|
|
นางจรวยพร ธรณินทร์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีนายกรัฐมนตรีกำหนดที่จะแก้ปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ 7 ปัญหา ในส่วนของ ศธ.เกี่ยวข้องอยู่ 2 ปัญหา คือช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการทำงานระหว่างเรียน และแก้ปัญหาหนี้สินให้ครู ข้าราชการมหาวิทยาลัย โดยจะให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ปวช. ปวส. นิสิต นักศึกษา ระดับมหาวิทยาลัย มีโอกาสทำงานระหว่างเรียน ซึ่งกำหนดให้มีการลงทะเบียนแจ้งความจำนงให้หางาน โดยเริ่มวันที่ 6 ธ.ค.นี้ และจะทดลองในจังหวัดนำร่อง 8 จังหวัด อาทิ สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา อุดรธานี ชลบุรี และจังหวัดอื่นๆ อีก 67 จังหวัด กำหนดลงทะเบียนวันที่ 5 ม.ค.47 ซึ่งการลงทะเบียนจะมีกำหนดไปจนถึง 31 มี.ค.47 จากนั้นจะทิ้งช่วงเวลาไว้วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.47 จะวิเคราะห์ทั้งระบบ แล้วเริ่มให้ความช่วยเหลือวันที่ 1 ก.ค.47 นางจรวยพร กล่าวว่า สำหรับแบบฟอร์มที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลนั้น จัดทำโดยกระทรวงมหาดไทย ใช้แบบ สย.1-สย.7 ซึ่ง สย.ทุกแบบยกเว้น สย.4 ให้ไปลงทะเบียนที่ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ และเทศบาล เฉพาะนักเรียนที่ต้องการมีงานทำให้ใช้แบบ สย.4 รายงานตัวที่โรงเรียน แล้วโรงเรียนจะรวบรวมส่งกับอำเภอ และกระทรวงมหาดไทยจะจ้างนักเรียน นักศึกษา ไปจัดเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ด้านกระทรวงแรงงาน ขณะนี้ช่วยจัดหางานได้ 8,000 ตำแหน่ง กำลังจะจัดตลาดนัดแรงงานให้นักศึกษาได้สมัครทำงาน ในส่วนของข้าราชการครู ข้าราชการมหาวิทยาลัยที่มีหนี้สินและต้องการจะให้รัฐจัดระบบแก้ปัญหาโครงสร้างหนี้ก็ให้ไปรายงานที่ว่าการอำเภอกับเทศบาล นางจรวยพร กล่าวอีกว่า ศธ.จะรับลงทะเบียนทั้งหมดแล้วดูลักษณะงานที่ผู้ทำงานมีความประสงค์กับผู้ประกอบการมาเจอกัน นอกจากนี้ขณะนี้ ศธ.ได้ออกแบบฟอร์มนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการหางานทำระหว่างเรียนไว้ในเว็บไซต์ที่ www.moe.go.th และเด็กสามารถกรอกลงไปได้เพราะเราจะเก็บวิเคราะห์ใช้แบบฟอร์มเดียวกันกับ สย.4 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้จ้างนักศึกษาทำงานในหลายลักษณะ เช่น ผู้ช่วยวิจัย ผู้ช่วยการสอน เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยบรรณารักษ์ ทั้งหมดที่เด็กสนใจกันมากคือคีย์ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ เพราะเด็กสมัยใหม่จะมีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ พนักงานบรรจุของบรรจุหีบห่อ และงานการเงินบัญชี ส่งของ และงานโบกปูน ช่างไฟฟ้า ถ้าเป็นเด็กสายอาชีวะ ดังนั้นจะมีหลากหลาย อย่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาก็จะมีงานซ่อมเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นลองทำและมีคนสนใจให้ช่วย เราจะพยายามสร้างค่านิยมให้เด็กได้ทำงานและเห็นคุณค่าของการทำงาน เรากำลังดูแลเด็กทั้งระบบทุกคน ถ้าเด็กบางคนที่ยังมีข้อจำกัดหรือยังมีค่านิยมทำงานที่ได้เงินมากๆ จากขายตรงคิดว่ายังมีส่วนน้อย นางจรวยพร กล่าวถึงระบบขายตรงที่นักศึกษานิยมทำระหว่างเรียนว่า ขึ้นกับตัวเด็กและผู้ปกครอง เมื่อเด็กอายุมากขึ้นก็จะพยายามดิ้นรน เหมือนในต่างประเทศอายุเกิน 18 ปี ส่วนใหญ่ก็จะทำงานและส่งตัวเองเข้ามหาวิทยาลัย แต่ของเราเรื่องส่งเสริมให้ทำงานยังไม่มาก ก็จะเริ่มต้นตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปว่า นักเรียน นักศึกษาที่ทำงานด้วยเป็นค่านิยมที่ดี และงานต้องเหมาะสมและมีศักดิ์ศรี ส่วนเด็กที่ทำงานเองอยู่แล้วโดยไม่มารายงานกับ ศธ.ก็เป็นสิทธิเสรีภาพทำได้ เพียงแต่ ศธ.จะจัดระบบที่ดีและให้สถานศึกษาจัดระบบหางานทำให้ด้วย |
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม |
โดย: งาน: งานนโยบายและแผน อ้างอิงแผนงาน : - อ้างอิงโครงการ : - แหล่งที่มา: บ้านเมือง ฉบับที่ 14883 [หน้าที่ 13 ] ประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 |
Vote | |
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อฉัน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |
มีประโยชน์ต่อทุกคน | ☆ ☆ ☆ ☆ ☆ |