[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

สั่งย้ายเที่ยวบินในประเทศกลับดอนเมืองแล้ว

''ธีระ'' ไฟเขียวย้ายเที่ยวบินในประเทศไปดอนเมือง เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติ 6 กุมภานี้ เชื่อต่างชาติเข้าใจหากรัฐบาลเร่งชี้แจงทำความเข้าใจว่าทำเพื่อความปลอดภัยของผู้เดินทาง สายการบินขานรับเพื่ออนาคต

พร้อมเรียกร้องขอความปลอดภัย ''ต่อตระกูล'' ส่งทรายให้มหาวิทยาลัยตรวจสอบหาปมทุจริต ''คิงเพาเวอร์'' โชว์ใบเสร็จทำตามสัญญาทุกอย่าง

หลังเปิดใช้งานจริงเพียง 4 เดือน แต่เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิมีปัญหามากมายทั้งรันเวย์และแท็กซี่เวย์ที่เสียหายจนต้องปิดซ่อมแซมเป็นระยะ ขณะที่ตัวอาคารก็มีปัญหาต่อเนื่องตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องห้องน้ำไม่เพียงพอและล่าสุดเกิดท่อแตกจนน้ำเอ่อล้นอาคาร ทำให้เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลตัดสินใจกลับไปใช้สนามบินดอนเมืองมีน้ำหนักมากขึ้น

''ธีระ''ไฟเขียวกลับดอนเมือง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มกราคม พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รมว.คมนาคม กล่าวหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานกรุงเทพว่า ที่ประชุมมีมติให้ย้ายเที่ยวบินในประเทศบางส่วนกลับไปใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ โดยเที่ยวบินในประเทศที่จะให้บริการนั้นจะเป็นเที่ยวบินที่ไม่ต้องต่อเที่ยวบินอื่น

''การย้ายสายการบินในประเทศกลับไปใช้ที่ดอนเมืองนั้นเราคำนึงถึงความสะดวกของผู้โดยสารด้วย และตอนนี้เห็นว่ามีความจำเป็นต้องย้าย ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมของสนามบินสุวรรณภูมิด้วย ทั้งจากปัญหาแท็กซี่เวย์ รันเวย์ หลุมจอด และความไม่ปลอดภัยและไม่สะดวกของผู้โดยสารด้วย และยังเป็นการลดความแออัดของผู้โดยสารลงได้ 30%” รมว.คมนาคม กล่าว

ส่วนขั้นตอนต่อไปนั้น พล.ร.อ.ธีระกล่าวว่า ได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริษัทการท่าอากาศยาน(ทอท.) ไปหารือและเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด ทั้งการแจ้งกับสายการบินต่างๆ และการเตรียมความพร้อมที่สนามบินดอนเมือง โดยคาดว่าจะสามารถเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ และการย้ายกลับมาใช้สนามบินดอนเมือง ก็ไม่จำเป็นต้องเรียกภาคเอกชนมาหารือร่วมกันอีก โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

ส่วนที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่อยากย้ายก็จะไม่ไปบังคับ และคงต้องให้เวลาสายการบินที่ต้องการย้ายกลับมาเตรียมตัวระยะหนึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 45 วันหรือ 2 เดือน กว่าจะเริ่มเปิดใช้ได้อีกครั้ง โดยที่ประชุมยังไม่มีการสรุปว่าจะให้ย้ายเป็นการชั่วคราวหรือถาวร ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้นสายการบินต่างๆ จะต้องรับภาระเองส่วนหนึ่งและให้ ทอท.ไปพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การเปิดใช้สนามบินดอนเมืองนั้นไม่เกิดความยุ่งยากเพราะทุกอย่างยังสามารถใช้งานได้ต่อไป แต่อาจจะมีการปรับปรุงพื้นผิวถนนที่ขรุขระบ้างเล็กน้อยคาดว่าใช้งบไม่เกิน 10 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม พล.ร.อ.ธีระ ระบุว่ายังไม่พอใจในการแก้ไขปัญหาของ ทอท.และยอมรับว่าอาจมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายบุคลากรระดับสูงเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเดินหน้าได้รวดเร็วมากขึ้น โดยให้บอร์ด ทอท.เป็นผู้พิจารณา เนื่องจากขณะนี้ บอร์ด ทอท.เองก็มีแผนที่จะปรับโครงสร้างบุคคลใน ทอท.อยู่แล้ว และหากพบว่าหน่วยงานใดที่ยังมีการบริหารและการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ตรงจุดและล่าช้า ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายบุคลากรเช่นกัน

เชื่อต่างชาติเข้าใจ

กรณีดังกล่าว นายประพันธ์ คูณมี ประธานคณะอนุกรรมาธิการสอบสัญญาการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ปัญหาสนามบินสุวรรณภูมินั้นรัฐบาลต้องใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทในการซ่อมแซมรอยร้าวทั้งหมด และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงจำเป็นที่อาจจะต้องมีการย้ายสายการบินภายในประเทศและสายการบินต้นทุนต่ำกลับไปที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ หรือสนามบินดอนเมือง

''ผลกระทบด้านภาพลักษณ์ของประเทศนั้น หากรัฐบาลชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ผมเชื่อว่าจะเรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติได้'' นายประพันธ์ กล่าว

สายการบินขานรับ

นายอุดม ตันติประสงค์ชัย ประธานกรรมการสายการบินวันทูโก กล่าวว่าเห็นด้วยว่าควรย้ายเพื่อบรรเทาความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และทำให้มีการซ่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้สะดวก ซึ่งจะทำให้การเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น 20% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 10% ส่วนสายการบินที่จะต้องย้ายบางส่วน เช่น การบินไทย วันทูโก นกแอร์ คงต้องมีการหารือกันถึงจำนวนเที่ยวบินที่จะต้องย้าย ส่วนแอร์เอเชียไม่แน่ใจว่าต้องการย้ายหรือไม่

''หากมีการย้ายเที่ยวบินบางส่วนไป วันทูโกอาจต้องใช้ลงทุนเพิ่มประมาณ 40 ล้านบาทเพื่อจัดหาอุปกรณ์ภาคพื้นดินและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ มาให้บริการผู้โดยสาร ขณะที่สำนักงานในดอนเมือง ทอท.ก็ยังคงไว้ให้กับหลายสายการบินอยู่โดยไม่ได้เก็บค่าบริการ ซึ่งอาจกลับเข้าไปใช้ในส่วนนั้นอีก ส่วนเรื่องการต่อเครื่องของผู้โดยสารจากท่าอากาศยานกรุงเทพไปสุวรรณภูมิไม่น่าจะมีปัญหา หากสายการบินมีการจัดตารางให้เหมาะสม ปัจจุบันก็มีชัตเติลบัสรับพนักงานจากท่าอากาศยานกรุงเทพไปสุวรรณภูมิอยู่แล้ว โดยมีพนักงาน 30% ที่อาศัยแถบดอนเมือง ดังนั้น การแก้ปัญหาของผู้โดยสารก็คงมีการใช้ชัตเติลบัสวิ่งเหมือนกัน'' ประธานกรรมการสายการบินวันทูโก กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า บริษัทไม่ต้องการย้ายกลับไปท่าอากาศยานกรุงเทพ เนื่องจากไม่ต้องการแยก 2 ฝูงบิน เพราะเครื่องบินแต่ละลำของแอร์เอเชียบินทั้งในและต่างประเทศ หากแยก 2 สนามบินจะทำให้ต้องแยกบุคลากรและเครื่องบิน ซึ่งไม่สอดคล้องกับโมเดลธุรกิจของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ เนื่องจากมีต้นทุนสูงขึ้นมาก หากมีการย้ายต้องย้ายทั้งหมด

ตัวแทน18แอร์ไลน์เรียกร้องความปลอดภัย

นายไบรอัน ซินแคลร์-ทอมป์สัน ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทย สายการบินสวิส อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์สในฐานะประธานสมาคมตัวแทนธุรกิจสายการบินหรือบาร์ (Board of Airline Representatives Business Association: BAR) กล่าวว่า ในส่วนของสายการบินต่างประเทศนั้น ปัญหาเรื่องรอยร้าวของรันเวย์ยังไม่ส่งผลกระทบ สายการบินต่างๆ ยังคงดำเนินการตามปกติ ไม่มีการปรับเปลี่ยนแผนการบิน แต่หากต้องปรับเปลี่ยน ภาครัฐจะต้องเป็นผู้แจ้งล่วงหน้า

“ในฐานะที่เป็นตัวแทนสายการบินจำนวน 18 สายการบิน เข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวว่าเป็นปัญหาที่สามารถจัดการได้ เพราะการจัดการด้านการบินมีความยืดหยุ่น จึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ต้องคิดถึงความสะดวกปลอดภัยของผู้โดยสารและค่าใช้จ่ายที่ลดลงด้วย” นายซินแคลร์-ทอมป์สันกล่าว

นางประภาจิต แก้ววิเชียร ผู้จัดการฝ่ายการบริหารด้านการตลาด สายการบินลุฟท์ฮันซ่า กล่าวว่าสายการบินได้ประเมินแล้วเห็นว่า ยังคงไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติการบิน ทำให้สายการบินดำเนินการบินตามปกติ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

ส่วนนายวิเจยาคูมาราน อาวิลี ผู้จัดการประจำประเทศไทย สายการบินมาเลเซีย กล่าวว่า สนามบินที่เพิ่งเปิดทำการใหม่ย่อมมีปัญหาเป็นปกติ แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้สามารถควบคุมการบินให้ดำเนินการไปด้วยความราบรื่นมากที่สุด

''ต่อตระกูล''ส่งทรายตรวจสอบ

วันเดียวกัน นายต่อตระกูล ยมนาค กรรมการ ทอท. ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางการตรวจสอบการชำรุดของแท็กซี่เวย์และรันเวย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดมขุดหลุมบริเวณแท็กซี่เวย์ที่กำลังปิดซ่อมอยู่ในขณะนี้ เพื่อนำทรายขึ้นมาตรวจสอบความหนาแน่นและปริมาณน้ำเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดปัญหา

''จะมีการส่งทรายส่วนหนึ่งไปที่ห้องทดลองของกรมทางหลวง และมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง ซึ่งจะเร่งนำผลการตรวจสอบทรายเข้าไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการกลางเย็นวันนี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด หากยังไม่สามารถหาสาเหตุในชั้นทรายได้ก็จะสั่งให้ขุดต่อไปจนถึงชั้นดิน และขุดหลุมในส่วนอื่นต่อไปอีก'' นายต่อตระกูล กล่าวถึงการตรวจสอบ

ส่วนกรณีของท่อน้ำประปาบริเวณห้องน้ำอาคารผู้โดยสารแตกจนน้ำเอ่อล้นในอาคารสนามบินนั้น นายต่อตระกูลกล่าวว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่งเจ้าหน้าที่ประปาเข้าไปเจาะพื้นเพื่อซ่อมแซมแล้ว พร้อมกับสั่งให้ตรวจสอบท่อประปาของห้องน้ำในอาคารผู้โดยสารทุกห้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก

คิงเพาเวอร์โชว์ใบเสร็จจ่าย2พันล.

นายวิชัย รักศรีอักษร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการทอท. มีนโยบายขอพื้นที่ในอาคารผู้โดยสารส่วนที่เกินจากสัญญาคืน ว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือจาก ทอท.อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ คิงเพาเวอร์ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษีและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ (Retail Business) ในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสัญญาร้านค้าปลอดภาษีระบุว่าสามารถใช้พื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรวมกันไม่ต่ำกว่า 5,000 ตารางเมตร

ส่วนสัญญากิจกรรมเชิงพาณิชย์ระบุว่าให้ใช้พื้นที่รวมกันประมาณ 2 หมื่นตารางเมตร และทั้งสองสัญญาระบุว่า หากพื้นที่จำหน่ายสินค้าและพื้นที่โครงการเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ ทอท. สงวนสิทธิ์ในการพิจารณาเพิ่มค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำได้ใหม่ตามที่เห็นสมควร

ที่ผ่านมาคิงเพาเวอร์ได้ตรวจวัดการใช้พื้นที่ร่วมกับ ทอท. และพบว่าทั้งสองสัญญาใช้พื้นที่รวมกัน 30,563.41 ตารางเมตร หรือเกินจากสัญญา 5,563.41 ตารางเมตร ต้องจ่ายผลตอบแทนให้ทอท.เพิ่มขึ้นตามสัญญา 1,156 ล้านบาทในปีแรก ทั้งนี้ คิงเพาเวอร์ใช้พื้นที่ในส่วนร้านค้าปลอดภาษี 9,498.41 ตารางเมตร ต้องจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 2,340 ล้านบาท จากเดิม 1,260 ล้านบาท หรือจ่ายเพิ่มขึ้น 1,080 ล้านบาท ส่วนกิจกรรมเชิงพาณิชย์ใช้พื้นที่รวม 21,065 ตารางเมตร ต้องจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำปีแรกเพิ่มขึ้นเป็น 1,507 ล้านบาท หรือจ่ายเพิ่ม 76 ล้านบาท

“การเข้าใช้พื้นที่หรือการกำหนดจุดที่ตั้งร้านค้า รวมทั้งการตกแต่งพื้นที่ในแต่ละครั้ง คิงเพาเวอร์ได้รับอนุมัติถูกต้องจากคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีนายศรีสุข จันทรางศุ อดีตประธานกรรมการ ทอท.เป็นประธาน ที่ผ่านมา ทอท.รับรู้มาโดยตลอดว่าคิงเพาเวอร์ใช้พื้นที่เท่าไร” ประธานกรรมการบริหารคิงเพาเวอร์ กล่าว

นายวิชัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม ทอท.ได้ส่งหนังสือมายังบริษัท โดยระบุว่าหลังจากผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ตรวจวัดพื้นที่ร่วมกันไปแล้วนั้น แต่ทอท.มีนโยบายให้มีการวัดพื้นที่ใหม่อีกครั้งเพื่อความโปร่งใส และเชิญสมาคมสถาปนิกสยามเป็นคนกลางในการวัดพื้นที่ร่วมกับผู้แทนของทั้งสองฝ่าย โดย ทอท.จะแจ้งกำหนดให้ทราบอีกครั้ง แต่จนขณะนี้ คิงเพาเวอร์ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ เพิ่มเติมจาก ทอท.

“หาก ทอท.จะให้กลับไปสู่จุดเดิม คือใช้พื้นที่ทั้งสองสัญญารวมกัน 2.5 หมื่นตารางเมตร คิงเพาเวอร์ก็พร้อมรับนโยบาย หากมีเหตุผล เช่น ร้านค้ากีดขวางทางเดินหรือทางหนีไฟ แต่ยอมรับว่าเกิดความเสียหายแน่นอน ไม่ใช่เสียหายเฉพาะคิงเพาเวอร์ แต่ประเทศก็จะเสียรายได้ที่ควรจะได้ปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท ขณะที่ ทอท.จะเสียรายได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท” นายวิชัย กล่าว

ส่วนการจ่ายเงินล่วงหน้า 2,000 ล้านบาทให้ทอท.ในวันทำสัญญาเป็นผู้ประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2548 ข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะเห็นว่าช่วงนั้น ทอท.มีปัญหาขาดสภาพคล่อง คิงเพาเวอร์เห็นว่าหากจ่ายเงินผลตอบแทนล่วงหน้าให้ก่อน นอกเหนือจากผลตอบแทนขั้นต่ำในปีแรก จะส่งผลให้ทอท.พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เร็วขึ้น เป็นการยืนยันว่าคิงเพาเวอร์มีฐานะการเงินที่มั่นคง

ข้อเสนอจ่ายเงินล่วงหน้าดังกล่าวไม่ได้มีส่วนช่วยให้คิงเพาเวอร์ชนะการประกวดราคาแต่อย่างใด เพราะเงื่อนไขทีโออาร์ระบุชัดเจนว่า จะพิจารณาคัดเลือกเอกชนที่ยื่นข้อเสนอด้านราคาที่ดีที่สุด โดยพิจารณาจากเงินประกันรายได้ขั้นต่ำในปีแรก คิงเพาเวอร์เสนอตัวเลขเงินประกันรายได้ขั้นต่ำปีแรก จำนวน1,431ล้านบาท สูงกว่าข้อเสนอของเอกชนรายที่ 2 จำนวน 210 ล้านบาท

“สิ่งที่ทำให้เราชนะประมูลคือการเสนอผลตอบแทนขั้นต่ำปีแรกสูงกว่าคู่แข่ง แม้เราจะจ่ายเงินล่วงหน้าให้ทอท.ในวันทำสัญญา 2,000 ล้านบาทแล้ว คิงเพาเวอร์ยังต้องวางหนังสือค้ำประกันในจำนวนเท่ากับผลตอบแทนที่เสนอไป 1,431 ล้านบาท ไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ เงิน 2,000 ล้านบาทที่จ่ายไปไม่ได้หายไปไหน แต่อยู่ที่ ทอท.มีการออกใบเสร็จรับเงินชัดเจน” นายวิชัย กล่าว

''จุลจิตต์''ยันทำตามสัญญา

ด้านนายจุลจิตต์ บุณยเกตุ รองประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ทำตามสัญญาที่ได้ดำเนินการกับ ทอท.อย่างเคร่งครัด โดยการใช้พื้นที่ ก็มีการส่งแบบเพื่อขออนุญาตก่อสร้างจากคณะอนุกรรมการจารณาของ ทอท. จนถึงการนำเรื่องขออนุมัติจากคณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทุกครั้ง ไม่มีการใช้พื้นที่เกินกว่าที่ได้ระบุในสัญญา

นายจุลจิตต์กล่าวถึงกรณีที่คณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบสัญญาบริษัท คิงเพาเวอร์ ที่มี พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ เป็นประธาน ระบุว่าในสัญญาเสนอราคาว่าจ้างที่คิงเพาเวอร์เสนอให้ทอท. โดยเฉพาะการเสนอเงินค่าตอบแทนล่วงหน้านอกเหนือจากเงินประกันรายได้ ทำให้รัฐเสียประโยชน์จำนวน 2,000 ล้านบาทนั้น นายจุลจิตต์ กล่าวว่า ส่วนนี้เป็นสัญญาที่ได้จากการประเมินรายได้ที่จะมีในอนาคต เสมือนค่าเช่าพื้นที่ที่คิงเพาเวอร์ตกลงจะจ่ายให้ก่อน

''ไม่เข้าใจว่าทำไมคณะอนุกรรมการตรวจสอบสัญญาจึงมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการทำให้รัฐเสียผลประโยชน์'' รองประธานกรรมการคิงเพาเวอร์ กล่าว

ชี้ข่าวลบมีมากเกินไป

ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมตัดสินใจให้ย้ายเที่ยวบินภายในประเทศกลับไปใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพนั้น นายจุลจิตต์ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งมาจากข่าวในด้านลบของสุวรรณภูมิทั้งเรื่องปัญหารันเวย์และแท็กซี่เวย์ร้าว ซึ่งคิงเพาเวอร์เห็นว่าปัจจุบันข่าวในด้านลบของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีออกมามากและบางเรื่องก็ออกมาเกินความเป็นจริง

''ในฐานะภาคเอกชน ผมเห็นว่ารัฐบาลและทอท.ควรแยกปัญหาการซ่อมแซมพื้นที่และการตรวจสอบทุจริตออกจากกัน ไม่เช่นนั้นท้ายที่สุดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่เป็นสมบัติของชาติและของคนไทยทุกคนก็จะได้รับความเสียหายเสมือนเราทุกคนร่วมกันชำเราทรัพย์สินของตัวเอง'' รองประธานกรรมการคิงเพาเวอร์กล่าว








โดย:
งาน: งานผลิตเอกสาร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง