[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ฉีกพรบ.ครูตบหน้าตัวเองเพื่อไถ่บาปทักษิณตะแบงผิด13จุดสว.รุมจวกยับดันทุรังจี้สำนึก''สิริกร''ลาออก


ฝ่ายค้าน-ส.ว. เปิดเวทีสภารุมถล่มรัฐบาล ทูลเกล้าฯ พ.ร.บ.ครูที่มีปัญหาถึง 13 จุด จวกดื้อรั้นใช้เสียงข้างมากดันทุรังเสนอกฎหมายที่มีปัญหา ด่าเช็ด ยึดหลักกู-มากกว่าหลักการ ระบุเป็นความผิดฉกาจฉกรรจ์ ต้องรับผิดชอบ สถานเดียว รุมจี้สำนึก สิริกร แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง อย่าโยนบาปให้ข้าราชการพิมพ์คำผิด ขณะที่ ทักษิณ ตะแบงรัฐบาลแค่บุรุษไปรณีย์ โยนบาปให้รัฐสภารับผิดชอบ อ้างเป็นความบกพร่องโดยสุจริต ผิดแค่ 13 คำเท่านั้น ไม่ใช่สาระสำคัญ ยันสมัยประชุมหน้าเสนอใหม่ไม่มีบัญชีเงินเดือนแนบท้าย ก่อนที่รัฐบาลยอมอัตวินิบากกรรมคว่ำร่างกฎหมายตัวเอง

ฝ่ายค้าน จี้รัฐรับผิดชอบ พ.ร.บ.ครู
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 26 พ.ย.46 มีการประชุมร่วมกัน 2 สภา โดยได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ทรงพระราชทานกลับคืนมาที่รัฐสภา โดยที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ควรยืนยันร่างดังกล่าว เพราะมีข้อบกพร่องหลายประเด็น และต้องการให้รัฐบาลถือเป็นบทเรียนนำมาปรับปรุงการทำงาน และให้ความสำคัญกับฝ่ายนิติบัญญัติมากขึ้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียว เพราะมีข้อบกพร่องหลายจุด และเป็นเรื่องที่ ส.ส. รัฐบาลและวิปรัฐบาล โดยเสียงข้างมากของสภาฯ ลงมติคว่ำร่างคณะกรรมาธิการร่วม เนื่องจากรัฐบาลมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการมีบัญชีเงินเดือนแนบท้าย จึงมุ่งมั่นที่จะให้ตัดออก ทำให้เกิดข้อบกพร่องขึ้น และ ส.ส.รัฐบาลได้เสนอญัตติให้ที่ประชุมสภาฯ ยืนยันกฎหมายของสภาฯ ซึ่งเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี แต่ฝ่ายค้านได้ขอให้ที่ประชุมยืนยันร่างของคณะกรรมาธิการร่วม ซึ่งในที่สุดเสียงส่วนใหญ่ยืนยันตามร่างของสภาฯ
รัฐแจงไม่แนบบัญชีเงินเดือนแนบท้าย

รัฐบาลจะโทษฝ่ายอื่นไม่ได้ เพราะในที่ประชุมสภาฯ ผมเคยเรียกร้องให้นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการร่วมกัน ให้รับร่างของคณะกรรมาธิการร่วมกัน แต่ไม่รับ โดยบอกว่ารัฐบาลได้เตรียมแก้ไขข้อบกพร่องไว้แล้ว จึงหวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ รัฐบาลจะสำนึกในความละเอียดอ่อนของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะลำพังเสียงข้างมากจะดึงดันผลักดันทุกอย่างไม่ได้ และอยากสะท้อนให้ประธานกรรมาธิการของสภาฯ รับทราบว่า ผลงานของสภาฯ ไม่ได้อยู่ที่ความรวดเร็ว หรือจำนวนกฎหมายที่ออกไป เพราะความผิดพลาดจะส่งผลถึงคุณและโทษได้ และกระบวนการนิติบัญญัติจะต้องอาศัยเหตุผลความละเอียดอ่อน นายอภิสิทธิ์ กล่าว 

ด้าน นายปกิต พัฒนกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย กล่าวว่า เหตุผลที่สภาไม่สามารถรับร่าง พ.ร.บ.ที่มีบัญชีเงินเดือนครูแนบท้ายได้ เพราะเป็นเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เสนอร่างนี้ให้เป็นกฎหมายการเงิน แต่กลับแนบบัญชีเงินเดือนครูเข้ามา หากสภาให้ความเห็นชอบจะเป็นการบังคับให้รัฐบาลจ่ายเงิน ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเสียงข้างมากของสภาฯ จึงพิจารณาจากรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

ส.ว.จวกรัฐดันทุรังใช้เสียงข้างมาก
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า ทางวุฒิสภาได้แก้ไขข้อผิดพลาดของกฎหมายนี้จาก 12 จุด ให้เหลือ 3 จุดแล้ว แต่เมื่อสภายังยืนยันร่างเดิม ไม่รับร่างของวุฒิสภา ทำให้ข้อผิดพลาดกลับเป็น 13 จุดเหมือนเดิม ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของสภากลั่นกรอง 

นายวัลลภ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดมาก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นบรรยากาศของความไม่เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ซึ่งเมื่อร่าง พ.ร.บ.ผ่านสภาผู้แทนราษฎรก็มาถึงวุฒิสภา เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง เมื่อกลั่นกรองแล้วไม่เอา สภาผู้แทนฯ ก็ไม่เห็นด้วย จึงต้องตั้ง กมธ.ร่วม 2 สภา ปรากฏว่าเสียงข้างมากของกรรมาธิการร่วมฯ เกือบเอกฉันท์ เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา และส่งกลับไป แต่กลายเป็นว่า เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ไม่รับ โดยอ้างว่าผิดหลักการ 

ผมเห็นว่า ผิดหลักกูมากกว่า แล้วรัฐบาลก็ไม่เชื่อ ส่งร่างเดิมของสภาผู้แทนขึ้นทูลเกล้าฯ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ดังนั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบเต็มๆ เพราะวุฒิสภาทำให้เรียบร้อยหมดแล้ว นี่เป็นผลของการไม่เชื่อกัน นายวัลลภ กล่าว

ด้าน นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า ได้ขอเสนอให้ที่ประชุมไม่ยืนยันร่างกฎหมายนี้ เพราะมีข้อบกพร่อง และขอเสนอในเรื่องการประสานงานของ 2 สภา โดยเฉพาะกฎหมายที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ควรจะมีกลไกให้ ส.ว.ชี้แจง อะไรที่รกรุงรังก็สามารถคว่ำได้ อะไรที่เป็นเหตุผลก็น่าจะเอาไว้ 

มือกฎหมายรัฐแจกแจงรายละเอียด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เมื่อสภาผ่านร่างนี้ไปแล้ว ทางเลขาธิการสภาฯ ได้ส่งร่างไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ซึ่งเราพบข้อผิดพลาดหลายจุด และหารือกับหลายฝ่ายเพื่อหาทางแก้ไข ซึ่งมีแนวทางแก้ไขหลายทาง โดยแนวทางแรกคิดกันว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่เนื่องจากมีกรอบของมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญว่า ต้องขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน ดังนั้น ต้องดำเนินการตามเงื่อนเวลา อีกทั้งข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเรื่องสาระที่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช้แนวทางนี้ 

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า อีกแนวทางคือส่งกลับมาที่สภาฯ เพื่อแก้ไข แต่เกรงว่าจะมีการแก้ไขในประเด็นอื่นที่ไม่ได้เป็นข้อผิดพลาด จะทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นมาอีก และไม่มีข้อบังคับกำหนดไว้ ในเรื่องการส่งกลับมาให้สภาฯ แก้ไขก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ด้วย จึงไม่ใช้แนวทางนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างนี้ในอดีตเคยเกิดมาแล้ว ทั้งๆ ที่กฎหมายให้ถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว และได้ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ทรงเสนอแนะบางประเด็นมา เมื่อนำกลับมารัฐบาลก็ได้เสนอร่างแก้ไขทันที ในที่สุดรัฐบาลเลือกที่จะส่งขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะเห็นว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด หากไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยก็สามารถนำมาแก้ไขได้ 

รัฐเสียหน้ายอมคว่ำร่างกฎหมายตัวเอง
ที่ผ่านมานายกฯ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องกฎหมายมาก โดยได้มอบให้นายโภคิน พลกุล รองนายกรัฐมนตรี มารับผิดชอบดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งตลอดเวลาในการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกฯ พูดเสมอว่าลำพังกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งสำคัญสุดยอด จะต้องพิจารณาเรื่องอื่นควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้กรณีที่เกิดขึ้นหากสภาฯ ไม่ยืนยัน และร่างต้องตกไป รัฐบาลได้เตรียมเสนอฉบับใหม่ ที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น ต่อรัฐสภาในสมัยหน้า แต่ในระหว่างนี้รัฐบาลได้เตรียมเยียวยาความเสียหาย โดยทางบริหารในการออกกฎข้าราชการครู กฎข้าราชการพลเรือน เพื่อแก้ปัญหาไปพลาง ก่อนที่กระบวนการทางนิติบัญญัติจะมีความสมบูรณ์ นายวิษณุ กล่าว

จากนั้น สมาชิกรัฐสภาทั้งฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายตำหนิรัฐบาลว่าเคยชินกับการใช้เสียงข้างมาก โดยไม่ฟังเสียงท้วงติง ในการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ ในที่สุดที่ประชุมมีมติไม่ยืนยันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 383 เสียง ส่งผลให้ร่างฉบับนี้ตกไป

พระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม
พร้อมกันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ.2546 ในวันที่ 1 สิงหาคม 2546 บัดนี้จะสิ้นกำหนดสมัยประชุมในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 สมควรจะปิดประชุมได้แล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 161 มาตรา 164 และมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ.2546 ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นายกฯ ตะแบงแค่หน้าที่บุรุษไปรษณีย์
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความจริงรัฐบาลเปรียบเหมือนเป็นบุรุษไปรษณีย์ เพราะสภาฯ เป็นผู้ส่งร่าง พ.ร.บ.มา เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีการตรวจสอบ และพบว่ามีข้อความที่ผิด จึงได้ส่งเรื่องไปยังสำนักราชเลขาธิการ ทางสำนักราชเลขาธิการ จึงทำหนังสือตอบกลับมาว่า เมื่อเป็นข้อความที่ผิด ก็ขอส่งกลับมา เพราะไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อส่งกลับมา รัฐบาลจึงส่งเรื่องกลับมายังสภา ซึ่งสภาจะมีการพิจารณาในวันที่ 26 พ.ย. 

ความจริงเป็นเรื่องที่มีคำผิดอยู่ 13 จุด ซึ่งมาจากสภาฯ และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นว่าผิด จึงแจ้งไปยังสำนักพระราชวัง ซึ่งคงต้องมานับหนึ่งใหม่ แต่ไม่เป็นไร เพราะความจริงไม่มีอะไรมากแล้ว หลักการทุกอย่างผ่านหมด เหลือเพียงความผิดพลาดทางเทคนิค ซึ่งไม่มีปัญหา นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางฝ่ายค้านวิจารณ์ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลใช้เสียงข้างมากดันทุรังที่จะผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยไม่มีบัญชีเงินเดือนแนบท้าย นายกฯ กล่าวว่า ถ้าฝ่ายค้านเป็นรัฐบาลคงไม่พูดเช่นนี้ แต่เป็นฝ่ายค้านจึงกล้าพูด ถ้าฝ่ายค้านเป็นรัฐบาลจะรู้ว่าอยู่ๆ จะให้ไปทำบัญชีแนบท้าย และเป็นงบประมาณที่ต้องรับผิดชอบจำนวนมาก โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นปัญหาต่อระบบการคลังของประเทศ และระบบการทำงานร่วมกันของข้าราชการทั้งหมด 

ยืนยัน กม.ไม่ต้องมีบัญชีแนบท้าย
ความจริงรัฐบาลทำเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ทำในรูปแบบเพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบการคลัง และระบบการทำงานร่วมกันของข้าราชการ รัฐบาลจึงนำมาทำเอง รัฐบาลไม่ได้ดื้อ ที่ฝ่ายค้านพูดเพราะเป็นฝ่ายค้าน จึงออกมาพูด นายกฯ กล่าว

ต่อข้อถามว่า เมื่อนำร่าง พ.ร.บ.มาพิจารณาใหม่จะนำบัญชีเงินเดือนแนบท้ายหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า บัญชีแนบท้ายไม่ได้อยู่ในกฎหมาย สามารถออกเป็นกฤษฎีกาได้ ถ้าทุกอย่างไปอยู่ใน พ.ร.บ.ทั้งหมด เวลาจะแก้ไขก็เป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นอะไรที่ควรเป็นกฎหมายหลัก ต้องอยู่ใน พ.ร.บ. แต่สิ่งไหนที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สามารถใช้กฤษฎีกาได้ เมื่อถามว่าขั้นตอนต่อไปจะต้องให้สภาฯ ยืนยันในหลักการเดิมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อผิดอย่างนี้ก็ต้องขอให้สภาฯ ลงมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ตกไป จากนั้นจะนำร่าง พ.ร.บ.เสนอกลับเข้าสภาฯ อีกครั้ง ในการเปิดประชุมสภาสมัยหน้าซึ่งไม่มีปัญหา เพราะหลักการเสร็จสิ้นหมดแล้ว

ยันไม่กระทบการปฏิรูปการศึกษา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อโครงสร้างการปฏิรูปการศึกษาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาแน่นอน ความจริงการทำงานหลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมาย เพียงแต่บ้านเรา ออกกฎหมายตลอด ความจริงหลักการบริหาร อำนาจการบริหาร มีอยู่แล้ว สามารถบริหารจัดการโดยไม่ต้องใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับเก่ายังมีอยู่ เมื่อใช้หลักการบริหารควบกันไปก็ทำงานได้ 

สำหรับตำแหน่งต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมาใหม่ สามารถทำงานได้ หลังจากการประชุมร่วม 2 สภา พิจารณามีมติให้ร่าง พ.ร.บ.ตกลงไป ทุกอย่างก็จบ ก็สามารถเสนอเป็นกฎหมายฉบับใหม่เข้าไปได้ และแก้ในจุดที่ผิด 13 ที่ให้ถูกต้อง สามารถพิจารณารวดเดียวได้จบ นายกฯ กล่าว

ส่วนจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้กับกฎหมายสำคัญฉบับอื่นอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อะไรที่เป็นความผิดพลาด ต้องนำมาเป็นบทเรียนว่าต้องแก้ไขอย่างไร ปัญหาของกฎหมายฉบับนี้คือการยื้อกันไปมา เนื่องมาจากบัญชีเงินเดือนของข้าราชการครู ซึ่งทางรัฐบาลรับเรื่องดังกล่าวไม่ได้ เพราะจะเป็นปัญหาต่อการคลัง และความลักลั่นของระบบราชการทั้งหมด จึงต้องเอาออกไป ทำให้มีการแก้ไขเนื้อความ ทำให้ออกมาแล้วมีความขัดแย้ง 

ถือเป็นเรื่องทางเทคนิค ซึ่งไม่สามารถแก้ไขเองได้ รู้ทั้งรู้ว่าผิด จริงๆ สามารถแก้ไขได้ แต่หลักของกฎหมายแก้ไขไม่ได้ ขั้นตอนการพิจารณากฎหมายจะต้องตีกลับไป บางทีดูเหมือนง่าย แต่ก็ยาก และเสียเวลา เพราะมีกติกาคุมเทคนิคอยู่ และการออกกฤษฎีกาไม่มีปัญหาอะไร ผมสามารถออกกฤษฎีกาปรับโครงสร้างอะไรก็ได้ เพราะมีรัฐธรรมนูญรองรับอยู่ ไม่มีปัญหา นายกฯ กล่าว 

ครูอดิศัย โยนความผิดรัฐสภา
ขณะที่นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าเมื่อร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ตกไปแล้วจะเริ่มกระบวนการใหม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทราบอยู่แล้ว เพราะเห็นว่ามีความบกพร่องในการพิมพ์และภาษา แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักใหญ่ แต่ก็เห็นด้วยว่าจะต้องนำกลับมาทำใหม่ เพราะเมื่อเป็นกฎหมายแล้วทุกอย่างต้องชัดเจน จริงๆ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ฉบับใหม่ เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อมีการปรับปรุงร่างกันใหม่ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่คงต้องใช้เวลาบ้าง 

นายอดิศัย กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความบกพร่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของรัฐสภามากกว่า เพราะเลยขั้นตอนของรัฐบาลไปแล้ว ได้ส่งเข้าสภาฯ และมีคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา และมีการโต้เถียงกันกลับไปกลับมากันหลายครั้ง พอส่งขึ้นทูลเกล้าฯ ก็มีความบกพร่อง เพราะอาจมีการตรวจเอกสารไม่ชัดเจน

คงต้องปล่อยให้ร่างนี้ตกไปแล้วเริ่มใหม่ คิดว่าไม่ล่าช้าอะไรกันมาก งานที่ทำกันอยู่ก็ดำเนินการไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู พ.ศ.2523 หลังจากมาเริ่มต้นทำใหม่ ผมจะรับผิดชอบมาดูเองทั้งหมดและจะให้ดูรายละเอียดให้มากขึ้น ไม่ใช่ดูเฉพาะเรื่อง จะดูให้เห็นภาพ และชี้แจงให้รัฐสภาเข้าใจ โดยทำเป็นตารางเวลาให้รู้ว่าจะเสร็จเมื่อใด นายอดิศัย กล่าว

จี้ สิริกร รับผิดลาออกจากตำแหน่ง
ทางด้านนายวิจิตร ศรีสอ้าน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบ หลังจากสำนักราชเลขาธิการส่งร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คืนกลับมา เนื่องจากผู้รับผิดชอบของรัฐบาลรับทราบว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีข้อบกพร่อง จนต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณา 

แต่เมื่อเสนอเข้าสภาฯ รัฐบาลกลับไม่เห็นด้วยกับร่างของคณะกรรมาธิการร่วม ทำให้ร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการร่วมตกไป แต่เหตุใดรัฐบาลถึงเลือกร่าง พ.ร.บ.ฉบับของสภาฯ ขึ้นมายืนยันอีกครั้ง ทั้งที่รู้ว่ามีการท้วงติงว่ามีข้อบกพร่อง แต่รัฐบาลไม่ฟัง ดังนั้นรัฐบาลจะไม่รับผิดชอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยอย่างน้อยที่สุด นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการร่วม ต้องแสดงความรับผิดชอบ หากผมเป็นผู้รับผิดชอบก็จะลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบ นายวิจิตร กล่าว 

แฉความผิดฉกาจฉกรรจ์
นายวิจิตร กล่าวต่อว่า ข้ออ้างเรื่องการแนบร่างบัญชีเงินเดือนครูเข้ามาในร่าง พ.ร.บ. นี้เป็นการขัดรัฐธรรมนูญนั้นถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะแม้รัฐบาลไม่ได้เสนอร่างนี้ให้เป็นกฎหมายการเงิน แต่ตนได้เสนอบัญชีเงินเดือนครูแนบท้ายไปด้วย ซึ่งได้รอให้นายกฯ เซ็นรับรองเป็นกฎหมายการเงินถึง 1 ปี แต่เมื่อรัฐบาลพร้อมที่จะเสนอร่างดังกล่าว จึงได้เซ็นรับรองลงมา และในการพิจารณาของสภาฯ ได้รับหลักการทั้งหมด 5 ฉบับ คือร่างของรัฐบาล และของ ส.ส. และในการพิจารณา นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในสมัยนั้น ได้ยืนยันว่า สามารถหยิบบัญชีเงินเดือนครูขึ้นมาพิจารณาได้ 

เรื่องนี้ผมขอท้าให้ถอดเทปบันทึกการประชุมได้ อีกทั้งนายกฯ ได้ยืนยันเป็นการส่วนตัวกับผม ดังนั้น หลังการพิจารณาครั้งนี้ ควรให้เวลาทุกฝ่ายศึกษาในปัญหา เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นความผิดอย่างฉกาจฉกรรจ์ มีจุดบกพร่อง 40-50 แห่ง ทั้งในสาระสำคัญ และถ้อยคำ จึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดต้องหยิบยกร่างนี้ขึ้นมา ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีปัญหา เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ นายวิจิตร กล่าว 

บัญญัติ จวกซ้ำความผิดประวัติศาสตร์ 
ขณะที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ ที่มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น นับตั้งแต่ตนอยู่ในสภาแห่งนี้ ดังนั้นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากต้องรับผิดชอบ เพราะเสียงข้างน้อย คือฝ่ายค้านได้ทักท้วงแล้วว่า หากจะนำเอา พ.ร.บ.ฉบับของสภาฯ ขึ้นมายืนยัน มีข้อบกพร่อง แต่เสียงข้างมากไม่รับฟัง และฝ่ายค้านได้เสนอความเห็นว่า ร่างไม่น่าจะมีปัญหา คือร่างที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา แต่บังเอิญว่าฉบับที่คณะกรรมาธิการร่วมฯ พิจารณา มีบัญชีเงินเดือนต่อท้าย ซึ่งรัฐบาลไม่เห็นด้วย เพราะต้องการทำบัญชีเงินเดือนขึ้นมาใหม่ 

ผลที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้การใช้กฎหมายล่าช้าแน่นอน และที่น่าเห็นใจคือครูหรือบุคลากรทางการศึกษา จะได้มีโอกาสปรับเงินเดือน ทั้งๆ ที่ฝ่ายอื่นปรับไปแล้ว ตรงนี้มีส่วนให้ล่าช้าเกิดขึ้น แต่จะโทษใครไม่ได้ ต้องโทษรัฐบาล ถ้าเห็นตามฝ่ายค้านเสนอ คือรับร่างกรรมาธิการทั้ง 2 สภา ปัญหาที่จะพระราชทานคืนกลับมาก็ไม่น่าจะมี และบัญชีเงินเดือนก็จะผ่านไปด้วยความเรียบร้อย นายบัญญัติ กล่าว

จวกรัฐบาลโยนบาปให้ ขรก.
นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียน เวลาที่สภาฯ มีเสียงข้างมากก็อันตราย และน่าจะเป็นบทเรียนที่เตือนสติพอสมควรว่า เสียงข้างน้อยมีความสำคัญเหมือนกัน ถ้าฟังเหตุฟังผลกันบ้าง ก็ไม่เกิดปัญหา ส่วนที่มีการให้ความเห็นในทำนองว่าเป็นความผิดพลาดทางธุรการ หรือพิมพ์เลขผิดนั้นอย่าไปโยนบาปให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะจริงๆ แล้วข้อบกพร่องได้มีการพูดกันในสภาฯ ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ไม่รับฟังเท่านั้นเอง

ผลที่จะตามมา เป็นเรื่องอลเวงแน่นอน และเห็นว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นในการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลชุดนี้มีมาตลอด เช่นจะต้องออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา 23 ฉบับ แต่พอพิจารณาเข้าจริงๆ ยังผ่านไปได้ไม่กี่ฉบับ นายบัญญัติ กล่าว

ชินวรณ์ แนะทำประชาพิจารณ์
นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะคณะทำงานด้านการศึกษา พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ โดยการประมวลข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น และชี้แจงให้ข้าราชการครูได้รับทราบ ว่าเหตุใดจึงเกิดความขัดข้องของกฎหมายฉบับนี้ และขอเสนอให้ นางสิริกร มณีรินทร์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แสดงความรับผิดชอบ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยต่อสู้หรือแสดงบทบาท เพื่อให้สภาฯ เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม ทั้งที่ตัวเองเป็นประธาน 

นายชินวรณ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลรับจะใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภา ยกร่าง พ.ร.บ.ครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ ทางฝ่ายค้านขอเสนอว่า ให้รัฐบาลนำร่าง พ.ร.บ.ของฝ่ายค้าน ของคณะกรรมาธิการร่วม และของข้าราชการครูมาทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้เกิดร่าง พ.ร.บ.ที่สมบูรณ์ จะได้ไม่นำไปสู่ปัญหาเหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของฝ่ายค้านก็จะตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวต้องตกไป และจะทำประชาพิจารณ์เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ครูและบุคลาการทางการศึกษาในนามพรรคต่อไป 

อุทัย อ้างเฉยผิดพลาดทางเทคนิค
ขณะที่นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความผิดพลาดในการอ้างอิงกฎหมาย ที่ไม่ตรงกับบทที่อ้าง เช่น สมมุติให้ไปทานข้าว ตามมาตรา 80 แต่ในมาตรา 80 บอกให้ไปอาบน้ำ ไม่ใช่ทานข้าว แต่ทานข้าวกลับไปอยู่มาตรา 18 ซึ่งเป็นความบกพร่องของทั้งต้นร่างเดิม และร่างของกรรมาธิการร่วม จึงทำให้กฎหมายที่ออกมาใช้ไม่ได้ เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ทรงพระราชทานคืนมา และหลังจากนี้ก็ทำได้ 2 อย่างคือ ยืนยันร่างเดิม โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ ปล่อยให้ตกไปแล้วเสนอร่างขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็ต้องรอสมัยประชุมหน้า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงพิจารณาง่าย เพราะเป็นการชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง ว่าเป็นข้อขัดข้องทางปฏิบัติ ไม่ใช่หลักการ หรือนโยบาย หรือผิดธรรมเนียมประเพณีอะไร 

เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่เป็นพระมหากรุณาที่ทรงดูให้ ซึ่งความผิดพลาดเกิดจาก ผู้ที่ดูแลเรื่องนี้ไม่ได้เอาใจใส่อย่างจริงจัง และทบทวน หรืออาจจะลุกลี้ลุกลนเกินไปหรือไม่ หรือเกิดจากการขาดความรับผิดชอบไม่ได้ดูอย่างจริงจัง ซึ่งผมก็ไม่สบายใจมานานแล้ว อย่างเช่น กรรมาธิการกว่าจะครบองค์ประชุม ก็ต้องเกณฑ์กันแล้วเกณฑ์กันอีก หรือบางครั้งครบแล้วก็เพียงแต่เซ็นชื่อ แต่ตัวไม่อยู่ในห้องประชุม ก็เรียกว่าไม่ค่อยรับผิดชอบ ผมก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจกับการทำงานอย่างนี้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของตัวบุคคล ไม่ใช่เรื่องของระบบ ระเบียบ หรือระบอบอะไร ก็เป็นอุทาหรณ์ บทเรียน นายอุทัย กล่าว


บัญชีข้อความคลาดเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู
และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546
(1) มาตรา 8, 13 และ 14 กรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ถูกต้องคือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ใช้มาตรา 7 (4)
(2) มาตรา 32 วรรค 2 กระทรวงการศึกษาธิการ ที่ถูกต้องคือ กระทรวงศึกษาธิการ
(3) มาตรา 53 (3) ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา และตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ ตกไป
(4) มาตรา 53 (6) ที่อ้างถึงมาตรา 38 ก (4) ถึง (6) ที่ถูกต้อง คือ มาตรา 38 ก (3) ถึง (6)
(5) มาตรา 55 (3) 56 วรรคแรก, วรรคสอง และวรรคสี่, 58 วรรคแรก, 59 วรรคสอง, 63 วรรคแรก และวรรคสี่ 64, 65, 66 วรรคแรก, 67 วรรคแรก, 68 วรรคแรก, 71 วรรคสอง, 73 วรรคสี่, 98 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่, 100 วรรคเจ็ด และวรรคแปด, 102, 104 (2), 108 วรรคแรก วรรคสอง และวรรคสาม, 109 วรรคสุดท้าย, 110, 111, 112, 114 และมาตรา 115 ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ ข้อความที่ถูกต้องคือ ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง
(6) มาตรา 56 ครูปฏิบัติการ ข้อความที่ถูกต้อง คือ ครู
(7) มาตรา 56 วรรคสี่ ทดลองปฏิบัติหน้าที่ ข้อความที่ถูกต้อง คือ ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ
(8) มาตรา 71 วรรคสอง ดำเนินการวินัย ข้อความที่ถูกต้อง คือ ดำเนินการทางวินัย
(9) มาตรา 99 ที่อ้างถึงมาตรการ 98 ที่ถูกต้อง คือ มาตรา 100
(10) มาตรา 104 (1) คณะกรรมการสอบ ข้อความที่ถูกต้อง คือ คณะกรรมการการสอบสวน
(11) มาตรา 111 วรรคสุดท้ายที่อ้างอิงมาตรา 97 ที่ถูกต้อง คือ มาตรา 98
(12) มาตรา 127 ที่อ้างถึงมาตรา 129 ที่ถูกต้อง คือ มาตรา 128
(13) มาตรา 133 วรรคสาม ก.ค.ศ.เฉพาะกิจ ข้อความที่ถูกต้อง คือ ก.ค.ศ.ชั่วคราว ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 128






ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานนโยบายและแผน
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: บ้านเมือง ฉบับที่ 14883 [หน้าที่ 1 ] ประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง