[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

แปรนักเรียนทุนยากจน เป็นทุนทรงค่าทางสังคม(3)- ครอบครัวต้องช่วยกันดูแล


จากประสบการณ์และบทเรียนที่ได้รับ ผมมีข้อสังเกตและข้อเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายดังนี้ 

1.ผมมักถามตนเองทุกปีว่า ทำไมเด็กที่สมัครขอทุนการศึกษาจำนวนมากมายเหล่านี้ยังยืนหยัดสู้ชีวิตอยู่ได้ โดยไม่ตกไปเป็นทาสยาเสพติด หรือทาสอบายมุขอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กที่เข้ารับการอบรมให้รู้ถึงโทษของยาเสพติด และเป็นกลุ่มรณรงค์ให้เพื่อนนักเรียนอื่น ๆ หลีกพ้นยาเสพติด ด้วยซ้ำ 

ที่เคยมีคนสรุปว่า เด็กยากจน มีปัญหาครอบครัว ขาดพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่เลี้ยงดู มักจะหนีปัญหาชีวิตจริงอันหฤโหดไปเสพยาบ้า หรือยอมเป็นผู้จำหน่ายเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ แต่กลุ่มเด็กที่สมัครขอทุนการศึกษาต่อ เป็นกลุ่มที่ยังไม่สิ้นหวัง ไม่สิ้นคิด ไม่ระทดระท้อที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า 

จึงไม่ต้องหนีไปหาทางออกหลอกลวงใด ๆ หากสมมุติฐานนี้เป็นเหตุผลที่ใช้ได้ สังคมก็ควรตอบสนองด้วยการเติมโอกาสให้เด็กผู้ยากไร้ได้มีความหวังใส ๆ ใฝ่ดีอยู่เสมอ 

2.ครอบครัวจำนวนมากเท่าที่ฟังจากเด็ก มีฐานะที่ทรุดหนักลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อขาดเสาใดเสาหนึ่งของครอบครัว เด็กที่สมัครรับทุนการศึกษาจำนวนมาก เป็นลูกแม่แต่ไม่มีพ่อ พ่อทิ้งแม่ไปมีเมียใหม่แล้วไม่ยอมส่งเสียเลี้ยงดูลูกเมีย หรือพ่อมีเมียหลายคนพร้อมกัน แม่เป็นเมียน้อย หรือพ่อหายไปหางานต่างประเทศ หายไปสู่ทางอบายมุขและหายนะ บางรายแม่ทนพ่อไม่ไหว เพราะพ่อติดเหล้า ติดการพนัน ติดยาเสพติด รีดไถทุบตีแม่จนต้องเลิกรา 

ผมก็เป็นผู้ชายนะครับ แต่ก็รู้สึกว่าผู้ชายจำนวนไม่น้อยเอาเปรียบผู้หญิง และทำตัวได้สารเลวสิ้นดี 

เชื่อไหมครับว่า การให้ทุนการศึกษากับเด็กนั้น หลายแห่งต้องมีมาตรการป้องกัน ไม่ให้พ่อแสนเลวรู้ข่าวเข้า แล้วกลับมารีดไถเงินทุนการศึกษาของลูก 

ปัญหานี้ไม่ใช่พูดเพื่อด่าสนุกปากนะครับ หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนต้องมีนโยบายช่วยเหลือผู้หญิงที่รับภาระเป็น “แม่คนเดียว” (Single mother) เช่นให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ ช่วยค่าเลี้ยงดูลูก ให้เงินยืมเพื่อการประกอบอาชีพ ให้ทุนการศึกษากับลูกจนจบระดับการศึกษาภาคบังคับ และให้เงินยืมปลอดดอกเบี้ยกับเด็ก หากเด็กต้องการเรียนต่อมหาวิทยาลัย ฯลฯ 

ในทางสังคม ต้องเตือนผู้หญิงให้ระมัดระวังในการเลือกคู่ครอง ให้เวลาตรวจสอบชายคนรักอย่างรอบคอบว่าจะเป็น “พ่อ” ที่ดีสำหรับลูกได้หรือไม่ จะมีความมั่นคงต่อชีวิตครอบครัวเพียงใด ปลอดหญิงอื่นหรือเปล่า ผู้ชายก็ต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบลูกและครอบครัวให้มาก ต้องตระหนักว่าความเหลวไหลเลอะเทอะของตนเองชั่ววูบหนึ่งของชีวิต อาจทำให้ลูกต้องต่ำต้อยด้อยโอกาสหรือเลยเถิดถึงเสียผู้เสียคน เป็นปัญหารุนแรงทางสังคมไปยาวนาน 

พูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่เคยมีกรณีผู้หญิงทิ้งผู้ชายไปมีสามีใหม่ ปล่อยให้ผู้ชายเลี้ยงดูลูกอยู่เดียวดาย เด็กขาดความอบอุ่นจากแม่ แต่รูปธรรมจะมีน้อยกว่า 

ที่สำคัญก็คือ เมื่อมีปัญหาครอบครัวแตกร้าวเลิกรา ต้องตกลงกันให้ได้เด็ดขาดว่า ใครจะรับผิดชอบเลี้ยงดูลูก เท่าที่ติดตาม หากเด็กมีผู้ใหญ่เป็นที่พึ่งพิง ไม่ว่าจะยากจนเพียงใด เด็กก็จะมีหลักยึดเหนี่ยวใจ ไม่เตลิดเปิดเปิงจนเสียผู้เสียคน 

พ่อแม่เลี้ยงดูไม่ไหว ลองกราบกราน ปู่-ย่า-ตา-ยาย ลุง-ป้า-น้า-อา ให้ช่วยเหลือเด็กที่ไร้ญาติอุปถัมภ์ ที่สุดได้ครูที่โรงเรียนช่วยให้ที่พักพิง ช่วยกันตามมีตามเกิด ก็ยังเติบใหญ่ได้ดีมีถมไป.






ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: เดลินิวส์ ฉบับที่ 19760 [หน้าที่ 5 ] ประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง