[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

คอลัมน์เห็นมาอย่างไร เขียนไปอย่างนั้น เรื่อง การศึกษา สไตล์ วชิราวุธฯ


เปลี่ยนจาก รมว.พาณิชย์ มาเป็น รมว. ศึกษาธิการ นายอดิศัย โพธารามิก เร่งสปีด เป็นการใหญ่เพื่อให้ การปฏิรูปการศึกษาของไทย สำเร็จลุล่วงไปโดยเร็ว 

และสิ่งหนึ่งที่ นายอดิศัย ได้ให้สัมภาษณ์ ออกมา ในช่วงต้น ๆ ของการรับตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ คือ 

....อยากให้มี การลดชั่วโมงเรียน เพื่อต้องการให้เด็กไทยมีเวลาเหลือสำหรับ กิจกรรมนอกวิชาการ อันจะทำให้เด็กมี ความเป็นคนที่สมบูรณ์ มากขึ้น แต่ยังคงเนื้อหาของการเรียนให้เข้มข้น อยู่เหมือนเดิม ใน สหรัฐอเมริกา และ อังกฤษ เขาให้เด็กของเขาเรียนแค่ครึ่งวันเท่านั้นเอง.... 
นายอดิศัยมองภาพออกเหมือนคนไทยทั้งประเทศขณะนี้ว่า เรายัดเยียดวิชาการให้แก่เด็กมากจนเกินไป มากจนเกินความเหมาะสม การศึกษาเล่าเรียนจึงกลายเป็น “ความทุกข์” สำหรับเด็กมากกว่า “ความสุข” หรือ “ความเพลิดเพลิน” 

ในห้องเรียนก็วิชาการ นอกห้องเรียนก็วิชาการ เดินไปไหนมาไหนเด็กไทยจำนวนไม่น้อย มีลักษณะเหมือน “ตู้หนังสือเคลื่อนที่” ไม่มีปาน ผลคือ เจ้าของโรงเรียนกวดวิชารวย แต่เด็กไทยและผู้ปกครองเด็กใกล้บ้าเข้าไปทุกที 

การให้สัมภาษณ์ช่วงต้นของนายอดิศัยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากคนไทยทั้งประเทศ แม้จะมีนักวิชาการบางคนออกมาติติงอยู่บ้าง แต่ หลาย ๆ คนกล่าวว่า ถ้าทำได้จะเป็นคุณประโยชน์ แก่ประเทศเป็นอย่างมาก 

การศึกษาที่ดีจะต้องก่อให้เกิด การผสมผสานระหว่าง “เรียน” กับ “เล่น” 

“เรียน” หมายถึงเรียนหนังสือและขวน ขวายหาความรู้จากทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน 

ส่วน “เล่น” หมายถึง เล่นกีฬา เล่นดนตรี เพื่อให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และสามารถเข้าสังคมกับผู้คนได้ 

นายอดิศัย จบการศึกษาชั้นมัธยมจาก โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อปีการศึกษา 2500 จึงเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การศึกษาที่จะทำให้นักเรียนได้ครบสมบูรณ์ทุกอย่างทั้งเรียนและเล่นนั้นเป็นอย่างไร 

ที่วชิราวุธวิทยาลัย เช้าเข้าห้องเรียน บ่าย เล่นกีฬาและเล่นดนตรี 

วชิราวุชวิทยาลัยนั้น แต่เดิมมีชื่อว่า “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิด ด้วยทรงตระหนักดีว่า การนำพาให้ชาติพิพัฒนาถาวรได้รากฐานที่สำคัญยิ่ง คือ การศึกษา 

“โรงเรียนมหาดเล็กหลวง” มีพระโอวาทวรกิจเป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก เริ่มการสอนวันแรกเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 มีลักษณะการสอนเหมือน โรงเรียน “อีตัน” และ “แฮร์โรว์” ของประเทศ อังกฤษ เน้นหนักการฝึกคนให้เป็น “สุภาพบุรุษ” 

พระองค์ทรงใส่พระทัยดูแลกิจการและทุกข์ สุขของนักเรียน ประหนึ่งว่า นักเรียนมหาดเล็ก หลวงคือลูกของพระองค์ เคยมีพระราชดำรัสว่า “เจ้าเหล่านี้ข้าถือเหมือนลูกของข้า ส่วนตัวเจ้า เจ้าก็ต้องรู้สึกว่าข้าเป็นพ่อเจ้า ธรรมดาพ่อกับลูก พ่อย่อมอยากให้ลูกดีเสมอ ถ้าลูกประพฤติตัวดีสมใจพ่อ พ่อก็มีใจยินดี ถ้าลูกเหลวไหล ประพฤติแต่ความเสื่อมเสียพ่อก็โทมนัส” 

นอกจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับ โรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งมีระเบียบการและแนวปฏิบัติตรงกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ให้ทั้งสองโรงเรียนพยายามแข่งขันกันในทางสร้างสรรค์ 

ต่อมาเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ และโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้าด้วยกัน พระราชทานนามว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2469 

วชิราวุธวิทยาลัย ยึดมั่นในหลักของการศึกษาที่ว่า “เรียน” และ “เล่น” ต้องไปด้วยกันมาช้านาน โดยเน้นถึง “ความีน้ำใจเป็นนักกีฬา” เป็นสำคัญ 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน พระบรมราโชวาท ในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2475 ความตอนหนึ่งว่า 

....น้ำใจของนักกีฬาเป็นของสำคัญ เราต้องเล่นสำหรับคณะเป็นส่วนรวม แม้ในโรงเรียนเรานี้แบ่ง ออกเป็นคณะต่าง ๆ เมื่อเล่นแข่งขันในระหว่างคณะเราก็ เล่นสำหรับคณะของเรา เพื่อให้คณะของเราชนะ แต่เมื่อโรงเรียนทั้งโรงเรียนไปเล่นเกมกับโรงเรียนอื่น ไม่ว่าคณะใดก็ตามต้องร่วมใจกัน เล่นเพื่อโรงเรียนอย่างเดียว เท่านั้น เวลานั้นต้องลืมว่าเราเคยแบ่งเป็นคณะ ต้องมุ่งเล่นเพื่อโรงเรียนอย่างเดียว สำหรับประเทศชาติ ความข้อนี้เป็นของสำคัญอย่างยิ่งเหมือนกัน เพราะตามธรรมดาย่อมต้องมี คณะการเมือง คณะต่าง ๆ ซึ่งมีความเห็นต่าง ๆ กัน แต่เมื่อถึงคราวที่จะต้องนึกถึงประเทศแล้ว ต่างคณะต่างต้องร่วมใจกันนึกถึงประ โยชน์ของประเทศอย่างเดียวเป็นใหญ่ ต้องลืมความเห็นที่แตกต่างกันทั้งหมด ถึงจะเคยน้อยอกน้อยใจกันมาอย่างไร ต้องลืมหมด ต้องฝังเสียหมด ต้องนึกถึงประโยชน์ของประเทศเท่านั้น จะนึกเห็นแก่ตัวไม่ได้ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ามีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้ และเป็น ของจำเป็นสำหรับการปกครองแบบเดโมคราซี.... 

คำสัมภาษณ์ของนายอดิศัยจึงเป็นคำสัมภาษณ์ ที่ถูก “เรียน” อย่างเดียว มันไม่พอ จะต้องฝึกให้เด็กมีน้ำใจเป็นนักกีฬา และอยู่ร่วมในสังคมเป็นอย่างดีด้วยจึงจะทำให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต จะยากเย็นแสนเข็ญอย่างไร ก็ต้องรีบคิดรีบทำเสียตอนนี้เพื่อให้เกิดการปฏิรูปไปในทางที่ถูกต้องเสียที 

ถ้าเรามีนักการเมืองที่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา บ้านเมืองของเราคงเต็มไปด้วยความสงบมากกว่าที่เป็นอยู่นี้.






ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: เดลินิวส์ ฉบับที่ 19767 [หน้าที่ 4 ] ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง