|
|
ขั้นตอนการทำผ้าบาติก
บาติก คือ ศิลปะอย่างหนึ่งในการสร้างสรรค์ลวดลายให้กับผืนผ้า ซึ่งคุณสามารถทำเองได้ เพียงแต่คุณมีอุปกรณ์ที่เหมาะสม รู้ขั้นตอนการทำ ฝึกฝนฝีมือให้มากหน่อย เท่านี้คุณก็สร้างสรรค์ผ้าที่มีลวดลายไม่เหมือนใครในโลกได้ด้วยมือของคุณเอง อุปกรณ์ 1.สีย้อมเย็น 2.พาราฟินผสมขี้ผึ้ง 3.โซเดียมซิลิเกต 4.ชานติ้ง 5.ผ้า ควรเป็นเส้นใยจากธรรมชาติ เช่น มัสลิน ฝ้าย ไหม ลินิน เป็นต้น 6.กรอบไม้ 7.พู่กันระบายสี 8.กระปุกใส่สี 9.น้ำผสมและระบายสี 10.แปรงทาสี 11.หม้อต้มเทียน (ใบเล็กๆ) 12.หม้อต้มผ้า 13.ผงซักฟอก 14.กาละมังซักผ้า 15.เตาต้มเทียน ควรเป็นเตาไฟฟ้า หรืออาจใช้เตาแก๊สได้แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพราะเทียนนั้นติดไฟได้ง่าย วิธีทำ ขั้นที่ 1 เตรียมพร้อม นำผ้าไปซักในผงซักฟอกให้สะอาด เพื่อให้ไขมันหรือแป้งที่จับผ้าอยู่หลุดออกให้หมด แล้วตากให้แห้งสนิท นำผ้ามาวาดลาย อาจใช้การลอกลายจากกระดาษโดยใช้กระดาษลอกลายผ้า หรือวาดบนผ้าด้วยดินสอเลยก็ได้ สำหรับมือใหม่ควรใช้ลายง่ายๆ ต้มเทียนให้ละลาย แล้วใช้แปรงจุ่มเทียนทาให้รอบกรอบไม้ด้านที่จะขึงผ้า เพื่อให้เทียนเป็นตัวยึดผ้าไม่ให้เลื่อนหลุดขึงผ้าทีละด้าน โดยวางผ้าบนไม้ด้านที่ทาเทียนไว้แล้วใช้ด้ามพู่กัน(หรืออุปกรณ์อื่นแล้วแต่ถนัด)ขูดไปบนผ้า พอให้ผ้าติดกับเทียน ขึงให้เรียบไม่มีรอยย่น ถ้าต้องการระบายบนเสื้อยืด ให้สอดกรอบไม้เข้าไปในเสื้อ ขึงด้านที่ต้องการลงสีให้ตึง แล้วสอดกระดาษหนังสือพิมพ์รองด้านหลัง เพื่อไม่ให้สีเปื้อนอีกด้านของเสื้อ ขั้นที่ 2 เขียนลายด้วยเทียน การต้มเทียนควรใช้เตาไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากเทียนเป็นสารที่ติดไฟได้ง่าย แต่หากใช้เตาแก๊สต้มเทียนควรเฝ้าดูตลอดเวลา และห้ามใส่น้ำลงในเทียนร้อนเด็ดขาด! ต้มเทียนให้ได้ความร้อนพอเหมาะ คุณลองดูได้โดยการใช้ชานติ้งจุ่มเทียนขึ้นมา (ใช้กระดาษทิชชูหรือเศษผ้ารองปลายชานติ้งไม่ให้ไหลเลอะเทอะระหว่างทาง) แล้วเขียนไปบนกระดาษหนังสือพิมพ์ ถ้าร้อนพอเหมาะ เทียนจะซึมลงไปด้านใต้กระดาษ ใสเหมือนกับทาด้วยน้ำมัน ถ้าร้อนไม่พอ เทียนจะเกาะบนผิวหนังสือพิมพ์เป็นสีขาว ถ้าร้อนเกินไป เทียนจะแตกเป็นเส้นใหญ่ ควรรอให้เย็นลงหน่อยจึงลองใหม่ จุ่มชานติ้งในเทียนร้อนสักครู่ แล้วตักเทียนขึ้นมาวาดตามลายที่เขียนไว้บนผ้า การจับชานติ้งควรจับให้เหมาะมือ สำหรับมือใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ปลายชานติ้งอาจไปสะดุดกับเนื้อผ้าและทำให้เทียนหกเลอะ ข้อควรระวัง : ในการเขียนเทียนควรเขียนให้เส้นบรรจบปิดทุกลาย โดยไม่ให้มีช่องว่างระหว่างแต่ละลาย มิฉะนั้นเวลาลงสี สีจะซึมเลอะเข้าหากัน ขั้นที่ 3 มาทำความเข้าใจเรื่องแม่สี ในการซื้อสีเพื่อมาทำผ้าบาติกเราอาจซื้อทุกสีที่ต้องการมาใช้ แต่อาจเป็นการสิ้นเปลืองเงินมากเกินไป คุณอาจซื้อเฉพาะแม่สีแล้วนำมาผสมสีตามต้องการได้ แม่สีได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน ซึ่งสามารถผสมได้สีดังนี้ แดง + น้ำเงิน = ม่วง น้ำเงิน + เหลือง = เขียว เหลือง + แดง = ส้ม ควรผสมสีทีละน้อย แล้วทดลองระบายบนกระดาษขาว ถ้าไม่พอใจจึงค่อยๆเพิ่มเติมสี เช่น หากเราต้องการสีม่วงอมแดง เราก็ค่อยๆผสมสีแดงเข้าไปในสีม่วง แล้วดูผลว่ามันจะออกมาเป็นสีม่วงที่เราพอใจแล้วหรือยัง นอกจากนั้นเราสามารถใช้สีดำเพื่อเพิ่มความเข้มให้กับสีได้ สีบาติกที่ยังไม่ได้ละลายน้ำควรเก็บไว้ในที่แห้งและไม่ตากแดด ขั้นที่ 4 การลงสี ช่วงการลงสีคือช่วงที่น่าสนุก ซึ่งเราสามารถลงสีได้ตามที่เราต้องการ ละลายสีจำนวนเล็กน้อยในน้ำปริมาณพอเหมาะในกระปุกที่มีฝาปิด เราสามารถเก็บสีที่เหลือไว้ใช้ในครั้งต่อไปได้ แต่ไม่ควรเก็บสีที่ละลายน้ำแล้วไว้นานเกินกว่า 2 สัปดาห์ เพราะสีจะเสื่อมสภาพ ก่อนลงสี ให้ใช้น้ำเปล่าระบายบนผ้าให้หมาดๆ แล้วจึงลงสีไล่ให้สีมีความเข้ม/จาง หรือจะไล่จากสีหนึ่งไปยังอีกสีหนึ่ง (ดูจากตารางแม่สี) เช่น จากสีน้ำเงินไปผสมกับสีเหลือง ตรงจุดที่สีทั้งสองบรรจบกันจะกลายเป็นสีเขียว ควรลงสีให้เข้มไว้ก่อน โดยลงสีซ้ำขณะที่สีเดิมยังหมาดๆ ไม่ควรรอให้แห้งสนิท เพราะสีจะด่าง ควรจำไว้ว่าหลังจากการต้มเทียนอออกแล้ว สีจะจางลงอีกประมาณ 30% เมื่อลงสีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องถือหรือวางกรอบไม้ในแนวนอนเสมอ มิฉะนั้นสีจะไหลลงด้านล่าง นำไปผึ่งหรือตากแดดให้สีแห้งสนิท ขั้นที่ 5 ลงน้ำยาคงสภาพสีโซเดียมซิลิเกต คือน้ำยาคงสภาพสี มีลักษณะเหนียวข้น โซเดียมซิลิเกตไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง แต่ไม่ควรให้โดนบาดแผล หรือเนื้อไม้ รีบล้างออกทันที ใช้แปรงหน้ากว้างทาโซเดียมซิลิเกตให้ทั่วผืนผ้าบริเวณที่ลงสี ดูให้แน่ใจว่าลงสีได้ทุกซอกมุม โดยเฉพาะส่วนซอกที่อยู่ตรงขอบเทียน ส่วนที่ทาโซเดียมซิลิเกตจะมีสีเข้มขึ้นแต่จะหายเป็นปกติเมื่อล้างออก ทิ้งไว้ประมาณ 3-6 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ขั้นที่ 6 ต้มเทียนออก ลอกผ้าออกจากกรอบไม้ ล้างโซเดียมซิลิเกตออกด้วยน้ำเปล่า ให้แช่ผ้าในน้ำตลอดเวลาจนกว่าจะต้มเทียนออก มิฉะนั้นสีจะตกเลอะ ต้มน้ำใส่ผงซักฟอกให้เดือด ระวังว่าน้ำผสมผงซักฟอกเมื่อเดือดจะมีฟองล้นออกมาอย่างรวดเร็ว ควรเฝ้าดูตลอดเวลา ใส่ผ้าลงไป ใช้ไม้คนให้ทั่วเพื่อให้เทียนหลุดออกจากผ้า ต้มไว้สักครู่ ตักผ้าใส่ในอ่างน้ำเย็น แล้วใช้มือขยี้ดูว่าเทียนหลุดออกหมดหรือไม่ ถ้ายังไม่หมดให้ต้มอีกครั้ง อาจเปลี่ยนน้ำผสมผงซักฟอกถ้าเทียนในน้ำมีมากเกินไป นำขึ้นตากให้แห้งแล้วเย็บขอบให้เรียบร้อย |
http://www.thai.net/batik/batik.html |
โดย: งาน: งานห้องสมุด อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: http://www.thai.net/batik/batik.html |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |