[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ผลิตภัณฑ์ประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5


ผลิตภัณฑ์ประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5  ปี 2001 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดไฟสูงสุด


ประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า

            จากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ระหว่างปี 2520 – 2540 ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ เพิ่มสูงขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10-15 ต่อปี โดยในปี 2540 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศมีปริมาณเท่ากับ 14,506 เมกะวัตต์ และคาดการณ์กันว่า ในปี 2544 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศจะสูงถึง 30,587 เมกะวัตต์

             การผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นให้เพียงพอกับความต้องการที่สูงขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัดนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในแง่ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศแล้ว ยังทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศโดยรวมสูงขึ้น อันเนื่องมาจากแหล่งทรัพยากรพลังงานที่มีอยู่จำกัดภายในประเทศ ได้ถูกนำมาใช้จนมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง การผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาผันผวนอยู่ตลอดเวลา ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของประเทศไทยสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกลดลง การจัดการให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุดจึงเป็นทางออกอีกทางหนึ่งของปัญหานี้ ซึ่งนอกจากจะทำให้การเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศชะลอตัวลงแล้ว ยังทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของประเทศถูกลง

             เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2534 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ โครงการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DEMAND SIDE MANAGEMENT หรือ DSM) โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เป็นผู้ดำเนินการและมีการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนโครงการ ฯ และได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ “โครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า” เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2536 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 100 ปี ของการใช้หลอดไฟฟ้าหลอดแรกในประเทศไทย ดังนั้น กฟผ. จึงได้เพิ่มบทบาทจากการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ามาเป็นผู้สนับสนุนให้มีการใช้ไฟฟ้า อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

             ถึงแม้ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาจะหยุดชะงัก ทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานไฟฟ้าชะลอตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าวิกฤติการณ์ด้านการใช้ไฟฟ้าของประเทศจะหมดไป เศรษฐกิจของไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะเจริญเติบโตอีกครั้งไม่วันใดก็วันหนึ่ง และเมื่อถึงวันนั้น การเตรียมพร้อม โดยการจัดการให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในวันนี้ ย่อมส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษบกิจของไทยในวันหน้าเป็นไปอย่างยั่งยืน

             โครงการประชาชนร่วมใจประหยัดไฟฟ้า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเพราะตลอดระยะเวลาดำเนินงาน 6 ปีที่ผ่านมา ได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากประชาชนในฐานะผู้บริโภค และความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี การประหยัดพลังงานของชาติในช่วงที่ผ่านมา จึงปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมจนหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศแสดงความชื่นชมยกให้เป็นกรณีตัวอย่างของโครงการที่ประสบความสำเร็จ และได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก

ประชาร่วมใจ วิถีชีวิตแบบไทย

             โครงการประชาร่วมใจประหยัดไฟฟ้า ตระหนักดีว่าการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ว่าการเรียนรู้แนวทางและวิธีดำเนินการจากประเทศอื่น ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่มิได้หมายความว่าเราจะสามารถลอกเลียนวิธีการที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาใช้กับประเทศไทยได้โดยตรง

             การดำเนินการโครงการประชาร่วมใจประหยัดไฟฟ้า จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อมั่นที่ว่า ความสำเร็จของโครงการขึ้นอยู่กับการเลือกแนวทางปฏิบัติให้เหมาะสมกับวัฒนธรรม และต้องสอดคล้องกับอุปนิสัยรักอิสระของคนไทย การดำเนินงานจึงเน้นที่การรณรงค์ จูงใจให้คนไทยร่วมมือ แทนการใช้วิธีบังคับอย่างที่ใช้กันในบางประเทศ นอกจากนี้มาตรการใด ๆ ที่นำมาใช้จะต้องทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์กลับคืนเท่าเดิมหรือมากกว่าจากการประหยัดไฟฟ้า

             จากปรัชญาการดำเนินการที่คำนึงถึงความเหมาะสมกับลักษณะวิถีชีวิตแบบไทย กฟผ. จึงได้วางวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งเป้าหมายที่จะรณรงค์ให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้า ผลิตและนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและมีราคาประหยัด ให้ความรู้ จูงใจและเสริมสร้างทัศนคติการประหยัดไฟฟ้าแก่ประชาชนผู้บริโภค นอกจากนี้ยังสนับสนุนและแสวงหาเทคโนโลยีการประหยัดไฟฟ้า รวมถึงการบริหารการใช้ไฟฟ้า (Load Management) เพื่อนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ผลสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรมในช่วง 6 ปีที่ได้ดำเนินโครงการมา เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า โครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า ได้ดำเนินการไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว ประชาชนชาวไทยพร้อมที่จะร่วมใจกันประหยัดพลังงานของชาติอย่างจริงจัง

โครงการฉลากเบอร์ 5

                  “ฉลากเบอร์ 5” หรือชื่อเป็นทางการว่า ฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้า ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมีประสิทธิภาพและการประหยัดอย่างแพร่หลายภายใต้ความสำเร็จในการติด “ฉลากเบอร์ 5” บนอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นอีกโครงการหนึ่งของ โครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า ที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในอันที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรพลังงานของประเทศ ด้วยการรณรงค์ให้มีการผลิตและเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ถือเป็นปรากฎการณ์ที่เป็นแบบอย่างแห่งความสำเร็จที่น่าชื่นชมของความร่วมมือร่วมใจในสังคมไทยที่เป็นไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

             การดำเนินการ “ฉลากเบอร์ 5” ของโครงการประชาร่วมใจใช้ตู้เย็นประหยัดไฟฟ้าและโครงการประชาร่วมใจใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้าที่ผ่านมา เป็นการผลักดันให้เกิดตลาดตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพขึ้นในประเทศไทย และส่งผลให้เกิดมาตรฐานประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยังต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดอื่นให้เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

             ในปี 2544 กฟผ. ได้มีการผลักดันให้มีการปรับค่าระดับประสิทธิภาพสำหรับตู้เย็นเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ในการประหยัดพลังงานจากการใช้ตู้เย็นเพิ่มขึ้น 110.55 ล้านหน่วย และในการเพิ่มระดับประสิทธิภาพ ทำให้รูปแบบของฉลากเบอร์ 5 เป็นรูปแบบใหม่ซึ่งจะสังเกตได้จากตัวเลข 5 ที่ใหญ่ขึ้นแสดงถึงประหยัดไฟได้มากขึ้นและมีตัวเลข 2001 อยู่ด้านหลังเด่นชัดบอกให้รู้ว่าได้มาตรฐานใหม่

              ในอนาคต กฟผ. จะส่งเสริมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายใต้ “ฉลากเบอร์ 5” ให้มีการพัฒนาเข้าสู่ตลาดเมืองไทยอย่างกว้างขวางเพิ่มขึ้น อาทิ หม้อหุงข้าว เตารีด พัดลม ตู้แช่ เป็นต้น และยังเป็นการผลักดันให้มีสถาบันทดสอบประสิทธิภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นภายในประเทศต่อไป

การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสำคัญอย่างไร

               สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเลย คือ คุณภาพของสินค้าและราคาค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายตลอดเวลาการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนั้น การเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ หมายถึงสินค้าคุณภาพดีที่มักใช้อุปกรณ์และส่วนประกอบที่มีคุณภาพ ประกอบกับการรู้วิธีการใช้ที่ถูกต้อง จะทำให้ผู้ใช้สามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้แม้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพดี จะมีราคาสูงกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยทั่วไป แต่ถ้าคำนึงถึงการใช้งานในระยะยาวแล้ว เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพดีจะให้ผลที่คุ้มค่ากว่าในทุกด้าน

               ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เครื่องใช้ไฟฟ้าถูกผลิตขึ้นมาใช้อย่างมากมาย จนเกือบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเสียแล้ว ปริมาณเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นเท่าใด ย่อมหมายถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มตามขึ้นมาอีกด้วย

               แม้ว่าการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยประหยัดไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ต้องคิดเป็นสิ่งแรกแล้ว การใช้หรือวิธีการใช้งานก็จำเป็นต้องใช้อย่างถูกต้องด้วย จึงจะเป็นการประหยัดอย่างแท้จริง เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดมีลักษณะการใช้ที่แตกต่างกันออกไป

ก่อนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องคิดถึงอะไร

               สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ควรดูว่าเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นกินไฟมากน้อยเพียงใด โดยดูจากแผ่นป้ายที่บอกไว้ที่ตัวเครื่องว่ากินไฟกี่วัตต์ จำนวนวัตต์มากจะเสียค่าไฟฟ้ามาก การซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าคุณภาพดีสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ตลอดอายุการใช้งานและควรเลือกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ในคุณภาพ ผ่านการรับรองคุณภาพของจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ด้วย

               นอกจากนี้การติดตั้งและบำรุงรักษา ก็ต้องมีการศึกษาชนิดของเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆ ควรมีระบบการติดตั้งไม่ยุ่งยาก อะไหล่หาง่าย เพื่อให้ผู้ใช้สะดวกไม่ต้องเสียค่าซ่อมบ่อย อายุการใช้งานนานขึ้น แล้วยังทำให้เกิดการประหยัดไฟฟ้าอีกด้วย

อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าใช้อย่างไรให้ประหยัด

               การประหยัดไฟฟ้าจะสัมฤทธิ์ผลได้นั้น ต้องเริ่มจากความตั้งใจและจริงจังต่อตนเอง ภายใต้ “จิตสำนึก” ที่ต้องคิดเสมอว่า “จะประหยัดพลังงานและเงินค่าไฟฟ้า” โดยอาศัยหลักการเบื้องต้นของการประหยัดไฟฟ้า ด้วยการเลือกใช้เครื่องไฟฟ้าให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ ความจำเป็นและจำนวนสมาชิก เพื่อที่จะได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง พร้อมทั้งตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอและดูว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดกินไฟมากน้อยเท่าใด เพื่อที่จะได้เลือกใช้ให้ถูกต้องตามความเหมาะสม

หลอดประหยัดไฟฟ้า

               “หลอดไฟฟ้า” เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญของทุก ๆ ครัวเรือน และทุก ๆ สถานที่ที่ใช้ไฟฟ้าแบ่งประเภทของหลอดตามวัสดุของหลอด เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ (หลอดนีออน) , หลอดอันแคนเดสเซนต์ (หลอดไส้) , หลอดไฮเพรสเซอร์ โซเดียม (หลอดแสงจันทร์) , หลอดคอมแพค ฟลูออเรสเซนต์ (หลอดตะเกียบ) เป็นต้น

                ในปี 2536 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยสำนักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า ได้ดำเนินโครงการ “ประชาร่วมใจ ใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า” โดยมุ่งเน้นความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตหลอดไฟฟ้าภายในประเทศที่ผลิตหลอดฟลูออเรสเซนต์จากเดิมขนาด 40 วัตต์ และ 20 วัตต์ (หลอดอ้วน) เปลี่ยนเป็นขนาด 36 วัตต์ และ 18 วัตต์ (หลอดผอม) แทนตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2536 เป็นต้นมา จากการประเมินผลงานที่ผ่านมา (2536 – 2541) สามารถลดการผลิตไฟฟ้าลงได้ถึง 394 เมกะวัตต์ และลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์อันเนื่องมาจากการผลิตไฟฟ้าลงได้ถึง 1 ล้านตัน

                 การรณรงค์ให้ประชาชนเปลี่ยนการใช้หลอดอินแคนเดสเซนต์ (หลอดไส้) มาเป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (หลอดตะเกียบ) เพราะได้มีการพัฒนารูปทรงและการใช้งานของหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ โดยอาศัยสารเคลือบภายในที่มีประสิทธิภาพสูงให้แสงสว่างมากขึ้นแต่กินไฟน้อยลง รูปทรงที่พัฒนานี้สามารถนำมาทดแทนหลอดไส้ที่ใช้กันมาแต่เดิมตัวหลอดมีความกะทัดรัดและมีกำลังส่องสว่างสูง มีอายุการใช้งานนานกว่าหลอดไส้ประมาณ 8 เท่า หรือ 8,000 ชั่วโมง และใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหลอดไส้ประมาณ 4 เท่า หรือประมาณร้อยละ 75 ในขณะที่ปริมาณแสงเท่ากัน อีกทั้งความร้อนจากหลอดตะเกียบจะน้อยกว่าหลอดไส้มาก ดังนั้นจึงเป็นการลดการใช้เครื่องปรับอากาศไปในตัวอีกด้วย

                 สำหรับโครงการ “ประชาร่วมใจ ใช้หลอดตะเกียบประหยัดไฟ” เป็นโครงการที่ กฟผ. จัดทำขึ้นเพื่อติดฉลากเบอร์ 5 ให้กับหลอดตะเกียบที่เข้าร่วมโครงการ ฯ โดยหลอดตะเกียบดังกล่าวจะต้องผ่านการทดสอบทั้งด้านความปลอดภัยและอายุการใช้งาน โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะทำให้ประชาชนผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหลอดตะเกียบประหยัดไฟฟ้าได้ง่ายและสะดวกขึ้น

ประโยชน์ของการใช้หลอดคอมแพคประหยัดไฟฟ้า

                หลอดคอมแพค ฯ กินไฟเฉลี่ยเพียง 25 % หรือกินไฟน้อยกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับหลอดไส้โดยให้แสงสว่างเท่ากันอายุการใช้งานนานกว่าหลอดไส้ 8 เท่า หรือประมาณ 8,000 ชั่วโมง (หลอดไส้อายุการใช้งานประมาณ 1,000 ชั่วโมง) ขณะใช้งานหลอดจะมีความร้อนออกมาน้อยกว่าหลอดไส้มาก จึงช่วยลดภาระของเครื่องปรับอากาศและช่วยประหยัดไฟฟ้า หลอดคอมแพคบัลลาสต์ภายใน สามารถนำไปติดตั้งแทนหลอดไส้ชนิดเกลียวได้ทันที ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการเปลี่ยนหลอด เนื่องจากสามารถใช้งานได้ยาวนานถึง 8,000 ชั่วโมง

ไฟฟ้าแสงสว่างประหยัดอย่างไรให้ได้ผล

                สิ่งสำคัญ คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษเพื่อลดการสูญเสีย จะทำให้ประหยัดเงินค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้ การประหยัดก็สามารถทำได้ด้วยการปิดสวิตช์เมื่อไม่ใช้งาน เมื่อไรก็ตามที่ออกจากห้อง ต้องแน่ใจว่าดับไฟเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลาสั้น ๆ ก็ตาม เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟ เมื่อต้องการจะเปลี่ยนหลอดไฟใหม่ควรใช้หลอดผอม หรือหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ใช้แสงสว่างเท่าที่จำเป็น ควรใช้หลอดไฟที่มีจำนวนวัตต์น้อย ๆ ก่อนเพื่อดูว่าแสงสว่างนั้นเพียงพอหรือไม่ โดยการทดลองใช้วิธีนี้สำหรับทางเดินในบ้าน ชั้นล่างตึก ห้องที่ไม่ต้องใช้สายตามากนัก ในกรณีที่จำเป็นต้องเปิดไฟในบ้านหรือห้องนอนไว้ทั้งคืน ควรใช้หลอดไฟวัตต์ต่ำ ๆ ที่มีขาเสียบเป็นชุดสำเร็จรูป ซึ่งเสียบเข้ากับเต้ารับเปิดแทนหลอดไฟเดิมจะทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้มาก ใช้โคมตั้งโต๊ะในจุดที่ต้องการใช้แสงสว่างเฉพาะแห่ง เช่น อ่านหนังสือ เย็บปักถักร้อย จะประหยัดกว่าการต้องเปิดไฟทั้งห้อง ทั้ง ๆ ที่ต้องการแสงสว่างเพียงจุดเดียว

                การเลือกใช้โคมไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง เป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรคำนึงถึง เพราะอาคารสำนักงานหรือบ้านที่อยู่อาศัย ที่ยังใช้โคมไฟชนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำ สะท้อนแสงได้น้อย ต้องใช้หลอดตั้งแต่ 2 – 3 หลอด ถ้าเปลี่ยนมาใช้โคมไฟชนิดที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งมีแผ่นสะท้อนแสงทำด้วยอะลูมิเนียมขัดเงาหรือเคลือบโลหะเงินเพิ่มเข้าไปในตัวโคมไฟ จะสามารถลดจำนวนหลอดลงได้จากเดิม 2 หลอด เหลือเพียง 1 หลอด และจากเดิม 3 หลอด เหลือเพียง 2 หลอด โดยแสงสว่างจะยังคงได้เท่าเดิม จึงช่วยให้ประหยัดไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลย คือ การทำความสะอาดหลอดไฟและโคมไฟอยู่เสมอ เพราะฝุ่นละอองที่เกาะที่หลอดไฟจะทำให้แสงสว่างน้อยลง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ต้องเปิดไฟหลายดวงเพื่อให้ได้แสงสว่างเท่าเดิม หลีกเลี่ยงการทาสีผนังและเพดานห้องด้วยสีทึบแสง เนื่องจากสีผนังและเพดานห้องที่ทาด้วยสีอ่อนจะช่วยสะท้อนแสงและจะช่วยลดจำนวนหลอดไฟลงได้

ตู้เย็นเบอร์ 5

                    “ตู้เย็น” เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมากรองจากเครื่องปรับอากาศ เพราะจำเป็นต้องเสียบปลั๊กตลอดเวลาเพื่อรักษาความเย็นในตู้เย็น ทุกวันนี้ตู้เย็นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นสำหรับทุกครอบครัวและความต้องการใช้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นถึงปีละ 1 ล้านตู้ ตู้เย็นที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีให้เลือกหลายขนาดตั้งแต่ 1 – 2 คิว ประตูเดียว จนถึง 14 – 15 คิว 6 ประตู กินไฟตั้งแต่ 50 – 200 วัตต์ จะเห็นได้ว่าตู้เย็นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมากและต่อเนื่องตลอดอายุการใช้งาน เพราะใช้ไฟตลอดเวลาค่าใช้จ่ายสำหรับตู้เย็นบางยี่ห้อจะใช้ไฟฟ้าเพียงหนึ่งในสามหรือครึ่งหนึ่งของอีกยี่ห้อที่มีขนาดเดียวกัน ซึ่งหมายความถึงผู้ใช้สามารถประหยัดได้หลายร้อยบาทต่อปีถ้ารู้จักเลือกซื้อและใช้อย่างถูกวิธี การเลือกซื้อตู้เย็นนอกจากจะต้องคำนึงถึงราคาแล้ว ควรพิจารณาถึงลักษณะและระบบของตู้เย็นเพื่อประหยัดพลังงานด้วย เพื่อเป็นการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กฟผ. จึงหันมาสนใจและรณรงค์ให้มีการผลิตตู้เย็นประหยัดไฟฟ้าขึ้น โดยในเริ่มแรกได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตจำนวน 5 บริษัท ที่จะผลิตตู้เย็นประหยัดไฟฟ้า
ตู้เย็นประหยัดไฟฟ้า จะมีฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพเป็นสติ๊กเกอร์ติดอยู่ที่ตู้เย็น โดยฉลากนี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองคุณภาพด้วยการกำหนดหมายเลขแสดงประสิทธิภาพ ดังนี้

                 เลข 5 ดีมาก หมายถึงประสิทธิภาพสูงสุด
                 เลข 4 ดี หมายถึงประสิทธิภาพสูง
                 เลข 3 ปานกลาง หมายถึงประสิทธิภาพปานกลาง
                 เลข 2 พอใช้ หมายถึงประสิทธิภาพพอใช้
                 เลข 1 ต่ำ หมายถึงประสิทธิภาพต่ำ

               ฉลากประหยัดไฟบนตู้เย็นมีรายละเอียดบอกให้ทราบว่า ตู้เย็นเครื่องนั้น ๆ ใช้พลังงานไฟฟ้าเท่าใดต่อปี คิดเป็นจำนวนปีละเท่าไร เพื่อใช้ในการเลือกซื้อโดยดูเพียงฉลากประหยัดไฟที่ติดอยู่กับตัวตู้เย็น

การเลือกซื้อตู้เย็นประหยัดไฟฟ้า

               การเลือกซื้อตู้เย็นในปัจจุบันไม่ยากนัก เพราะมีหน่วยงานที่ทำการทดสอบมาตรฐานตู้เย็นว่าเป็นตู้เย็นประหยัดพลังงานหรือไม่ อยู่ในระดับใด เมื่อคิดจะซื้อตู้เย็นใหม่ จึงควรเลือกซื้อตู้เย็นที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อให้มั่นใจว่าตู้เย็นที่ซื้อไปเป็นตู้เย็นประหยัดพลังงาน โดยให้ดูที่ฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพ (ฉลากเบอร์ 5) ของเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนั้นเปรียบเทียบตัวเลขประหยัดไฟ เปรียบเทียบเงินที่เสียไปใน 1 ปี และเปรียบเทียบจำนวนหน่วยที่ใช้ไปใน 1 ปี นอกจากนี้ยังมีข้อควรพิจารณาในการเลือก ดังนี้

เลือกขนาดที่เหมาะสมกับครอบครัว

              เลือกตู้เย็นที่มีฉนวนกันความร้อนหนา และเป็นชนิดโฟมฉีด ซึ่งจะป้องกันการถ่ายเทความร้อนได้ดี ทำให้อาหารที่แช่เย็นได้ง่าย และใช้ไฟฟ้าน้อยกว่ามากถึงแม้ว่าตู้เย็นที่มีระบบละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ จะให้ความสะดวกในการไม่ต้องกดปุ่มละลายน้ำแข็งเมื่อมีน้ำแข็งเกาะในช่องแช่แข็ง แต่ตู้เย็นดังกล่าวจะใช้ไฟในระบบละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ คือ ต้องใช้ขอลวดไฟฟ้าสำหรับละลายน้ำแข็งและมีพัดลมเล็กเป่า เพื่อหมุนเวียนอากาศในช่องแช่แข็ง ซึ่งการใช้ไฟจะเพิ่มมากขึ้น ตู้เย็นที่มีช่องแช่แข็งอยู่ด้านข้าง จะใช้ไฟฟ้ามากกว่าหนึ่งในสามของรุ่นที่มีช่องแช่แข็งอยู่ด้านบนของเครื่อง ตู้เย็นประตูเดียว จะใช้ไฟน้อยกว่าตู้เย็นหลายประตู เพราะตู้เย็นหลายประตูจะใช้คอมเพรสเซอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งใช้ไฟมากกว่า

ใช้ตู้เย็นอย่างไรให้ประหยัดเงินและประหยัดไฟ

               ก่อนใช้ควรศึกษารายละเอียดจากคู่มือและปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อยืดอายุการใช้งานควรตั้งตู้เย็นห่างจากผนังอย่างน้อย 15 ซ.ม. เพื่อให้อากาศถ่ายเท ช่วยระบายความร้อนได้ดีขึ้นการตั้งสวิตช์ควบคุมอุณหภูมิในตู้เย็น ควรตั้งในระดับความเย็นที่เบอร์ 3 เนื่องจากอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการรักษาคุณค่าอาหารในตู้เย็นควรอยู่ที่ 4 – 6 องศาเซลเซียส ส่วนในช่องแช่แข็งควรมีอุณหภูมิระหว่าง –15 ถึง –18 องศาเซลเซียส ถ้าระดับอุณหภูมิอยู่นอกเหนือจากเกณฑ์ที่กำหนดนี้ต้องปรับที่ควบคุมอุณหภูมิใหม่ เพราะถ้าตั้งอุณหภูมิตู้เย็นไว้เย็นกว่าที่กำหนดไว้ 1 องศา การใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นถึง 25 % ละลายน้ำแข็งอย่างสม่ำเสมอด้วยการถอดปลั๊กตู้เย็นที่ใช้เป็นครั้งคราว จะช่วยประหยัดได้หลายร้อยบาทในแต่ละปี หรือถ้าตู้เย็นที่มีปุ่มละลายน้ำแข็งก็กดปุ่มนั้นได้ทันที เมื่อน้ำแข็งละลายหมดแล้วปุ่มกดนี้จะดีดตัวให้คอมเพรสเซอร์ทำงานต่อไป อย่าใช้ของแข็งหรือของมีคมงัดหรือแกะน้ำแข็ง อาจทำให้แผงความเย็นชำรุดเสียหายได้ อย่าตั้งตู้เย็นใกล้แหล่งความร้อน เช่น เตาไฟ หรือถูกแสงแดด เพราะจะทำให้เครื่องต้องทำงานมากกว่าปกติ อย่าเปิดตู้เย็นบ่อย ๆ หรือใส่ของร้อนในตู้เย็น จะทำให้ความร้อนเข้าไปภายในตู้ทำให้ภายในตู้สูญเสียความเย็น ทำให้ตู้เย็นต้องเริ่มทำงานสะสมความเย็นใหม่ นอกจากนี้จะทำให้ภายในห้องร้อนขึ้น เนื่องจากคอมเพรสเซอร์จะทำงานมากขึ้น เพื่อระบายความร้อนออกทางแผงระบายความร้อนหลังตู้เย็น ตรวจสอบยางขอบประตู อย่าปล่อยให้มีรอยรั่วหรือเสื่อมสภาพ ควรเปลี่ยนแผ่นยางใหม่ทันที ยางขอบประตูตู้เย็นที่ชำรุดและเสื่อมสภาพจะทำให้อากาศร้อนภายนอกเข้าไปภายในตู้เย็นทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนัก นอกจากนี้ความชื้นในอากาศยังเข้าไปในตู้เย็นด้วย จะทำให้แผงเย็นหรือช่องทำน้ำแข็งเกาะเร็วขึ้น ดังนั้น ฝาตู้เย็นควรปิดให้สนิทอย่าให้มีรอยรั่ว ซึ่งสามารถทดสอบได้โดยใช้กระดาษสอดระหว่างขอบยางกับขอบตัวตู้เย็น เลื่อนกระดาษไปโดยรอบประตู ถ้าส่วนใดเลื่อนได้สะดวกไม่ฝืด แสดงว่าส่วนนั้นปิดไม่สนิท จึงควรเปลี่ยนขอบยางตู้เย็นใหม่ได้แล้ว หมั่นทำความสะอาดแผงระบายความร้อนที่อยู่ด้านหลังตู้เย็น เมื่อตู้เย็นใช้นานๆ มักจะมีฝุ่นละอองมาเกาะติดตามแผงระบายความร้อนนี้มาก เป็นเหตุให้การระบายความร้อนไม่ดี เครื่องคอมเพรสเซอร์จะทำงานมากขึ้นทำให้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้นด้วย ตรวจสอบตู้เย็นสม่ำเสมอ เมื่อตู้เย็นทำงานไปได้ระยะเวลาหนึ่ง ผู้ใช้จำเป็นต้องสังเกตและดูแลตู้เย็น อย่าปล่อยให้คอมเพรสเซอร์ทำงานไม่เต็มที่ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากน้ำยาน้อย ลิ้นรั่ว เมื่อเครื่องเดินตลอดเวลาแต่ไม่ค่อยมีความเย็น สามารถทดสอบได้โดยใช้มือแตะที่แผงร้อนว่าอุ่นหรือร้อนไม่ทั่วแผงร้อน แสดงว่าเครื่องทำงานไม่เค็มที่ ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น 
อย่าให้ตู้เย็นมีกระแสไฟฟ้ารั่วลงดิน ในกรณีที่ตู้เย็นมีการต่อสายลงดินเพื่อป้องกันอันตรายแก่บุคคล ถ้ามีไฟฟ้ารั่วลงดินจะทำให้ตู้เย็นกินไฟฟ้ามากกว่าปกติ เพราะนอกจากไฟฟ้าที่เข้าคอมเพรสเซอร์ตามปกติแล้ว ยังจะมีไฟฟ้าส่วนที่รั่วลงดินเพิ่มขึ้นอีก เราสามารถทดสอบได้โดยการปิดสวิตช์ไฟทุกชนิดที่ใช้ไฟฟ้าอยู่ ยกเว้นตู้เย็นแล้วค่อย ๆ หมุนสวิตช์ควบคุมอุณหภูมิกลับมาทางเลขต่ำ จนคอมเพรสเซอร์หยุดทำงานหรือสวิตช์ปิด แล้วไปสังเกตที่มิเตอร์มาตรวัดไฟฟ้า ถ้าพบว่าจานมาตรวัดยังหมุนทำงานอยู่ แสดงว่าตู้เย็นมีกระแสไฟฟ้ารั่วลงดิน ในกรณีนี้จะเกิดเฉพาะผู้ที่ต่อสายจากตู้เย็นลงดินเท่านั้น การทดสอบด้วยวิธีนี้จะไม่ได้ผลหากตู้เย็นนั้นไม่ได้ต่อสายลงดินหรือถ้าการทดสอบทำไม่สะดวกนัก ควรให้ช่างมาตรวจสอบจะดีที่สุด หากเลือกซื้อตู้เย็นครั้งต่อไป โปรดสังเกตและเลือกตู้เย็นที่ติดฉลากประหยัดไฟ (เบอร์ 5) ซึ่งผ่านการทดสอบคุณภาพจากหน่วยงานของรัฐ โดยระลึกไว้เสมอว่าช่วยประหยัดเงินค่าไฟฟ้าและประหยัดทรัพยากรของชาติ ตู้เย็นที่มีฉลากประหยัดไฟตัวเลขแสดงประสิทธิภาพ “ยิ่งมาก ยิ่งประหยัดไฟ”

เครื่องปรับอากาศเบอร์ 5

                         จากสภาวะแวดล้อมของโลกมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อันเนื่องมาจากพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ส่งผลโดยตรงมาที่อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นทุกปี ทำให้เครื่องปรับอากาศกลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้คู่กับอาคารบ้านเรือน เครื่องปรับอากาศเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในบ้าน นอกจากจะหาซื้อมาในราคาแพงแล้วการใช้เครื่องปรับอากาศยังเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับค่าไฟขึ้นอีกด้วย การใช้เครื่องปรับอากาศที่มีคุณภาพไม่ดียังเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น จึงควรเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงและมีขนาดที่เหมาะสมกับห้อง ด้วยเหตุนี้เครื่องปรับอากาศจึงเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นเป้าหมายสำคัญในโครงการ ประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า เพราะปริมาณไฟฟ้ากว่าร้อยละ 60 ของการใช้ไฟฟ้าตามบ้าน ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล โรงแรม ฯลฯ เกิดจากการใช้เครื่องปรับอากาศ โดยมีอัตราการใช้เพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ฉลากประหยัดไฟฟ้าของโครงการประชาร่วมใจใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้ามีประโยชน์ คือ ให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภคพิจารณาเครื่องปรับอากาศทั้งในด้านประสิทธิภาพ การใช้ไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายเป็นปี เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อทุกครั้ง ฉลากประหยัดไฟกำหนดระดับประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ

                  เลข 5 ดีมาก หมายถึงประสิทธิภาพสูงสุด
                  เลข 4 ดี หมายถึงประสิทธิภาพสูง
                  เลข 3 ปานกลาง หมายถึงประสิทธิภาพปานกลาง
                  เลข 2 พอใช้ หมายถึงประสิทธิภาพพอใช้
                  เลข 1 ต่ำ หมายถึงประสิทธิภาพต่ำ

                 โครงการประชาร่วมใจ ใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2538 โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบริษัทผู้ผลิต/นำเข้า เครื่องปรับอากาศจำนวนมากกว่า 70 บริษัท โดยการส่งเครื่องปรับอากาศเข้าทดสอบและติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพ ตลอดระยะเวลาในการดำเนินการจนถึงปัจจุบัน (สิงหาคม 2541) มีเครื่องปรับอากาศที่ผ่านการทดสอบและรับฉลากแล้วทั้งสิ้นจำนวน 202 รุ่น เป็นเครื่องปรับอากาศขนาด 18,000 บีทียู/ชั่วโมงลงมา 172 รุ่น และขนาด 18,000 บีทียู/ชั่วโมงขึ้นไป จำนวน 30 รุ่น ในการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศ ควรคำนึงถึงขนาดความเหมาะสมของห้องที่จะติดตั้งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เลือกเครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูง หนทางประหยัดระยะยาว การประเมินประสิทธิภาพพลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศก็คือการเปรียบเทียบค่า EER (Energy Efficiency Ratio) สำหรับเครื่องปรับอากาศรุ่นต่าง ๆ ควรเลือกเครื่องที่มีค่า EER เท่ากับ 10.6 หรือมากกว่า เพราะจะมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยผู้ใช้สามารถคำนวณค่า EER ของเครื





คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียด


โดย:
งาน: งานห้องเรียนสีเขียว
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง