[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

อีคิวมีอิทธิพลต่อเราอย่างไรบ้าง

อีคิวมีอิทธิพลต่อเราอย่างไรบ้าง 


จากคำตอบในข้อที่ผ่าน ๆ มาเราคงเห็นแล้วว่าความฉลาดทางอารมณ์มีประโยชน์ต่อชีวิตของเราอย่างมากมายมหาศาล หากจะแยกให้เห็นชัดเจน ก็อาจแบ่งได้เป็น ๔ ด้านคือ 
- ประโยชน์ต่อการทำงาน 
- ประโยชน์ต่อความรักและครอบครัว 
- ประโยชน์ต่อการเรียน 
- ประโยชน์ต่อตัวเอง 

ความฉลาดทางอารมณ์ต่อการทำงาน 
ในช่วง ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี ๑๙๖๐ มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีความฉลาดทางเชาวน์ปัญญาสูง ล้มเหลวในการเป็นผู้บริหารสูงสุด เพราะขาดความเข้าใจมนุาย์ ขาดการปฏิสัมพันธ์และอารมณ์ที่ดี 
ขณะที่ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ศึกษาเกี่ยวกับพนักงานขายประกันชีวิตในบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง พบว่า พนักงานที่ทำยอดขายได้ดีและสามารถอยู่กับบริษัทได้นาน คือพนักงานที่เป็นคนมองโลกในแง่ดี พนักงานกลุ่มนี้จะไม่ท้อใจเมื่อไปขายประกันแล้วลูกค้าไม่ซื้อ ไม่สนใจ แต่ยังคงมุ่งมั่นที่จะพยายามขายลูกค้ารายต่อไปให้ได้ ขณะที่พนักงานอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย พวกนี้มักจะชิงลาออกไปตั้งแต่ปีแรก หลังจากที่ไม่สามารถทำยอดขายได้อย่างที่คาดหวังไว้ 
จากตัวอย่างงานวิจัยดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ ที่มีผลต่อการทำงานอย่างชัดเจน นักจิตวิทยาพบว่าคนที่มีอารมณ์ดี จะมีความเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ง่าย ตลอดจนมีทักษะอารมณ์ที่ดีในการติดต่อสัมพั้นธ์กับบุคคลอื่น ทั้งที่บ้านและที่ทำงานหรือในเวลาที่ต้องออกสังคม ขณะเดียวกันความแลาดทางอารมณ์ก็จะช่วยให้เรามองโลกในแง่ดี ทำให้มีพลังในการต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างไม่ท้อถอย สามารถสร้างกำลังใจให้กับตัวเองในยามล้มเหลว หรือมีปัญหาได้ ต่างจากคนที่มองโลกในแง่ร้ายที่มักจะมองเห็นแต่ปัญหาและความยุ่งยาก ทำให้ขาดกำลังใจที่จะผลักดันให้ฟันฝ่าอุปสรรค 
เชาวน์ปัญญาที่ดีหรือไอคิวสูง จึงไม่อาจบ่งชี้ถึงความสำเร็จในการทำงานเสมอไปหากไม่มีความฉลาดทางอารมณ์เป็นส่วประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานบริหารหรือการทำธุรกิจ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ''ความเก่งงาน'' เพียงอย่างเดียวจึงไม่พอ หากยังต้องมี ''ความเก่งคน'' ประกอบด้วย 
ยกตัวอย่างเช่น อรวรรณ พนักงานในแผนกการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง อรวรรณเป็นคนที่เก่งในเรื่องการประสานงาน ถนัดที่จะพบปะผู้คนเพื่อเจรจาตกลงดำเนินงานร่วมกัน แต่ต่อมาแผนกต้องการให้เธอทำหน้าที่พิธีกรของงาน เพราะขาดแคลนบุคคลากรด้านนี้ อรวรรณอึดอัดใจมาก เพราะเธอไม่ถนัดงานที่จะต้องยืนพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก เธอรู้สึกไม่มั่นใจ และเครียดทุกครั้ง ทำให้งานออกมาไม่ดี สุวรรณา ซึ่งเป็นหัวหน้างานเรียกเธอไปตำหนิ อรวรรณ พยายามอธิบายถึงความลำบากใจในการทำหน้าที่นี้ แต่สุวรรณนาบอกว่า คนเราต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง อะไรที่ทำไม่ได้ ก็ควรจะแก้ไขให้ทำได้ 
ผลจากกรณีนี้ทำให้สุวรรณา สูญเสียคนประสานงานที่ดีและได้พิธีกรที่แย่ส่วน อรวรรณ ต้องทำงานด้วยความอึดอัด เครียด และไม่มีความสุข 
ผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการทำงาน จึงจำเป็นที่จะต้องฉลาดรู้ทั้งในเรื่องการทำงานและคนทำงาน มีการรับรู้และแสดงอารมณ์ทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนมีการเรียนรู้ เข้าใจ สามารถควบคุมอารมณ์และความรู้สึกที่ได้รับ 
คนที่มีไอคิวสูง แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกับผู้อื่น อาจจะมาจากการที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ศักยภาพหรือความเก่งที่มีอยู่ เพราะผู้ร่วมงานไม่ให้ความร่วมมือ หรือเพราะมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ เช่น รับไม่ได้เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์งาน มีปัญหาในการพูดจาสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน ดังตัวอย่างของวรุต 
วรุต เป็นคนตัดต่อรายการโทรทัศน์ที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง วรุตเองก็รักงานนี้มาก แต่เขากลับทำได้แค่ไม่กี่เดือนก็ต้องลาออก เพราะมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน เข้ากับใครไม่ได้ เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเล่าถึงวรุตว่า เขาเป็นคนทำงานดีที่น่ากลัว เพราะชอบทำงานคนเดียว ไม่ชอบให้ใครมาออกความคิดเห็น แถมเวลาที่มีคนท้วงติงข้อผิดพลาดหรือวิพากษ์วิจารณ์งานของเขา วรุตจะแสดงความไม่พอใจออกมาอย่างชัดเจน เช่น หน้าหงิก กระแทกของปึงปังจนเพื่อนร่วมงานพากันเอือมระอา ไม่มีใครอยากพูดคุยด้วย ไม่ว่าในหรือนอกเวลางาน 
บริษัทจึงสูญเสียคนทำงานที่มีความสามารถ ขณะที่วรุตก็ต้องทิ้งงานที่ตนเองรักและพกพาความรู้สึกไม่ดี ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน 
ปัญหาที่สร้างความยุ่งยาก ลำบากใจในการทำงาน จึงมักมาจากผู้ร่วมงานมากกว่าตัวงานจริง ๆ โดยเฉพาะในโลกของการทำงานปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ต้องติดต่อประสานงาน ประสานความร่วมมือเพื่อให้แต่ละฝ่ายขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมาย 
ความหงุดหงิด ขัดแย้ง ไม่พอใจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ และหากไม่มีวิธีจัดการที่เหมาะสม เรื่องเล็๋กก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหา เป็นความทุกข์ใจ และยังอาจมีผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าได้อีกด้วย 
เอ๊ด รองกรรมการผู้จัดการบริษัทแห่งหนึ่ง พูดถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาทำงานอย่างมีความสุขและก้าวหน้าว่า ''ผมได้เปลี่ยนวิธีการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ อย่างแท้จริง ผมเริ่มฟังมากขึ้น และฟังอย่างตั้งใจ ผมเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเข้มแข็งของคนอื่น แทนที่จะอยู่กับความอ่อนแอของตนเอง ผมเริ่มพบกับความสุขที่แท้จริงในการสร้างความมั่นใจให้ผู้อื่น บางทีสิ่งที่สำคัญที่สุก็คือผมเริ่มเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะแสดงความรักและความเคารพผู้อื่นคือช่วยให้พวกเขาใช้ความแข็งแกร่งที่มีอยู่เพื่อบรรลุเป้าหมายที่พวกเราจะต้องทำร่วมกัน'' (จากหนังสือ ''พลังแห่งชีวิต'' โดย แจ็ก แคนฟิลด์ และมาร์ก วิกเตอร์ แฮนเซน) 

เทคนิคการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น 
การสร้างความฉลาดทางอารมณ์ในที่ทำงานจากการพัฒนาที่ตัวเราเองและการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น การอยู่ร่วมกับผู้อื่นมีเทคนิคดังนี้ 
๑. เข้าใจและยอมรับธรรมชาติของอารมณ์ บุคคลแต่ละคนมีความรู้สึกและอารมณ์พื้นฐานของตนเอง เช่น ดีใจ เสียใจ อิจฉา ฯลฯ และมีการแสดงออกที่ต่างกรรมต่างวาระกันไป แต่ละคนจะมีอารมณ์และความรู้สึกที่ผันแปรแตกต่างกันไป ยากที่จะนำความรู้สึกดี-ชั่วของตัวเราเองไปตัดสินได้ การตัดสินความเหมาะสมขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เหตุผล วัย ปัจจัยทางสังคม และการกำหนดทางวัฒนธรรม 
๒. รับฟัง ทำความเข้าใจและให้เกียรติผู้อื่น การยอมรับและเข้าใจภาวะที่บุคคลแสดงออก เป็นสิ่งจำเป็นในการเสริมสร้างความภาคภูมิใจตนเอง การรักษาหน้า ความมั่นใจ การไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพและผลผลิตที่บุคคลมีส่วนต่อองค์กร การปฏิเสธที่จะรับฟังหรือทำความเข้าใจกับภาวะอารมณ์ที่แสดงออก เช่น การเพิกเฉย วิพากษ์ตำหนิ การเห็นเป็นเรื่องปกติ การบั่นทองล้อเลียนความรู้สึกของบุคคลเป็นการทำลายระดับความมั่นใจในตนเอง ความคิดสร้างสรรค์ และเกียรติภูมิแห่งตนของผู้อื่นและเป็นการไม่เคารพความเป็นปัจเจกบุคคลอีกด้วย 
๓. การแก้ไขความขัดแย้ง บางครั้งการใช้เพียงเหตุผลแต่โดยลำพัง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางอารมณ์ความรู้สึกได้ ควรยอมรับความรู้สึกโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ก่อน แล้วค่อยมาพิจารณาการแสดงออก ผู้มีความฉลาดทางอารมณ์สูงกว่าจะไม่ใช้วิธีการที่บั่นทอนความรู้สึกของคนอื่น แต่ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ได้ดี จะช่วยทั้งความรู้สึกของตัวเองและช่วยให้อีกฝ่ายสงบลงได้ การที่บุคคลแสดงภาวะอารมณ์ออกในทางลบ เช่น โกรธ เสียใจ เศร้าซึม อาฆาต ไม่ให้อภัย แสดงให้เห็นว่าความต้องการทางอารมณ์ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ยังมีความตึงเครียดในจิตใจ ผู้บริหาร เพื่อนร่วมงานและผู้เกี่ยวข้องควรทำความเข้าใจภาวะอารมณ์ของตน เพื่อเข้าใจภาวะอารมณ์ของผู้อื่น เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้แสดงอารมณ์ ความรู้สึก รับฟังด้วยความเข้าใจ เห็นใจและยอมรับภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการยอมรับตนเองและเพิ่มความมั่นคงทางจิตใจ ส่งผลต่อการพัฒนาทางความคิด การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพิ่มขวัญกำลังใจ ความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการปฏิบัติงาน 
๔. ในกรณีที่บุคคลแสดงภาวะอารมณ์ทางลบในระดับที่รุนแรง เช่น เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย คาดคะเนพฤติกรรมไม่ได้ หรือไม่สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้เลยพูดมากเกินปกติ เปลี่ยนหัวข้อพูดคุยรวดเร็ว หงุดหงิดง่าย มีปฏิกิริยามากเกินไปต่อเหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ฯลฯ ผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานควรหามาตรการและทางบำบัดแก้ไข ในกรณีของผู้ที่ไม่สามารถสื่อความรู้สึกและภาวะอารมณ์กับผู้อื่นได้ ผู้บริหารอาจโยกย้ายไปทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้คนมากนัก ทำคนเดียวได้สำเร็จ หาพนักงานที่กล้าแสดงออกและมีมนุษยสัมพันธ์ดีมาเป็นเพื่อนชวนพูดคุยกระตุ้นให้เขาได้มีโอกาสแสดงความรู้สึก ความคิดเห็น โดยรู้สึกว่ามีคนยอมรับฟังตน 

เทคนิคการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในการทำงานสำหรับตนเอง 
๑. รู้ทัน ฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง บอกกับตัวเองได้ว่าขณะนี้กำลังรู้สึกอย่างไร และรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง ยอมรับข้อบกพร่องของตนเองได้ แม้เมื่อผู้อื่นพูดถึง ก็สามารถเปิดใจรับมาพิจารณษ เพื่อที่จะหาโอกาสปรับปรุงหรือใช้เป็นข้อเตือนใจที่จะระมัดระวังการแสดงอารมณ์มากขึ้น 
๒. รับผิดชอบ เมื่อเกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจ ท้อแท้ ให้ฝึกคิดอยู่เสมอว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเองจากการกระตุ้นของปัจจัยภายนอก เพราะฉะนั้นจึงควรรับผิดชอบต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น และควรหัดแยกแยะ วิเคราะห์สถานการณ์ด้วยเหตุผล ไม่คิดเอาเองด้วยอคติหรือประสบการณ์เดิม ๆ ที่มีอยู่ เพราะอาจทำให้การตีความในปัจจุบันผิดพลาดได้ 
๓. จัดการได้ อารมณ์ไม่ดีที่เกิดขึ้นสามารถคลี่คลายสลายให้หมดไปด้วยการรู้เท่าทันและหาวิธีจัดการที่เหมาะสม เช่น ไม่จ่อมจมอยู่กับอารมณ์นั้น พยายามเบี่ยงเบนความสนใจ โดยหางานหรือกิจกรรมทำ เพื่อให้ใจจดจ่ออยู่กับงานนั้น เป็นการสร้างความเพลิดเพลินใจขึ้นมาแทนที่อารมณ์ไม่ดีที่มีอยู่ 
๔. ใช้ให้เป็นประโยชน์ ฝึกใช้อารมณ์ส่งเสริมความคิด ให้อารมณ์ช่วยปรับแต่งและปรุงความคิดให้เป็นไปในทางที่มีประโยชน์ ฝึกคิดในด้านบวกเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ในการทำงาน 
๕. เติมใจให้ตนเอง โดยการหัดมองโลกในแง่มุมที่สวยงาม รื่นรมย์ มองหาข้อดีในงานที่ทำ ชื่นชมด้านดีของเพื่อนร่วมงาน เพื่อลดอคติและความเครียงเครียดในจิตใจ ทำให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขมากขึ้น 
๖. ฝึกสมาธิ ด้วยการกำหนดรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ รู้ว่าปัจจุบันกำลังสุขหรือทุกข์อย่างไร อาจเป็นสมาธิอย่างง่าย ๆ ที่กำหนดจิตใจไว้ที่ลมหายใจเข้าออก การทำสมาธิช่วยให้จิตใจสงบ และมีกำลังใจในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น 
๗. ตั้งใจให้ชัดเจน โปรแกรมจิตใจตนเอง ด้วยการกำหนดว่าต่อไปนี้จะพยายามควบคุมอารมณ์ให้ได้ และตั้งเป้าหมายในชีวิตหรือการทำงานให้ชัดเจน 
๘. เชื่อมั่นในตนเอง จากงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง จะมีความสำเร็จในการทำงานและการเรียนมากกว่าคนที่ไม่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง 
๙. กล้าลองเพื่อรู้ การกล้าที่จะลองทำในสิ่งที่ยากกว่าในระดับที่คิดว่าน่าจะทำได้ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ตนเอง และเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความสามารถให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป 

ความฉลาดทางอารมณ์กับความรักและครอบครัว 
ครอบครัวที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ต้องอาศัยความรัก ความเข้าใจและยอมรับได้ในข้อบกพร่องของผู้อื่น อีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์ จึงมีผลอย่างมากต่อความสงบสุขในบ้าน หรือในชีวิตคู่ ปัญหาความแตกแยก หย่าร้างที่เกิดขึ้นล้วนมีต้นตอมาจากการไม่พยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือยอมรับข้อบกพร่องของอีกฝ่ายไม่ได้ เมื่อมีปัญหาก็ไม่หันหน้าคุยกันดี ๆ หรือบางทีก็ใช้ความรุนแรง 
ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา จึงไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้คนสองคนไปกันรอด ตรงกันข้าม ถ้าคนเก่งสองคนอยู่ด้วยกัน แล้วไม่ยอมกันพยายามที่จะเอาชนะคะคานกัน อนาคตก็คงไม่พ้นการหย่าร้าง ด้วยเหตุนี้ คนเก่ง ๆ จำนวนไม่น้อย ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน จึงล้มเหลวในชีวิตคู่ 
การเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตคู่ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว อุปสรรคและปัญหาแตกต่างกันไปในแต่ละคู่ การเรียนรู้ธรรมชาติและความต้องการของแต่ละฝ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง 
การเรียนรู้จะทำให้เราเข้าใจตัวเองและคนที่เรารักได้ดียิ่งขึ้น การรู้ธรรมชาติของชายหญิง จะช่วยให้เราอ่านใจ อ่านอารมณ์ของอีกฝ่ายออก ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร ทำให้เราสามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง และถูกใจคนที่เรารัก 
แน่นอนว่า ในการเรียนรู้เรื่องความรักและการอยู่ร่วมกัน ''หัวใจ'' เท่านั้นที่มีความสำคัญในเรื่องนี้ 
ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญาจึงไม่ช่วยอะไรมากนักกับการประคองนาวารักของคนสองคน 
นอกจากปัญหาเรื่องความรู้สึกที่ลึกซึ้งระหว่างคนสองคนแล้ว ชีวิตครอบครัวยังต้องใช้ทักษะและศิลปะการดำเนินชีวิตอีกหลายประการ ในการที่จะพาครอบครัวให้อยู่รอดปลอดภัยได้ในทุกสถานการณ์ 
ดังเช่น สังคมไทยทุกวันนี้ ที่กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้หลายครอบครัวเกิดความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลง เช่น รายได้ลดลง ต้องทำงานหนักขึ้น ปัญหานี้เกิดขึ้นกับหลายครอบครัว แต่กลับให้ผลที่แตกต่างกัน เพราะแต่ละคนมีวิธีคิดต่อปัญหาไม่เหมือนกันในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลำบากและยากจะหลีกเลี่ยง ากคนในครอบครัวมีความฉลาดทางอารมณ์ก็จะสามารถช่วยให้เผชิญหน้ากับปัญหาดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น เพราะความฉลาดทางอารมณ์ คือศิลปะที่จะพาให้ชีวิตดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์ ดังเช่น เรื่องราวของครอบครัวสมศักดิ์และครอบครัวสมชัย 
ครอบครัวของสมศักดิ์และสมพิศ เจอพิษไอเอ็มเอฟเหมือนกับอีกหลายครอบครัว สมศักดิ์ถูกลดเงินเดือน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนสมพิศ ถูกออกจากงาน จึงหันมาขายข้าวเหนียวหมูย่าง เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่าย ทั้งคู่รู้สึกแย่มากต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่สามารถยอมรับสภาพใหม่ของชีวิตได้เกิดความเครียดที่ต้องประหยัด จำกัดจำเขี่ยรายจ่ายประจำวัน อีกทั้ง สมศักดิ์ก็ต้องทำงานล่วงเวลา ขณะที่ สมพิศเหนื่อยและอาจจากการออกไปขายข้าวเหนียวหมูย่าง ทั้งคู่จึงมักจะหงุดหงิดใส่ลูก ทำให้ลูกชอบหาเรื่องออกไปนอกบ้านเพราะเบื่อเสียงบ่น และบรรยากาศที่เคร่ยงเครียดในบ้าน 
ขณะที่ครอบครัวของสมชัยกับวิภา ซึ่งเจอสถานการณ์เดียวกันแต่ สมชัยและวิภาต่างทำใจยอมรับในปัญหาที่เกิดขึ้น ว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงพยายามมองหาข้อดีจากปัญหา เช่นคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ทบทวนและตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป พยายามทำเรื่องการประหยัดให้เป็นเรื่องที่สนุกและท้าทาย หรือเวลาที่สมศักดิ์เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานล่วงเวลา ก็คิดซะว่างยังโชคดีกว่าคนอีกตั้งมากมาย ที่ไม่มีโอกาสเหน็ดเหนื่อย (เพราะไม่มีงานทำ) หรือการที่วิภาต้องออกไปทำอาหารขาย ถึงแม้จะอาจและเขินอยู่บ้างในช่วงแรก ๆ แต่ก็พยายามมองว่า เป็นการดีที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เช่น ได้พัฒนาฝีมือการทำอาหาร ได้เงินเพิ่ม ได้ความภาคภูมิใจ (ถึงแม้จะเหนื่อยหน่อยก็ตาม'' 
ดังนั้น ครอบครัวของสมชัย จึงไม่มีบรรยากาศที่ชวนอึกอัด น่าเบื่อ น่ารำคาญ เหมือนของสมศักดิ์ เพราะทุกคนปรับตัวได้ มองโลกในแง่ดี ทำให้มีพลังในการที่จะฝ่าฟันภาวะที่ไม่พึงปรารถนาได้ 
คุณคิดว่าครอบครัวไหนมีความสุขมากกว่ากัน? 
ในทางจิตวิทยา กล่าวถึงอีคิวกับการสร้างความอบอุ่นในครอบครัวเอาไว้ว่า 
๑. สนใจ และเข้าใจในความกังวลของคนในครอบครัว 
๒. รับรู้และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนในครอบครับได้ดี 
๓. รู้และเข้าใจศักยภาพ ส่งเสริมความรู้ความสามารถของสมาชิกในครอบครัวให้ถูกทาง 
๔. ความจริงใจต่อกัน เป็นรากฐานของความผูกพันทางอารมณ์ที่ลึกซึ้ง 

ความฉลาดทางอารมณ์ต่อการศึกษา 
โดยทั่วไปถ้าพูดถึงปัจจัยที่ทำให้เด็กเรียนดู พ่อแม่อาจจะนึกถึงการเรียนพิเศษในวิชายาก ๆ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภาษาอังกฤษ เราเคยเชื่อว่าถ้าทุ่มเทเวลาให้กับการอ่านหนังสือ มีโอกาสกวดวิชาเหล่านั้นจากอาจารย์เก่ง ๆ เด็ก ๆ ก็จะมีผลการเรียนที่ดีขึ้นและสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ 
ในโลกของความเป็นจริง การที่เด็กจะเรียนดี มีอนาคตที่ดี นอกจากความสามารถทางวิชาการแล้ว ยังต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุ พบว่าเด็กจำนวนไม่น้อยที่เผชิญปัญหาทางด้านอารมณ์ความรู้สึก จนทำให้เสียโอกาสทางการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน หรือปัญหาด้านพฤติกรรมอื่น ๆ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้มีที่มาจากความอ่อนแอทางเชาวน์ปัญญา แต่มาจากความอ่อนแอทางอารมณ์ ที่ไม่สามารถรู้เท่าทันและจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกทั้งของตนเองและผู้อื่นได้ 
โรงเรียนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา มีการขานชื่อนักเรียนในชั้นด้วยวิธีแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ด้วยการให้นักเรียนบอกความรู้สึกของตนเองในขณะนั้น เช่น วันนี้อารมณ์ดี ตื่นเต้น กังวลเล็กน้อย หรือมีความสุข แทนการตอบว่ามาหรือไม่มา 
กิจกรรมนี้เรียกว่า Self-Science เป็นวิชาเกี่ยวกับความรู้สึกทั้งของตนเองและผู้อื่น ครูจะให้ความสนใจกับประสบการณ์ทางอารมณ์ของเด็ก มีการนำความเครียดและประสบการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นหัวข้อที่จะพูดคุยกันในแต่ละวัน 
จุดมุ่งหมายในการสอนวิชานี้คือ เพื่อพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม หลักสูตรนี้ไม่ได้สอนเฉพาะเด็กที่มีปัญหาเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาทักษะและความเข้าใจที่มีความสำคัญกับเด็กทุก ๆ คน โดยมีแนวคิดว่า ผู้เรียนจะเข้าใจบทเรียนได้อย่างลึกซึ้งเมื่อมีประสบการณ์โดยตรงมากกว่าการรับฟังจากการสอนเพียงอย่างเดียว 
ปัจจุบัน มีการนำหลักสูตรนี้มาใช้ในการป้องกันปัญหาด้านต่าง ๆ ในสถานศึกษา เช่น การสูบบุหรี่ในเด็กวัยรุ่น การใช้สารเสพติด การตั้งครรภ์ในวัยเรียน การออกจากโรงเรียนก่อนกำหนดรวมถึงการมีพฤติกรรมจากการสอนเพียงอย่างเดียว 
แต่อย่างไรก็ตาม การนำความรู้เกี่ยวกับอารมณืเข้ามาสอนในโรงเรียน ก็ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน โครงการนี้จึงต้องใช้นักจิตวิทยาเป็นผู้สอน แต่คาดว่าต่อไปจะมีการถ่ายทอด และฝึกหัดให้ครูทั่วไปในโรงเรียนสามารถดำเนินการได้เอง เพื่อเป็นการป้อนกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากอารมณ์และความรู้สึก ที่ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยต้องหมดอนาคตทางการเรียนไปอย่างเสียดาย 
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ความฉลาดทางอารมณ์มีผลต่อการเรียน ดังเช่น งานวิจัยของจอห์น กอตต์แมน นักจิตวิทยา เคยศึกษาถึงผลการสอนทักษะความฉลาดทางอารมณ์ต่อการเรียนของเด็ก รวบรวมข้อมูลจาก ๕๖ ครอบครัว ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๒๙ แล้วติดตามผลอยู่หลายปี ปรากฏว่าในกลุ่มที่พ่อแม่เลี้ยงลูกแบบเน้นทักษะทางอารมณ์เด็กจะมีผลการเรียนที่ดีกว่า ถึงแม้ว่าจะมีระดับไอคิวใกล้เคียงกันก็ตาม ที่สำคัญเด็กในกลุ่มดังกล่าวยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ ครูและเพื่อน ๆ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี ปรับตัวกับปัญหาความขัดแย้ง ความโกรธ ความเครียดได้ดี และมีความสุขในการดำเนินชีวิต 
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของความฉลาดทางอารมณ์ที่มีผลต่อการศึกษาคือ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยอาร์วาร์ดที่ทำการศึกษาย้อนหลังเกี่ยวกับความสำเร็จในการทำงาน โดยศึกษาจากผู้เรียนจบในปี๕.ศ.๑๙๔๐ จำนวน ๙๕ คน เป็นการศึกษาระยะยาวติดตามจนถึงวัยกลางคน พบว่านักศึกษาที่เรียนจบและได้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสูง ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการงานและครอบครัวน้อยกว่านักศึกษาที่ได้คะแนนต่ำกว่า ยังมีการศึกษาที่แสดงว่าความสำเร็จด้านต่าง ๆ นั้น เป็นผลมาจากความฉลาดทางอารมณ์ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก ๒๐ เป็นผลมาจากความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา 

เทคนิคการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในสถานศึกษา 
๑. ประชาธิปไตยในการเรียน สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นประชาธิปไตย มีความอิสระที่จะแสดงความคิดเห็น มีความเคารพในกันและกัน ครูรับฟังผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเห็นว่าความรู้สึกของตนเป็นที่รับฟัง ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีความหมาย หรือไร้คนสนใจ 
๒. เรียนรู้เรื่องอารมณ์ หน้าที่ของครูอาจารย์ในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ คือ การช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความรู้สึก อารมณ์ของตน มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับบุคคลและสถานที่ และมีความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น 
๓. เริ่มต้นให้ดี เริ่มที่ครู การเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือการที่ครูอาจารย์ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้เรียน โดยการทำในสิ่งที่ตนเองพร่ำสอน เช่นเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก บุคลิกลักษณะของตนเอง ระมัดระวังคำพูดและการแสดงอารมณ์ให้เหมาะสมอยู่เสมอ 

ความฉลาดทางอารมณ์ต่อตนเอง 
เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันว่า จิตใจมีผลต่อร่างกายและความเครียดคือบ่อเกิดที่สำคัญของโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิด ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร ไมเกรน ความดันโลหิตสูง ไปจนถึงโรคร้ายอย่างมะเร็ง เพราะเมื่อเรามีอารมณ์ดี ก็จะส่งผลดีให้ร่างกายแข็งแรงตามไปด้วย ตรงกันข้ามเมื่อเราเครียด วิตกกังวล หดหู่ เศร้าซึม ภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะลดระดับลงทำให้ง่ายที่จะติดเชื้อ หรือเจ็บไข้ไม่สบาย 
คนอารมณ์ดี ยังเป็นคนมีเสน่ห์ ใคร ๆ ก็อยากอยู่ใกล้ ตรงข้ามกับคนที่มักเคร่งเครียด หงุดหงิด เจ้าอารมณ์ ผู้คนก็ไม่อยากจะเกี่ยวข้อง 
ความฉลาดทางอารมณ์ยังช่วยให้คนมองโลกในแง่ดี มีความสุข มีความพอใจและยอมรับได้กับสภาพที่เป็นอยู่ แม้ว่าสภาพนั้นอาจไม่เป็นที่พึงปรารถนาเพียงใดก็ตาม 
เลน่า มาเรีย คลิงวัลล์ นักร้องนักกีฬาพิการที่มีชื่อเสียของสวีเดน เลน่าไม่มีแขนทั้งสองข้าง และขาซ้ายก็ยาวเพียงครึ่งหนึ่งขวามาตั้งแต่เกิด แต่เธอเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งในด้านการงานและครอบครัว เธอจบการศึกษาจากวิทยาลัยการดนตรีในกรุงสต็อกโฮล์ม เป็นนักร้องชื่อดัง ที่มีงานหลายอัลบั้ม เธอเรียนว่ายน้ำตั้งแต่อายุ ๓ ขวบ จนได้เป็นนักกีฬาทีมชาติของสวีเดน ได้รับเหรียญรางวัลมากมาย เลน่าเป็นคนร่าเริมแจ่มใส เธอดูแลตัวเองได้อย่างน่าทึ่ง เธอทำอาหารได้ ทำงานฝีมือได้ ถ่ายรูปได้ ขับรถได้ เธอพูดถึงความพิการของเธอไว้อย่างน่าคิดว่า 
''ฉันไม่เคยคิดถึงความพิการของตัวเองในแง่ลบ ฉันมักคิดว่าฉันก็เป็นเหมือนคนอื่น ๆ เพียงแต่ทำบางอย่างที่ต่างไปจนอื่นบ้าง'' (จากหนังสือบันทึกจากปลายเท้า เลน่า มาเรีย คลิงวัลล์ เขียน อุลล่า ฟิวสเตอร์ และสมใจ รักษาศรี แปล จัดพิมพ์โดย นานมีบุ๊ค จำกัด) 

เทคนิคการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์สำหรับตนเอง 
๑. รู้ตัว รู้ตน หมายถึง การรู้ความเป็นไปได้ของตน รวมทั้งความพร้อมในด้านต่าง ๆ รู้ทั้งจุดเด่นและจุดด้อย รู้เท่าทันอารมณ์ รู้สาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกนั้น ๆ รู้ว่าผลที่จะตามมาเป็นอย่างไร และประเมินความสามารถตนเองได้ตามความเป็นจริง และนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม 
๒. รู้ทน รู้ควร หมายถึง ความสามารถในการจัดการกับความรู้สึกของตนเอง เช่น จัดการกับความโกรธ ความไม่พอใจ ความหงุดหงิดได้ สามารถควบคุมตนเองให้ทำในสิ่งที่ถูกที่ควรได้ เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ ใจกว้าง สามารถรับฟังความคิดและข้อมูลใหม่ ๆ ตลอดจนปรับตัวต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ 
๓. รู้สร้างกำลังใจ หมายถึง การมีแรงบันดาลใจที่จะทำให้เกิดความพยายามในการก้าวสู่เป้าหมายอย่างไม่ท้อถอย มีความตั้งใจที่จะทำให้ดีที่สุดในสิ่งที่รับผิดชอบ เมื่อมีปัญหาก็ไม่ท้อแท้หมดกำลังใจ รู้จักมองโลกในแง่ดี และพยายามหาทางปรับปรุงแก้ไขจนถึงที่สุด 

ฉลาดทางอารมณ์ = ฉลาดคิด+ ฉลาดพูด + ฉลาดทำ 
ฉลาดคิด ---> ควบคุมความคิดได้ คิดในทางที่ดี คิดในทางสร้างสรรค์ 
ฉลาดพูด ---> เลือกพูดแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงคำพูดที่จะทำให้คนเองและบุคคลอื่นเดือดร้อน 
แลาดทำ ---> ''ทำเป็น'' ไม่ใช่แค่ ''ทำได้'' มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานนั้น ๆ 





ข้อมูลจากเวบนี้


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง