|
|
ความเสมอภาคระหว่างเพศ เส้นทางสู่การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก!
เมื่อพูดถึงความรุนแรง ผู้คนส่วนใหญ่จะให้ความสนใจหรือเข้าใจเพียงว่า เป็นพฤติกรรมการทำร้ายร่างกาย หรือเข้าใจมากขึ้นว่า การล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขืนอนาจารคือความรุนแรงที่เกิดขึ้นเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ไม่ได้มองเห็นถึงความรุนแรงที่จิตใจได้รับ อันมีสาเหตุมาจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบ ๆ ตัวเราทำให้มองข้ามว่าไม่สำคัญ หรือไม่ทันได้กลั่นกรองว่าอะไรถูกอะไรไม่ถูก อะไรควรพูดไม่ควรพูด พูดแล้วจะส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน เมื่อคำพูดเหล่านั้นถูกมองข้ามไป ไม่ให้ความสำคัญ แต่นานวันไปก็อาจนำไปสู่ทัศนคติและความเชื่อในการดำเนินชีวิตอย่างผิด ๆ ก็ได้ ดังกรณีของเด็กหนุ่มวัย 20 ปี ที่โดนข้อหาพยายามข่มขืนเด็กสาววัย 17 ปี ฝ่ายชายเช่าหอพักอยู่รวมกับเพื่อนชายสามคน ทำงานโรงงานที่มีแต่ผู้ชาย ฝ่ายหญิงเป็นพนักงานขายของในหอพัก ต่างรู้จักคุ้นเคยคบหากันเรื่อยมา แล้ววันหนึ่งฝ่ายชายได้พยายามปลุกปล้ำจะข่มขืนเธอ เรื่องถึงโรงพักเป็นคดีความ เมื่อฝ่ายชายมาพบเพื่อเจรจากับฝ่ายหญิงที่ศูนย์ฮอทไลน์ เมื่อถามเด็กหนุ่มว่า คิดอย่างไร หรือทำไมจะต้องพยายามข่มขืนเด็กสาวด้วย เขาตอบว่า คบกับเธอมาไม่นาน แต่เคยไปดูภาพยนตร์ด้วยกัน ไม่เคยจับมือถือแขน แต่เพื่อน ๆ ที่อยู่ด้วย ตลอดจนเพื่อน ๆ ผู้ชายที่โรงงาน จะพูดจากระเซ้าเย้าแหย่ว่า ''เองมันไม่มีน้ำยา !'' ''ทำไมไม่จัดการสักที สงสัยจะโดนผู้หญิงมันหลอก!'' '' ขี้กลัวแบบนี้ต้องเอาผ้าถุงไปนุ่ง!'' หรือ ''ลูกผู้ชายต้องใจกล้ากว่านี้!'' เป็นต้น สารพัดที่จะโดนกระตุ้นโดยวาจาของเพื่อน ๆ ที่สนับสนุนให้เขาต้องลงมือจัดการขั้นรุนแรงกับฝ่ายหญิง เพราะเกรงโดนตราหน้า หยามเกียรติลูกผู้ชายจากเพื่อน ๆ ด้วยกัน แน่นอน คำพูดประเภทนี้ เราได้ยินได้ฟังมาบ่อย จากในซอยบ้าน เพื่อนบ้าน คนในบ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือจากสื่อทั่วไป ได้ยินได้ฟังกันถ้วนหน้า แต่เราต่างก็เฉย ไม่มีใครสนใจจะท้วงติง คิดว่าเป็นการพูดกันเล่น ๆ นานไปเราทุกคนก็เคยชินกับภาษาหรือวาจาเหล่านั้น จนเข้ามาครอบงำความนึกคิดกลายเป็น''วาจาศักดิ์สิทธิ์'' ที่ผู้ที่โดนตราหน้าจะต้องอับอาย เพราะฉะนั้น การกระทำหรือพฤติกรรมตามถ้อยคำเหล่านั้น จึงเสมือนเป็นการรักษาศักดิ์ศรีของความเป็นชาย โดยผู้ที่เสียหายและต้องจ่ายราคาก็คือ ผู้หญิงและเด็ก และผู้กระทำไม่รู้สึกผิด! เพราะฉะนั้น ความรุนแรงจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น จากการพยายามที่รักษา''อำนาจ''ระหว่างเพศ โดยเฉพาะเพศชายที่คิดและมีความเชื่อว่า ''อำนาจเป็นเรื่องของผู้ชาย'' ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะไม่พูดกันถึงเรื่องอำนาจ เพราะสถานภาพของผู้หญิงมักจะไร้อำนาจ โดยเฉพาะอำนาจในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เขียนพูดถึงความรุนแรงว่า ''เป็นการบริหารอำนาจระหว่างเพศ'' ปฏิกิริยาที่ได้รับคือความเงียบงันจากทั้งหญิงและชาย เพราะอาจจะเป็นคำใหม่ที่ผู้เขียนเพิ่งนำมาใช่ สืบเนื่องจากผลสรุปการให้บริการ สายด่วนสุภาพบุรุษทั้ง ๆ ที่ต่างประเทศพูดเรื่องนี้มานานแล้ว แต่เราได้มองข้ามไป เนื่องจากที่ผ่านมาผู้หญิงยังไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิสตรี สิทธิส่วนบุคคล ทำให้มองข้ามอำนาจในตนเองไป และเก็บไว้แต่ความรู้สึกเจียมตัวเจียมใจ ให้อำนาจในการตัดสินใจ ในการเป็นผู้นำ และให้โอกาสกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศ ผู้หญิงจะอับอายไม่กล้าไปแจ้งความเอาเรื่องกับผู้กระทำ เพราะรู้ว่า คนในสังคมส่วนใหญ่มักจะลงความเห็นว่าเป็นความผิดของผู้หญิงที่ไม่ระมัดระวังตัว จึงเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น หรือผู้หญิงเป็นฝ่ายให้ท่าเอง ไม่เช่นนั้นมีหรือผู้ชายจะกล้า หรือ ตบมือข้างเดียวมันไม่ดัง! คำพูดเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงภาวะไร้อำนาจของฝ่ายหญิงในการลุกขึ้นมาโต้ตอบและปกป้องศักดิ์ศรีของผู้หญิงเอง ถึงวันนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงได้เรียนรู้จักสิทธิของตนเองมากขึ้นแล้วรู้จักปฏิเสธที่จะไม่ยอมตกเป็นเหยื่อการถูกเอาเปรียบจากผู้ชาย ในขณะที่ผู้ชายเองกำลังรู้สึกสูญเสียอำนาจ และในความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราจะพบว่าเกิดขึ้นเพราะฝ่ายชายต้องการจะรักษาอำนาจที่คิดว่าตัวเองมีหรือเคยเป็นผู้มีอำนาจอยู่ และแน่นอนเมื่อเรากำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ การเรียนรู้ที่จะปฏิเสธหรือปกป้องสิทธิของผู้หญิง จึงเหมือนเป็นการ''ท้าทาย''ต่ออำนาจของฝ่ายชาย ผลที่ตามมา คือ การกระทำที่รุนแรงมากขึ้น เหมือนจะเป็นการตอกย้ำและบังคับให้ผู้หญิงต้องกลับไปยู่ในสภาพาจำยอม และสงบเสงี่ยมเจียมตัวเหมือนเช่นเคย! กรณีที่เห็นชัดเจนในเรื่องของความรุนแรงกับอำนาจ ''ข่าววันจันทร์ที่ผ่านมา สามีหื่นแค้นเมียปฏิเสธเซ็กซ์ พาสวรรค์ล่ม บีบคอดับคาเตียงนอน!'' นายนิทัศน์ เกตุรัตน์ สามีผู้ตาย ยอมรับว่าได้ปลุกภรรยา เพื่อขึ้นมาประกอบกิจทางเพศ แต่ภรรยาอยู่ในอาการง่วงนอนไม่ยอม ด้วยอารมณ์หน้ามืดจึงใช้มือบีบคอภรรยา ซึ่งผู้ตายก็ต่อสู้และใช้เล็บขีดข่วนที่หน้าอกจนเป็นแผล ตนเกิดความเจ็บปวดจึงใช้กำลังบีบคอภรรยาแน่นิ่งไป….'' กรณีของฮอทไลน์ นายอ้น สามีวัย 65 ปี มีภรรยาหลายคน ภรรยาน้อยคนที่นายอ้นต้องการอยู่ด้วย อายุ 45 ปี เป็นญาติกับภรรยาคนแรก จึงไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งกัน แต่นายอ้นไม่ได้ทำงานอะไร เพราะฝ่ายหญิงเปิดร้านขายของชำเลี้ยงดูครอบครัวคือเธอและลูก ๆ รวมทั้งนายอ้นด้วย ระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา นายอ้นไม่ค่อยสบายมีอาการทางสมอง ความต้องการทางเพศหมดไป และไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กันเลย ตอนนี้อาการทางสมองหายดีขึ้น นายอ้นเกิดมีความต้องการทางเพศสูงขึ้น แต่ภรรยาคนนี้ ไม่มีความต้องการทางเพศต่อไปเพราะเหนื่อยล้ากับภาระครอบครัว และสุขภาพไม่ค่อยดี เมื่อนายอ้นเรียกร้องทางเพศ ภรรยาปฏิเสธ จึงกลายเป็นเรื่องทะเลาะทุบตีทำร้ายร่างกายภรรยาเสมอมา และพยายามทำลายด้านเศรษฐกิจครอบครัว พาเพื่อนมากินเหล้าไม่จ่ายเงิน ขโมยของเอาไปแจกเพื่อน ๆ สร้างความเดือดร้อนให้เมียเพราะเธอไม่นอนด้วย ล่าสุดชอบเอามีดมาเก็บไว้ใต้หมอน ตอนกลางคืนชอบเดินถือมีดไปชะโงกดูตามมุ้งลูกสาว มุ้งหลาน และมุ้งที่เมียนอนอยู่ทำให้ทุกคนผวา ไม่รู้ว่าจะเกิดเรื่องร้ายแรงเมื่อไร พิจารณาเห็นชัดเจนในกรณีทั้งสองคือ ผู้ชายรู้สึกสูญเสียอำนาจและการควบคุมภรรยา เนื่องจากภรรยาปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย ถึงจะไม่มีใครรับรู้แต่ผู้ชายรู้สึกเสียหน้า และอยู่ในภาวะไร้อำนาจที่จะชักจูงให้ผู้หญิงต้องการเขา ทำให้ลุแก่โทสะ และพยายามใช้อำนาจทางกำลังเข้าบังคับ จนถึงขั้นคุกคาม ทำร้ายและฆ่าภรรยาตาย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้าน ในครอบครัวเป็นเรื่องที่เราทุกคนคุ้นเคยและพูดถึงกันมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบปัญหาความรุนแรงในชุมชน เช่นที่โรงเรียน ที่ทำงาน และในส่วนของความรุนแรงโดยรัฐ ในกรณีที่เกิดขึ้นที่สถานทูตในประเทศไทย กรณีสาวใช้คนไทยถูกท่านทูตของประเทศตะวันออกกลางลวนลามทางเพศ เคยเป็นเรื่องราวออกมาแล้วทุกอย่างก็เงียบหาย เพราะไปเกี่ยวข้องกับอำนาจของรัฐ เช่นเดียวกับกรณีที่รองอธิบดีกระทรวงการต่างประเทศ พยายามปลุกปล้ำเพื่อข่มขืนเลขานุการ แต่เธอเอาตัวรอดมาได้ นำเรื่องไปร้องเรียน จนมีการไต่สวนลงโทษผู้กระทำผิด แต่เป็นการลงโทษที่ไม่รุนแรง เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้กระทำไป ทำให้เจ้าหน้าที่ข้างในมากมายไม่พอใจ เรื่องจึงล่วงรู้ออกมาถึงภายนอก กรณีเช่นนี้ เกิดขึ้นเกือบทุกหน่วยราชการ ทุกสถานที่ทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ผู้หญิงมักรู้สึกอับอายไม่กล้าเปิดเผยเอาเรื่องกับผู้กระทำ ทำให้ไม่มีบทลงโทษทางสังคม โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจเป็นผู้กระทำความผิด เรื่องราวมักจะถูกปิดบังเพื่อรักษาหน้า รักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้ชาย มากกว่าจะคำนึงถึงความเสียหายของผู้หญิง เพราะฉะนั้นปัญหาความรุนแรง จึงยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น ในปีใหม่ ยุคใหม่ของการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพูดให้ตรงประเด็นคือ ''ความรุนแรงเป็นเรื่องของอำนาจระหว่างเพศ'' และการป้องกันเพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรง ก็คือ เราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมการใช้''อำนาจ''ที่มีอยู่ทุกรูปแบบให้อยู่ในขอบข่ายที่จะไม่กลายเป็นการทำร้ายผู้อื่น โดยเฉพาะ''เพศชาย'' ซึ่งเกิดและเติบโตมาด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของ''อำนาจทางร่างกาย'' ที่เหนือกว่าผู้หญิง อำนาจที่เกิดมาพร้อมกับการอบรมเลี้ยงดูให้คิดว่า ผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง การสร้างการตระหนักและยอมรับความเสมอภาคระหว่างเพศตั้งแต่เกิดจนเติบโต คือกุญแจสำคัญในการยุติการบริหารอำนาจที่นำไปสู่ความรุนแรงทุกรูปแบบ! แหล่งที่มา : อรอนงค์ อินทรจิตร สยามรัฐ หน้าต่างสตรี วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2543 |
http://www.hotline.or.th/dekdek/content/content-08.html |
โดย: งาน: งานห้องสมุด อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: http://www.hotline.or.th/dekdek/content/content-08.html |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |