[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

“หลักสูตรสถานศึกษา” งานช้างพิสูจน์ ฝีมือรมว.ศึกษาฯ คนใหม่


ขอต้อนรับ “นายอดิศัย โพธารามิก” สู่กระทรวงที่ใช้รัฐมนตรีเปลืองที่สุด แม้รัฐมนตรีทุกท่าน ที่แวะเวียนผ่านมานั่งกระทรวงนี้ จะรู้อยู่ก่อนแล้วว่า สิ่งที่จะต้องเร่งทำ คือ “การปฏิรูปการศึกษา” แต่เหตุไฉน เก้าอี้กระทรวงนี้ถึงได้ร้อน จนนั่งกันไม่ติด 

นายอดิศัย โพธารามิก เจ้ากระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ หากยังจำเหตุการณ์ที่ นายกฯ สวมบทบาท เป็นครู สอนนักเรียน ร.ร.สามเสนวิทยาลัยได้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน มีช่วงหนึ่งนายกฯ พูดว่า “เด็กนักเรียนสมัยนี้เรียนหนักเกินไป หลักสูตรใหม่น่าจะมีปัญหา” ทำให้พอจะคาดเดาได้ว่าหนึ่งในขบวนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา คือการเร่งสังคายนาหลักสูตร ก็เป็นได้ 
หากมองผิวเผินแล้วอาจกล่าวได้ว่า หลักสูตรใหม่เป็นฉบับที่สมบูรณ์ฉบับหนึ่ง เนื่องจากเน้นให้ผู้เรียน “เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีความเป็นไทย” ส่งเสริมให้ผู้สอน รวมทั้งคนในท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตร วางแผนจัดการเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียน มีสถาบันทดสอบกลางแห่งชาติ (National Test) เพื่อทดสอบการผ่านช่วงชั้น ป.3 ป.6 ม.3 และม.6 หรือนำผลสอบดังกล่าวเพื่อ ยื่นเข้าเรียนต่อ ม.1 หรือ สอบเข้ามหาวิทยาลัย 

ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้หลักสูตรใหม่ นำมาทดลองใช้ กับโรงเรียนนำร่อง 162 แห่ง รวมกับโรงเรียนเครือข่ายอีก 2,000 แห่ง ในปีการศึกษา 2545 และเริ่มใช้กับนักเรียนทั่วประเทศ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2546 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าแม้แต่โรงเรียนนำร่องและโรงเรียนเครือข่ายเองหลายแห่งต่างพากันประสบกับปัญหาในการจัดทำหลักสูตร และการนำหลักสูตรไปใช้กันเป็นแถวๆ 

ครูสับสน ไม่เข้าใจ ลอกหลักสูตรกันเพียบ 

การอบรมครูอย่างเร่งรีบ ในระยะเวลาอันสั้น ประกอบกับครูจำนวนหนึ่งที่ยังไม่สามารถปรับความเคยชินในการจัดการเรียนการสอนแบบเดิมมาสู่รูปแบบใหม่ ครูจำนวนมาก ขาดความเข้าใจ “หลักสูตรสถานศึกษา” แต่ต้องลงมือเขียนหลักสูตรเอง ความสับสน ทั้งครูนักเรียน ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงเรียนจำนวนหนึ่งแก้ปัญหาด้วยการลอกหลักสูตรจากโรงเรียนอื่นแทน 

“หลังจากรัฐบาลเร่งใช้หลักสูตรให้ทันพร้อมกันทั่วประเทศในปีการศึกษา 2546 ทุกโรงเรียนก็เร่งทำเพื่อให้ทันตามคำสั่งดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงนโยบายและเป้าหมายหลักการจัดทำ ความไม่พร้อมดังกล่าว ทำให้โรงเรียนต่างๆ ต้องลอกหลักสูตรกันเอง โดยผู้บริหารโรงเรียนคิดอยู่อย่างเดียวคือเสร็จให้ทันเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่หลอกลวงกันทั้งระบบ จริงๆ แล้วควรเริ่มต้นจากการจัดทำหลักสูตร ให้ครูผู้สอนระดมสมองจัดทำหลักสูตรร่วมกันในระดับที่สอนอยู่ พยายามหลีกเลี่ยงตำราที่มีผู้ชี้นำหรือผู้ทรงคุณวุฒิแต่งให้ เพราะจะทำให้ครูผู้สอนเกิดความไม่มั่นใจในตนเอง” ครูโกวิทย์ อ่อนทอง ร.ร.จะนะชนูปถัมภ์ จ.สงขลา กล่าว 

จากการประเมินผลโครงการนำร่องของ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (กรมวิชาการเดิม) พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กจะมีปัญหาในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา เนื่องจากบางแห่งมีครูเพียง 2-3 คนและขาดความพร้อมในด้านปัจจัยต่างๆ จึงไม่สามารถจัดหลักสูตรสถานศึกษาให้มีคุณภาพได้ ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ทำหลักสูตรแกนกลางให้ 70% โรงเรียนมีหน้าที่จัดทำหลักสูตรเองเพื่อให้สอดคล้องกับท้องถิ่น 30% 

“หลักสูตรที่มีอยู่มีปัญหาตรงที่ไม่มีตัวอย่างให้ครู อีกทั้งเวลาที่ให้ทำก็รวบรัดเกินไป ครูส่วนใหญ่ยังไม่เคยทำหลักสูตร เมื่อมีหลักสูตรก็ต้องมาทำเอง ปัญหาจึงเกิดขึ้น พอมีโรงเรียนตันแบบมาแนะนำหนักสูตรเราก็ยึดตามโรงเรียนต้นแบบนั้นๆ ” ครูชาติชาย นิภากุล ร.ร.มัธยมวัดดุสิตาราม กล่าว

ทางด้านนางสถาพร มุ่งวัฒนา ครูโรงเรียนหนองบุนนากประสงค์วิทยา จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ครูมีความสับสนเรื่องหลักสูตร 70/30 กันมาก ตนเชื่อว่าในที่สุดแล้วโรงเรียนต่างๆ ก็จะยึดหลักสูตรแกนกลางเป็นหลัก บางรายแม้ผ่านการอบรมมาแล้วหลายครั้งก็ยังไม่กล้าลงมือทำเอง 

“ได้ยินเพื่อนครูหลายคนพูดว่า ไม่จำเป็นต้องไปเขียนหลักสูตรเองให้เหนื่อย ให้ลอกจากโรงเรียนใหญ่ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันก็ได้ เพราะถือว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน หรือไม่ก็ลอกจากหนังสือคู่มือของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่พิมพ์วางขาย” นางสถาพร กล่าว 
จากตำราเสรี สู่การฟ้องร้องถึงศาลปกครอง

แท้ที่จริงแล้ว ในเรื่องของสื่อการเรียนการสอนนั้น เจตนารมณ์ คือไม่ให้โรงเรียนยึดติดกับ ตำราเล่มใดเล่มหนึ่ง เพื่อเปิดกว้างทางความรู้ ทั้งนี้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ม.64 ก็ระบุไว้ด้วยว่า “รัฐต้องสนับสนุนให้มีการผลิตสื่อการเรียนการสอนอย่างเสรี” เพื่อให้โรงเรียนได้เลือกใช้ให้หลากหลาย แต่ก่อนหน้านี้สำนักพิมพ์แม็คได้ฟ้องต่อศาลปกครอง อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา กรณีกรมวิชาการออกกฎเกณฑ์และขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อควบคุมการผลิตและจำหน่ายของสำนักพิมพ์อื่น จนทางสำนักพิมพ์ไม่สามารถจัดจำหน่ายได้ในช่วงเปิดเทอมแรก ปีการศึกษา 2546


ลีลา ครูทักษิณ ชินวัตร กับเบื้องลึกที่หลายๆ คนคิดว่าเข้ามาล้วงลูกปัญหาหลักสูตร “หากกระทรวงศึกษาธิการยังไม่รีบปรับบทบาทของตัวเอง ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญและพรบ.การศึกษาแห่งชาติกำหนด คาดว่าจะมีเอกชนอีกหลายรายทยอยฟ้องกระทรวงศึกษาธิการอย่างแน่นอน” รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่สำนักพิมพ์ฟ้องหน่วยงานของกรมวิชาการต่อศาลปกครอง 

นายจิตรกร ไสวงาม ครูจากเขตการศึกษาที่ 5 จ.ขอนแก่น ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอนว่า “โรงเรียนหลายๆ โรง มีคอมพิวเตอร์มากแต่ไม่เคยอบรมการใช้ให้ครูสักครั้งรู้อยู่คนเดียวคือ “ครูคอม” มีโทรทัศน์ วิดีโอ ก็อยู่ห้องครูคนที่ใช้เป็น ครูคนอื่นอยากใช้สื่อแต่โอกาสที่จะใช้ผ่านขั้นตอนมากมาย อยากให้โรงเรียนมีห้องในการใช้สื่อเหล่านี้ มีคนรับผิดชอบในเรื่องเทคนิค แต่สิ่งเหล่านี้ผู้บริหารจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ไม่ใช่เวลาองค์กรภายนอกไปตรวจ บอกว่ามีสื่อด้านเทคโนแต่ครูไม่เคยได้ใช้ นักเรียนไม่เคยดูอย่างนี้ ก็น่าเป็นห่วง” 

ถึงแม้บางโรงเรียนจะใช้ ตำราเรียนที่แตกต่างกันไป แต่ในบางโรงเรียนก็ใช้ของสำนักพิมพ์ คละกันไป นายฉัตรกนก จินดาปกรณ์ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนปทุมคงคา เปิดเผยว่า ที่โรงเรียนเลือกใช้คละกันไป ทั้งจากสำนักพิมพ์และจัดทำขึ้นมาเอง

“โรงเรียนปทุมคงคา ใช้ตำราเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ของสสวท. วิชาอื่นก็มีของ วพ.บ้าง ส่วนวิชาสังคม ภาษาไทย อังกฤษ ใช้ชีตที่โรงเรียนเขียนเอง แต่ไม่ได้ดูว่าของโรงเรียนอื่น เป็นอย่างไร โดยส่วนตัวก็มั่นใจว่าที่โรงเรียนได้มาตรฐานแล้ว อย่างตำราของ สสวท. นี้ที่แตกต่างจากหลักสูตรเก่าคือเน้นปฏิบัติการมากขึ้น ทำให้การเรียนรู้หลากหลายมากขึ้น” ฉัตรกนก กล่าว

ทางด้าน นาย กิจจา วัชราภิชาต นักเรียน ม.5/5 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กล่าวว่า หลักสูตรใหม่กระทรวงศึกษาธิการต้องการให้แต่ละโรงเรียนจัดการเรียนรู้ขึ้นมาเอง โดยการเรียนแบบหลักสูตรซีร็อก ต้องซีร็อกชีตเอง บางครั้งก็มีปัญหามากเหมือนกันเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น อีกทั้งการเรียนในแต่ละวิชาก็ไม่สัมพันธ์กันด้วย 

“เรียนคณิตศาสตร์ตอน ม.5 แต่เรื่องนี้เคยใช้มาแล้วตอนเรียนฟิสิกส์ ม.4 ความจริงควรที่จะให้สัมพันธ์กัน ถ้าเรียนคณิตศาสตร์ก่อนเรียนฟิสิกส์ก็น่าจะทำให้เรียนฟิสิกส์ได้ดีขึ้น” นายกิจจา กล่าว 

เรียนหลักสูตรใหม่ แต่เอนทรานซ์หลักสูตรเก่า 

หลังจากที่ผ่านกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนแล้ว นักเรียนที่เรียนหลักสูตรใหม่จะต้องสอบผ่านช่วงชั้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับการสอบไล่สมัยก่อน โดยนักเรียน ชั้น ป.3 ป.6 ม.3 และม.6 จะต้องสอบ National Test จัดสอบโดย สำนักทดสอบการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งจนบัดนี้สถาบันแห่งนี้ยังไม่มีรูปมีร่างที่ชัดเจน ว่าจะจัดสอบนักเรียนเป็นล้านๆ คนได้อย่างไร มีระบบคุ้มกัน ไม่ให้ข้อสอบรั่วได้อย่างไร 

หลังจากที่จบ ม. 6 ในปี 2549 นักเรียนรุ่นนี้จะเป็นรุ่นแรกอีกเช่นกัน ที่ต้องใช้ ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยระบบใหม่ที่เรียกว่า “แอดมิชชั่น : Admission” แต่นักเรียนโรงเรียนนำร่อง และนักเรียนเครือข่าย ที่ต้องเรียนหลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา 2545 แต่ต้องสอบระบบเอนทรานซ์ระบบเก่า ในปี 2548 ซึ่งเนื้อหาการเรียนไม่เหมือนกัน ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่เกิดความเคว้งขว้างและสับสน 


การเรียนรู้รูปแบบใหม่อาจไม่ใช่เรียนรู้แต่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว 
ครู (ไม่เปิดเผยชื่อ) จาก สพฐ.สุรินทร์ เขต1 เล่าให้ฟังว่า “ตนคลุกคลีการทำและใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดและนิเทศว่าหลักสูตรสถานศึกษาที่เราทำและใช้ดีไม่มีถูกไม่มีผิด แต่เมื่อมาพิจารณาถึงนักเรียนโดยเฉพาะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นม.5 ซึ่งต้องไปแข่งขันกับนักเรียนหลักสูตร2533 แล้วจะเสียเปรียบมาก ความจริงการปฏิรูปการศึกษาควรจะเปลี่ยนแปลงที่ละส่วน เช่นเปลี่ยนแปลงให้ครูพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนและตระหนักในความเป็นครูก่อน แล้วจึงมาเปลี่ยนแปลงหลักสูตร”

สำหรับ นักเรียน ม.5 ของโรงเรียนนำร่อง หลักสูตรใหม่ เด็กๆ เหล่านี้ไม่ต่างจากหนูทดลองเท่าไหร่“ที่เรียนสาระหลักสูตรใหม่แต่ต้องสอบหลักสูตรเก่า” ความไม่สอดคล้องดังกล่าว ภาระที่หนักก็คือเด็กนักเรียน 

“ค่อนข้างหนักใจและเครียดมาก เนื่องจากระบบเอนทรานซ์ กับเนื้อหาที่เรียนไม่สอดคล้องกัน ถ้าเรียนหลักสูตรเก่า จะมีเนื้อหาที่ตรงและเน้นสำหรับข้อสอบโดยเฉพาะ แต่เพื่อนๆ รวมทั้งตัวเองต้องเตรียมตัวมากเป็นพิเศษได้ ต้องเรียนหนักขึ้นมากกว่าเดิมเป็นสองเท่า ทั้งหลักสูตรใหม่และหลักสูตรเก่า หลักสูตรใหม่ก็เรียนในโรงเรียน หลักสูตรเก่าไปเรียนพิเศษเพื่อให้ครอบคลุม แล้วก็ต้องถามรุ่นที่ผ่านๆ มาว่า เขาเรียนอะไรกันบ้าง แทนที่จะลดความเครียด กลับเครียดมากขึ้น ” ปัญญารัศมิ์ ออคูณสวัสดิ์ นักเรียนชั้น ม.5/5 ร.ร.สามเสนวิทยาลัย กล่าว 

ครั้นจะออกข้อสอบ 2 ชุด ข้อสอบหลักสูตรใหม่ชุดหนึ่ง และข้อสอบหลักสูตรเก่าแยกต่างหาก ก็สายเกินไป เพราะจะทำให้เกิดข้อครหา ถึงมาตรฐานในการวัดได้ เด็ก ม.5 โรงเรียนนำร่อง ต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรมต่อไป 

การเรียนที่อัดสาระการเรียนรู้อย่างเข้มข้น ถูกทางแล้วหรือ?

การร่างหลักสูตรให้เด็กเรียนรู้วิชาการมากมายรอบตัว เป็นอีกเรื่องของหลักสูตรที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยโครงสร้างแล้วปัจจุบัน เด็กที่เรียนอยู่ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ใช้เวลาเรียน 800-1,000 ชม./ปี ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-ป.6)ใช้เวลาเรียน 800-1,000 ชม./ ปี ช่วงชันที่ 3 (ม.1-ม.3) ใช้เวลาเรียน 1,000-1,200 ชม./ปี และช่วงชั้นสุดท้าย (ม.4-ม.6) ไม่น้อยกว่า 1,200 ชม./ปี การอัดเนื้อหาเข้าไป มากมาย จริงๆเราเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ 

พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครองกล่าวว่า การเรียนที่หนักเกินไป ผลลัพธ์ที่ได้ แสดงให้เห็นชัดเจนจากการวิจัยของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น IMD หรือ Perk ที่จัดอันดับคุณภาพการศึกษาไทยเกือบที่สุดท้าย ทั้งๆ ที่เด็กไทยก็เรียนมากมาย เกือบพูดได้ว่ามากมายที่สุดในโลก ตรงกันข้ามเด็กต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา วันๆ เรียนไม่กี่วิชา แต่ประเทศเขาเต็มไปด้วยนักประดิษฐ์คิดค้น มีวิทยาการใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา 

“การเรียนการสอนทุกวันนี้ไม่ตรงกับพัฒนาการทางสมองของเด็ก ซึ่งต้องเรียนอะไรที่มันซ้ำๆ ซากๆ ตลอดเวลา จริงๆแล้วสมองต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การบ้านครูก็สั่งมากเกินไป จริงๆแล้วถ้าจะให้ดีมันต้องให้เขาได้มีเวลาพักผ่อนบ้าง อีกอย่างเด็กก็เรียนหนักมาก เราพัฒนาแต่วิชาการพัฒนาแต่สมองซีกซ้าย ไม่ได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็ก” พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าว 

ด้าน คุณหญิง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า จากที่ใช้หลักสูตรมาสองปี คงต้องมีการหาข้อมูลกันก่อน ว่ามีปัญหาตรงจุดใด มีส่วนใดที่ดี หรือส่วนใดที่ควรจะยกเลิก ตัดทิ้งไป ทั้งเรื่องของเนื้อหาที่เรียนซ้ำๆ กันหรือการเรียนที่หนักเกินไป รวมทั้งความไม่สอดคล้องกันระหว่างการเรียนกับเอนทรานซ์ ที่จะต้องปรับปรุงอย่างแน่นอน 

ขณะที่ นายสุชาติ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กล่าวยอมรับว่า ปัญหาที่พบจากการใช้หลักสูตรคือ ความไม่เข้าใจ ปัญหาเกี่ยวกับข้อกำหนด และปรับเปลี่ยนมาตรฐานใหม่เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ประเด็นต่อมา คือความไม่เข้าใจในสาระแกนกลาง ที่หลายสถานศึกษายังประสบ ซึ่งต้องเร่งชี้แจงและทำความเข้าใจ โดยอาจจะระบุลงไปให้ชัดเจนมากกว่าเดิม 

ด่านทดสอบความเครียดก่อนเข้ารั้วสถาบันอุดมศึกษา “การเปิดช่องไว้ในมาตรฐานสาระแกนกลางเดิม เพื่อให้แต่ละโรงเรียนได้คิดต่อ แต่เมื่อเป็นปัญหาก็พร้อมที่จะกำหนดลงไปให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน คงต้องทำความเข้าใจในความคิดรวบรวม (concept) กันอีกครั้งทั้งหมด ว่าทำอย่างไร มีวิธีการ รูปแบบ และตัวอย่างประกอบพร้อม โดยจะเชิญผู้รู้มากำหนดเป็นแผนแม่บท และสร้างเป็นโมเดลขึ้น รวมไปถึงการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง ที่โรงเรียนหลายแห่งยังไม่เข้าใจในเชิงเทคนิค ซึ่งต้องเร่งเคลียร์ทุกด้านไปพร้อมๆกัน” ผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กล่าวและคาดว่า การปรับและทบทวนทุกจุดที่เป็นปัญหาจะแล้วเสร็จภายในการศึกษานี้ ก่อนที่จะไปเห็นผลจริงในการปฏิบัติปีการศึกษาหน้า 

''สื่อการเรียนเป็นอีกตัว ที่คิดว่าทำให้ทันต่อความต้องการใช้ จากเดิมที่ล่าช้า โดยจะเปิดกว้างให้เอกชนเสนอรูปแบบอย่างเต็มที่ในการเสนอและนำเข้า และประสานกับกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลด้านราคาต่อการควบคุม ส่วนสำนักฯ จะประเมินด้านคุณภาพอย่างเดียว''

ล่าสุด เมื่อวันที่ (12 พ.ย.) หลังจากที่นายอดิศัย เข้ารับฟังการชี้แจงในเรื่องของหลักสูตร จาก คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกือบ 2 ชั่วโมง จากนั้นท่านก็ออกมาเปิดเผยว่าอยากให้ลดชั่วโมงวิชาการลง เน้นกีฬา –ศิลปะ – ดนตรีมากขึ้น แต่ประเด็นนี้เป็นเพียงจุดเดียวเท่านั้น อย่างที่กล่าวไว้ในตอนแรกปัญหาหลักสูตรมีอะำไรมากมายกว่านี้มาก คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าทิศทางหลักสูตรใหม่จะเป็นอย่างไร และจะสอดรับกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มากแค่ไหน ถ้าแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่สำเร็จ นั่นก็หมายถึงการปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลวด้วย เช่นกัน







ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: จัดการรายวัน ฉบับที่ 4038(4036) [หน้าที่ 5 ] ประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง