|
|
ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมให้กับลูกก่อนเข้าอนุบาลโดยการนำลูกไปฝากไว้กับเนอสเซอรี่ สถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนเตรียมอนุบาลที่อยู่ในภาครัฐและเอกชน แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่ว่าสถานศึกษาเหล่านั้นเหมาะสมกับวัยของลูกหรือยัง หรือจะใช้หลักการเลือกโรงเรียนเหล่านั้นอย่างไรให้กับลูก หรือถึงเวลาที่ลูกเราจะเข้าเรียนอนุบาลเมื่อไหร่ นั้นเป็นคำถามที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเป็นกังวลมาก ดังนั้น สถาบันครอบครัวรักลูก สถาบันวิชาการเพื่อคืนความเข้มแข็งสู่ครอบครัวไทย ในเครือบริษัท แปลน พับลิชชิ่ง จำกัด ร่วมกับนิตยสาร Kids & School จัดเสวนาในหัวข้อ เตรียมลูกให้พร้อมก่อนเข้าอนุบาล ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ วิทยากรโดย อ.วรนาท รักสกุลไทย ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาปฐมวัย ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ สมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย และ น.พ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก วิทยาลัยแพทยศาสตร์และวชิรพยาบาล อ.วรนาท รักสกุลไทย กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมให้ลูกก่อนเข้าอนุบาล คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรรีบร้อน หรือเร่งให้ลูกเข้าเรียนก่อนวัย สำหรับอายุของเด็กในการเข้าโรงเรียนอนุบาล ขอแยกเป็น 2 หน่วยงาน คือ หน่วยงานเอกชนเด็กจะเข้าเรียนที่อายุ 3 ปี หน่วยงานรัฐบาลจะเริ่มที่อายุ 5 ปี คุณพ่อคุณแม่จะทราบได้ว่าลูกเราพร้อมที่จะเข้าโรงเรียนได้หรือยัง โดยสังเกตว่าลูกเราพร้อมที่จะแยกจากพ่อแม่ได้หรือไม่ ถ้าจะพูดถึงพัฒนาการ และวัยของเด็กที่สามารถเข้าเรียนอนุบาลได้จะเริ่มที่ 5 ปี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพัฒนาไปได้เร็วหรือช้าอย่างไร เด็กที่มีความพร้อมในการเข้าโรงเรียนอนุบาลนั้น จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความภูมิใจให้กับเด็ก ทำให้ทักษะการเรียนรู้ของเด็กแต่ละด้านไปได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่จะพัฒนาไปควบคู่กัน ถ้าพ่อแม่พูดคุยกับลูกเป็นประจำ สามารถพัฒนาความจำและความรู้ความเข้าใจของเด็กได้ถึง 50% ดังนั้นการพูดคุยกับลูก การเล่านิทานให้ลูกฟัง จะทำให้การพัฒนาทางด้านภาษาของเด็กเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดและภาษาเขียน รวมถึงการเล่นกับลูกด้วย ซึ่งของเล่นที่เหมาะสมกับเด็ก คือ น้ำ ทราย โคลน ดิน นอกจากการเล่นที่เด็กจะได้รับความเพลิดเพลินแล้ว เด็กยังจะได้รับการปลูกฝังในเรื่องของการรักษาความสะอาด เพราะเมื่อเล่นเสร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะต้องสอนให้เขาทำความสะอาดร่างกาย ซึ่งเมื่อถูกฝึกจนเป็นนัยแล้วเมื่อเด็กโตขึ้นเขาก็จะเป็นคนที่มีระเบียบวินัย แต่มีข้อควรระวังในการสอนหรือฝึกให้เด็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบคือ อย่าตั้งใจสอนลูกมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เด็กเครียด เพราะเด็กๆ ในวัยนี้จะเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ ดังนั้นสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เด็กได้เข้าไปสัมผัส เด็กก็จะได้เรียนรู้ร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ด้วย อีกเรื่องคือการเลือกของเล่นที่ไม่เหมาะสมกับวัย แล้วไปบังคับให้ลูกเล่น เด็กก็จะเกิดความเครียดได้เช่นกัน อีกทั้งเด็กต้องการคำชมจากคุณพ่อคุณแม่ควบคู่กันไป ส่วนสิ่งที่อยากจะย้ำกับคุณพ่อคุณแม่คือ เด็กในวัยนี้จะเรียนรู้ผ่านการเล่น ซึ่งการเล่นนั้นจะแบ่งเป็นการเล่นแบบมีโครงสร้าง เช่น การเล่นน้ำ เล่นทราย และการเล่นอย่างมีอิสระ เช่น การปั้นแป้ง การเลือกโรงเรียนอนุบาลให้กับเด็กวัย 3-6 ปีนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตัดสินใจเพียงได้พูดคุยกับผู้บริหารเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ควรจะเยี่ยมชมการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งนั้น ดูงานศิลปะจากกำแพงในห้องเรียน การสอนในโรงเรียนนั้นจะต้องเป็นลักษณะที่ช่วยให้เด็กเริ่มและตัดสินใจด้วยตัวเด็กเอง เพราะสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การคิดชั้นสูงต่อไปด้วย ในเรื่องการเตรียมตัวลูกและเตรียมตัวพ่อแม่ก่อนที่ลูกจะเข้าโรงเรียนที่สำคัญคือ คุณพ่อ คุณแม่จะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องพัฒนาการของลูก เพราะเมื่อเข้าใจพัฒนาการของลูกแล้วคุณพ่อคุณแม่จะไม่คาดหวังอะไรที่สูงเกินกว่าความสามารถของลูก น.พ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กล่าวว่า จากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง การแข่งขันเพิ่มมากขึ้นทำให้การเตรียมตัวจึงต้องเริ่มตั้งแต่เล็กๆ ทำให้เด็กถูกบังคับเข้าโรงเรียนก่อนวัยอันควร การที่เด็กเข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลนั้น ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่คาดหวังว่าเด็กจะได้เรียนวิชาการหนักๆ เพราะจริงๆ แล้วเด็กจะได้เรียนหนังสืออย่างแท้จริงเมื่อขึ้น ป.1 แต่ด้วยสิ่งแวดล้อมที่ถูกบีบบังคับ คุณพ่อคุณแม่ก็อยากที่จะให้ลูกเรียนหนังสือก่อนเข้า ป.1 จะได้เก่งกว่าคนอื่น โรงเรียนก็จะต้องเร่งให้เด็กเรียนก่อนเข้า ป.1 เพื่อที่จะได้สอบเข้าในสถานศึกษาที่ดีๆ ซึ่งผลกระทบทั้งหลายก็จะตกอยู่กับเด็ก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลากับลูกโดยควรเลี้ยงลูกอยู่กับบ้านจะดีที่สุด เพราะธรรมชาติของเด็กแต่ละคนมีจุดอ่อนและพัฒนาการที่ไม่เท่ากัน เด็กแต่ละคนควรจะได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม และเอาใจใส่ในจุดอ่อนเหล่านั้น การนำลูกไปโรงเรียนเตรียมอนุบาล เด็กอาจไม่ได้รับการส่งเสริมในจุดอ่อนของเขา เรื่องอายุของเด็กไม่ใช่เกณฑ์ตัดสินใจของผู้ใหญ่ ในการทำทุกอย่างแม้ว่าอายุจะเป็นสิ่งเดียวที่เรามองเห็นได้ชัดเจนและง่ายที่สุด แต่เราจะต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น ความพร้อมของเด็กที่จะไปโรงเรียน อยากฝากไว้ว่าเมื่อลูกเข้าโรงเรียนแล้วคุณพ่อคุณแม่อยากจะให้ลูกได้อะไร แล้วสิ่งเหล่านี้จะสามารถตอบคำถามที่ว่า จะเลือกโรงเรียนไหนให้กับลูกดี การที่เด็กมีทักษะในการช่วยเหลือตัวเอง มีกระบวนการคิดที่ถูกต้อง เด็กก็สามารถนำสิ่งนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการพัฒนาทักษะของเด็กนั้นเป็นการทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นประจำ ไม่มีทักษะไหนที่ทำครั้งเดียวแล้วเก่งทันที แต่ถ้าทำได้นั่นไม่ได้เรียกว่า ทักษะ แต่จะเรียกว่า เด็กมีความจำดี เมื่อเด็กได้ทำอะไรซ้ำๆ และทำได้บ่อยขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่จะต้องเพิ่มทักษะนั้นให้ยากขึ้นเรื่อยๆ เด็กจะได้เรียนรู้ทักษะที่เป็นลำดับ เป็นขั้นตอน เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้วเขาก็จะมีทักษะในการแก้ไขปัญหาชีวิตของเขาได้ |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม |
โดย: งาน: งานนโยบายและแผน อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: บ้านเมือง ฉบับที่ 14882 [หน้าที่ 13 ] ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |