|
|
นักวิชาการชี้เด็กไทยเมินการอ่านหนังสือ หันเหทำกิจกรรมอื่นแทน ต้นเหตุหนังสือไทยอ่านไม่สนุกแถมราคาแพงหูฉี่ ขณะที่สถานศึกษายัดเยียดกิจกรรมให้เด็กทำเพียบ จนไม่เหลือเวลา สำหรับการอ่านหนังสือ เสนอสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือหลากหลายประเภทเน้นเนื้อหาสนุกและให้ความรู้ แนะครูหาเวลาอ่านหนังสือ ดึงกิจกรรมจากตำรา มาจัดการเรียนการสอน ช่วยถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็ก
ผศ.เกริก ยุ้นพันธ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติหัวข้อ ''ทำอย่างไรให้เด็กรักการอ่าน'' ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การอ่านหนังสือของเด็กไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ เนื่องจากเด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง โดยมองว่าอาจเป็นเพราะคนไทยเติบโตมากับวัฒนธรรมการฟัง ไม่ใช่วัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งส่งผลให้การแสวงหาความรู้จะมาจากการฟังเป็นหลัก จึงทำให้เด็กไทยไม่ได้รับความสุข ทั้งความสนุก หรือจินตนาการและความรู้ที่สร้างสรรค์มาจากการอ่านหนังสือ ''เด็กไทยยุคนี้ชอบบริโภคแบบด่วนๆ สื่อเร็วๆ จึงเป็นที่นิยมแทนหนังสือ ช่วงหลังนี้หนังสือตาย เพราะวัฒนธรรมการอ่านของเด็กหายไป โดยเฉพาะเด็กในเมืองที่มีฐานะทางบ้านพร้อม ยิ่งไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ใช้เวลาไปเล่นเกมคอมพิวเตอร์, อินเทอร์เน็ต หรือดูโทรทัศน์แทน ส่วนเด็กต่างจังหวัด กลับไม่มีหนังสือให้อ่าน เนื่องจากครอบครัวมีข้อจำกัดในการซื้อหนังสือเพราะมีรายได้น้อย อีกทั้งยังขาดหนังสือที่ดีที่มีคุณภาพ'' ผศ.เกริก กล่าว สำหรับวิธีการปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านนั้น ผศ.เกริก แนะนำว่า สิ่งสำคัญคือหนังสือที่เด็กได้อ่าน เนื้อหาจะต้องมีความสนุกเป็นอันดับแรก ส่วนสาระความรู้ จริยธรรมถือเป็นผลพลอยได้ที่เด็กจะได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูจะต้องเป็นผู้คัดสรรหนังสือ และต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ พร้อมกันนี้ ครูจะต้องนำความรู้จากหนังสือมาจัดกิจกรรมต่างๆ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ อีกทั้งครูก็ควรหันมาอ่านหนังสือให้มากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มวิสัยทัศน์รวมทั้งจะช่วยในการจัดกิจกรรมแบบบูรณาจากการอ่านให้กับเด็กได้ดีขึ้นด้วย ด้าน นางวีณา จังหัน อาจารย์ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย กล่าวว่า เด็กในปัจจุบันมักจะไม่มีเวลาอ่านหนังสือ เพราะโรงเรียนมักมีกิจกรรมอื่นๆ ให้เด็กทำตลอดทั้งวัน ในขณะที่กิจกรรมด้านส่งเสริมการอ่านหนังสือที่เคยมีกลับขาดหายไป ทั้งๆ ที่เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และช่วยส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านก็ตาม อีกทั้งหนังสือในปัจจุบันยังเน้นเนื้อหาที่หนักๆ และเน้นรายละเอียดเยอะ ทำให้เด็กไม่สนใจอ่าน จึงอยากเสนอให้ทางสำนักพิมพ์ต่างๆ ควรผลิตหนังสืออกมาให้มีความหลากหลายและเหมาะสมมากกว่านี้ โดยเฉพาะหนังสือสำหรับเด็กจริงๆ ขณะที่ นางสุรีย์พร เบ้าพาละ อาจารย์โรงเรียนมาแตร์ กล่าวว่า อุปสรรคในการรณรงค์ในเด็กอ่านหนังสือที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ หนังสือไทยราคาค่อนข้างแพง ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถส่งเสริมการอ่านของเด็กได้อย่างเต็มที่ จึงเห็นว่าภาครัฐควรจะเข้ามาแก้ปัญหาจุดนี้โดยเร็ว เพราะจะทำให้เด็กเข้าถึงหนังสือมากขึ้น นอกจากนี้สิ่งที่ควรกระตุ้น คือผู้ใหญ่เองก็จะต้องมีเวลาเอาใจใส่ในการอ่านหนังสือของเด็ก ซึ่งดีกว่าปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์ไปวันๆ |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม |
โดย: งาน: งานนโยบายและแผน อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับที่ 5543 [หน้าที่ 13 ] ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |