[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ทัศนะ : อีกข้อเสนอหนึ่งสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

สิทธิชัย ธาดานิติ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต
การเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการคนใหม่เป็น ดร.อดิศัย โพธารามิก นับว่าเหนือความคาดหมาย ของผู้คน ไม่เฉพาะกับผู้อยู่ ในแวดวงการศึกษาเท่านั้น หากแต่เป็นที่กล่าวขวัญถึง จากแทบทุกภาคส่วนของสังคมไทยเลยทีเดียว เพราะคนส่วนใหญ่ คาดเดาไม่ถูกว่าหวยจะออกที่ ดร.อดิศัย จึงถือว่าเป็นเจ้ากระทรวง ที่ถูกจับตามองมากที่สุด 

และเสียงวิพากษ์วิจารณ์มักจะเป็นทำนองว่า นายอดิศัยไม่มีประสบการณ์ด้านบริหารการศึกษามาก่อน จะสามารถนำพานาวาการศึกษาของชาติให้ไปโลดอย่างที่ท่านนายกฯ ทักษิณ หมายมั่นปั้นมือไว้ได้หรือ

ถ้าลองพิจารณาย้อนไปในอดีต จะพบว่า รมว.ศึกษาธิการ ไม่ว่าจะเป็นนักการศึกษามือเยี่ยมหรือไม่ก็ตาม ต่างก็พยายามอย่างเต็มที่ในการจะพัฒนาการศึกษาของชาติอย่างต่อเนื่อง แต่ผลสำเร็จก็ยังไม่เข้าตากรรมการอย่างที่สังคมวาดหวังไว้ เพราะงานการศึกษานั้นยิ่งใหญ่ กว้างขวางและสลับซับซ้อนเกินกว่าใครจะสามารถเนรมิตให้บรรลุผลได้โดยง่าย

อย่างไรก็ตาม การที่ ดร.อดิศัย ซึ่งจบการศึกษามาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และคลุกคลีกับวงการธุรกิจอยู่ช้านานได้มาเป็น รมว.ศึกษาธิการนั้น นับว่าท้าทายความสามารถเป็นอย่างยิ่ง แต่พูดก็พูดเถอะ บางทีคนที่ไม่ใช่นักการศึกษาชั้นยอดอาจจะบริหารจัดการเรื่องการศึกษาได้ดีกว่าคนที่เคยเป็นลูกหม้อเก่าของกระทรวงศึกษาฯ มาก็เป็นไปได้ 

เพราะถ้าจะว่าไป ตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น คุณสมบัติสำคัญน่าจะอยู่ตรงความเป็นนักบริหารมากที่สุด โดยมีภารกิจหลักในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ การสั่งการ และการกำกับดูแลให้คนอื่นช่วยกันทำงาน เพื่อให้บรรลุผลตามนโยบายที่กำหนดไว้

ดังนั้น หากผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล สามารถจับประเด็นปัญหาได้เร็ว และตัดสินใจแก้ปัญหาได้เฉียบขาด ก็เชื่อว่าจะสามารถบริหารงานในกระทรวงไปได้ตลอดรอดฝั่ง และถ้าดูภูมิหลังและประสบการณ์การบริหารงานของท่านอดิศัยในอดีตที่ผ่านมา ผมคิดว่า ท่านอดิศัยในฐานะ รมว.ศึกษาฯ จะสอบผ่าน แต่จะได้คะแนนระดับเกรดเอหรือไม่ ขอได้โปรดอดใจรอชมผลในอนาคตกาลข้างหน้าก็แล้วกัน

ลางดีที่ส่อเค้าว่าน่าจะสอบผ่าน ก็โดยดูจากการเริ่มต้นงานในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ดร.อดิศัยสวมบทรัฐมนตรีซีอีโอ โดยการใช้กลยุทธ์เชิงรุกทันที ประกาศนโยบายการทำงานที่ชัดเจนออกไปหลายเรื่อง อาทิ การปรับรื้อวิธีการดำเนินงานใหม่ในโครงการ ''Education net'' มูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท เพื่อให้เด็กๆ นักเรียนได้เข้าถึงไอทีได้รวดเร็วขึ้น และการปรับแนวทางให้เงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ที่ต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างเด็กรวยกับเด็กยากจน และโรงเรียนที่มีพร้อมกับโรงเรียนที่ขาดแคลน เป็นต้น

ยิ่งกว่านี้ ในวันถัดมาบทบาทก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น มีการเรียกประชุมเพื่อฟังบรรยายสรุปและให้นโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มงานทั้ง 5 แท่งของกระทรวง ซึ่งท่านอดิศัยขอให้เรียกว่า 5 องค์กรหลัก (ฟังดูดีกว่าคำว่าแท่ง)

และที่สร้างความฮือฮาจนเป็นข่าวก็คือ ท่านอดิศัยได้ให้นโยบายในการจัดการเรียนการสอนในระดับนี้ ว่าจะต้องทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียน เพราะฉะนั้นการที่โรงเรียนต่างๆ จัดสอนวิชาเนื้อหาหลักให้เด็กเรียนถึงวันละ 7-8 ชั่วโมง อาจจะหนักไปและทำให้เด็กเกิดความเครียด จึงขอให้ลดเวลาลงมาบ้าง แต่ยังคงความเข้มข้นในการสอนแต่ละวิชาไว้ แล้วเอาเวลาที่เหลืออยู่ไปจัดกิจกรรมด้านกีฬาและดนตรี ให้เด็กได้ผ่อนคลายเสียบ้าง

แน่นอน ทุกคนคงจะต้องยอมรับว่าดนตรีกับกีฬาเป็นสิ่งดี เพราะทั้ง 2 อย่างนี้ช่วยเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้เกิดขึ้นในตัวเด็กได้อย่างยอดเยี่ยม ดนตรีทำให้คนมีอารมณ์อ่อนโยน ก่อให้เกิดความเบิกบานผ่องใส ส่วนกีฬาก็เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง รู้แพ้รู้ชนะ คุณสมบัติดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อโรงเรียนจัดเป็นกิจกรรมให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เยาว์วัย

แต่สิ่งที่คิดว่าดี บางทีก็อาจปฏิบัติได้ลำบาก ดังนั้นจึงปรากฏเป็นข่าวออกมาเช่นกันว่า นโยบายข้อนี้มีผู้เห็นว่าเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะโรงเรียนในกรุงเทพฯ ถึงกับออกมาโอดครวญว่า ไม่มีที่ว่างให้นักเรียนเล่นกีฬาหรอก ขนาดจะออกกำลังกายกันยังต้องใช้ทางเดินริมถนนแทนสนามกีฬาเลย แม้แต่จะเคารพธงชาติยังต้องแบ่งกลุ่มเด็กเพื่อเข้าแถวร้องเพลงชาติกัน

ในทำนองเดียวกัน แม้แต่โรงเรียนระดับมัธยมก็มีปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ผอ.โรงเรียนมัธยมมีชื่อแห่งหนึ่งถึงกับบ่นออกมาดังๆ ว่า นักเรียนจะไม่เครียดได้อย่างไร ในเมื่อชั้นเรียนแต่ละห้องมีนักเรียนอัดเข้าไปถึงห้องละ 40-50 คน แถมตอนพักเที่ยง ก็ต้องแบ่งรอบให้นักเรียนทยอยเข้าใช้โรงอาหารกันถึง 3 รอบ หมุนเวียนกันทุกวัน 

ที่สำคัญมากก็คือพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ต้องการให้โรงเรียนเน้นการเรียนการสอนวิชาเนื้อหาเป็นเรื่องหลัก เพราะต่างมุ่งมั่นจะให้ลูกหลานสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยให้จงได้ทั้งนั้น

ดูๆ ไป นโยบายลดเวลาเรียนวิชาเนื้อหาลง แล้วไปเสริมเวลาให้กับกิจกรรมกีฬาและดนตรี เริ่มทำท่าจะมีปัญหาทั้งกับโรงเรียนและผู้ปกครอง แต่สำหรับนักเรียนแล้วส่วนใหญ่จะชอบใจนโยบายนี้ โดยตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ลดเวลาเรียนได้ก็ดี เพราะทุกวันนี้เรียนกันจนหัวจะระเบิดอยู่แล้ว!

ในทัศนะของผู้เขียน มองประเทศไทยในมุมมองที่กว้างกว่าคำว่า ''กรุงเทพฯ'' เพราะประเทศไทยหมายรวมถึงทุกตำบลหมู่บ้าน ทุกอำเภอและทุกจังหวัด ซึ่งกระจายอยู่ทั่วแผ่นดินไทยตั้งแต่เหนือใต้ออกตก เพราะฉะนั้นเรื่องหาสถานที่ว่างให้เด็กทำกิจกรรมทางการกีฬาตามต่างจังหวัด ย่อมมิใช่ปัญหาอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี การปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน คงจะต้องใช้นโยบายและมาตรการหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน แต่มีข้อเสนอที่ผู้เขียนใคร่เรียน รมว.ศึกษาฯ เพื่อโปรดพิจารณา ก็คือเรื่อง ''การปรับปรุงระบบการวัดผลในโรงเรียน''

ปัจจุบันนี้ โรงเรียนต่างๆ มักวัดผลการเรียนรู้ของเด็กโดยใช้ข้อทดสอบแบบปรนัย (Objective Test) ข้อสอบเช่นนี้วัดได้ในระดับความจำเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้นักเรียนคิดไม่ค่อยเป็น แถมยังอ่อนภาษาอีกต่างหาก เนื่องจากข้อสอบแบบปรนัยมักนิยมใช้ข้อสอบชนิดที่เรียกว่า มัลติเพิลช้อยส์ (Multiple-choice) คือให้นักเรียนเลือกตัวเลือกที่ถูกที่สุดจากตัวเลือก 4 ตัว โดยเขียนวงกลมหรือเอาดินสอฝนตรงข้อที่เลือกเท่านั้น เพราะฉะนั้นเด็กก็ไม่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์อะไรมากมาย อาศัยความจำเป็นพื้น ถ้าเกิดไม่รู้คำตอบก็อาจจะใช้วิธีเดา เผลอๆ เดาถูกเสียด้วย!

ผู้เขียนจึงขอเสนอให้ลดการออกข้อสอบแบบปรนัยลงบ้าง แล้วไปเพิ่มการออกข้อสอบแบบอัตนัย (Subjective Test) ควบคู่กันไปในสัดส่วนที่เหมาะสม อย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เขียนอธิบายหรือบรรยายคำตอบด้วยหลักเหตุผล และองค์ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา

การเขียนจะช่วยให้นักเรียนรู้จักคิดวางแผน ค้นหาเหตุผล วิเคราะห์ปัญหา เรียบเรียงความคิดในการแก้ปัญหา แล้วก็ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาเขียนที่สละสลวย (ถ้าได้ฝึกอยู่บ่อยๆ)





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับที่ 5543 [หน้าที่ 15 ] ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง