|
|
ผมยังค้างคาใจอยู่กับปัญหาระบบการศึกษาในบ้านเราที่อธิบายในส่วนของปัญหาภายในกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ที่ครอบคลุมทั้งประเด็นโครงสร้าง ระบบ หลักสูตร การเรียนการสอน รวมทั้งผู้บริหารและครู แต่จริงๆ แล้ว ปัญหาของการศึกษาในบ้านเราเป็นปัญหาองค์รวมที่สังคมไทยจะต้องมีส่วนในการแก้ไขปัญหา ความเจริญก้าวหน้าของสังคมวัดได้จาก “ไคน” ที่อยู่ในสังคมนั้นว่ามี “วิถีชีวิต-การดำเนินชีวิต” อย่างไร แน่นอนประวัติศาสตร์และอารยธรรมนั้นเป้นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดเพราะนั่นคือรากฐานของวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีผลกระทบอย่างมากต่อ “ค่านิยม-ความเชื่อ” ตลอดจน “ความศรัทธา” ที่รู้จักว่า “ความดี-ความชั่ว” แบ่งแยก ณ จุดใด ต่อจากนั้นจึงมีผลกระทบต่อ “พฤติกรรม” ของคนในสังคมในการประพฤติปฏิบัติตน ตลอดจนการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพต่างๆ เพราะฉะนั้น “คน” และ “ความเป็นคน” จึงเป็นทรัพยากรสำคัญที่สามารถชี้วัด “คุณภาพ” ของสังคมนั้นๆ ได้ นานาอารยประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ มักจะมีประชากรที่มี “การศึกษา” ที่ดี ซึ่งไม่จำเป็นว่าประชาชนในสังคมนั้นๆ ต้องมีระดับการศึกษาที่ “สูง” ยกตัวอย่างประชาชนชาวอเมริกันจำนวนมากที่สำเร็จการศึกษาเพียงแค่ระดับมัธยมศึกษา (HIGH SCHOOL) หรือไม่ก็จบเพียงแค่ระดับอนุปริญญา หรือระดับโรงเรียนเทคนิค เพื่อมี “ความรู้และทักษะ” ในการประกอบอาชีพเท่านั้น ถามว่าประชาชนจำนวนมากเหล่านั้น “ด้อยคุณภาพ” หรือ ก็ต้องตอบว่า “ไม่ใช่!” ว่าไปแล้ว ประชาชนอเมิรกันส่วนมากหรือแม้กระทั่งชาวยุโรปส่วนใหญ่มิได้สำเร็จการศึกษาปริญญาทั้งหมด ประชาชนอเมริกันและชาวยุโรปอาจสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี น่าเชื่อว่าไม่เกินครึ่งหรือห้าสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ “คุณภาพ” ของประชาชนโดนส่วนใหญ่คือ หนึ่ง อ่านออกเขียนได้ ระดับ LITERACY ค่อนข้างสูง สอง ระดับภูมิปัญญา หรือ MENTALITY สูง หรือระดับ สติปัญญามีระบบการคิดที่มีหลักตรรกะ (LOGIC) สาม ระดับ “ธรรม” ค่อนข้างสูงที่ยึดมั่นในระบบคุณธรรม ยุติธรรม จริยธรรม เป็นต้น สี่ การเคารพสิทธิเสรีภาพต่อตนเองและผู้อื่นอยู่ในระดับสูง ห้า การเคารพและเกรงกลัวกฎหมายอยู่ในระดับสูง หก ระบบเกียรติศักดิ์ หรือ HONOR-SYSTEM ที่มี “หิริโอตัปปะ” รู้จักละอายและเกรงกลัวต่อ “การโกง-บาป” เจ็ด ระดับ “ความซื่อสัตย์-สุจริต” หรือ HONESTY มีสูง แปด การดำเนินชีวิต “สายกลาง” ที่มุ่งเน้นในความพอดี หรือดำเนินชีวิตตาม “อัตภาพ” ที่เป็นปรัชญาชีวิตของชาวตะวันตก เก้า “ความประหยัดมัธยัสถ์” เป็นสรณะสำคัญของชาวอเมริกันและชาวยุโรปที่ยึดถือโดยส่วนใหญ่ และสิบ “การช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง” รวมทั้งการช่วยเหลือผู้อื่น หรือการมีน้ำใจก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของ “ความมีคุณภาพ” ที่นานาอารยะประเทศที่เจริญแล้ว มักยึดถือปฏิบัติเป้น “สรณะ” ในการดำเนินชีวิต องค์ประกอบ และ/หรือ ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นสภาพสังคมที่เป็น “องค์รวม” ของสภาพแวดล้อมในสังคมที่เป็น “ไข่ขาว” คอยประคบประหงมมิให้ “ไข่แดง” บิดเบือนหรืออกนอกรูปแบบที่สังคมขนาดใหญ่พึงจะเป็น กล่าวอย่างง่ายๆ ก็หมายความว่า ปัจจัยสภาพแวดล้อมต่างๆ ในสังคมเปรียบเสมือน “ไข่ขาว” ที่ล้อมกรอบและเป็นทรัพยากร และ/หรือ แหล่งอาหารสำคัญที่คอยดูแลหล่อเลี้ยงระบบการศึกษา หรือ “ไข่แดง” ให้เจริญเติบโตพัฒนาและฟักเป็นตัวได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นไข่แดงจะไม่บรรลุเป้าหมายได้ถ้าปราศจากไข่ขาวที่สมบูรณ์ เรายอมรับหรือไม่ว่า สภาพแวดล้อมทางสังคมขนาดใหญ่ของเรามีปัจจัยปัญหาเยอะมาก ทั้งๆ ที่เรามีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนาน ในขณะเดียวกันสังคมไทยเป็นสังคมพุทธศาสนา และเป็นสังคมเก่าแก่ซึ่งน่าจะยึดมั่นในหลักการและองค์ประกอบต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้ว่าเป็นสังคมอเมริกันก็ดี สังคมชาวยุโรปก็ดี “ยึดมั่น-ยึดติด” กับองค์ประกอบเหล่านั้นมาก แต่ทำไมสังคมไทยก็เก่าแก่ไม่แพ้กันกลับ “สวนทาง” กับแนวทางต่างๆ เห่ลานั้นเกือบจะสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น “ค่านิยม” ที่ผิดๆ กับ “การบริโภคนิยม” และ “ด้อยเกียรติศักดิ์-ซื่อสัตย์สุจริต” ที่สังคมในภาพรวม “ยกย่องคนโกง-ยกย่องโจร” ทั้งในคราบ “โจรกระจอก” จนเลยไปถึง “โจรเสื้อนอก” เหตุผลสำคัญก็คือสังคมไทยในปัจจุบัน “เห็นเงินเป็นพระเจ้า” โดยไม่คำนึงถึงที่มาที่ไปของ “แหล่งทุน-เงิน” เหล่านั้นมาจากที่ใด ในขณะเดียวกัน การยอมรับความถูกต้อง การเคารพกฎหมาย การเคารพสิทธิเสรีภาพผู้อื่นแทบจะไม่มีเลย นานาสารพัดเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็น “การสร้างภาพ-ภาพลวงตา” แทบทั้งสิ้น การไม่เคารพตนเอง การทุจริต บกพร่องความซื่อสัตย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่รู้จัก “ความพอดี” ซึ่งว่าไปแล้ว สังคมชาวพุทธอย่างไทยเราน่าจะตระหนักมากที่สุดกับ “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ “ทางสายกลาง” ตามหลักคำสั่งสอนของพุทธศาสนา แต่ในทางกลับกันสังคมไทย “ฟุ้งเฟ้อ-ฟอนเฟะ-น้ำเน่า” และที่สำคัญคือ “การเห็นกงจักรเป็นดอกบัว” ถามว่า ก้นบึ้งของจิตใจคนไทยนั้นรู้ซึ้งดีหรือไม่ว่า “อะไรเป็นอะไร!” ก็ต้องตอบว่า “รู้ดี-รู้ทั้งนั้น!” เพียงแต่ว่าสังคมไทยทุกวันนี้เป็น “สังคมเอาตัวรอด-ใครดีใครอยู่-มือใครยาวสาวได้สาวเอา!” ทั้งนั้น หรือจะขอฟันธงแบบตรงไปตรงมาก็คือ “ความเห็นแก่ตัว!” ครอบงำวิถีชีวิตคนไทยมากขึ้น เนื่องด้วยคนไทยนิยม “บริโภค” อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สังคมทุน-สังคมการตลาด” มีอิทธิพลครอบงำเป้าหมายชีวิตมากขึ้น ทั้งนี้เราจะตำหนิคนไทยทั้งมวลคงไม่ได้ เนื่องด้วย “กระแสสังคม” ทั้งหมดพุ่งไปที่ตรงนั้น และถ้าใครยังยึดมั่น “คุณงามความดี” ตามหลักการที่พึงจะเป็นเช่นนั้น ก็จะ “ตกขบวน-เอาตัวไม่รอด” ความจำเป็นที่ต้อง “ฝืนใจ” ตัวเองจึงเกิดขึ้น “ระบบเกียรติศักดิ์” จึงเกิดยากกับสังคมไทย การปฏิรูปการศึกษามิใช่เพียงแค่มุ่งเน้นไปที่กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่โตมโหรทึกอยู่แล้ว เราคงจะต้อง “ปฏิรูป-สังคายนา” สังคมขนาดใหญ่ทั้งหมด เพราะ “การศึกษา” เป็นปรากฏการณ์ที่ต้องอาศัยการพลิกผันจากทุกฝ่าย โดย รศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม |
โดย: งาน: งานนโยบายและแผน อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: สยามรัฐ ฉบับที่ 18475 [หน้าที่ 3 ] ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |