|
|
ทักษิณ สั่งบรรจุวาระเร่งด่วน ประชุมสภาวันนี้ หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบราชการครู สิริกร ออกตัว หากกฎหมายใหม่ ยังบังคับใช้ไม่ได้ ให้ใช้ของเก่าฉบับปี 2523 ไปก่อน ขณะที่ฝ่ายค้านชี้ เป็นความผิดพลาดของรัฐบาล ในการใช้เสียงข้างมาก ออกกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับหนังสือจากสำนักราชเลขาฯ แจ้งว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อโปรดเกล้าฯ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย หลังรับแจ้ง มีรายงานข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือด่วน ถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจ้งต่อประธานรัฐสภา ให้บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่ระเบียบวาระด่วน ในการประชุมสภา ในวันนี้ (26 พ.ย.) อย่างไรก็ตาม การบรรจุวาระการประชุมสภานั้น อาจมีปัญหา เนื่องจากจะต้องแจ้งวาระต่อสมาชิกสภาล่วงหน้า 3 วัน จึงอาจทำให้การพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่ทันในสมัยประชุมนี้ ก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู ฉบับดังกล่าว สภาผู้แทนราษฎร ได้เคยมีมติเห็นชอบ โดยคว่ำร่างที่วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่วมกันในคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา เพราะไม่เห็นด้วยที่วุฒิสภา เสนอบัญชีเงินเดือนครูแนบท้ายมาด้วย นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการ หากร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่มีผลบังคับใช้ ศธ. ก็ได้เตรียมยกร่างกฎของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไว้จำนวน 22 ฉบับ ซึ่งสามารถขอมติใช้จากที่ประชุม ก.ค.ศ. ซึ่งมีเธอเป็นประธาน ได้ จากนั้น ให้ตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ใน 175 เขต ตั้งประธาน ก.ค.ศ.ระดับชาติขึ้นมาตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ เพื่อไม่ให้การบริหารงานแบบใหม่คือ เขตพื้นที่การศึกษาไม่ชะงัก เนื่องจากตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษานั้น เป็นตำแหน่งรักษาการ ตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการ เข้าสู่โครงสร้างการบริหารงานใหม่ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในขั้นตอนต่อไป ก็จะนำร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู มาแก้ไขให้สมบูรณ์ หากเกิดจากความผิดพลาดทางด้านธุรการ ก็จะได้เป็นอุทาหรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานระหว่างกระทรวงศึกษาฯ นิติกร และสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก็ตาม ที่ต่อไปต้องทำความเข้าใจกัน และมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ระหว่างการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้สมบูรณ์ เราก็จะใช้กฎหมายฉบับเดิม คือ พ.ร.บ.ครู พ.ศ.2523 แต่เนื่องจากมีกรมและบุคคลบางส่วนหมดสถานภาพ ฉะนั้น เราได้เตรียมการออกกฎ ก.ค.ว่าด้วยการกำหนดตำแหน่ง ผอ.สพท. รอง ผอ.สพท. กลุ่มเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษา อาทิ ศึกษาธิการจังหวัด เป็นต้น เพื่อให้ลงตำแหน่งได้โดยไม่เดือดร้อน โดยเฉพาะตำแหน่ง ผอ.สพท. จะกำหนดตำแหน่งเป็น ระดับ 8/9 นางสิริกร กล่าว ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและเงินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ได้บรรจุวาระการประชุมสภา แล้ว ทั้งหมดนี้ ศธ.และฝ่ายบริหารได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว สามารถนำเข้าที่ประชุม ก.ค.และครม.เห็นชอบได้เลย ทางด้านนายสนั่น สุธางกูร คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่วมร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู จากประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู ถือว่าเป็นความล้มเหลวและความผิดพลาดของรัฐบาล ที่ใช้เสียงข้างมากในการคว่ำร่างที่กรรมาธิการร่วม 2 สภา แต่กลับมารับร่างของสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่มีบัญชีแนบท้ายเงินเดือน และไม่มีการแก้ไขข้อผิดพลาดอีกหลายจุด ทำให้ระบบการปฏิรูปการศึกษาไม่สามารถเดินต่อไปได้ แทนที่จะออกกฎหมายทีเดียว จะได้มีผลบังคับใช้พร้อมกัน แต่กลับไปออกกฎหมายแยกส่วนทำให้ การปฏิรูปไม่สามารถเดินต่อไปได้ นอกจากนี้ การที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีน้อยมาก ดังนั้น จึงถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้น รัฐบาลก็ควรออกมายอมรับผิด ไม่ใช่มัวแต่เล่นการเมืองใช้เสียงข้างมาก อย่าถือดี คิดว่าตัวเองเก่ง ทั้งที่กฎหมายที่ออกมาเป็นกฎหมายที่พิกลพิการ นายสนั่น กล่าวต่อว่า ในวันนี้ จะมีการพิจารณารับรองร่างฉบับดังกล่าวนี้ โดยจะเป็นการประชุม 2 สภา โดยจะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อรับรองร่างดังกล่าว ซึ่งฝ่ายค้านก็คงไม่เห็นชอบกับร่างนี้ เพราะขนาดในหลวงทรงไม่เห็นชอบ แล้วฝ่ายค้านจะเห็นชอบได้อย่างไร ผมอยากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ออกมารับผิดชอบกับเรื่องนี้ เพราะถือว่าทำให้กฎหมายการปฏิรูปการศึกษาเสียทั้งระบบ รวมถึง นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาฯ ก็ต้องออกมารับผิดชอบด้วยในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่วม แต่ในที่ประชุมก็กลับไม่ได้ทักท้วงในเรื่องของบัญชีแนบท้าย แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาก็กลับไม่เห็นด้วย ที่คณะกรรมาธิการได้พิจารณาและแก้ไข ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หากไม่มีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างใหม่กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะการบริหารเขตพื้นที่การศึกษา ที่มีตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่ รอง ผอ.เขตพื้นที่ เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู ยังระบุให้มีการกำหนดตำแหน่ง วิทยฐานะ และการให้ได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ทั้งตำแหน่งของครูผู้สอนในหน่วยงานการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษา และตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษา ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มาตรา 94 บัญญัติว่า ร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย และพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้ว มิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัติ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว สมาพันธู์ครูระบุควรออกระเบียบรองรับแทน นายถวิล น้อยเขียว ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทางกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะออกระเบียบแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาชั่วคราวขึ้น เพื่อให้การบริหารงานบุคลากรในระดับเขตพื้นที่สามารถเดินหน้าไปได้เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของ สพฐ.ในระดับเขตพื้นที่ชั่วคราวขึ้น เนื่องจากขณะนี้ งานบริหารบุคลากรที่มีปัญหา คือ ในส่วนของเขตพื้นที่การศึกษา เพราะในส่วนกลางมีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) ซึ่งทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ชั่วคราวดูแลอยู่แล้ว ''หากสภาไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู ได้ทันในสมัยประชุมนี้ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร หาก ศธ.ออกระเบียบข้างต้นรองรับไว้ ส่วนเรื่องบัญชีเงินเดือนครูทางองค์กรครู ไม่ติดใจว่าจะต้องนำมาแนบท้ายร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู แต่ขอให้จัดกฎหมาย หรือร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนครูขึ้นมาคู่กับร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู เท่านั้น ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู เข้าสู่สภาสมัยประชุมหน้า และมีผลบังคับใช้ ก็สามารถส่งร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนครูตามหลัง ส่งผลให้มีผลบังคับใช้ในเวลาใกล้เคียงกัน'' นายถวิล กล่าว ปธ.วิปฝ่ายค้านรัฐผิดตั้งแต่แรก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ฝ่ายค้านได้ท้วงติงมาหลายครั้งว่ามีปัญหา และมีความไม่สมบูรณ์ ผิดพลาดอย่างน้อย 11 ประเด็น ขนาดที่กระทรวงศึกษาธิการก็ยังใช้ผิด และแม้กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะมีมติให้แก้ไขในส่วนที่ผิดพลาด แต่รัฐบาลก็ไม่แก้ไข ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการ แต่รัฐบาลกลับหยิบยกขึ้นมาพิจารณายืนยัน โดยไม่รับร่างที่กรรมาธิการ 2 สภาได้พิจารณา ส่วนถ้าร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภาจริงในวันนี้ ฝ่ายค้านก็จะมีมติไม่ยืนยัน และไม่รับกฎหมายฉบับนี้ เพราะฝ่ายค้านเคยทักท้วง และเคยไม่รับกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม |
โดย: งาน: งานนโยบายและแผน อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับที่ 5543 [หน้าที่ 15 ] ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |