|
|
เมื่อไม่นานนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมวิชาการเนื่องในโอกาสครบ 31 ปี ประกอบด้วยการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ การประกวดซอฟท์แวร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และการประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์
โดยในส่วนของการประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์ ประเภทการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน นั้น ผลงานที่เข้าตากรรมการมากที่สุดจนได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่โครงงาน Electronic Home ของ น.ส.ทิพวรรณ เหลืองรังษี และ น.ส.ธัญมนภัทร์ บุตรวัฒนเศรษฐ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.จันทบุรี โดยมี อ.จิระศักดิ์ สุวรรณโณ เป็นที่ปรึกษา Electronic Home หรือบ้านอิเล็กทรอนิกส์ เกิดจากแนวความคิดที่ต้องการ ลดภาระ หรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัย เพื่อแก้ปัญหาและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน บ้านอิเล็กทรอนิกส์นี้จึงประกอบไปด้วยวงจรระบบอัตโนมัติทำหน้าที่ควบคุมการทำงานต่างๆ มากมาย เช่น เมื่อมีความร้อนเกิดขึ้นพัดลมก็จะทำงานโดยอัติโนมัติเพื่อระบายความร้อนออกและนำความเย็นเข้ามาในบ้าน โดยใช้อุปกรณ์ตรวจวัดความร้อน มีอุปกรณ์ตั้งเวลารดน้ำต้นไม้อัตโนมัติโดยใช้อุปกรณ์ตรวจวัดความชื้น และเปิด-ปิดไฟเองอัตโนมัติโดยใช้อุปกรณ์ตรวจวัดแสง วิธีการทดลองหลักๆ มีอยู่ 4 ขั้นตอน ได้แก่ การจัดทำวงจรชุดเซ็นเซอร์อุณหภูมิระบายความร้อน เริ่มจากประกอบวงจร จ่อวงจรไปยังอุปกรณ์ที่ต้องการใช้ควบคุมความร้อน ซึ่งได้แก่พัดลมและหลอดไฟ ตรวจสอบดูความเรียบร้อยให้ถูกต้อง ทดสอบการทำงานโดยการจ่ายไฟขนาด 12 โวลต์จากแบตเตอรี่เข้าวงจร และสังเกตการทำงานของวงจร พบว่าขณะที่จ่ายไฟเข้าวงจร หลอดไฟในบ้านจะติดทำให้บ้านได้รับความร้อน เมื่อความร้อนถึงจุดที่ตั้งไว้หลอดไฟจะดับ จากนั้นพัดลมจะทำงานโดยการระบายความร้อนทำให้บ้านมีอุณหภูมิต่ำลง เมื่ออุณหภูมิต่ำลงมาถึงจุดที่ตั้งไว้ พัดลมจะหยุดทำงาน และได้นำเครื่องวัดอุณหภูมิมาติดไว้เพิ่มเติมด้วย การจัดทำวงจรสวิตช์เปิด-ปิดไฟอัตโนมัติ เริ่มจากประกอบวงจรลงแผ่นพีซี ต่อวงจรที่ได้เข้ากับหลอดไฟ ตรวจสอบดูความละเอียดของวงจร จ่ายไฟเข้าวงจรเพื่อทดสอบการทำงาน และลองหาวัสดุต่างๆ มาปิดไว้ เพื่อไม่ให้แสงเข้า แล้วสังเกตการทำงานของวงจร พบว่าเมื่อไม่มีแสงหลอดไฟจะติด แต่เมื่อมีแสงเข้าหลอดไฟก็จะดับเองโดยอัตโนมัติ การจัดวงจรวัดความชื้นในดิน เริ่มจากประกอบวงจร ต่อวงจรไปยัง Dc Motor ทดสอบการทำงานโดยการจ่ายไฟเข้าวงจรแล้วสังเกตการทำงาน พบว่าเมื่อจ่ายไฟเข้าวงจรในขณะที่สนามหญ้าเปียกหรือมีความชื้นอยู่มอเตอร์สูบน้ำจะไม่ทำงาน แต่ถ้าสนามหญ้าแห้งมอเตอร์สูบน้ำจะทำงานเป็นตัวปั๊มน้ำในการรดน้ำต้นไม้ การเขียนโปรแกรมและใช้โปรแกรมควบคุมวงจร จะตั้งเวลาทำงานเมื่อเข้าสู่โปรแกรม จะมีเมนูขึ้นบนหน้าจอ โดยมีภาพบ้านและแปลงผักเป็นไอคอนให้เลือกโดยใช้เมาส์คลิกสั่งให้ทำงาน ซึ่งสัญลักษณ์แปลงผักนี้จะทำหน้าที่สั่งการในการรดน้ำต้นไม้ ซึ่งสามารถเลือกตั้งเวลาแบบอัตโนมัติ หรือตั้งเวลาในการเปิดเองได้ ส่วนสัญลักษณ์รูปบ้านจะควบคุมการทำงานของหลอดไฟเพื่อบ่งบอกอุณหภูมิภายในบ้าน น.ส.ทิพวรรณ เหลืองรังษี กล่าวว่า การทำโครงงานนี้ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับการต่อวงจร เป็นแนวทางในการศึกษาและวิจัยปรับปรุงให้มีคุณภาพมากขึ้นในอนาคต ส่วน น.ส.ธัญมนภัทร์ บุตรวัฒนเศรษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงงานนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ได้ เช่น วงจรระบายความร้อนสามารถใช้เป็นที่ฟักไข่ เลี้ยงไก่ได้ วงจรรดน้ำต้นไม้ก็นำไปใช้กับชาวสวน หรือบุคคลที่ไม่มีเวลาดูแลสวนหย่อม และต้นไม้ในห้างสรรพสินค้า หรือสำนักงาน บริษัท ทำให้ไม่จำเป็นต้องจ้างคนมาดูแลรดน้ำตลอด นอกจากนี้ยังสะดวกเมื่อเราติดธุระ หรือกิจกรรมใดที่ต้องทำตอนกลางคืนไม่สามารถกลับมาเปิดไฟที่บ้านได้ โครงงานคอมพิวเตอร์ของ 2 สาวจันทบุรี เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในการนำประเด็นปัญหาใกล้ๆ ตัวมาแก้ไขให้ลงตัวและสะดวกสบายมากขึ้น โดยใช้องค์ความรู้ทางไอทีเข้ามาช่วย น้องๆ คนไหนอยากเก่งอย่างนี้ลองตั้งคำถามกับสิ่งรอบๆ ตัว แล้วหมั่นฝึกฝนทดลองหาคำตอบ หรือหาชุดทดลองสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาดมาลองทำดู โดยขอให้อาจารย์หรือผู้ใหญ่ใกล้ตัวเป็นที่ปรึกษาแล้วจะพบว่า ความสามารถส่วนใหญ่นั้นมาจากการฝึกฝน หรือที่เรียกว่า พรแสวง มากกว่า พรสวรรค์ อย่างแน่นอน ชมจันทร์ ธารา / รายงาน |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม |
โดย: งาน: งานนโยบายและแผน อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: บ้านเมือง ฉบับที่ 14873 [หน้าที่ 13 ] ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2546 |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |