[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ทรงชี้ข้อบกพร่องพรบ.ครูส่งสภาฯทบทวน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย พ.ร.บ.ครู หลังพบข้อบกพร่อง 13 จุด ฝ่ายค้านอัดเป็นข้อผิดพลาดของรัฐบาล ไม่รับร่างกมธ.ร่วม เรียกร้องนายกฯแสดงความรับผิดชอบขัดปฏิรูปศึกษา “ทักษิณ” ส่งหนังสือหารือสภาด่วน ดันดันเออร์ลี่ รีไทร์เข้าครม.สัญจร 29 พ.ย. 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ่ายวันที่ 25 พ.ย.สำนักราชเลขาธิการได้ส่งหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดเกล้าฯลงพระปรมาภิไธย ในร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยพบว่ามีข้อบกพร่อง 13 จุด และไม่มีความเชื่อมโยงในมาตราต่างๆ ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือด่วนถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้บรรจุเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นการด่วน 

นายสนั่น สุธากุล กรรมาธิการวิสามัญร่วมร่างพรบ.ดังกล่าว จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถือเป็นข้อผิดพลาดของรัฐบาลชุดนี้ และเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของรัฐบาล เพราะไม่เคยเกิดกรณีเช่นนี้มาก่อน ดังนั้นรัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ เพราะถือว่าขัดกับการปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่เล่นการเมืองหรือถือดีว่าตัวเองเก่ง ในขณะที่นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการเองก็เป็นกรรมาธิการร่วมอยู่ด้วย เหตุใดจึงไม่ทักท้วง 

“รัฐบาลพยายามใช้เสียงข้างมากในการรับร่างของตนเอง แทนที่จะรับร่างที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่วมกัน เพราะร่างที่สภารับรองถือเป็นร่างที่พิกลพิการ ไม่มีความสมบูรณ์ เพราะไม่มีแนบท้ายบัญชีเงินเดือนครู” นายสนั่น กล่าว 

นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ในวันที่ 26 พ.ย.คณะกรรมการประสานงาน(วิป)พรรคร่วมรัฐบาลจะหารือกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 94 ได้ให้อำนาจสองสภา นำไปปรึกษาหารือกันเพื่อยืนยันตามร่างเดิม โดยใช้เสียง3ใน4 จากนั้นนายกฯสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯอีกครั้ง หากยังไม่ทรงพระปรมาภิไธยอีก นายกฯสามารถประกาศใช้ในราชกิจานุเบกษาได้ทันที 

นายสุรนันทน์ เวชาชีวะ โฆษกพรรคไทยรักไทย กล่าวยืนยันว่า เป็นความบกพร่องทางเทคนิคในเนื้อหาของกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการให้เร็วที่สุด และขอร้องอย่านำไปเป็นประเด็นทางการเมือง ถ้าจะให้รับผิดชอบก็ต้องรับผิดชอบกันทั้งหมด ทั้งสภาและวุฒิสภา อย่าเหวี่ยงแหว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่เป็นเช่นนี้ และรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะปฏิรูปทางการศึกษา 

ส่วนนายอดิศร เพียงเกษ รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า เท่าที่มีการหารือกันในที่ประชุมครม. พรรคไทยรักไทยจะไม่ยืนยันกฎหมายฉบับดังกล่าว แต่จะให้กฎหมายตกไป และให้กระทรวงศึกษาธิการเสนอกฎหมายเข้ามาใหม่ เนื่องจากเราถือว่าเป็นพระราชอำนาจสูงสุดไม่ควรท้วงติง แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้บอกว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิด แต่ยอมรับว่า ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลตรวจสอบกฎหมายไม่ละเอียด 

ขณะที่นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาฯได้เตรียมความพร้อมไว้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะได้รับพระราชทานลงมาเมื่อใด ก็ได้เตรียมกฎก.ค.ศ.ไว้ จำนวน22 ฉบับ เพื่อให้มีการประชุมก.ค.เนื่องจากกฎ ก.ค.ศ.จะไม่หมือนกับกฏกระทรวงทั่วไปกฎก.ค.ศ.จะต้องมีการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูให้มีมติเห็นชอบและตั้งอ.ก.ค.ศ.175 แห่ง 

“ได้เตรียมพร้อมที่จะไม่ปล่อยให้การบริหารงานในเขตพื้นที่หยุดชะงัก และได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ศธ.ว่าเป็นขั้นตอนของสภาที่สุดวิสัยผิดพลาดทางธุรการ ซึ่งแก้ไขได้ไม่ยากโดยจะนำพ.ร.บ.ข้าราชการครู พ.ศ.2523 มาใช้ในการออกกฎ ก.ค.ว่าด้วยการกำหนดตำแหน่งผอ.เขตพื้นที่รองผอ.เขตพื้นที่ฯ และหัวหน้ากลุ่มงานต่างๆ ให้สามารถดำรงตำแหน่งและทำงานได้รวมทั้งจะมีการออกกฎ ก.ค.ว่าด้วยอ.ก.ค.วิสามัญ เพื่อการบริหารงานบุคคลในเขตพื้นที่และกรอบอัตรากำลังและอื่นๆ ที่ตามมาเพื่อให้ครม.เห็นชอบ” นางสิริกร กล่าว 

จากกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีนโยบายลดจำนวนข้าราชการในปี 2547 ลงจำนวน 47,000 คน ตามโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ (Early retire) นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ล่าสุดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงสนับสนุนโครงการดังกล่าว แต่ต้องอยู่ในหลักการเล็กประหยัด มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่อยู่บนหลักที่นายกฯไปดูถูกข้าราชการที่ระบุว่าต้องการให้ข้าราชการเช้าชามเย็นชามเข้าร่วมโครงการ เพราะแค่เริ่มต้นก็ผิดแล้ว นอกจากนี้ยังเห็นว่านายกฯมีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ เช่น ต้องการลดจำนวนข้าราชการ แต่ต้องการเพิ่มเข้ามาใหม่หรือไม่ รัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดเจน เพราะในสมัยรัฐบาลที่แล้วก็เคยทำโครงการนี้ แต่มาถึงรัฐบาลนี้กลับเพิ่มหน่วยราชการขึ้นตามโครงสร้างการปฏิรูประบบราชการ จึงไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรกันแน่ 

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมครม.ถึงโครงการลดจำนวนข้าราชการ ว่าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)จะเสนอครม.ได้ในวันอังคารที่ 2 พ.ย.โดยจะแบ่งคนเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่หากมีทางเลือกที่ดีออกไปสู่สังคมก็จะเป็นประโยชน์ โดยมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรืออายุราชการ 25 ปีขึ้นไป เพราะอายุราชการ 25 ปี ขึ้นไปจะมีบำนาญ ซึ่งจะเลือกได้ว่า จะขอรับบำนาญ หรือบำเหน็จแทนค่าตอบแทนจูงใจให้ออกก่อนเวลา 2.กลุ่มทั่วๆ ไป และ3.กลุ่มที่มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน โดยกลุ่มนี้หากไม่ต้องการออก และมั่นใจว่าปรับปรุงตัวได้ ก็จะส่งไปฝึกอบรมในศูนย์เปลี่ยนถ่ายของก.พ. เมื่อฝึกแล้วยังไม่ดี ก็จะถูกให้ออกตามกฎก.พ.โดยไม่ได้รับเงินจูงใจให้ออก 

ส่วนที่มีการเกรงกันว่า จะเกิดปัญหาทำให้เสียคนที่ประสิทธิภาพออกจากภาครัฐหรือไม่นั้น พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ว่าคนดีๆ เก่งๆ เราก็จะไม่ให้ออก ออกไม่ได้เพราะเป็นความเห็นพ้องต้องการทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อครั้งที่แล้วทำแบบหยาบๆ คือทำประเภทบอกว่าให้ยื่นมาเลยว่าใครอยากออกก็ออก ก็ออกไป 2 ประเภท คือ พวกไม่มีทางไป และพวกเป็นหนี้ แต่ครั้งนี้คนละเรื่องกับคราวที่แล้ว รวมทั้งเอาออกในช่วงที่ยาเสพติดตกต่ำเพราะอันนี้มีปัญหา วันนี้ถ้าบริหารระบบราชการดีๆ จัดโครงสร้างให้ดีอย่างนี้ก็เชื่อว่าถ้าคนออกจากระบบโดยเฉลี่ย 10%ของกลุ่มเป้าหมายก็ไม่เป็นปัญหา 

“อย่างครูบางคนที่สอนไม่เก่ง สอนไม่ดี ไม่ค่อยมีความพยายามปรับปรุง ตัวเอง แล้วมาบอกว่าขาดแคลนครู เราจะคิดตรงนั้นไม่ได้ เพราะเราได้ถ่ายคน ครูบางคนออกไปครูคนใหม่ก็รับเข้ามา เป็นการถ่ายเทคน” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวและว่า สำหรับงบประมาณก็จะใช้งบฯกลางปี 2547 ที่จะตั้งขึ้นมาในเดือนก.พ.ประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท ทำทีเดียวเลยรวดเดียวเลย มีผลวันที่ 1 เม.ย.ในส่วนของรัฐวิสาหกิจนั้น เขาไปจัดการเองได้ แต่ละหน่วยงานจะมีวิธีของเขา 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ให้เลื่อนวาระเรื่องการลดจำนวนข้าราชการประมาณ 47,000 อัตราเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.) ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ในวันเสาร์ที่ 29 พ.ย.นี้ จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันอังคารที่2 ธ.ค. และชี้แจงด้วยว่าการปรับลดข้าราชการครั้งนี้ เป็นไปตามการปฏิรูประบบราชการ 

นายอดิศัย โพธารามิก รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนครู หากครูมองเห็นทางไปอื่นที่ดีกว่าก็น่าจะเปิดโอกาสให้ แต่ก็อาจจะต้องคุยกับครูที่อยากให้อยู่ต่อด้วย ดังนั้นจะต้องมีการเปิดช่องให้ทุกคนสามารถเดินได้ด้วยตัวเองและมีทางไป 

ส่วนนายวิวรรณธนไชย ณ กาฬสินธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานกลุ่มส.ว. และส.ส.วิชาชีพครู กล่าวถึงตัวเลขข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการสมัครใจเข้าร่วมโครงการลดจำนวนข้าราชการที่ผ่านมามากที่สุดจำนวน 37,158 ราย คิดเป็นร้อยละ 51.8 ว่าสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ จึงอยากฝากให้รมว.ศึกษาธิการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มาก พร้อมกับเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องการบริหารงานบุคคล อาทิ การแต่งตั้งโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งที่เป็นธรรม ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นเรื้อรังมานานแล้ว จำเป็นต้องผ่าตัดกันครั้งใหญ่ 

วันเดียวกันครม.มีมติให้วันหยุดราชการ ในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ที่จะถึงนี้ มีกำหนด 4วัน ตรงกับวันที่ 1-4 ม.ค. 2547 ซึ่งต่างจากที่ผ่านมาวันที่ 31 ธ.ค.ของทุกปีจะเป็นวันหยุดด้วยนั้น 

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาในช่วงของการประชุมเอเปกก็มีวันหยุดเยอะแล้ว เดี๋ยวจะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้หากวันศุกร์ที่ 2 ม.ค.47 ไม่กำหนดให้หยุดราชการก็จะมีคนหยุดอยู่แล้ว ถ้าปิดวันที่ 2 ธ.ค.ด้วยเพื่อให้คนเที่ยวโดยใช่เหตุ และอีกส่วนคือวันที่ 31 ธ.ค.47 ธนาคารพาณิชย์ก็เปิดทำการ เมื่อถามว่าคิดว่าข้าราชการจะเข้าใจหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ไม่เป็นไร ถ้าไม่เข้าใจจะเปิดวันที่ 2 ให้เอาไหม” 







ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: สยามรัฐ ฉบับที่ 18475 [หน้าที่ 1 ] ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง