[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

อีคิวกับไอคิวต่างกันอย่างไร

อีคิวกับไอคิวต่างกันอย่างไร 


ไอคิว หรือ Intelligence Quotient หมายถึง ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา การคิด การใช้เหตุผล การคำนวณ การเชื่อมโยง 
อีคิว หรือ Emotional Quotient หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์เป็นความสามารถในการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ทั้งของตัวเองและผู้อื่น ตลอดจนสามารถปรับหรือควบคุมได้อย่างเหมาะสมกับสภาวะการณ์ 
ไอคิว เป็นศักยภาพทางสมองที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยาก 
อีคิว ถึงแม้จะเป็นศักยภาพทางสมองเหมือนกันแต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นได้ 
ไอคิว สามารถวัดออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขที่แน่นอนได้ 
อีคิว ไม่สามารถระบุชี้ออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลข 

การวัดไอคิว เกิดขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ.๑๙๐๕ โดยนักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ต้องการแยกบุคคลปัญญาอ่อนออกจากคนปกติ เพื่อจะได้จัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม โดยใช้การเปรียบเทียบระหว่างความสามารถที่ควรจะเป็นกับอายุสมองแล้วคำนวณออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ 
ปัจจุบัน การวัดไอคิวมักใช้แบบทดสอบของเวสเลอร์ ที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปีค.ศ.๑๙๓๐ โดยอาศัยงานวิจัยของนักวิชาการและนักการทหาร เป็นกลุ่มข้อทดสอบทั้งหมด ๑๑ กลุ่ม เป็นกลุ่มที่ต้องใช้ภาษาโต้ตอบ ๖ กลุ่ม ไม่ต้องใช้ภาษาโต้ตอบ ๕ กลุ่ม ดังนี้ 
๑. ข้อมูลทั่วไป เป็นคำถามเพื่อตรวจวัดความสนใจความรู้รอบตัว 
๒. ความคิด ความเข้าใจ 
๓. การคิดคำนวณ 
๔. ความคิดที่เป็นนามธรรม โดยให้หาความเหมือน 
๕. ความจำระยะสั้น โดยใช้การจำจากตัวเลข 
๖. ภาษาในส่วนของการใช้คำ 
๗. การต่อภาพในส่วนที่ขาดหายไป 
๘. การจับคู่โครงสร้าง โดยดูจากรูปร่างหรือลวดลาย 
๙. การเรียงลำดับภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ 
๑๐. การต่อภาพเป็นรูป ด้วยการต่อจิ๊กซอว์ 
๑๑. การหาความสัมพันธ์ของตัวเลขและสัญลักษณ์ 

การวัดอีคิว เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ไม่มีแบบมาตรฐานที่แน่นอน เป็นเพียงการประเมินเพื่อให้ผู้วัดมองเห็นความบกพร่องของความสามารถทางด้านอารมณ์ที่ต้องพัฒนาแก้ไข กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ โดยประเมินจากความสามารถด้านหลัก ๓ ด้านคือ ดี เก่ง สุข ซึ่งแยกเป็นด้านย่อยได้ ๙ ด้าน 
๑. การควบคุมตนเอง 
๒. ความเห็นใจผู้อื่น 
๓. ความรับผิดชอบ 
๔. การมีแรงจูงใจ 
๕. การตัดสินใจแก้ปัญหา 
๖. สัมพันธภาพกับผู้อื่น 
๗. ความภูมิใจในตนเอง 
๘. ความพอใจในชีวิต 
๙. ความสุขสงบทางใจ 

เนื่องจากไอคิวสามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ จึงมีผู้ให้ความสำคัญกับไอคิวมาโดยตลอด เด็กที่เรียนเก่ง จะมีแต่คนชื่นชม พ่อแม่ครูอาจารย์รักใคร่ ต่างจากเด็กที่เรียนปานกลางหรือเด็กที่เรียนแย่มักไม่ค่อยเป็นที่สนใจ หรือถูกดุว่า ทั้ง ๆ ที่เด็กเหล่านี้อาจจะมีความสามารถทางด้านอื่น เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพียงแต่ไม่มีความถนัดเชิงวิชาการเท่านั้นเอง 
มาในช่วงหลัง ๆ ความเชื่อมั่นในไอคิวเริ่มสั่นคลอนเมื่อมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการวัด และความสำคัญของไอคิว จนในที่สุดเมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมาจึงยอมรับกันว่า แทัจริงแล้ว ในความเป็นจริง ชีวิตต้องการทักษะและความสามารถในด้านอื่น ๆ อีกมากมายที่นอกเหลือไปจากการจำเก่ง การคิดเลขเก่ง หรือการเรียนเก่ง ความสามารถเหล่านี้อาจจะช่วยให้คน ๆ หนึ่งได้เรียน ได้ทำงานในสถานที่ดี ๆ แต่คงไม่สามารถเป็นหลักประกันถึงชีวิตที่มีความสุขได้ 
ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งในรัฐแมสซาซูเสท สหรัฐอเมริกาที่ศึกษาความสัมพันธ์ของไอคิวกับความสำเร็จในชีวิต โดยติดตามเก็บข้อมูลจากเด็ก ๔๕๐ คน นานถึง ๔๐ ปี พบว่าไอคิวมีความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยกับความสามารถในการทำงานได้ดีหรือกับการดำเนินชีวิต และพบว่าปัจจัยที่สามารถจะทำนายถึงความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ของชีวิตได้ดีกว่า กลับเป็นความสามารถด้านต่าง ๆ ในวัยเด็กที่ไม่เกี่ยวข้องกับไอคิว เช่น ความสามารถในการจัดการกับความผิดหวัง การควบคุมอารมณ์ และการเข้ากับบุคคลอื่น ๆ ได้ดี 
ตัวอย่างงานวิจัยอีกเรื่องหนึ่ง คือการติดตามเก็บข้อมูลจากผู้ที่จบปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์ ๘๐ คน ตั้งแต่ตอนที่ยังศึกษาอยู่ไปจนถึงบั้นปลายชีวิตในวัย ๗๐ ปี พบว่า ความสามารถทางด้านอารมณ์และสังคมมีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพและมีชื่อเสียงมากกว่าความสามารถทางเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวถึง ๔ เท่า 





ข้อมูลจากเวบนี้


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง