯ… เราคงไม่เสียเวลามาแก้ตัวให้นาฏยศิลป์ไทย หรืออธิบายคุณค่าอันแท้จริงให้แต่ละคนฟังได้ เพราะถ้าทำ…คงใช้เวลายาวนานมาก กว่าคนไทยทั้งสังคมจะเข้าใจในมรดกของตัวเอง เปรียบเทียบระหว่างศิลปะการแสดงสากลกับโขนละครรำของไทย เอาอย่างง่ายที่สุด คอนเสิร์ตทั่วๆ ไป ราคาบัตรอยู่ที่ 300 / 500 / 800 บาท โดยประมาณ คนดูแห่กันไปซื้อตั้งแต่เช้ามืด บัตรหมดในเวลาชั่วพริบตา แต่…โขนละครที่โรงละครแห่งชาติ แสดงโดยศิลปินฝีมือระดับชาติ บัตรราคา 30 / 50 / 100 บาท มีฝรั่งหัวทองซื้อบัตรเข้าไปดูรอบละ 20 คน กับบรรดาแฟนละครกรมศิลป์ส่วนหนึ่งเท่านั้น นี่คือสภาพการณ์ของโขนละครไทยในปัจจุบัน เราไม่ได้กล่าวโทษว่าเป็นความผิดของใคร หรือหน่วยงานใดจะต้องรับผิดชอบ เพราะเราเองก็ไม่อาจฝืนกระแสวัฒนธรรมประชานิยมนี้ได้มากเท่าไรนัก เพราะล้วนแต่อยู่รายรอบตัวเราทุกย่างก้าว ไม่เว้นแม้กระทั่งเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ทุกวัน น่าดีใจที่ปัจจุบันกระแสนิยมไทย กำลังจะกลับมา โรงเรียนสอนรำ โรงละคร โรงหุ่น สถานที่ที่เอื้อต่อการจัดแสดงได้เกิดขึ้นมากมายและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะคนกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะเปลี่ยน ''วิกฤต'' ของศิลปะการแสดงของไทยให้เป็น ''โอกาส'' (ทางธุรกิจ) อันดี ทั้งนี้ผู้ประกอบการก็ไม่ควรมองข้ามความเป็น ''ศิลป์'' แห่งงานนาฏกรรม มิใช่มุ่งผลิตเป็น ''มวล'' (Mass product) ที่เน้น ''ปริมาณ'' การผลิตมากกว่า ''คุณภาพ'' นิมิตหมายอันดีนี้น่าจะเป็นอานิสงส์มาจากการที่นาฏยศิลปินกลุ่มหนึ่งยอมรับในเรื่องของการบริหารจัดการทางด้านวัฒนธรรม (Cultural management) ซึ่งแม้ว่าประชาชนในชาติเองจะตอบรับน้อยก็ตามที แต่ก็สามารถทำให้งานนาฏยศิลป์ไทยส่วนหนึ่งกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ตอบรับกับธุรกิจการท่องเที่ยวได้ (มากกว่าเป็นการขายสุนทรียะในชิ้นงานศิลปะ) โรงเรียนสอนรำที่เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยที่เริ่มหันมาสนใจ ''รำไทย'' ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง วัตถุประสงค์เริ่มแรกก็คงมาจากการได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า ''เรียนดนตรีไทย รำไทย จะทำให้เป็นผู้รักษาและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่ดี'' เป็นคำพูดยอดนิยมที่พบเห็นได้ในการประกวดรำไทยทุกเวที ซึ้งบางครั้งเบื้องหลังของภาพเด็กรักรำไทยนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความคาดหวังตั้งใจอย่างยิ่งยวดที่พยายามจะให้ลูกหลาน ''มีความสามารถพิเศษ'' (อะไรก็ได้ขอให้พิเศษกว่าลูกชาวบ้านแล้วกัน) ซึ่งจะเห็นได้จากเด็กบางคน ในวันหยุด…เช้าวันเสาร์เรียนเปียโน บ่ายเรียนภาษาอังกฤษ…สายวันอาทิตย์เรียนบัลเล่ต์ บ่ายเรียนรำไทย ซึ่งมีให้เห็นจริงในสภาพสังคมที่ชอบความเป็น ''ที่สุด'' ในปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกเลยที่ธุรกิจโรงเรียนสอนศิลปะการเต้น โรงเรียนสอนรำ จะได้รับความนิยมในช่วงนี้ ยิ่งมีดาราเป็นผู้ดำเนินกิจการด้วยแล้ว รับรองได้ว่ามีเด็กมาเรียนไม่ขาดสาย …แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทยเหล่านี้ เด็กจะรักวัฒนธรรมไทยจริงหรือไม่ เด็กจะพัฒนาก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพหรือไม่ หรือ ''ลูกชั้นจะเก่งที่สุดไหม'' เป็นคำถามที่ยังไม่มีใครรู้คำตอบ ด้วยเหตุที่นาฏยศิลป์เป็นศิลปะอันลึกซึ้งละเอียดอ่อน การที่จะเข้าถึงต้องใช้เวลาเพาะบ่มเนิ่นนาน กว่าจะรู้ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะรำได้ กว่าจะรำเป็น และกว่าจะรำเลิศ เด็กบางคนพอเริ่มดัดมือก็ท้อเสียแล้ว อยากรำได้เป็นชุดๆ อยากรำฉุยฉายได้เร็วๆ อยากรำเดี่ยวออกแสดงงานโรงเรียนได้ เมื่ออุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครองเป็นอย่างนี้แล้ว โรงเรียนสอนรำก็มีหน้าที่ให้อุปทาน (Supply) สนองความต้องการนั้น จึงไม่แปลกเลยที่เด็กจะรำได้แต่ไม่รู้ความหมายของสิ่งที่ทำ แล้วเด็กเหล่านี้จะเรียนรำเพื่อไปแค่ให้สมาคมผู้ปกครองของโรงเรียนดูแล้วแย่งกันพูดว่า ''ลูกชั้นรำสวยกว่า''เท่านั้นหรือ ทีนี้มาลองมองในแง่ของสถานที่จัดการแสดงนาฏยศิลป์ไทย ซึ่งในปัจจุบันเหลือเวทีหลักๆ ของชาติให้เราได้ติดตามดูเพียงไม่กี่ที่ เช่น โรงละครแห่งชาติ สังคีตศาลาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (เฉพาะฤดูกาล) ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์สังคีตศิลป์ธนาคารกรุงเทพ (ปิดปรับปรุง) จะเห็นได้ว่า นอกจากจำนวนสถานที่ที่มีน้อยกว่าเวทีคอนเสิร์ตที่มีจัดแสดงแทบทุกวันแล้ว บางครั้งบางรายการยังเปิดให้เข้าชมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย กระนั้นเลยก็ยังไม่มีคนสนใจเท่าใดนัก แพะที่มักตกเป็นผู้ต้องหาของสาเหตุนี้ คือ ''การประชาสัมพันธ์'' หากการแสดงไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ ก็มักกล่าวโทษว่าประชาสัมพันธ์ไม่ดี ไม่มีใครรู้ข่าว (นักข่าวก็ไม่ชอบทำข่าวงานแบบนี้ เพราะไม่อยู่ในความสนใจของประชาชนโดยมาก) การแสดงนาฏยศิลป์ไทยจึงรู้กันเฉพาะ ''วงใน'' ไม่เป็นที่ฮือฮาเกรียวกราวเหมือนอย่างการจัดคอนเสิร์ต ศิลปินฝีมือเยี่ยมอย่าง ศุภชัย จันทร์สุวรรณ ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ แห่งกรมศิลปากร ฯลฯ จะไปรำไปแสดงที่ไหนจึงรู้กันเฉพาะในหมู่แม่ยกด้วยกันเท่านั้น แนวทางที่จะพัฒนาแบบคู่ขนาน ทั้งตัวผลงานการแสดงเองและผู้ชมการแสดง คงจะต้องทำกันอย่างเร่งด่วน หากยังไม่มีคนที่จะทำหน้าที่สานต่อความรู้ ภูมิปัญญาและสร้างกระแสให้ ''รำไทย'' เป็นที่นิยมอย่างศิลปะการแสดงสดแขนงอื่นๆ บ้าง แม้ว่าตลาดศิลปะการแสดงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาไปเป็นรูปแบบที่เป็นการแข่งขันเชิงธุรกิจและอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นผลดีหากการมีมากขึ้น เป็นการแข่งขันกันในเชิงคุณภาพ ด้วยการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด การชูจุดเด่น สร้างจุดขาย เพื่อดึงดูดความสนใจจากคนไทยด้วยกันเอง (มิใช่มุ่งที่นักท่องเที่ยวแต่ฝ่ายเดียว) ทั้งนี้การสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนก็เป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ศิลปะการรำของไทยยังอยู่รอดสืบต่อไป ไยเราจึงดูแคลนของของเราเองอยู่เล่า เราจะลืมเลือนค่าแห่ง ''ศิลปะ'' ที่ไทยเราคิดขึ้นเอง และผลิตจากมันสมองของเราเอง กระทั่งต่างชาติยังต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาดู ''ของแท้'' (Authentic Art) ของเราหรือ …อย่าให้ความรู้สึกของเราที่มีต่องานศิลปะประจำชาติเป็นเพียงแค่ …''เออ รำไทย อ่อนช้อยดี''… |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม |
โดย: งาน: ศิลปะการแสดง อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: ธรรมจักร พรหมพ้วย |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |