[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

นักเรียนโอดยัน''ไม่โง่'' ข้อสอบยาก! เอ็นทรานซ์ออกเกินหลักสูตร ทีม''อดิศัย''เตรียมรื้อใหญ่ระบบ

แฉคะแนนสอบเอ็นทรานซ์ นักเรียน ม.6 รวม 3 รุ่นทั่ว ปท. พบคุณภาพตกต่ำไม่แตกต่างกัน สอบตกกราวรูดแทบทุกวิชา หนำซ้ำบางวิชาหลักยังมีทิศทางได้คะแนนลดดิ่งลง ทั้งภาษาอังกฤษ คณิต ชีวะ วิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ เลขานุการ รมว.ศธ.ทราบผลถึงกับอึ้ง

จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการการอุดม ศึกษา(สกอ.) เปิดเผยผลคะแนนการสอบวัดความรู้ ครั้งที่2/2546 (เดือนตุลาคม) ประกอบการสอบเอ็นทรานซ์ประจำปีการศึกษา 2547 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศจำนวนหลายแสนคน ปรากฏผลนักเรียนเกือบทั้งหมดสอบตกกราวรูดในวิชาหลัก ทั้งคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และสังคมศึกษา โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ 1 และ 2 มีนักเรียนเข้าสอบ 1 แสนกว่าคน แต่สอบได้คะแนนไม่ถึงครึ่งจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ถึงประมาณ 99% โดยได้คะแนนเฉลี่ยแค่ 24 คะแนน ทั้งผลการสอบครั้งนี้ยังสะท้อนคุณภาพเด็กไทยที่ตกต่ำลงเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสอบวัดความรู้ ครั้งที่ 1/2546 เดือนมีนาคมที่ผ่านมาด้วย

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าว ''มติชน'' ได้ทำการตรวจสอบคะแนนเฉลี่ยและสถิติคะแนนสอบวัดความรู้ประกอบการสอบเอ็นทรานซ์ย้อนหลัง 3 ปีการศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2545-2547 ซึ่งเป็นผลการสอบของนักเรียนชั้น ม.6 ทั่วประเทศรวม 3 รุ่นการศึกษา ได้แก่การสอบวัดความรู้ฯ ครั้งที่ 2/2546 เดือนตุลาคม 2546, ครั้งที่ 1/2546 เดือนมีนาคม 2546, ครั้งที่ 2/2545 เดือนตุลาคม 2545 และครั้งที่ 1/2545 เดือนมีนาคม 2545 ปรากฏว่าสะท้อนถึงคุณภาพที่ตกต่ำไม่แตกต่างกันคือ สอบตกกราวรูดในแทบทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาหลักๆ ทั้งภาษาไทย สังคม อังกฤษ คณิตศาสตร์ 1 และ 2 วิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ฯลฯ อีกทั้งในบางวิชายังมีทิศทางคะแนนเฉลี่ยที่ลดน้อยลง อย่างวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ 1 และ 2 ชีววิทยา และวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ เป็นต้น 

อาทิ วิชาภาษาไทย สอบครั้งที่ 2/2546 ได้คะแนนเฉลี่ย 41.77 คะแนน, ครั้งที่ 1/2546 ได้ 39.86 คะแนน, ครั้งที่ 2/2545 ได้ 42.61 คะแนน, ครั้งที่ 1/2545 ได้ 45.52 คะแนน วิชาสังคม ครั้งที่ 2/2546 ได้ 39.92 คะแนน, ครั้งที่ 1/2546 ได้ 38.80 คะแนน, ครั้งที่ 2/2545 ได้ 39.21 คะแนน, ครั้งที่ 1/2545 ได้ 44.70 คะแนน วิชาภาษาอังกฤษ ครั้งที่ 2/2546 ได้ 33.10 คะแนน, ครั้งที่ 1/2546 ได้ 38.12 คะแนน, ครั้งที่ 2/2545 ได้ 32.64 คะแนน, ครั้งที่ 1/2545 ได้ 39.76 คะแนน วิชาคณิตศาสตร์ 1 ครั้งที่ 2/2546 ได้ 24.86 คะแนน, ครั้งที่ 1/2546 ได้ 26.20 คะแนน, ครั้งที่ 2/2545 ได้ 24.91 คะแนน, ครั้งที่ 1/2545 ได้ 25.48 คะแนน วิชาเคมี ครั้งที่ 2/2546 ได้ 25.94 คะแนน, ครั้งที่ 1/2546 ได้ 24.88 คะแนน, ครั้งที่ 2/2545 ได้ 27.53 คะแนน, ครั้งที่ 1/2545 ได้ 29.54 คะแนน 

วิชาฟิสิกส์ ครั้งที่ 2/2546 ได้ 23.37 คะแนน, ครั้งที่ 1/2546 ได้ 23.07 คะแนน, ครั้งที่ 2/2545 ได้ 26.34 คะแนน, ครั้งที่ 1/2545 ได้ 25.85 คะแนน วิชาชีววิทยา ครั้งที่ 2/2546 ได้ 30.68 คะแนน, ครั้งที่ 1/2546 ได้ 32.85 คะแนน, ครั้งที่ 2/2545 ได้ 28.93 คะแนน, ครั้งที่ 1/2545 ได้ 35.31 คะแนน วิชาวิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ ครั้งที่ 2/2546 ได้ 37.86 คะแนน, ครั้งที่ 1/2546 ได้ 40.38 คะแนน, ครั้งที่ 2/2545 ได้ 38.09 คะแนน, ครั้งที่ 1/2545 ได้ 36.77 คะแนน และวิชาคณิตศาสตร์ 2 ครั้งที่ 2/2546 ได้ 24.02 คะแนน, ครั้งที่ 1/2546 ได้ 25.67 คะแนน, ครั้งที่ 2/2545 ได้ 24.37 คะแนน และครั้งที่ 1/2545 ได้ 26.48 คะแนน

ด้านนางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า ผลคะแนนที่ออกมาจะไปโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ ศธ.เองก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เข้าใจว่าทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ต้องสอบเพื่อคัดคนเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งอาจเป็นข้อสอบที่ค่อนข้างจะยาก เพราะต้องคัดคนที่เก่งเข้าไปเรียน เนื่องจากไม่สามารถรับนักศึกษาได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าคุณภาพการจัดการศึกษาของแต่ละโรงเรียนยังไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งอาจจะมีส่วนในผลการสอบครั้งนี้

น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาฯให้เด็กเรียนวันละ 7-8 ชั่วโมง อีกทั้งมีเด็กไปเรียนกวดวิชาด้วย แต่ผลสอบเอ็นทรานซ์กลับออกมาในลักษณะตกต่ำ แสดงว่าระบบการศึกษาที่ผ่านมาเดินทางผิด จำเป็นจะต้องสังคายนาใหญ่ โดยตนจะเสนอนายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งต้องมาดูว่าหลักสูตรและวิธีการสอนของครูต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง

''ผมเชื่อว่าตามนโยบายของนายอดิศัยที่ให้ลดชั่วโมงเรียน แต่ยังคงเข้มข้นในการสอนแต่ละวิชา แล้วไปเพิ่มเวลาให้เด็กได้ทำกิจกรรมเรียนรู้ดนตรี และกีฬา น่าจะช่วยให้เด็กเรียนดีขึ้นได้ เพราะจากผลวิจัยต่างๆ ชี้ชัดว่าการเล่นกีฬาและดนตรีจะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง และมีความจำที่ดีขึ้นได้ แต่ที่ผ่านมาเราให้เด็กเรียนจนเครียดในแต่ละวัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เด็กมีผลการเรียนตกต่ำดังกล่าว'' น.พ.ทศพรกล่าว 

นางวรรณวิภา สุทธเกียรติ อาจารย์ประจำศูนย์คณิตศาสตร์ และอาจารย์ที่ปรึกษานักเรียนชั้น ม.5/5 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่งไปสอนวิชาคณิตศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการสอบวัดความรู้ดังกล่าวเป็นการออกข้อสอบในระบบการศึกษาเก่า ที่เน้นวัดการท่องจำ ในขณะที่ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทุกโรงเรียนมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ตาม

นโยบาย ศธ. ซึ่งเน้นให้เด็กทำกิจกรรมและค้นคว้าหาความรู้เองมากขึ้น ซึ่งเด็กจะต้องเน้นทำความเข้าใจในบทเรียนเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ข้อสอบเอ็นทรานซ์ยังมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก เป็นข้อสอบที่ยาก โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ออกข้อสอบโดยนำสาระความรู้ที่เด็กเรียนชั้น ม.ปลายรวมถึง 15 บท มาออกข้อสอบเพียง 28 ข้อ ข้อสอบจึงมีความซับซ้อนมาก ถ้าเด็กไม่เน้นเรียนในเชิงวิเคราะห์มาอย่างดีก็ไม่สามารถทำข้อสอบได้ เฉพาะอย่างยิ่งเด็กในต่างจังหวัดอาจจะเสียเปรียบ

น.ส.อัจฉริยา ชมะนันทน์ อาจารย์วิชาคณิตศาสตร์ ชั้น ม.4 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กล่าวว่า ที่คะแนนสอบเด็กลดลงแต่ละปีเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งเนื้อหาข้อสอบยาก ออกเกินกว่าเนื้อหาการสอนในชั้นเรียน หรือเด็กไม่เข้าใจเนื้อหาท่องแท้ และเวลาสอบก็ไม่สัมพันธ์กันกับจำนวนและความยากของข้อสอบ รวมทั้งคุณภาพการสอนของครูก็มีส่วนด้วย เช่นเดียวกับในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ มีการเพิ่มเนื้อหาในวิชาคณิตศาสตร์ขึ้นอีก 3 บท ทำให้ต้องลดเวลาเรียนในแต่ละบทลดลงจาก 40 ชั่วโมงต่อบท เหลือ 30 ชั่วโมง ทำให้เด็กได้เรียนรู้ในแต่ละบทน้อยลง นอกจากนี้ อาจเกิดจากเด็กสมัยนี้มีความอดทนน้อยกว่าเด็กรุ่นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว อย่างให้การบ้านมากก็จะบ่นขอให้ลดลง

น.ส.คัคนานต์ เทียนไชย นักเรียนชั้น ม.5/5 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าเกิดจากสติปัญญาเด็กโง่ลง หรือความไม่เอาใจใส่ของครู แต่คิดว่าเกิดจากข้อสอบเอ็นทรานซ์ยากขึ้นตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ที่เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์มากขึ้น แม้จะเป็นข้อสอบปรนัยก็ตาม นอกจากนี้ อาจเกิดจากการเก็งข้อสอบผิดพลาด แต่ก็ยอมรับว่าผลสอบที่ออกมาแย่ลงเหมือนเป็นสัญญาณเตือนให้เด็กเองต้องปรับตัวให้มีการคิดวิเคราะห์มากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะทำข้อสอบสมัยใหม่ไม่ได้ ครูเองก็ต้องปรับวิธีการเรียนการสอนด้วย มาเป็นให้เด็กเป็นศูนย์กลางมากขึ้น แต่เวลานี้ต้องยอมรับว่าครูยังสอนแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลงคือ ยังบอกสูตรให้ท่องจำ 

นายแบงก์ งามอรุณโชติ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กล่าวว่า ตนเข้าสอบวัดความรู้ฯครั้งที่ 2/2546 เดือนตุลาคมที่ผ่านมาด้วย เห็นว่าข้อสอบไม่ยาก ออกไม่เกินหลักสูตร ม.ปลาย เพียงแต่เวลาที่สอบในแต่ละวิชาน้อย ในขณะที่ข้อสอบมีมาก จึงทำไม่ทัน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เด็กสอบได้คะแนนต่ำ เช่นการปรับหลักสูตรของ ศธ. และการจัดการเรียนการสอนที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เพราะพบว่าครูจะไม่สอนเนื้อหาตามลำดับ แต่จะสอนสลับไปมาเพื่อให้เกิดการบูรณาการ แต่เมื่อเด็กมีความรู้พื้นฐานไม่พอจึงทำให้สับสน รวมทั้งเกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เด็กมีฐานะจะได้เรียนกวดวิชา เป็นต้น

ทางด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ว่า การสอบเอ็นทรานซ์สามารถสอบได้หลายครั้ง เมื่อสอบได้หลายครั้งบางคนก็เลยบอกงวดนี้ขอ 2 วิชา ก็ทุ่มไปกับ 2 วิชา อีก 3 วิชาก็สอบไปอย่างนั้นๆ อย่าลืมว่าเด็ก ม. 6 ยังไม่จบการศึกษาจึงทุ่มให้การสอบ 1-2 วิชา ส่วนที่เหลือก็ไปสอบอีกครั้ง ''วันนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อน ดังนั้นจะนำตรงนี้มาเป็นข้อสรุปไม่ได้ ผมรู้ดี ลูกผมก็สอบ'' นายกฯกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ดูเหมือนคนในกระทรวงศึกษาธิการออกมายอมรับ ว่าปัญหาด้านการศึกษาที่เกิดขึ้น มาจากการจัดระบบการเรียนการสอนที่ไม่ได้ผล พ.ต.ท. ทักษิณกล่าวว่า อันนี้เป็นปัญหาแน่นอนอยู่แล้ว แต่จะสรุปทีเดียวไม่ได้ ตอนที่ตนไปสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้เด็กนักเรียนโรงเรียนสามเสนวิทยาก็ได้ดูหลักสูตร รู้เลยว่าหลักสูตรมันทำให้เรียนมากเกินไป เด็กบางคนตามไม่ทันก็ไม่ได้หลักคิด ได้แต่หลักจำ จำหนักเข้า ก็ไม่แม่น ก็ลืม ดังนั้น ต้องสอนหลักคิดมากกว่าหลักจำ ซึ่งนายอดิศัย ก็เข้าไปคลำถูกจุดแล้วว่าต้องแก้ไขอย่างไร

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวต่อว่า ในต่างประเทศมีการสร้างความพอเพียงให้แก่ระบบ ใครใคร่เรียนก็จะได้เรียนหมด เรียกว่าระบบ แอดมิสชั่น เด็กอยากเรียนอะไรก็ได้เรียน หากเรียนไม่ไหวอยากย้ายคณะก็โอนหน่วยกิตไป ไม่เหมือนบ้านเราที่พอสอบเข้าไปแล้วย้ายคณะไม่ได้ เป็นกติกาที่เอากฎหมายเข้ามาจับการศึกษา ทั้งที่การศึกษาต้องปลดปล่อยสมอง ไม่ใช่เอากฎหมายมาบังคับ นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไข แต่บางครั้งคนที่เป็นผู้ปฏิบัติไม่ยอมแก้เพราะเคยชินกับระบบเดิม อย่างไรก็ตาม การแก้ไขต้องใช้เวลา ต้องนวดกันหลายรอบ บางครั้งเด็กอยากเป็นอย่าง แต่ต้องไปเรียนอีกอย่าง เพราะอยากเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ท้ายที่สุดคือชีวิตต้องทนทุกข์ทรมาน เพราะไม่ชอบวิชาที่เรียน 





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: มติชนรายวัน ฉบับที่ 9382 [หน้าที่ 1 ] ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง