[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

คอลัมน์ สดจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ''ศูนย์หนังสือจุฬาฯ-มทส.''โคราช ศูนย์กลาง''คลังสมอง''ภาคอีสาน

ภายหลังจัดตั้งศูนย์หนังสือจุฬาฯ -ม.นเรศวร ขึ้นภายในม.นเรศวร จ.พิษณุโลก เมื่อเดือน ธ.ค.2544 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 2 ปีเศษแล้ว ได้มีส่วนร่วมสร้างสังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างอย่างกว้างขวางมากขึ้น 

ในปี 2546 นี้ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ จึงได้ขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอื่นอีก 2 แห่งด้วยกัน คือ ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคตะวันออก 

โดยเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ม.เทคโนโลยีสุรนารี และ ม.บูรพา เพื่อจัดตั้งศูนย์หนังสือจุฬาฯ-ม.เทคโนโลยีสุรนารี (มทส) และ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ-ม.บูรพา ขึ้น อันจะเป็นการสานต่อเครือข่ายศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยที่มีจุฬาฯเป็นแกนนำให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

''ศูนย์หนังสือจุฬาฯ-มทส.'' ตั้งอยู่ ณ อาคารสุรพัฒน์ 1 เทคโนธานี ม.เทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้เป็นศูนย์รวมหนังสือตำราและสื่อสร้างสรรค์อันทันสมัยที่เชื่อมโยงความรู้จากทุกภูมิภาคในประเทศและทั่วทุกมุมโลก สำหรับใช้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ และสนองความต้องการของประชาชนทั้งในจ.นครราชสีมา และจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี ของการดำเนินงานศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงมีจุดยืนที่หนักแน่นในการเป็นศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงร้านจำหน่ายหนังสือตำราเรียนเท่านั้น หากยังมุ่งมั่นที่จะมีส่วนช่วยสร้างให้คนไทยเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยได้จัดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ อาทิ กิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาการเรียนการสอน ถ่ายทอดเทคโนโลยีทันสมัยร่วมกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศ รวมถึงกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ

ผศ.ดร.ทวี เลิศปัญญาวิทย์ อธิการบดี ม.เทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า มทส. มีแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์หนังสือพร้อม กับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลาช้านาน แต่ที่ผ่านมาติดขัดด้วยข้อจำกัดบางประการ ดังนั้น การลงนามร่วมกับจุฬาฯ ในการจัดตั้ง ศูนย์หนังสือจุฬาฯ-มทส. นี้ จึงเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้บรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ 

''เป็นที่ทราบว่า ศูนย์หนังสือเป็นจุดเชื่อมโยงสู่แหล่งความรู้วิชาการ เพื่อนำเสนอตำรา วารสาร สื่อรูปแบบอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ให้ความหลากหลายทันสมัย แก่คณาจารย์ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป จึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการสนับสนุนและเผยแพร่ความรู้ต่อวงการการศึกษา ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการอ่านแก่เยาวชนและประชาชน'' 

ทั้งนี้ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ-มทส. ที่เกิดขึ้นเป็นการย่อส่วนศูนย์หนังสือจุฬาฯ ซึ่งเป็นคลังความรู้ครบถ้วนหลากหลายกว่า 200,000 รายการ มีระบบสืบค้นด้วยคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ให้ข้อมูลที่ชัดเจน แม่นยำ เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้ามาใช้บริการ ในพื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตร โดยมีการแบ่งหมวดหมู่แผนกหนังสือไทย หนังสือต่างประเทศ ทุกระดับ ทุกหมวด รวมทั้ง แผนกสื่อสร้างสรรค์ บริการห้องสมุด และเครื่องเขียนอุปกรณ์สำนักงานที่ครบวงจร 

นอกจากนี้ ยังแบ่งสรรพื้นที่เพื่อใช้เป็นมุมส่งเสริมการอ่าน ''มุมอ่านฟรีทั้งวี่ทั้งวัน'' ที่ให้ทุกคนได้นั่งอ่านหนังสือกันแบบสะดวกสบาย 

โครงการ ''บ้านเด็กสัญจร'' ที่จะมีกิจกรรมทุกวันเสาร์แรกของเดือน เป็นต้น รวมทั้งยังมีโครงการร่วมกับเทคโนธานี มทส. จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ชุมชนและคนในท้องถิ่น อาทิ การอบรมครูอาจารย์ด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านภายในสถานศึกษา เป็นต้น

นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นักศึกษา คณาจารย์ ตลอดจนประชาชนชาวโคราช สามารถใช้บริการ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ-มทส. ร้านหนังสือในดวงใจของคนไทยทั้งประเทศ'' ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่กว่า 500 ตารางเมตร บริเวณชั้นที่ 1 อาคารสุรพัฒน์ 1 เทคโนธานี มทส. ได้

คราวนี้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ให้ยุ่งยากเหมือนเดิมอีกแล้ว 





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ข่าวสด ฉบับที่ 4736 [หน้าที่ 34 ] ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 1

อ่าน 0 ครั้ง