[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ประวัติการบริจาคโลหิตในประเทศไทย

       จากบทความเรื่อง “ประวัติการให้เลือดในโรงพยาบาลศิริราช” ที่เขียนโดย นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ระบุไว้ว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2470 ประเทศไทยได้เริ่มมีการถ่ายเลือดเป็นครั้งแรกที่โรงพยาบาลศิริราช และในปี พ.ศ. 2474  หมอบัดแมน ใช้เลือดผู้ป่วยให้ผู้ป่วยเอง (autotransfusion)  ในผู้ป่วยท้องนอกมดลูกของแผนกสูติกรรมของโรงพยาบาลศิริราช 
     ในระหว่าง พ.ศ. 2474-2477  ได้ถ่ายเลือดกันประมาณปีละ 30  รายเท่านั้นและในปี พ.ศ. 2477  ศาสตราจารย์เติม บุนนาค อดีตหัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ได้รับหน้าที่แทนหมอบัคแมน ที่ครบสัญญากลับไป ท่านสำเร็จวิชาแพทย์จากมหาวิทยาลัยเบิร์น (Berne) และเคยทำหน้าที่ผู้ช่วยในสถานพยาบาลทางสูติกรรมที่คีล (Kiel)  ท่านได้นำเครื่องถ่ายเลือดตามแบบของศาสตราจารย์เบ็ค (Beck) เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกในแผนกสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาของโรงพยาบาลศิริราช และ ศาสตราจารย์นายแพทย์สรรค์ ศรีเพ็ญ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ใช้เครื่องนี้เป็นเครื่องถ่ายเลือดโดยตรง (direct transfusion)  เป็นเครื่องให้ความสะดวกและปลอดภัยในการใช้อย่างยิ่ง แต่ผู้ให้บางรายหรือผู้รับบางรายเกิดรังเกียจ เพราะต้องนำผู้ให้เลือดมานอนข้างๆ ผู้ป่วย ภายหลังที่ต่อหลอดเลือดสำเร็จเรียบร้อยก็เดินให้เครื่องหมุน เมื่อเครื่องหมุนไปได้ 1 รอบเลือดจะถ่ายจากผู้ให้สู่ผู้ป่วยครั้งละ 3 มล. (สามารถรู้จำนวนที่เลือดถ่ายเข้าสู่ผู้ป่วยตามจำนวนรอบที่เครื่องหมุนไป) โดยอาศัยเครื่องมือใหม่นี้ นายแพทย์สรรค์ ได้ถ่ายเลือดด้วยตัวท่านเองมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 64 ครั้ง
     พ.ศ. 2480-2481  ศาสตราจารย์นายแพทย์สรรค์  ได้ร่วมมือกับนายแพทย์เฉียบ นิรันดร และ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจินตาภา สายัณหวิกสิต ผู้ซึ่งหลังจากการเป็นแพทย์ประจำบ้านในภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาแล้ว ได้มาเป็นอาจารย์ในภาควิชาสรีระวิทยา และต่อมาได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ในคณะสาธารณสุขศาสตร์ ทั้ง 3 ท่านได้ร่วมมือทำการเก็บเลือดจากรกตามแบบของ Goodall, Anderson, Altimor และ Mcphail (1938)  แล้วถ่ายให้กับผู้ป่วย ทำได้มากกว่า 100 ราย แต่ทำอยู่ได้ 2 ปีต้องเลิกไปเพราะเกิดสงครามยุโรป ทำให้ขาดเคมีภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ใช้
     ระยะ พ.ศ. 2482-2484  ซึ่งเป็นระยะสงครามโลกครั้งที่สอง ในระยะท้ายของสงครามประเทศไทยถูกบอมบ์หนัก การถ่ายเลือดมีมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีธนาคารเลือดเกิดขึ้น คงใช้การเรียกผู้ให้เลือดมาเป็นครั้งคราวที่ต้องการ ไม่มีการควบคุมอย่างใด บางครั้งผู้ให้เลือดมีความต้องการเงินมากก็มาให้เลือดบ่อย จนตัวของตัวเองเกือบมีเลือดไม่พอ และเลือดที่ให้กับผู้ป่วยก็ขาดคุณภาพที่เหมาะ ทางโรงพยาบาลจึงได้มอบให้นายแพทย์สรรค์ วางระเบียบขึ้นในต้นปี พ.ศ. 2482 แผนกสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาได้ใช้วิธีที่ศาสตราจารย์บัคแมนเคยทำในรายที่จำเป็น คือถ่ายเลือดของผู้ป่วยเองกลับเข้าสู่ตัวผู้ป่วย (autotransfusion)  ในรายที่มีครรภ์นอกมดลูกและมีเลือดออกในช่องท้อง (เฉลี่ยว วัชรพุกก์, พ.ศ. 2482)
     ใน พ.ศ. 2486  ศาสตราจารย์นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน อดีตหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออโธปิดิกส์ ขณะนั้นเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ในภาควิชาศัลยศาสตร์ ได้ริเริ่มเจาะเลือดจากผู้ต้องขังที่เรือนจำมหันตโทษใส่หลอดน้ำเกลือเก็บไว้ในตู้เย็น เก็บไว้ได้ประมาณ 7 วัน หากไม่ใช้ก็แยกเอาพลาสมาออกไว้ใช้ต่อไปเป็นบ่อเกิดแห่งการจะทำธนาคารเลือดขึ้นในโรงพยาบาลศิริราช
     พ.ศ. 2489  เนื่องจากผู้ป่วยเพิ่มขึ้นโดยรวดเร็วและมีการใช้เลือดขึ้นด้วย ทางคณะจึงให้มี “หน่วยถ่ายเลือด” ขึ้น โดยให้ ศาสตราจารย์นายแพทย์สรรค์ ศรีเพ็ญ เป็นหัวหน้ามีพยาบาลประจำหนึ่งคน มีหน้าที่ควบคุมผู้ให้เลือดและจัดส่งผู้ขายเลือดไปตามความต้องการที่ขอมาจำนวนการถ่ายเลือดได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,052 ครั้ง ภายใน พ.ศ. 2491 มีผู้ให้เลือดจาก 10 คน เป็น 92 คน และค่าเลือดเพิ่มจาก 5 บาทต่อเลือด 100  มล. เป็น 50 บาท การถ่ายเป็นแบบ indirect transfusion แต่เป็นแบบเปิด คือถ่ายเลือดลงไปในภาชนะที่รองรับก่อน ทำให้ไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สรรค์ ใช้ แม้จะยังเป็นวิธีที่ใช้ได้ดีอยู่
     พ.ศ. 2490  ได้เพิ่มสอนนักศึกษาแพทย์ในเรื่องการถ่ายเลือด นอกจากหน้าที่ภายในโรงพยาบาลยังได้ช่วยเหลือไปตามสถานพยาบาลเอกชนอื่นๆ ด้วย โดยส่งผู้ขายเลือดไปให้ตามความต้องการที่เรียกร้องมา ซึ่งต่อมาได้มีการก่อตั้งธนาคารเลือดใน สถาบันการแพทย์อื่นๆ เช่น ที่สภากาชาดไทย ได้ทำเป็นศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติขึ้นที่บริเวณของสถานเสาวภา เป็นการกระทำระดับชาติแบบที่ได้ทำในต่างประเทศที่มีการแพทย์เจริญก้าวหน้า
     พ.ศ. 2494  ได้โอนหน่วยถ่ายเลือดมาอยู่กับแผนกศัลยศาสตร์ และได้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน เป็นหัวหน้าหน่วยมีที่ทำงานอยู่ที่ห้องชั้นบนของตึกผ่าตัดศัลยศาสตร์หลังเก่า (ซึ่งปัจจุบันเป็นตึกผ่าตัดของภาควิชาจักษุวิทยาและภาควิชาโสตนาสิกลาริงซ์วิทยา) การย้ายนี้ทำให้หน่วยถ่ายเลือดต้องย้ายสังกัดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการแยกหน่วยศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด ตั้งขึ้นเป็นภาควิชาใน พ.ศ. 2507 หน่วยถ่ายเลือดก็ย้ายมาขึ้นกับภาควิชาที่ตั้งขึ้นใหม่ด้วย และคงมี ศาสตราจารย์นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน เป็นหัวหน้าอยู่เช่นเดิม แต่งานส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลและดำเนินการโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ซึ่งได้ทำอยู่ประมาณ 9 ปี จนกระทั่งมอบให้แพทย์หญิงทัศน์ยานี จันทนยิ่งยง เข้ารับผิดชอบในปี พ.ศ. 2502
     ประมาณกลางปี พ.ศ.2496  หน่วยถ่ายเลือดได้เปลี่ยนเครื่องใช้ในการเก็บเลือดจากตู้เย็นธรรมดาเป็นตู้เก็บเลือดโดยเฉพาะ และได้ย้ายที่ทำการจากศาลาศัลยกรรมเดิมของแผนกศัลยศาสตร์มาอยู่ที่ห้องชั้นสองของศาลาศัลยกรรมหลังใหม่ของแผนก และในปีนี้ก็ได้มีตู้เก็บเลือดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตู้ ทันทีที่ได้โอนหน่วยถ่ายเลือดมาขึ้นอยู่กับแผนกศัลยศาสตร์ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการหนึ่ง คือ หน่วยได้พิจารณาเห็นว่าการหาหมู่เลือดซึ่งทำที่หน่วยพยาธิวิทยาคลีนิคของภาควิชาพยาธิวิทยานั้นควรจะทำได้ที่หน่วยเอง ต่อมาเมื่อเกิดกบฎแมนฮัตตันได้มีการสู้รบกันกลางพระนครกรุงเทพและธนบุรี ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่ก่อการ มีประชาชนบาดเจ็บจากกระสุนปืนเป็นจำนวนมาก หน่วยถ่ายเลือดสามารถช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บไว้ได้ทันท่วงที
     พ.ศ. 2494 หน่วยได้เริ่มเจาะเลือดใส่ขวดเก็บไว้ในตู้เย็น โดยไปขอเจาะจากนักโทษที่เรือนจำลหุโทษ ครั้งแรกมีการต่อต้านเพราะเข้าใจว่าจะเจาะโดยไม่จ่ายเงินเป็นค่าเลือด แต่เมื่อได้จ่ายเงินเป็นจำนวนคนละ 50 บาท และพวกที่ให้เลือดได้พักไม่ต้องทำงานในวันนั้นด้วย กลับให้ดื่มบรั่นดีบำรุงหลังเจาะเลือดแล้วอีก 2 ช้อนโต๊ะ ทำให้ ได้รับการตอบรับเป็นอันดี แม้จะจ่ายเงินตอบแทนให้เพียงครึ่งหนึ่งของที่โรงพยาบาลจ่ายให้กับผู้ที่ให้เลือดนอกโรงพยาบาล ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเลือดของผู้ต้องโทษด้อยคุณภาพ ผู้ต้องโทษบางคนยังคุยเสียด้วยว่าเลือดของเขาบริสุทธิ์กว่าของคนข้างนอก เพราะเขาไม่มีโอกาสไปเที่ยวหาเชื้อมาเติม การจ่ายค่าตอบแทนให้เพียงครึ่งเดียวทำให้ประหยัดเงินของโรงพยาบาลได้ปีละหลายแสนบาท การไปเจาะจากเรือนจำลหุโทษทำได้เดียง 3 ปีก็ต้องหยุด เพราะติดขัดเรื่อง รับส่งและเรื่องเงินทดลองจ่ายตามระเบียบราชการ จน พ.ศ. 2500 จึงได้ไปเจาะเลือดที่เรือนจำลหุโทษอีก เพราะโรงพยาบาลหาเลือดได้ไม่พอใช้ ระยะนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการเดียว คือเดิมใช้เจาะลงภาชนะแบบเปิด เปลี่ยนมาเป็นเจาะลงขวดแบบปิด เลือดไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับอากาศภายนอก โอกาสที่จะติดเชื้อก็น้อยมาก
     พ.ศ. 2504 ได้เปลี่ยนมาใช้น้ำยา เอ.ซี.ดี.กันเลือดแข็ง ทำให้สามารถเก็บเลือดได้นานขึ้นเป็น 2 สัปดาห์ ใน พ.ศ. 2507 ได้ไปเจาะเลือดที่เรือนจำมหันตโทษและเรือนจำ ลาดยาวมาเก็บไว้
     ประมาณ พ.ศ. 2495 ผู้อำนวยการขององค์การไชน่าเมดิคัลบอร์ด คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์เลาคส์ (Dr.Harold H. Loucks) ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทย ท่านผู้นี้เคยเป็นศาสตราจารย์ทางศัลยศาสตร์ และได้เคย เดินทางเข้ามาประเทศไทยครั้งหนึ่งก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะท่านรู้จักกันดีกับศาสตราจารย์ อี.ดี. คองดอน (E.D. Congdon) ซึ่งเคยสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ในโรงเรียนแพทย์ที่ปักกิ่ง องค์การไชน่าเมดิคัลบอร์ดนี้เดิมเคยเป็น องค์การที่เป็นสาขาหนึ่งของมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์ ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือการแพทย์ในประเทศจีน แต่หลังจากที่ผืนแผ่นดินใหญ่ถูกครอบครองด้วยสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้วองค์การนี้ก็หมดความสัมพันธ์กับรัฐบาลที่ครอบครองแผ่นดินใหญ่ เมื่อ ดร.เลาคส์ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยอีก หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงแล้ว และได้มาเยี่ยมชมคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ท่านผู้นี้ได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้วเห็นว่าสมควรสนับสนุนกิจการแพทย์ของ ประเทศไทยที่ทรุดโทรมลงไปมากจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้ขอเข้าช่วยกิจการที่คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลก่อน โดยส่งอาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลไปดูงานเพิ่มเติม ส่งเครื่องมือเครื่องใช้ที่ขาดแคลนมาช่วยในการอบรมนักศึกษา และช่วยในโครงการค้นคว้าบางโครงการ การช่วยเหลือขององค์การให้ผลดีต่อคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลเป็นอันมาก ทำให้คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลได้ตึกหอสมุดศิริราช พร้อมทั้งเงินประจำปีสำหรับส่งหนังสือและจดหมายเหตุที่ขาดหายไประหว่างสงคราม ช่วยในการค้นคว้าศึกษาฮีโมโกลบินผิดปกติของหน่วยโลหิตวิทยาของภาควิชาอายุรศาสตร์ และช่วยปรับปรุงหน่วยถ่ายเลือด โดยส่งทั้งเครื่องมือเครื่องใช้และส่งบุคคลไปอบรมเพิ่มเติมและดูงานในวิชานี้
     ในขณะที่ศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน จาติกวนิช เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ได้สนับสนุนกิจการธนาคารเลือด โดยชักจูงให้องค์การดังกล่าวมาสนใจงานทางด้านนี้ และขอทุนให้แพทย์หญิงทัศน์ยานีได้ไปศึกษาต่อเมื่อปี พ.ศ. 2505 งานของแพทย์หญิงทัศน์ยานี ได้ผลเป็นที่ประจักษ์แก่องค์การเป็นอันมาก ทุกครั้งที่ผู้แทนขององค์การมาเยี่ยมดูผลงานขณะที่ผู้เขียนเป็นคณบดี ผู้แทนขององค์การจะต้องขอไปดูงานของหน่วยถ่ายเลือดเป็นประจำเพราะถือว่าเป็นหน่วยงานที่ให้ประโยชน์มาก และยังขาดแคลนทั้งบุคคลและอุปกรณ์ เมื่อตอนที่ผู้เขียนจะพ้นจากหน้าที่คณบดี ผู้แทนองค์การได้ชมเชยผลงานของหน่วยถ่ายเลือดว่า “เป็นธนาคารเลือดที่ดีที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้”
     ใน พ.ศ. 2504 ได้เริ่มบริการแยกส่วนประกอบของเลือด เช่น แยกเกล็ดเลือด (platelet preparation) ทำพลาสมาแข็ง (fresh frozen plasma) เพื่อให้เก็บได้ทน เตรียมเฉพาะเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (packed red cell) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการเม็ดเลือดแดงโดยเฉพาะ
     พ.ศ. 2507 ได้เปลี่ยนวิธีตรวจเลือด crossmatching ก่อนให้เลือด ที่เคยทำบนแผ่นกระจกสไลด์ มาเป็นทำแบบคุ้มบ์ (Coomb’s cross match) และเพิ่มการตรวจหมู่เลือดระบบ ABO จากการตรวจเฉพาะกลุ่มของเม็ดเลือดแดง (cell grouping) มาเป็นตรวจซีรัม (serum grouping) เพิ่มขึ้นอีกด้วย
     พ.ศ. 2509 ได้เปลี่ยนภาชนะเก็บเลือดจากขวดมาเป็นถุงพลาสติก ทำให้การแยกส่วนประกอบของเลือดทำได้สะดวกและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากขึ้น
       พ.ศ. 2510 เริ่มจัดเตรียมเลือดโอมาตรฐาน (Panel O cells) สำหรับตรวจหาชนิดของแอนติบอดีที่พบในผู้ป่วย ซึ่งมีปัญหาในการให้เลือด  





คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียด


โดย:
งาน: งานสัมพันธ์ชุมชน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: บทความเรื่อง “ประวัติการให้เลือดในโรงพยาบาลศิริราช” ที่เขียนโดย นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง