[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ความฉลาดทางอารมณ์

ความฉลาดทางอารมณ์ 
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข 

อีคิวคืออะไร? 


อีคิว หรือ E.Q. มาจากคำว่า Emotional Quotient หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ 
ความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถทางอารมณ์ที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข 
อีคิว ถือเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงการศึกษาและจิตวิทยา เพราะเพิ่งได้รับความสนใจและยอมรับในความสำคัญอย่างจริงจังเมื่อ ๑๐ กว่าปีมานี้ เดิมเคยเชื่อกันว่า ความสามารถทางเชาวน์ปัญญาหรือไอคิว คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีและมีความสุข 
ต่อมา นักจิตวิทยาเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อความเชื่อความเข้าใจดังกล่าว เพราะไม่เชื่อว่าความสำเร็จและความสุขในชีวิตของคน ๆ หนึ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถทางเชาวน์ปํญญาแต่เพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากในระยะนั้นยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่เพียงพอ ความคิดนี้จึงถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย 
จนกระทั่ง ในปีค.ศ.๑๙๙๐ ซาโลเวย์และเมเยอร์ สองนักจิตวิทยาได้นำความคิดนี้มาพูดถึงอีกครั้ง โดยเอ่ยถึงความฉลาดทางอารมณ์ เป็นครั้งแรกว่า ''เป็นรูปแบบหนึ่งของความฉลาดทางสังคมที่ประกอบด้วยความสามารถในการรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง และผู้อื่นสามาารถแยกความแตกต่างของอารมณ์ที่เกิดขึ้น และใช้ข้อมูลนี้เป็นเครื่องชี้นำในการคิดและกระทำสิ่งต่าง ๆ'' 
จากนั้น แดเนียล โกลแมน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ก็สานต่อแนวคิดนี้อย่างจริงจังโดยได้เขียนเป็นหนังสือเรื่อง ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) และได้ให้ความหมายของอีคิวว่า ''เป็นความสามารถหลายด้าน ได้แก่ การเร่งเร้าตัวเองให้ไปสู่เป้าหมาย มีความสามารถควบคุมความขัดแย้งของตนเอง รอคอยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถจัดการกับอารมณ์ไม่สบายต่าง ๆ มีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง'' 
หลังจาก หนังสือความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ของแดเนียล โกลแมน ออกสู่สาธารณชน ผู้คนก็เริ่มให้ความสนใจกับความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น ประกอบกับระยะหลังมีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันถึงความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ 
อีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์ จึงได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญต่อความสำเร็จและความสุขในชีวิตมนุษย์ กลายเป็นเรื่องฮิตที่มาแรงแซงหน้าไอคิวไปในระยะหลัง 
นอกจากคำว่า Emotional Quotient ที่เราเรียกว่า อีคิวแล้ว ยังมีคำอื่น ๆ อีกหลายคำที่นักวิชาการใช้ในความหมายใกล้เคียงกัน เช่น 
Emotional Intelligence 
Emotional Ability 
Interpersonal Intelligence 
Multiple Intelligence 

กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาแนวคิดเรื่อง ความฉลาดทางอารมณ์ ที่ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ ๓ ประการคือ 
๑. ความดี 
๒. ความเก่ง 
๓. ความสุข 

ดี หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง รู้จักเห็นใจผู้อื่น และมีความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 
ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง 
- รู้อารมณ์และความต้องการของตนเอง 
- ควบคุมอารมณ์และความต้องการได้ 
- แสดงออกอย่างเหมาะสม 
ความสามารถในการเห็นใจผู้อื่น 
- ใส่ใจผู้อื่น 
- เข้าใจและยอมรับผู้อื่น 
- แสดงความเห็นใจอย่างเหมาะสม 
ความสามารถในการรับผิดชอบ 
- รู้จักการให้ รู้จักการรับ 
- รู้จักรับผิด รู้จักให้อภัย 
- เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม 
เก่ง หมายถึง ความสามารถในการรู้จักตนเอง มีแรงจูงใจ สามารถตัดสินใจ แก้ปัญหาและแสดงออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น 
ความสามารถในการรู้จักและสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง 
- รู้ศักยภาพของตนเอง 
- สร้างขวัญและกำลังใจให้ตนเองได้ 
- มีความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย 
ความสามารถในการตัดสินใจและแก้ปัญหา 
- รับรู้และเข้าใจปัญหา 
- มีขั้นตอนในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม 
- มีความยืดหยุ่น 
ความสามารถในการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น 
- รู้จักการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น 
- กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม 
- แสดงความเห็นที่ขัดแย้งได้อย่างสร้างสรรค์ 
สุข หมายถึง ความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข มีความภูมิใจในตนเองพอใจในชีวิต และมีความสุขสงบทางใจ 
ความภูมิใจในตนเอง 
- เห็นคุณค่าในตนเอง 
- เชื่อมั่นในตนเอง 
ความพึงพอใจในชีวิต 
- รู้จักมองโลกในแง่ดี 
- มีอารมณ์ขัน 
- พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ 
ความสงบทางใจ 
- มีกิจกรรมที่เสริมสร้างความสุข 
- รู้จักผ่อนคลาย 
- มีความสงบทางจิตใจ 

ความฉลาดทางอารมณ์ = เข้าใจตนเอง + เข้าใจผู้อื่น + แก้ไขความขัดแย้งได้ 
เข้าใจตนเอง ---> เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกและความต้องการในชีวิตของตนเอง 
เข้าใจผู้อื่น ---> เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น และสามารถแสดงออกมาได้อย่างเหมาะสม 
แก้ไขความขัดแย้งได้ ---> เมื่อมีปัญหาสามารถแก้ไขจัดการให้ผ่านพ้นไปได้อย่างเหมาะสมทั้งปัญหาความเครียดในใจ หรือปัญหาที่เกิดจากการขัดแย้งกับผู้อื่น 


ที่มา : กรมสุขภาพจิต. (2543). คู่มือความฉลาดทางอารมณ์. กรุงเทพฯ : กระทรวงสาธารณสุข,





ข้อมูลจากเวบนี้


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง