[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

อุบัติเหตุเนื่องจากการจราจรมีอะไรบ้าง

อุบัติเหตุเนื่องจากการจราจรแบ่งออกเป็น 
๑. อุบัติเหตุยานยนต์ในถนนหลวง ซึ่งเป็นอุบัติเหตุการจราจรที่พบมากที่สุด 
๒. อุบัติเหตุรถไฟ 
๓. อุบัติเหตุในการขนส่งการน้ำ 
๔. อุบัติเหตุในการขนส่งทางอากาศ 
อุบัติเหตุยานยนต์ในถนนหลวง 
อุบัติเหตุเนื่องจากการจราจรทางบก โดยเฉพาะอุบัติเหตุเกี่ยวกับยานยนต์เป็นสาเหตุการตายและบาดเจ็บสูงสุดของสถิติอุบัติเหตุที่รุนแรงทุกประเภท จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขรายงานไว้ว่า อัตราตายจากอุบัติเหตุยานยนต์ในถนนหลวงปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ถึง ๒๕๑๕ อยู่ในเกณฑ์ระหว่าง ๑๐๐ ถึง ๑๒.๗ ต่อประชากรแสนคน เป็นสาเหตุการตายอันดับที่ ๑ ของบรรดาอุบัติเหตุทั้งปวง 
จากสถิติข้อมูลของกองตำรวจทางหลวง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ถึง ๒๕๒๒ ปรากฏว่าอุบัติเหตุยานยนต์ที่เกิดขึ้นบนทางหลวงแผ่นดินสายต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนทางหลวงสายต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนทางหลวงสายต่าง ๆ ทั่วประเทศจำนวน ๓,๒๓๘ ครั้ง มีคนตาย ๓,๐๒๐ คน คนบาดเจ็บ ๖,๕๔๒ คน ทรัพย์สินเสียหายประมาณ ๕๓.๒ ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรองลงมา ได้แก่ รถบรรทุกและรถยนต์โดยสาร เหตุเกิดมากเป็นพิเศษ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ สาเหตุที่ประมวลได้ส่วนใหญ่เกิดจากการขับรถโดยประมาท เช่น การแซงรถในที่คับขัน ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เลี้ยงตัดหน้ารถอื่นอย่างกระชิด หรือผู้ขับขี่เมาสุรา ติดยาเสพติดหรือหลับในขณะขับรถ เป็นต้น 
อุบัติเหตุบนทางหลวงนอกเขตเทศบาลมักเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรง มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ส่วนอุบัติเหตุยานยนต์ในเขตชุมชน ย่อมเกิดขึ้นบ่อยกว่าในทางหลวงหลายเท่า แต่มักไม่รุนแรง มีผู้บาดเจ็บถึงตายไม่มาก ส่วนมากเกิดจากรถนั่งส่วนบุคคลชนคนข้ามถนน รถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ชนกันเอง เป็นต้น 
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เริ่มใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นกฎหมายควบคุมการจราจรทางบกที่รัดกุมเคร่งครัดกว่าก่อน คาดหมายกันว่า ต่อนี้ไปแนวโน้มของอุบัติเหตุจราจรทางบกอาจลดน้อยลงก็ได้ 
อุบัติเหตุรถไฟ 
เมื่อเปรียบเทียบกับยานยนต์แล้ว รถไฟให้ความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารมากกว่ารถยนต์ ทั้งนี้เพราะว่ารถไฟมีระบบทางเดินรถที่แน่นอนของตนเอง และมีการดูแลควบคุมที่ทั่วถึง ในปีหนึ่ง ๆ ยังมีอุบัติรถไฟตกรางอยู่บ่อย ๆ แต่มักไม่ร้ายแรงมีผู้โดยสารบาดเจ็บล้มตายจำนวนน้อย เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวน่าสะเทือนขวัญของคนทั่วไป คือ รถไฟ ๒ ขบวน วิ่งชนกันเกิดการพลิกคว่ำ มีผู้โดยสารบาดเจ็บล้มตายคราวละมาก ๆ สาเหตุสันนิษฐานว่าเกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือหลายฝ่าย เช่น พนักงานขับรถหรือพนักงานสับเปลี่ยนรางรถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท พนักงานขับรถไฟด้วยความเร็วเกินอัตราที่กำหนด หรือฝ่าฝืนสัญญาณความปลอดภัย เป็นต้น 
นอกจากนี้ยังพบอุบัติเหตุรถไฟทับคนบาดเจ็บแขนขาขาดหรือถึงแก่ความตายเป็นครั้งคราว อันมีสาเหตุมาจากคนนอนหลับข้างรถไฟ คนหรือยานยนต์ฝ่าสัญญาณวิ่งตัดหน้าขบวนรถไฟ เหตุการณ์เหล่านี้อาจป้องกันได้ ถ้าได้รับความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่าย 
อุบัติเหตุในการขนส่งทางน้ำ 
เนื่องจากการขนส่งทางน้ำได้รับความนิยมภายในประเทศน้อยลง ขณะที่บ้านเมืองพัฒนาการขนส่งทางบกให้สะดวกขึ้นอัตราตายจากอุบัติเหตุในการขนส่งทางน้ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง ๒๕๑๙ มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ อุบัติเหตุทางน้ำที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ที่เป็นรายใหญ่ๆ มักเกิดจากเรือโดยสารล่มในแม่น้ำหรือทะเล ส่วนมากเป็นเรือทัศนาจรที่บรรทุกผู้โดยสารเกินอัตราหรือประสบสภาพอากาศแปรปรวน ขาดความระมัดระวังทั้งผู้ขนส่งและผู้โดยสาร ส่วนอุบัติเหตุจมน้ำมักเกิดขึ้นประปรายกับผู้ซึ่งมีที่อยู่อาศัยใกล้แม่น้ำลำคลอง หรือเดินทางทางเรือเป็นส่วนใหญ่ 
อุบัติเหตุในการขนส่งทางอากาศ 
อุบัติเหตุในการขนส่งทางอากาศ เช่น เครื่องบินโดยสารตก มักปรากฏเป็นข่าวใหญ่ ไม่ว่าเกิดขึ้น ณ ที่ใดของโลก เพราะเครื่องบินโดยสารแต่ละลำที่ตก มักมีผู้โดยสารเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในประเทศไทย เครื่องบินฝึกบินประสบอุบัติเหตุตกบ่อย ๆ แต่ผู้บาดเจ็บเสียชีวิตมีจำนวนน้อย เหตุการณ์ที่เคยปรากฏเป็นข่าวใหญ่เมื่อไม่นานมานี้คือ เครื่องบินโดยสารไอพ่นของสายการบินต่างประเทศบินชนโรงงานทอผ้าใกล้ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ขณะบินร่องลง และเครื่องบินโดยสารภายในประเทศประสบอุบัติเหตุตกที่รังสิต มีผู้โดยสารและเจ้าพนักงานของเครื่องบินเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก 
จากสถิติขององค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ รายงานไว้ว่า อุบัติเหตุในการขนส่งทางอากาศเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางบกและทางน้ำแล้ว ปรากฏว่า มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุต่ำกว่ามากและค่อนข้างคงที่ตลอดมา ในช่วงระยะเวลา ๒๕ ปีที่ผ่านมาการบินโดยสารระหว่างประเทศส่วนใหญ่ใช้เครื่องบินไอพ่นระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๕ จนถึง ๒๕๒๑ มีสถิติเครื่องบินไอพ่นตกทั่วโลกอยู่ในเกณฑ์ระหว่าง ๑๐ ถึง ๑๕ ลำต่อปี รวมเครื่องบินไอพ่นโดยสารตกทั้งสิ้น ๓๒๔ ลำ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินพลเรือนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นทุกวันแล้ว สถิติการเกิดอุบัติเหตุของการขนส่งทางอากาศมีแนวโน้มลดลง 
สาเหตุของอุบัติเหตุเครื่องบินตกเป็นไปได้ ๓ ทาง คือ เกิดจากความบกพร่องของเครื่องบินสภาพภูมิอากาศไม่ดีหรือความบกพร่องของนักบิน เช่น ประมาท เจ็บป่วยในขณะปฏิบัติงานขาดประสบการณ์หรือขาดความชำนาญในเที่ยวบินครั้งนั้น ๆ เป็นต้น





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานสวัสดิภาพนักเรียน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: http://kanchanapisek.or.th

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง