[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

สกอ.รับปรับวิธีสอบเอ็นท์ จี้เด็กไทยพัฒนาศักยภาพ

รองเลขาฯ กอ.แจงข้อสอบเอ็นทรานซ์ไม่เกินหลักสูตร ม.ปลาย แต่ปรับรูปแบบเน้นวิเคราะห์-สังเคราะห์ มากกว่าความจำ นักเรียนที่ปรับตัวไม่ทันเลยสอบได้คะแนนต่ำ ''ครูเคท''เผยการสอนภาษาอังกฤษผิดตั้งแต่ครูที่ยัดเยียดให้เรียน ทำให้เกิดการต่อต้าน แนะให้เด็กประถมเรียนพูดก่อนให้ชิน แล้วค่อยต่อยอดไวยากรณ์ระดับมัธยม ชี้ข้อสอบบางข้อไม่ประเทืองปัญญา

จากการเปิดเผยคะแนนทดสอบวัดความรู้ ครั้งที่ 2/2546 (เดือนตุลาคม 2546) ในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือเอ็นทรานซ์ ประจำปีการศึกษา 2547 ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) จำนวน 2 แสนกว่าคน ผลปรากฏว่านักเรียนกว่า 90% สอบได้ไม่ถึง 50 คะแนนในวิชาหลัก และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสอบวัดความรู้ครั้งก่อนๆ พบว่าคุณภาพการเรียนของเด็กไทยต่ำลง ในขณะที่นักเรียนบางคนมองว่าเด็กไทยไม่ได้โง่ลง แต่เป็นเพราะข้อสอบเอ็นทรานซ์ยากขึ้นนั้น

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นายสุชาติ เมืองแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กอ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ยืนยันว่าข้อสอบวัดความรู้แต่ละครั้งไม่ได้ออกเกินหลักสูตร ม.ปลาย เพราะแต่ละครั้งที่จะออกข้อสอบ ผู้ออกข้อสอบจะต้องนำเนื้อหาหลักสูตรของชั้น ม.4-6 มาใช้เป็นแนวทางในการออกข้อสอบทุกครั้ง นอกจากนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สกอ.ได้ปรับรูปแบบการออกข้อสอบวัดความรู้ใหม่ โดยเน้นวิเคราะห์ สังเคราะห์ มากกว่าความจำ ทำให้การตอบยังไม่ตรงประเด็น ดังนั้น นักเรียนจำเป็นที่จะต้องฝึก และพัฒนาศักยภาพในเรื่องการวิเคราะห์ สังเคราะห์มากขึ้น 

นายสุชาติกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผลการสอบวัดความรู้ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าผู้เข้าสอบได้ต่ำกว่า 50 คะแนน กว่า 90% นั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนักเรียน ม.6 ยังเรียนไม่ครบตามหลักสูตร เพราะเหลือเวลาเรียนอีก 1 ภาคการศึกษาจึงจะจบหลักสูตร ฉะนั้น นักเรียนอาจจะดูหนังสือไม่ครบถ้วน

''การออกข้อสอบจะมีหลายรูปแบบ เช่น เน้น ความจำ ความเข้าใจ ประยุกต์ใช้ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ ซึ่ง 3 ปีก่อน การออกข้อสอบจะเน้นความจำ ความเข้าใจเป็นหลัก ซึ่งคะแนนเฉลี่ยในการสอบเอ็นทรานซ์ของเด็กจะอยู่ในระดับกลางๆ แต่ในช่วงที่ผ่านมา สกอ.ได้ปรับรูปแบบการออกข้อสอบในลักษณะที่ผสมผสานมากขึ้น โดยเน้นวิเคราะห์ สังเคราะห์มากขึ้น คะแนนเฉลี่ยของเด็กจึงลดลงมา'' นายสุชาติกล่าว

นางเนตรปรียา ชุมไชโย หรือ ''ครูเคท'' ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนภาษาครูเคท กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริง กรณีที่คะแนนสอบวัดความรู้ของเด็กไทยต่ำมาก รวมถึงคะแนนวิชาภาษาอังกฤษที่มีผู้เข้าสอบได้ไม่ถึง 50 คะแนน 92.64% นั้น เกิดจากการสอนที่ปูพื้นฐานยังไม่แน่น ซึ่งเป็นปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น อย่างการเรียนรู้ภาษาจะต้องให้เด็กเกิดความเคยชินกับภาษา แต่ที่ผ่านมาครูสอนแบบยัดเยียด ทำให้ใจเด็กเกิดการต่อต้าน และไม่รับ ฉะนั้น ที่ผลการสอบออกมาแล้วเด็กไทยทั้งประเทศได้คะแนนภาษาอังกฤษต่ำทั้งประเทศ ก็ต้องยอมรับความจริง

''หลักสูตรภาษาอังกฤษมองว่าโอเคแล้ว แต่เทคนิคการเรียนการสอนคงต้องปรับ วิธีแก้ไขคือต้องเริ่มเรียนภาษาอังกฤษในระดับประถมอย่างจริงจัง โดยเน้นการพูดให้เด็กเคยชินกับภาษา แล้วค่อยสอนไวยากรณ์ในระดับมัธยม แต่ที่ผ่านมาเด็กไม่ได้เรียนแบบนี้ ครูไม่ได้แยกสอน และครูที่สอนก็ไม่ได้เชี่ยวชาญ หรือจบเอกเฉพาะด้าน อย่างครูในโรงเรียนทั่วๆ ไปจะสอนทั้งภาษาไทย อังกฤษ สังคม คณิต ซึ่งตัวครูเองก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เมื่อสอนผิดวิธีการตั้งแต่แรกทำให้เด็กเกลียดภาษาอังกฤษตั้งแต่ต้น'' นางเนตรปรียากล่าว

นางเนตรปรียากล่าวต่อว่า สำหรับข้อสอบวัดความรู้ของ สกอ.นั้น จะเน้นวัดไวยากรณ์มากเกินไป ทั้งที่รูปแบบการวัดมีหลายวิธี แต่ไม่นิยมทำเพราะลำบากในการวัด นอกจากนี้ ข้อสอบบางข้อไม่รู้ว่าออกทำไม เพราะไม่ได้ประเทืองปัญญาของเด็กเลย อย่างไรก็ตาม มองว่าการจะเพิ่มศักยภาพให้เด็กไทยคงต้องปรับทั้งหมด ทั้งวิธีการเรียนการสอน และปรับข้อสอบเอ็นทรานซ์ควบคู่กัน เพราะถ้าเปลี่ยนวิธีการสอน แต่รูปแบบการออกข้อสอบไม่เปลี่ยน เด็กก็จะกลับไปมุ่งเน้นการท่องจำอย่างเดิม

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า มีความพยายามที่จะโยนความผิดไปให้ระบบการศึกษา โยนความผิดไปให้เด็กนักเรียนว่าไม่สนใจเรียน ความจริงเรื่องนี้ไม่สามารถโยนความผิดให้เด็กนักเรียนหรือครูได้ นายกฯบอกว่าปัญหามาจากครูไม่เปลี่ยน แปลงการสอน นักเรียนไม่สนใจเรียน เป็นเหตุผลที่นายกฯหยิบขึ้นมาอ้างว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เด็กสอบตกกราวรูด เรื่องนี้ถือว่าเป็นปลายเหตุ เพราะต้นเหตุจริงๆ คือรัฐบาลละเลยการแก้ไขปัญหาการศึกษามาตั้งแต่ต้น และกระทรวงศึกษาธิการก็มีการเปลี่ยน แปลงตัวรัฐมนตรีมาแล้ว 5-6 คน ถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ 

นายองอาจกล่าวว่า การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบ่อยครั้งที่เกิดขึ้นถือให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาของชาติ หลีกเลี่ยงการปฏิรูป การศึกษา 





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: มติชนรายวัน ฉบับที่ 9383 [หน้าที่ 1 ] ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง