|
|
ในการวิจัยประเมินผลด้านการอ่านที่ประเทศไทยได้ทำวิจัยร่วมกับ OECD นั้นมีกระบวนการทำวิจัยที่ควบคุมคุณภาพ เพื่อให้ผลการวิจัยเป็นมาตรฐานเดียวกันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสุ่มตัวอย่าง ต้องให้มีจำนวนและการกระจายตัวที่มั่นใจได้ว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้จริง เพื่อให้สามารถนำผลมาเปรียบเทียบกันได้ทั่วโลก และคอลัมน์นี้รายงานมาแล้วหลายแง่มุม ซึ่งสรุปผลที่น่าสนใจคือ (1) นักเรียนไทยมีทักษะการอ่านต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD (2) นักเรียนหญิงมีทักษะสูงกว่านักเรียนชายและความแตกต่างมีค่าสูงมาก และ (3) นักเรียนหญิงมีความสนใจในการอ่านสูงกว่านักเรียนชายมาก
วันนี้เราจะมาดูในแง่มุมของความเป็นนักอ่านของนักเรียนไทยดูบ้าง ในการวิจัยได้นำข้อมูลมาจัดจำแนกนักเรียนออกตามภาพรวมของความเป็นนักอ่าน ซึ่งจำแนกจากความหลากหลายของสื่อที่อ่าน ซึ่งวิเคราะห์จากความถี่ของการอ่านสื่อประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น อ่านนิตยสาร การ์ตูน หนังสือพิมพ์ หนังสือบันเทิง และสารคดี เป็นต้น กลุ่ม 1 นักอ่านที่อ่านหลากหลายน้อยที่สุด นักอ่านกลุ่มนี้อ่านนิตยสาร หนังสือบันเทิง และการ์ตูนเป็นส่วนใหญ่ ค่าเฉลี่ยของ OECD ในกลุ่มนี้มีนักเรียนหญิงมากว่านักเรียนชาย กล่าวคือมีนักเรียนหญิง 24% และนักเรียนชาย 20% แต่สำหรับนักเรียนไทยที่ตกอยู่ในกลุ่มนี้ เป็นนักเรียนชายมากกว่านักเรียนหญิงอยู่ประมาณ 10% กล่าวคือ นักเรียนชาย 22.5% และนักเรียนหญิง 11.8% กลุ่ม 2 นักอ่านที่อ่านหลากหลายค่อนข้างมากขึ้น นักเรียนกลุ่มนี้มักอ่านนิตยสารและหนังสือพิมพ์มาก ค่าเฉลี่ยของ OECD พบว่ากลุ่มนี้เป็นนักเรียนชายมากกว่า กล่าวคือ เป็นนักเรียนชายประมาณ 30% และนักเรียนหญิงประมาณ 25% ในประเทศยุโรปหลายประเทศ สัดส่วนของนักเรียนชายในกลุ่มนี้ถึงเกือบ 50% จนถึงสูงกว่า 50% ในขณะที่มีนักเรียนหญิงต่ำกว่าถึง 10% หรือสูงกว่า แต่ประเทศนอก OECD พบว่าความแตกต่างระหว่างเพศในกลุ่มนี้ไม่สูงนัก แต่สำหรับประเทศไทย นอกจากไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศแล้ว ยังพบว่าจำนวนนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มนี้มีน้อยมาก กล่าวคือ มีนักเรียนชายเพียง 6.6% และนักเรียนหญิงเพียง 6.8% เท่านั้น ซึ่งคล้ายๆ กับประเทศญี่ปุ่นที่มีนักเรียนชาย 6.4% และนักเรียนหญิง 9.7% กลุ่ม 3 ที่อ่านสื่อที่หลากหลายปานกลาง นอกจากจะอ่านหนังสือในสองกลุ่มแรกแล้วยังอ่านข้อเขียนที่เป็นสารคดีสั้น และอ่านหนังสือบันเทิงในระดับปานกลาง ในกลุ่มประเทศ OECD มีนักเรียนมากที่สุดในกลุ่มนี้ มีนักเรียนชาย 34% และนักเรียนหญิง 23% และมีถึง 8 ประเทศ ที่มีนักเรียนชายเกิน 50% อยู่ในกลุ่ม 3 นี้ ญี่ปุ่นมีนักอ่านในกลุ่มนี้สูงที่สุด (ชาย 80% หญิง 10%) ส่วนนักเรียนไทยก็มีนักเรียนจัดอยู่ในกลุ่มนี้มากที่สุด แต่ปรากฏว่ามีนักเรียนหญิงมากกว่านักเรียนชาย คือหญิง 57% และชาย 51% (%ของนักเรียนในแต่ละเพศ) กลุ่ม 4 กลุ่มที่มีการอ่านที่หลากหลายมาก และอ่านสื่อที่มีความยาวมากขึ้น ค่าเฉลี่ย OECD มีนักเรียนหญิงอยู่ในกลุ่มนี้ถึง 29% ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุด และมีผู้ชายต่ำกว่า (คือ 16%) สำหรับประเทศไทยมีนักเรียนชายอยู่ในกลุ่มนี้ 20% และนักเรียนหญิง 25% สรุปว่าสำหรับประเทศไทย นักเรียนส่วนใหญ่เป็นนักอ่านที่อ่านสื่อหลากหลายปานกลาง หรือกลุ่ม 3 และรองลงมาคือ กลุ่ม 4 ซึ่งอ่านสื่อที่หลากหลายมาก และในสองกลุ่มนี้ มีนักเรียนหญิงมากกว่านักเรียนชายทั้งสองกลุ่ม ส่วนในกลุ่ม 1 ที่อ่านหนังสือการ์ตูน หนังสืออ่านเล่นหรือหนังสือบันเทิง มีนักเรียนชายมากกว่านักเรียนหญิงเกินหนึ่งเท่าตัว นักอ่าน หญิง (%) ชาย (%) กลุ่ม 1 11.3 22.5 กลุ่ม 2 6.5 6.5 กลุ่ม 3 57 51 กลุ่ม 4 25 20 ข้อมูลชี้แนวโน้มว่านักเรียนไทยมีความโน้มเอียงที่จะเป็นนักอ่านที่มีคุณภาพที่มีการอ่านที่หลากหลายซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ปรารถนาตามเกณฑ์ของ OECD หากแต่ปัญหาอุปสรรคอาจจะเป็นเพราะนักเรียนไม่มีสื่อที่หลากหลายพอที่ป้อนให้ การวิเคราะห์ที่เจาะลึกลงไปอีกยิ่งชี้ให้เห็นว่านักเรียนโรงเรียนขยายโอกาส (สปช.) จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือแทบจะไม่มีสื่อใดให้อ่านนอกจากการ์ตูนและหนังสือพิมพ์เท่านั้น หากถ้าไม่มีสื่อ นักเรียนจะเป็นนักอ่านที่อ่านหลากหลายได้อย่างไร โจทย์ที่ต้องแก้กันต่อไปก็คือจะทำอย่างไรให้นักเรียนได้เข้าถึงสื่ออย่างหลากหลายเท่าเทียมกัน |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม |
โดย: งาน: งานนโยบายและแผน อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: ผู้จัดการรายวัน ฉบับที่ 4036(4034) [หน้าที่ 6 ] ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2546 |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |