|
|
นักวิชาการติงนโยบายลดชั่วโมงเรียนให้เหลือ 4-5 ชั่วโมง ที่เหลือเป็นกิจกรรมดนตรี กีฬานั้นชอบด้วยหลักการ แต่ทางปฏิบัติทำได้ยาก และยิ่งสร้างความสับสนให้กับครูที่กำลังกังวลกับการสอนให้ได้เนื้อหาตามหลักสูตรใหม่ โดยเฉพาะหากโรงเรียนใดไม่มีความพร้อมในเรื่องการจัดกิจกรรมแล้วจะยิ่งทำให้เด็กเคว้งคว้างไม่มีที่ไป ส่งผลให้เด็กโดดเรียนและหนีไปกวดวิชามากขึ้น
รศ.ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ครูทั้งประเทศส่วนใหญ่กำลังพยายามปรับตัวให้เข้ากับหลักสูตรและวิธีสอนแบบใหม่ หลายโรงเรียนจึงพะวักพะวนกับการสอนเพื่อให้ได้เนื้อหาตามหลักสูตรที่กระทรวงกำหนด ซึ่งหลายๆโรงเรียนกำลังเร่งทำหลักสูตรสถานศึกษาอยู่ ฉะนั้น การประกาศให้ลดชั่วโมงเรียนของนายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ทำให้ครูต้องกลับไปรื้อหลักสูตรใหม่ ส่งผลให้การพัฒนาการศึกษาที่ผ่านมาขาดตอน ทั้งที่ถ้าพัฒนาไปอย่างถูกทางแล้วเด็กจะเรียนไม่เครียด และมีความสุขอยู่กับการอยู่ในโรงเรียนได้ “การเรียน 4-5 ชั่วโมงไม่ใช่ประเด็นปัญหา ที่สำคัญคือคุณภาพของครูและวิธีจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพจะทำได้อย่างไร เพราะต้องอาศัยการจัดระบบพี่เลี้ยง ระบบสนับสนุนและติดตามที่ดี รวมถึงการขยายผลตัวอย่างดี ๆ ไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ขณะนี้มีบางโรงเรียนทำหลักสูตรที่ดีออกมาบ้างแล้ว คือเรียนแค่ครึ่งวัน ส่วนช่วงบ่ายก็ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเด็กก็สามารถเรียนได้อย่างมีความสุข แต่เมื่อมีการประกาศนโยบายใหม่เช่นนี้ แต่โรงเรียนก็ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ ยิ่งโรงเรียนไหนที่ไม่พร้อมก็ยิ่งทำให้ระบบการศึกษาไทยกลวงในเรื่องคุณภาพมากยิ่งขึ้นที่สำคัญคือเด็กเรียนไม่มีความสุขและไม่ได้ความรู้เพิ่มขึ้นด้วย” รศ.ดร.อมรวิชช์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ในส่วนของโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์ ดนตรี กีฬาและขาดประสบการณ์ในการจัดกิจกรรม การพัฒนาผู้เรียน เมื่อต้องมาใช้เวลาที่เหลืออีกครึ่งวันจัดให้เด็กทำกิจกรรมนั้น จะยิ่งทำให้เด็กไม่มีอะไรทำมากขึ้น ลงท้ายเด็กจะโดดเรียนไปเตร็ดเตร่นอกโรงเรียนหรือไม่ก็ไปปกวดวิชากันมากขึ้น ซึ่งค้านกับสิ่งที่รัฐบาลอยากเห็น รศ.ดร.อมรวิชช์ ยังเสนอแนะทางออกของเรื่องนี้ ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการน่าจะทบทวนนโยบายนี้ใหม่ เพราะหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เริ่มกลับมาใช้ระบบการเรียนการสอนแบบเต็มวัน เนื่องจากพบว่าเมื่อเด็กมีว่างมากแล้วเด็กมักจะไปก่อเรื่องหรือทำในสิ่งที่ไร้ประโยชน์ โดยที่โรงเรียนไม่สามารถจัดการได้ ส่วนปัญหาที่โรงเรียนบางส่วนมีการสอนเกินเวลาทั้งเปิดสอนเองหรือเปิดสอนกวดวิชาสอนเสริมเพื่อหารายได้นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเร่งหามาตรการจัดการ แต่ไม่ควรมารื้อทั้งระบบแบบล้มกระดานเช่นนี้ เพราะอาจทำให้ครูสับสนไร้ทิศทางและเครียดมากขึ้น “นอกจากนี้กระทรวงศึกษาฯ ควรเร่งสร้างระบบวิจัยนโยบายขึ้นเพื่อใช้ติดตามเก็บข้อเท็จจริงในการดำเนินนโยบายด้านต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องหลักสูตรด้วย เพื่อใช้เป็นฐานในการตัดสินใจเชิงนโยบายและเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของแต่ละโรงเรียนที่มีล้วนแต่มีปัญหาหลากหลายต่างกัน ไม่ใช่ใช้นโยบาย รองเท้าเบอร์เดียวใส่ได้หมด ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการศึกษาไทยที่ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก” รศ.ดร.อมรวิชช์ กล่าว |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม |
โดย: งาน: งานนโยบายและแผน อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: ผู้จัดการรายวัน ฉบับที่ 4035(4033) [หน้าที่ 10 ] ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |