[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

นางนวล...ยามเมื่อเยือนถิ่นบางปู

นางนวล...ยามเมื่อเยือนถิ่นบางปู      การเดินทางไกลของนกอพยพ คือหนึ่งในเรื่องราวความสัมพันธ์แห่งโลกธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงไปถึงความอยู่รอดของโลกสีน้ำเงินใบนี้ การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลนับพันกิโลเมตร เพื่อเสาะหาแหล่งที่พักพิง เป็นเรื่องราวที่ชวนให้น่าติดตาม และค้นหาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบรรดานกน้ำ หรือนกชายเลน ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางตอนเหนือของโลก 
      เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาวของทุกๆ ปี ดินแดนต่างๆ ในแถบเอเชียตอนกลางเรื่อยไปจนถึงไซบีเรีย จะมีอากาศหนาวเย็นมาก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เจ้าลูกโลกกลมๆ ใบนี้ได้หันขั้วโลกเหนือออกห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด  จึงทำให้บรรดาแหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยของนกเปลี่ยนสภาพไปตามสภาวะภูมิอากาศของโลก ไม่ว่าจะเป็นทะเลสาบ ซึ่งกลับกลายเป็นผืนน้ำแข็ง หรือพื้นผิวดินที่เมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ไม่สามารถผลิดอกออกผลได้ 
    ซึ่งส่งผลให้นกหลายชนิดจำเป็นต้องปรับตัว ด้วยการอพยพไปยังดินแดนที่มีความอบอุ่น และแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์เพียงพอ ซึ่งจุดหมายก็คือดินแดนที่อยู่ทางตอนใต้ลงมา  อันมีพื้นที่อ่าวไทยตอนใน และบางปูเป็นหนึ่งในปลายทางหลักสำหรับการอพยพ 
      นกนางนวลเป็นหนึ่งในนกอพยพ และพระเอกสำคัญของบางปู ที่สามารถพบเห็นได้ง่ายและมีอยู่มากมายหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นนกนางนวลขอบปีกขาว นกนางนวลปากเรียว นกนางนวลธรรมดา รวมถึงนกนางนวลหลังดำพันธุ์รัสเซีย ซึ่งนับเป็นนกนางนวลขนาดใหญ่ และมีโอกาสในการพบเห็นเพียง 1 หรือ 2 ตัว ต่อปีเท่านั้น 
    แต่ถ้าพูดถึงนกนางนวลที่มีจำนวนมากที่สุดในพื้นที่บางปูแล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้น เจ้านกนางนวลธรรมดา ซึ่งในบางปีมีจำนวนมากถึง 7,000 ตัว และได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของบางปูที่หลายๆ คนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี 
 


    ท่ามกลางนกสีขาวนวลตัวอ้วนๆ หลายพันตัว ที่บ้างก็บินโฉบโต้ลมอยู่ไปมา บ้างก็ก็ล่องลอยลู่สายลมขนานไปกับท้องทะเลริมสองฝั่งสะพานสุขตา  หากเราใช้เวลาลองสังเกต และค้นหาความแตกต่างของเจ้านางนวลเหล่านั้นดูสักนิด ก็อาจพบว่า รายละเอียดเล็กๆ เหล่านั้นสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้มากมายอย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นสีขนตลอดจนลวดลายต่างๆ บริเวณปีก หาง หรือแม้กระทั่งหัว  ความแตกต่างเหล่านั้นจะบ่งบอกถึงช่วงวัย ซึ่งหากเป็นนกนางนวลธรรมดาที่ยังโตไม่เต็มวัย มักจะมีลวดลายสีน้ำตาลบนปีกมากพอสมควร ในขณะที่ส่วนหางก็ยังไม่เป็นสีขาวล้วน  จนเมื่อโตเต็มวัยแล้วลวดลายเหล่านั้นจึงหายไป แล้วกลายเป็นสีขาวนวลเกือบทั้งตัว ยกเว้นที่ขอบปีกจะมีสีดำและมีจุดขาวๆ อยู่ด้วย สำหรับนางนวลธรรมดาที่มีหัวเป็นสีน้ำตาลหรือคล้ายๆ ดำนั้น หมายถึงเป็นตัวโตเต็มวัยที่พร้อมจะกลับไปผสมพันธุ์แล้วนั่นเอง 

    จนช่วงเวลาในการอพยพหนีหนาวล่วงเลยเข้าสู่เดือนมิถุนายน เมื่อแสงแดดเริ่มสาดส่องให้อากาศของดินแดนแถบขั้วโลกเหนืออบอุ่นขึ้น จนหิมะขาวโพลนเริ่มละลายคลายตัวสู่ธารน้ำแข็ง  และพืชพันธุ์มากมายตื่นต้อนรับแสงอรุณงอกเงยขึ้นตามหน้าที่อย่างแข็งขัน อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นแห่งการเดินทางอีกครั้ง เจ้านกอพยพที่หนีหนาวมายังประเทศไทย หรือดินแดนอื่นๆ ทางใต้  ก็จะบินกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ ทำรัง วางไข่ และเลี้ยงดูลูกๆ อีกครั้ง เป็นวงจรที่เลื่อนไหลไปตามการชี้นำของธรรมชาติ  อันแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของสรรพชีวิต ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างไร้เขตเขตพรมแดนประเทศ 

    แม้การมาเยือนของนางนวลและเหล่านกอพยพจะมีช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ แต่มันก็ก่อให้เกิดความสุขเล็กๆ ที่ทำให้เราได้เริ่มต้นสังเกต และเรียนรู้เรื่องราวของบางชีวิตบนโลกใบเล็กใบนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วเราก็จะสามารถเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ของสรรพชีวิต และเพิ่มเติมความเอาใจใส่ต่อชีวิตอื่นๆ ที่ได้ใช้เวลาทุกวินาทีอยู่เคียงคู่กับเรา.... 

 
ไข้หวัดนก กับ นกอพยพ

    ความกังวลต่อการระบาดของไข้หวัดนกได้พุ่งสู่ประเด็นการติดเชื้อจาก ''นกอพยพ'' เนื่องจากการลุกลามของไข้หวัดนกได้ลุกลามระบาดไปถึงบางประเทศในยุโรป และเอเชียกลางทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า นกอพยพอาจเป็นพาหะนำโรคร้ายชนิดนี้ สำหรับที่บางปู การอพยพของนกนางนวล และนกน้ำนับหมื่นตัว ข้อกังวลเกี่ยวกับไข้หวัดนกจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากแต่นกอพยพ จะเป็นพาหนะนำโรคร้ายแห่งศตวรรษที่ 21 ระบาดไปทั่วโลกจริงหรือ และในบ้านเราควรมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร

    องค์กรนานาชาติที่ทำงานด้านการอนุรักษ์นก แถลงชัดเจนว่า ยังไม่มีหลักฐานของนกอพยพนำพาเชื้อไข้หวัดนกแพร่ระบาด แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีข้อชวนสังเกตคือ  นกที่สามารถบินอพยพข้ามซีกโลกจะต้องมีสุขภาพแข็งแรงเท่านั้น ซึ่งนกที่ติดเชื้อมักอ่อนแอ และตายภายในระยะเวลาอันสั้น จึงไม่อาจบินข้ามทวีปเป็นระยะทางไกลๆ ได้ นอกจากนี้ ตามปกตินกในธรรมชาติมักมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งกว่าสัตว์ปีกในฟาร์ม หรือนกที่ถูกกักขัง โอกาสที่จะติดเชื้อ จึงเป็นไปได้น้อยและที่ผ่านมาเป็นที่ยืนยันว่าไม่มีรายงานการแพร่เชื้อไข้หวัดนกจากนกอพยพมายังมนุษย์  และความเสี่ยงที่มนุษย์จะติดเชื้อจากนกอพยพนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก เว้นแต่ว่าจะมีการสัมผัสตัวนกอพยพที่ติดเชื้อ หรือมูลของนกที่ติดเชื้ออย่างจงใจ

    การอพยพของนกเป็นการทำหน้าที่ตามธรรมชาติ นกอพยพช่วยกำจัดแมลง กระจายเมล็ดพันธุ์ และทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ สิ่งเหล่านี้ดำเนินมานานนับหมื่นปี มนุษย์เคยได้รับบทเรียนมาแล้ว  ในราวต้นศตวรรษที่ 19 ที่เกิดปรากฏการณ์การกำจัดนกจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าเป็นพาหะนำโรคระบาดในยุโรป หลังจากนั้นไม่นานมนุษย์ก็ต้องเผชิญกับแมลงศัตรูพืชจำนวนมากจนไม่อาจควบคุมได้

    แนวทางควบคุมโรคที่ได้ผลที่สุด จึงไม่ใช่การกำจัดนกอพยพ หากแต่เป็นการให้ความสำคัญกับระบบสุขาภิบาลในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก และป้องกันไม่ให้สัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้ ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับนกในธรรมชาติ  รวมทั้งไม่ให้กินอาหารร่วมกัน และโดยปกตินกในธรรมชาติ จะไม่ยอมให้มนุษย์เข้าใกล้มากเกินไป ฉะนั้นกิจกรรมการดูนกจึงเป็นกิจกรรมที่ปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดนก  อย่างไรก็ตามเพื่อลดความเสี่ยงในแหล่งที่เป็นที่ชุมนุมของนกจำนวนมาก ควรใช้การสังเกตผ่านกล้องส่องทางไกลในระยะห่างพอสมควร และไม่ควรเข้าใกล้เกินไป

    สำหรับนกนางนวลที่บางปู ยังไม่มีรายงานหรือมีแนวโน้มว่านกนางนวล ตลอดจนนกชายเลนที่เข้ามาหากินที่พื้นที่ชุ่มน้ำบางปูในฤดูหนาวจะติดเชื้อไข้หวัดนก  เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งหากินตามธรรมชาติของนกที่ปลอดจาก นกเลี้ยงหรือมีฟาร์มสัตว์ปีกอยู่ใกล้ นอกจากนี้นกนางนวลที่บางปูยังสามารถปรับตัวจนไม่เกิดความเครียดเมื่อมนุษย์เข้าใกล้  อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการให้อาหารนกนางนวล โดยการหยิบยื่นให้จากมือ งดการแตะสัมผัสตัวนกโดยตรง หรือไม่พยายามล่อนกให้เข้ามาใกล้ๆ  อย่างน้อยก็ไม่ต้องเสี่ยงกับการที่นกนางนวลอาจจะปล่อยของเสียใส่ตัวเรา

ข้อควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับไข้หวัดนก
- กิจกรรมดูนก ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ต่อการติดเชื้อไข้หวัดนก
- ไข้หวัดนก ติดต่อกันยากกว่าไข้หวัดธรรมดา เกิดจากการสัมผัส หรือได้รับเชื้อจากนกที่ติดเชื้อโดยตรงเท่านั้น
- ธุรกิจค้านกป่า ทั้งถูก และผิดกฎหมาย เป็นแหล่งแพร่กระจายโรคไข้หวัดนก ยิ่งกว่านกอพยพ
- เชื้อไวรัสไข้หวัดนก ในมูลนก หรือซากนก มีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 3 วัน
- มีความเสี่ยงในระดับต่ำมาก ต่อการแพร่เชื้อโดยนกอพยพ









โดย:
งาน: งานผลิตเอกสาร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ทีมงาน WWF ประเทศไทย ประจำศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง