[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

อีคิวดี ไม่ดี มีสาเหตุมาจากอะไร

 อีคิวดี ไม่ดี มีสาเหตุมาจากอะไร 


ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความฉลาดและความสามารถทางสมองอย่างหนึ่ง การที่คนเราจะมีความฉลาดทางอารมณ์มากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับ ๒ ปัจจัยหลัก ๆ คือ 
๑. พันธุกรรมและพื้นฐานอารมณ์ 
๒. สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู 

๑. พันธุกรรมและพื้นฐานอารมณ์ 
พันธุกรรม คือตัวกำหนดให้มนุษย์ทุกคนมีลักษระพื้นฐานอารมณ์ที่แตกต่างกันไป และพื้นอารมณ์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดก็จะเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดพฤติกรรมอารมณ์ บุคลิก 
นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมขณะอยู่ในครรภ์ ก็มีส่วนไม่น้อยต่อการสร้างพื้นอารมณ์ เพราะในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าอารมณ์ของแม่ขระตั้งครรภ์มีส่วนสำคัญต่อพื้นอารมณ์ของลูก เช่น แม่ที่มักมีความเครียด อาจจะทำให้ลูกเป็นเด็กอารมณ์ไม่ดี ขี้โมโหเลี้ยงยาก ส่วนแม่ที่อารมณ์ดีมีความสบายกายสบายใจในขณะตั้งครรภ์ ก็มักจะได้ลูกที่เป็นเด็กเลี้ยงง่าย ร่าเริง 
คนที่มีพื้นอารมณ์ดี จึงเหมือนกับคนที่มีทุกสำรองของชีวิตติดตัวมาตั้งแต่เกิดเพราะการมีจิตใจที่มั่นคง เข้มแข็ง ถือได้ว่าเป็นความโชคดี เปรียบได้กับพื้นที่มีความแข็งแรง สามารถรับแรงกระแทกได้โดยไม่กระทบกระเทือนมาก แต่คนที่พื้นอารมณ์ไม่ดี อ่อนไหว เปราะบาง เปรียบได้กับคนที่มีทุนสำรองมาน้อย ถ้าเป็นพื้นก็เป็นพื้นที่บอบบางกระทบกระทั่งอะไรแรง ๆ ไม่ได้ ง่ายต่อการที่จะพังโครมลงมา 

๒. สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู 
พื้นอารมณ์ที่ถูกกำหนดโดยพันธุกรรมเป็นปัจจัยที่ติดตัวมาไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ก็จริง แต่การเลี้ยงดูในสภาพที่เหมาะสมกับอารมณ์ก็สามารถจะช่วยพัฒนากล่อมเกลาและควบคุมพื้นอารมณ์ด้านลบได้ ขณะเดียวกันก็สามารถจะส่งเสริมพื้นอารมณ์ด้านบวกให้ดีโดดเด่นยิ่ง ๆ ขึ้นไป เปรียบได้กับพื้นที่บาง หากไม่ได้รับการสร้างเสริมเติมเต็มให้แข็งแรงขึ้น พื้นนั้นก็จะอยู่ในสภาพเดิมที่ง่ายต่อการผุพังเมื่อได้รับแรงกระแทก เด็กที่มีพื้นอารมณ์ไม่ดี ถ้าไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่เข้าใจก็อาจจะไปกระตุ้นให้อารมณ์ที่ไม่ดีเหล่านั้นเติบโตจนฝังรากลึก ไร้การควบคุม กลายเป็นปัญหาทั้งต่อตนเองและสังคมที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าพ่อแม่เข้าใจในธรรมชาติของเด็กก็ยังสามารถจะชดเชยหรือควบคุมส่วนที่ด้อยไม่ให้มีอิทธิพลหรือเป็นปัญหาในการดำเนินชีวิต ดังเช่น กรณีของวรพจน์ สุดา รุ่งโรจน์ และเลน่า 
วรพจน์ เติบโตมากับครอบครัวที่พ่อเป็นใหญ่ในบ้านชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาความขัดแย้ง ภาพของพ่อที่แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดหรือทุบตีแม่เป็นเรื่องปกติสำหรับวรพจน์ ต่อมาเมื่อมีครอบครัวเขาจึงนำวิธีการเหล่านั้นไปใช้โดยไม่รู้ตัว เช่น เวลามีปัญหาขัดแย้งก็มักขึ้นเสียงด่าภรรยา ไปจนกระทั่งลงมือลงไม้ทำร้ายร่างกาย เมื่อภรรยาทนไม่ได้และหนีไป วรพจน์กลับสงสัยและไม่เข้าใจว่าทำไมภรรยาจึงทนไม่ได้กับ ''เรื่องแค่นี้'' 
สุดา เป็นคนหวั่นไหวง่าย เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน พ่อและแม่ไม่สามารถให้ความดูแลเอาใจใส่ได้เต็มที่ จึงพยายามชดเชยด้วยการตามใจ และให้เงินทองสิ่งของ เธอจึงไม่เคยเรียนรู้เรื่องความผิดหวัง อยากได้อะไร ต้องได้ ไม่เคยเรียนรู้ที่จะอดทนต่อความต้องการของตัวเอง แต่สิ่งเดียวที่เธอขาดก็คือความรัก เมื่อเธอพบ ประวิทย์ เธอจึงเรียกร้องความรัก ความสนใจจากเขามาก ด้วยการควบคุมอย่างใกล้ชิดเมื่อ ประวิทย์ อึดอัดทนไม่ได้และจากเธอไป เธอก็ประชดเขาด้วยการกินยาตาย 
รุ่งโรจน์ เติบโตมาในครอบครัวที่ดูเหมือนอบอุ่น พ่อแม่พี่น้องอยู่กันพร้อมหน้า แต่แม่มักเปรียบเทียบเขากับลูกคนข้างบ้านที่เรียนเก่งกว่าอยู่เสมอ ทำให้เขารู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ปัจจุบัน ถึงแม้รุ่งโรจน์จะมีหน้าที่การงานดี เป็นนักวิทยาศาสตร์ในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง แต่ลึก ๆ แล้วเขามักรู้สึกไม่มั่นใจ คิดว่าตนเองมีความสามารถสู้คนอื่นไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง ความรู้สึกนี้จึงเป็นเหมือนเชือกที่คอยฉุดรั้งเขาไม่ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างน่าเสียดาย 
เลน่า มาเรีย คลิงวัลล์ นักร้องชื่อดังชาวสวีเด่น ที่ไม่มีแขน และยังมีขาข้างซ้ายที่ยาเพียงครึ่งหนึ่งของขาข้างขวา เลน่า เล่าถึงปัจจัยที่ทำให้เธอเป็นคนพิการ ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตว่า ส่วนสำคัญมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ยอมรับและเข้าใจในความบกพร่องของร่างกายเธอ และให้โอกาสเธอได้เรียนรู้ที่จะเป็นคนเข้มแข็ง มีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง เลน่า เล่าว่า 
''พ่อแม่สนับสนุนให้ฉันทำในสิ่งที่ฉันชอบ และท่านก็สนับสนุนน้อยชายในแบบเดียวกันเพราะเหตุนี้ ฉันจึงไม่รู้สึกโกรธหรือขมขื่นใจต่อสภาพที่ฉันเป็นอยู่'' 
''พ่อแม่รักฉันเพราะฉันเป็นฉัน ไม่ใช่เพราะว่าฉันไม่สามารถทำสิ่งนี้หรือสามารถทำสิ่งนั้นได้ ซึ่งทำให้ฉันมั่นคงทางจิตใจมาก'' 
''พ่อแม่ให้เวลาฉันในการทำความเข้าใจว่าจะจัดการกับเรื่องต่าง ๆ อย่างไรแทนที่จะเข้ามาช่วยเหลือทันทีที่ร้องขอ ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงเป็นคนไม่ยอมแพ้ และมักจะค้นพบวิธีจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น'' 
และเมื่อเธอทำพลาด หรือไม่มีกำลังพอ พ่อแม่ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ เธอจึงมีอิสระในการแสวงหาความสำเร็จ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถรับมือกับความล้มเหลวได้ และรู้สึกมั่นคงในจิตใจ เพราะรู้ว่าพ่อแม่อยู่ใกล้ ๆ เธอเสมอ (จากเรื่อง บันทึกจากปลายเท้า เลน่า มาเรีย คลิงวัลล์ เขียน อุลล่าฟิวสเตอร์ และสมใจ รักษาศรี แปล สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊ค)





ข้อมูลจากเวบนี้


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง