[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : 2 วิชาลดความรุนแรงในโรงเรียน ครูเรียนจริยธรรม-น.ร.เรียนสันติศึกษา

สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทุกสถานที่ในปัจจุบัน รวมถึงในโรงเรียนซึ่งเป็นแหล่งความรู้และบ่มเพาะทางความคิดอันถูกควร มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเปิดเวทีเสวนา ''ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน และแนวทางในการแก้ไข'' ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผอ.มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า ความรุนแรงในโรงเรียนมีสาเหตุจากผู้ใหญ่กระทำต่อเด็ก หรือครูมีความผิดปกติทางอารมณ์ ขาดทักษะการจัดการกับปัญหาจะมีผลต่อเด็ก เช่น เมื่อเด็กมาสายครูเกิดโทสะ ไม่ไต่ถามเหตุผล ขณะที่ความรุนแรงระหว่างเด็กกับเด็กเกิดเพราะถูกเลี้ยงดูโดยไม่ยอมรับความแตกต่าง และถูกทำร้ายทารุณกรรมจากครอบครัว เลี้ยงดูโดยมิชอบ ซึ่งเด็กต้องได้รับการบำบัดเพื่อฟื้นฟู จึงต้องมีการพูดคุยระหว่างครอบครัว เพราะครูทำเพียงลำพังไม่ได้

ด้าน ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เด็กเรียนรู้จากผู้ใหญ่ ถูกปลูกฝังความก้าวร้าว ยกย่องความรุนแรง การล้อเลียนเหยียดหยามในสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ เกมที่สอนวิธีการฆ่าทุกรูปแบบ ล้วนปลูกฝังให้เด็กตลอดเวลา ขณะที่กระทรวงศึกษาฯ ก็ไม่ได้สอนวิธีอื่นให้ครูในการแก้ปัญหา สอนนักเรียนให้เรียนเก่ง แต่ไม่ได้สอนการจัดการพฤติกรรมเด็ก นอกจากใช้ไม้เรียวลงโทษ ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนจากรายงานจากครู 1,300 คนทั่วประเทศ พบว่าความคิดเห็นของครูต่อการตีนักเรียน เห็นด้วยร้อยละ 75 และเห็นด้วยว่าหากไม่ตีอาจควบคุมไม่ได้ ร้อยละ 70 การตีเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อไม่ทำให้ผิดซ้ำอีก เห็นด้วยร้อยละ 72

พฤติกรรมการลงโทษของครูที่เคยทำโทษนักเรียนและทำมากกว่า 10 ครั้ง ตีก้น ร้อยละ 42 ตีที่ส่วนอื่น ร้อยละ 36 บิดหู ร้อยละ 30 ใช้มะเหงกเขกศีรษะ ร้อยละ 20 การทำร้ายจิตใจเด็กที่เคยทำและทำมากกว่า 10 ครั้ง ใช้ไม้เรียวขู่ ร้อยละ 65 เพิกเฉยไม่พูดคุยด้วย ร้อยละ 45 สบประมาทว่าโง่ ปัญญาอ่อน ขี้เกียจ ร้อยละ 27 ไม่ให้ไปกินอาหารกลางวัน ร้อยละ 6

เกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหา ผศ.ดร.สมบัติเสนอว่า ต้องฝึกอบรมทักษะการสร้างวินัยเชิงบวกแก่ครูและผู้ปกครอง บรรจุวิชาจริยธรรมลงในหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิตเป็นวิชาเฉพาะ และเพิ่มวิชาสันติศึกษาลงในหลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งอิงจากหลักสูตรของสหประชาชาติ ส่วนมาตรการระดับห้องเรียน ควรกำหนดระเบียบในห้องเรียนเพื่อป้องกันการรังแกกัน พร้อมปลูกฝังทัศนคติเด็กว่าต้องไม่รังแกกัน ช่วยเหลือเพื่อนที่ถูกรังแก หากถูกรังแกต้องแจ้งให้ครูประจำชั้น หรือผู้ใหญ่ที่บ้านทราบเสมอ อย่างไรก็ตาม เด็กจำนวนไม่น้อยไม่ได้มาจากครอบครัวที่พร้อมเพรียง จำต้องอาศัยครูต้องเพิ่มมุมมองใหม่ให้เด็กดียิ่งขึ้น

นายพิภพ ธงไชย ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก กล่าวถึงโครงสร้างการเอาชนะความรุนแรงในโรงเรียนด้วยความสมานฉันท์ว่า ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เริ่มจากปัจจัยตัวบุคคล แต่ทั้งนี้โครงสร้างประเทศไทยมีอำนาจนิยมเป็นแบบทหาร บริหารแบบแถวตรงทำให้ไม่มีทางเลือก มีกฎระเบียบที่เอื้อต่อความรุนแรง ทั้งปัจจัยทางวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกัน ความเป็นธรรมที่เข้าไม่ถึง และปัจจัยชี้วัดจิตวิทยาซึ่งการศึกษาไม่ได้สนใจจิตวิทยาของเด็ก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยโรงเรียนไม่โปร่งใสนำไปสู่ความไม่เสมอภาค ครูไม่มีส่วนร่วมในการบริหารวิธีการเรียนนำไปสู่ความเครียด ความจริงความเท็จจึงปนกัน และเกิดปิดปังความจริงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ปัจจัยทุนนิยมและบริโภคนิยมในโรงเรียนกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงเข้าสู่สังคมแห่งการบริโภค ทำให้มีร้านสะดวกซื้ออยู่ในโรงเรียน สื่อหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ นำเสนอเรื่องการฆ่ากันตาย ไม่มีความระมัดระวัง เด็กสัมผัสความรุนแรง ปัจจัยในเรื่องศาสนาและไสยศาสตร์ของครูนำไปสู่ความเชื่อที่ผิด ไม่ได้ยึดหลักธรรม

ทั้งนี้ ครูต้องเชื่อในสันติวิธี ต้องรับผิดชอบและพร้อมรับผิดซึ่งนำไปสู่การให้อภัย เกิดการเสวนาร่วมกัน และต้องใช้จินตนาการในการแก้ไขปัญหา

ด้าน นายพีธากร ศรีบุตรวงษ์ ผู้ประสานงานสมัชชาเด็กและเยาวชน จ.อุดรธานี กล่าวว่า จากการสำรวจเพื่อศึกษาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จ.อุดรธานี ผ่านกิจกรรมและกระบวนการเข้าถึงเด็กโดยการใช้ศิลปะ เช่น เพลงละคร นิทานหุ่นมือ วาดภาพ พบว่า การลงโทษนักเรียน ร้อยละ 77.3 ยังถูกตี ร้อยละ 68.8 ถูกตะคอก ตะโกน ร้อยละ 54.1 ถูกสบประมาทว่าโง่ สันหลังยาว ปัญญาอ่อน ร้อยละ 46.7 ถูกเคาะศีรษะ และร้อยละ 44.7 ถูกหยิก

ส่วนสถานที่ซึ่งนักเรียนมักถูกรังแก ร้อยละ 54.2 ทางเดินหน้าห้องเรียน และบันได ร้อยละ 19.3 นอกโรงเรียนระหว่างมาเรียนและกลับบ้าน ร้อยละ 16.6 สนาม ร้อยละ 15.9 ที่อื่นๆ ร้อยละ 10.3 และในห้องน้ำร้อยละ 7.6

ทางด้าน ทญ.เมธินี คุปพิทยานันท์ จากโครงการการมีส่วนร่วมของเด็ก ภายใต้โครงการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองสุขภาพและสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ลักษณะเด็กที่มักถูกรังแกคืออ่อนแอ เด่นเกินเพื่อน ที่บ้านขาดคนดูแลให้คำปรึกษา มีปมด้อยของร่างกาย เด็กใหม่ ขณะที่เด็กที่ชอบรังแกเพื่อนเป็นเด็กตัวโตหรือเก๋า บ้านมีปัญหา อยากเป็นฮีโร่ เลียนแบบจากสื่อ ยุก็เชื่อง่าย โมโหง่าย เป็นลูกผู้มีอิทธิพล เรียนไม่ดี เด็กใหม่เก๋ามาจากที่อื่น ติดยา ก้าวร้าว

จากการสำรวจพบว่าระดับอนุบาลความรุนแรงระหว่างเด็กมักมาจากการเล่น และครูมักจัดการกับปัญหาด้วยวิธีรุนแรง เช่น ตี หยิก บิดหู กระชากแขนหรือตัว จับหัวเด็กที่ทะเลาะกันชนกัน และพบอีกว่าครูยังตีหรือให้ยืนกางแขนเมื่อเด็กไม่นอนตามเวลา เข้าห้องเรียนช้า ไม่เป็นระเบียบ ทำงานไม่เสร็จ เขียนหนังสือไม่สวย และอมมือ นอกจากนี้ยังพบว่าครูมีวิธีการสร้างสรรค์ในการลงโทษ คือ ให้ขอโทษโดยการจับมือกัน ช่วยทำงาน จัดห้องเรียนทำบอร์ด และให้ดาวเด็กที่ทำดี

ขณะที่ระดับประถมพบความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และมีปัญหาการละเมิดทางเพศ ข่มขู่รีดไถ ทำร้าย ยกพวกตีกัน บางเรื่องเกิดโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นความคึกคะนอง โดยที่การใช้ความรุนแรงกับเด็กมีผลลบ เด็กรู้สึกกดดัน มีความทุกข์ และตอบโต้ครูด้วยวิธีการที่รุนแรง ซึ่งพบว่าครูลงโทษเด็กด้วยการตี ตะคอกดุด่า ตำหนิเยาะเย้ยให้อับอาย ตีโดยเด็กไม่รู้เหตุผล แบ่งแยกเด็กที่ครูรักและไม่รัก และมีการเรี่ยไรเงินหรือมีซองผ้าป่ามาแจก

ส่วนปัญหาในกลุ่มเด็กมัธยม ความรุนแรงเป็นเรื่องชู้สาว ความรักที่ขาดความรับผิดชอบ ความกดดันจากการเรียนแข่งขัน ความคาดหวังของพ่อแม่ การเสพสุราของมึนเมา และการใช้ยาเสพติด มีพฤติกรรมเลียนแบบสื่อ อยากมีเงินใช้จ่าย

สำหรับปัญหาความรุนแรงจากครู คือทำโทษจากกฎระเบียบที่เด็กไม่ยอมรับ เช่น การกล้อนผม ประจาน ตี ตะคอกดุด่า ตำหนิเยาะเย้ยให้อับอายหรือตีโดยไม่รู้เหตุผล

ทุกประการคือสิ่งที่อนาคตของชาติกำลังเผชิญอยู่ในโรงเรียน และรอคอยการแก้ไข





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ข่าวสด ฉบับที่ 5916 [หน้าที่ 24 ] ประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง