|
|
ความมีมนุษยสัมพันธ์ (Human Relation) เป็นปัจจัยความสามารถในด้านหนึ่งที่ทำให้การทำงานประสบผลสำเร็จ ซึ่งความมีมนุษยสัมพันธ์หมายถึง การสร้างความเป็นมิตรหรือความสัมพันธ์เชิงบวกกับบุคคลอื่นโดยการเริ่มต้นทักทาย การสนับสนุนและช่วยเหลือ การรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมทั้งการให้เกียรติบุคคลอื่น โดยทั่วไปบุคคลที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมักจะมีคนอยากเข้ามาหา มาพูดคุยปรึกษาหารือด้วย และที่สำคัญจะได้รับความช่วยเหลือ ความร่วมมือในการทำงาน รวมทั้งการได้รับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จากบุคคลรอบข้างด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงกันข้ามกับบุคคลที่ไม่มีมนุษยสัมพันธ์…กลุ่มคนเหล่านี้หากไปขอความช่วยเหลือหรือติดต่องานกับหน่วยงานใดมักจะไม่มีใครให้ข้อมูลหรือความช่วยเหลือใด ๆ
ดังนั้นความมีมนุษยสัมพันธ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและมีผลต่อการทำงานและจัดอยู่ในกลุ่มของความสามารถในงาน (Technical Competency) ความสามารถด้านความมีมนุษยสัมพันธ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการประเมินพฤติกรรมการทำงาน จะเห็นได้ว่าระดับของพฤติกรรมของผู้มีมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานจะมีระดับที่แตกต่างกันไปโดยมีระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไปจนถึงระดับที่สูงหรือเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด ดังนี้ ระดับ ลักษณะพฤติกรรม 1 (ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดอย่างมาก) ไม่สนใจที่จะสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่เคยรู้จัก ไม่สามารถควบคุมกิริยาท่าทางและน้ำเสียงเมื่อต้องเผชิญปัญหาในการติดต่อประสานงานกับผู้อื่น ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น 2 (ต่ำกว่ามาตรฐาน ที่กำหนด) เริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเท่าที่จำเป็น รับฟังปัญหาของผู้อื่นอย่างเห็นอกเห็นใจ ให้คำปรึกษาแนะนำในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นบางครั้ง 3 (ตามมาตรฐาน ที่กำหนด) เริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนอยู่เสมอ ยอมรับฟังความคิดเห็นและปัญหาต่าง ๆ ของผู้อื่น เสนอแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 4 (สูง/เกินกว่ามาตรฐาน ที่กำหนด) แสวงหาโอกาสในการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ เต็มใจที่จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกภายในและภายนอกทีม รักษาความสัมพันธ์อันดีกับสมาชิกภายในและภายนอกทีมอยู่เสมอ 5 (สูง/เกินกว่ามาตรฐาน ที่กำหนดอย่างมาก) สร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนใหม่ได้ในทุกกลุ่ม/ระดับ รับรู้และเข้าใจเหตุผลในการแสดงพฤติกรรมของแต่ละคน ปรับเปลี่ยนกิริยาท่าทาง และน้ำเสียงให้เหมาะสมกับบุคคลที่ติดต่อได้ในทุกกลุ่ม/ระดับ ทั้งนี้ความสามารถด้านการมีมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานจึงเป็นสิ่งที่พัฒนาและปรับปรุงได้ หากคุณร่วมมือและพยามยามปรับเปลี่ยนตนเองให้มีมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานที่ดี เพราะ ''มนุษยสัมพันธ์'' นอกจากจะส่งผลต่อความสำเร็จในการทำงานแล้ว ยังส่งต่อสุขภาพจิตในการทำงานของคุณอีกด้วย ทั้งนี้ผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานที่ดีโดยส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่มองโลกในแง่ดี หรือมองในด้านบวก (Positive Thinking) อยู่เสมอ ดังนั้นหลักของ ''R-E-L-A-T-I-O-N''จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาความสามารถด้านการมีมนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน ให้เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้ R Reality เป็นตัวของเรา…นำพาความจริงใจ E Energetic กระตือรือร้น….สร้างความประทับใจ L Listening รับฟังที่ดี…เข้าถึงจิตใจ A Adaptability ปรับตัวเป็นเลิศ…สร้างสายสัมพันธ์ T Tolerance อดทนสักนิด…ชีวิตสุขสันต์ I Integrity มีความซื่อสัตย์ …สร้างความไว้ใจ O Oral Communication วาจาไพเราะ…รักษามิตรภาพ N Networking แสวงหาเครือข่าย…ขยายมิตรสัมพันธ์ Reality (เป็นตัวของเรา…นำพาความจริงใจ) การจะคบหรือรู้จักใครสักคน สิ่งแรกที่สำคัญก็คือ ความเป็นตัวของเราเอง การแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติโดยพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกควรมาจากใจและความเป็นตัวตนของเราเองอย่างแท้จริง ไม่เสแสร้งแกล้งทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองจะเป็นเสน่ห์ของตัวเราที่จะทำให้คนอื่นอยากเข้ามาพูดคุยและคบหาสมาคมด้วย…มีหลายคนถามมาว่า หากเราแสดงความเป็นตัวตนของเราเอง จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในการคบหาสมาคมหรือไม่?….คำตอบก็คือ ไม่แน่นอน เพราะความน่าเชื่อถือควรจะประกอบด้วยหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ความรู้ ทักษะและความสามารถในหน้าที่การงาน การควบคุมอารมณ์ และความจริงใจ ซึ่งความจริงใจย่อมจะเกิดขึ้นจากการแสดงออกจากความเป็นตัวของเราเอง Energetic (กระตือรือร้น….สร้างความประทับใจ) ผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจะมีความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือ การให้ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น นอกจากนี้เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่จะสร้างความประทับใจและสร้างสัมพันธ์ที่ดี นั่นก็คือ ความกระตือรือร้นที่จะอาสาดำเนินการและให้ความร่วมมือ ความช่วยเหลือในการทำงานต่าง ๆ โดยไม่ต้องรอให้อีกฝ่ายหนึ่งมาร้องขอ…ความกระตือรือร้นที่จะช่วยงานไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานน้อย หรือแม้กระทั่งงานใหญ่ ๆ ก็ตาม จะทำให้บุคคลต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมด้วยเกิดความประทับใจและรู้สึกยินดีที่จะให้ความสนับสนุน ความช่วยเหลือและร่วมมือด้วยเช่นกัน Listening (รับฟังที่ดี….เข้าถึงจิตใจ) อีกคุณลักษณะหนึ่งของผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีก็คือ การเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งเป็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์ และความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากผู้อื่นอย่างตั้งใจและเต็มใจ รวมทั้งการไม่พูดสอดแทรกและขัดจังหวะในระหว่างการพูด …เทคนิคหนึ่งสำหรับการเป็นผู้ฟังที่ดีและอยากจะขอแนะนำ นั่นก็คือ การไม่พูดถึงบุคคลอื่นในทางที่ไม่ดี พยายามอย่าวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น หากบุคคลที่เรากำลังสนทนาด้วยกำลังวิจารณ์ถึงผู้อื่นอยู่…ขอแนะนำว่า….ให้รับฟัง…โดยอย่าพยายามพูดสนับสนุนหรือพูดขัดแย้งความคิดหรือความรู้สึกของบุคคลที่เรากำลังสนทนาด้วย แต่ควรจะพยายามรับฟังปัญหาและเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น…ขอให้พึงตระหนักไว้เสมอว่า…คนบางคน อาจไม่ต้องการความช่วยเหลือ เพียงแค่ขอให้มีใครสักคนรับฟังปัญหาหรือความรู้สึกที่ไม่สบายใจ…แค่นี้…ก็พอแล้ว Adaptability (ปรับตัวเป็นเลิศ…สร้างสายสัมพันธ์) ก่อนที่เราจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลต่าง ๆ ได้นั้น การปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะการปรับตัวให้เข้ากับ วัฒนธรรมองค์กร วัฒนธรรมกลุ่มที่เราเข้าไปอยู่ด้วย..แน่นอนว่าทุกคนย่อมต้องผ่านช่วงเวลาของการปรับตัว การสร้างความคุ้นเคยกับองค์กรหรือกลุ่มที่เราเข้าไปร่วมด้วย หากคุณปรับตัวเองได้…นั่นย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลต่าง ๆ ผู้ที่มีการปรับตัวที่ดีโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มองชีวิต มองโลกในทางบวก มองเหตุผลของการกระทำและเข้าใจพฤติกรรมที่เค้าแสดงออกกับคุณเอง Tolerance (อดทนสักนิด…ชีวิตสุขสันต์) หนทางในการเข้าถึงคนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีนั้น ไม่ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป บางครั้งอาจต้องใช้ความพยายามในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดี และเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนและความพยายามอย่างสูงในการสร้างความสัมพันธ์กับคนที่ปิดกั้นตัวเองและไม่ยอมเปิดรับสมาชิกใหม่…ความอดทนต่อคำพูดและการกระทำต่าง ๆ การให้อภัย ไม่คิดมาก ใจกว้างยอมรับฟังคำวิจารณ์จากผู้อื่นอย่างจริงใจจึงเป็นคุณลักษณะที่สำคัญในการสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ และการที่คุณมีความอดทน อดกลั้นย่อมจะทำให้คุณไม่ใส่ใจต่อคำพูดและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจหรืออึดอัดใจ…เพียงแค่นี้…คุณก็มีความสุขกับการดำเนินชีวิตของคุณเอง Integrity (มีความซื่อสัตย์…สร้างความไว้ใจ) บุคคลที่มีความซื่อสัตย์ไม่ว่าจะเป็นทั้งต่อตนเอง เพื่อนร่วมงาน ผู้อื่น และงานที่คุณทำ ย่อมจะส่งผลให้คุณเป็นคนน่าคบหาสมาคมด้วย ผู้ที่มีความซื่อสัตย์ย่อมเป็นบุคคลที่ไว้วางใจได้…และการเป็นที่ไว้วางใจได้นี้เองจึงเป็นคุณลักษณะขั้นสูงที่สามารถพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลต่าง ๆ ไว้ได้…การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น อาจเป็นเรื่องง่าย..แต่การพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้ให้ได้นี้เองจึงเป็นเรื่องที่ยาก…ที่คุณควรจะทำ… Oral Communication (วาจาไพเราะ…รักษามิตรภาพ) คำพูดทีดีย่อมรักษามิตรภาพไว้ได้ มีหลายต่อหลายคนที่ต้องโกรธเคืองกันเพราะคำพูด…มนุษยสัมพันธ์สามารถสร้างและทำให้เกิดได้ด้วยคำพูด และในทางตรงกันข้ามมนุษยสัมพันธ์สามารถถูกลบล้างไปได้ก็เพราะคำพูดเช่นเดียวกัน ดังที่สุนทรภู่ได้กล่าวไว้ในบทกลอนบทหนึ่งที่ว่า ถึงบางพูด พูดดี เป็นศรีศักดิ์ มีคนรัก รสถ้อย อร่อยจิต แม้พูดชั่ว ตัวตาย ทำลายมิตร จะชอบผิด ในมนุษย์ เพราะพูดจา Networking (แสวงหาเครือข่าย…ขยายมิตรสัมพันธ์) ผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีย่อมจะเป็นผู้ที่แสวงหาโอกาสเพื่อรู้จักกับบุคคลใหม่ ๆ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลที่พึ่งรู้จัก รวมทั้งการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องในสายอาชีพหรือแวดวงเดียวกัน ซึ่งพฤติกรรมของบุคคลที่ชอบสร้างเครือข่าย ก็คือ การเข้ากลุ่ม สมาคม หรือสโมสรต่าง ๆ ที่จัดขึ้น การแนะนำตนเองเพื่อทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ก่อนเสมอ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือและความร่วมมือในการทำงานกับบุคคลต่าง ๆ ตลอดจนการติดตามความเคลื่อนไหวและสถานการณ์ต่าง ๆ ของบุคคลที่รู้จัก การเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานเป็นศักยภาพในการทำงานอีกด้านหนึ่งที่สามารถพัฒนาได้ ทั้งนี้การเสริมสร้างและพัฒนาให้บุคคลมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ย่อมต้องอาศัยคุณลักษณะรวมหลายประการร่วมกันตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น.. ****มนุษยสัมพันธ์ที่ดี…ย่อมส่งผลต่อความสำเร็จในหน้าที่การงาน และความสุขในการทำงานร่วมกับผู้อื่น***** |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม |
โดย: งาน: งานนโยบายและแผน อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์ |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |