[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

''มาฆบูชา'' วันแห่งความรักทางพุทธศาสนา

ความรักเป็นอำนาจอย่างหนึ่งในจิตใจมนุษย์ ที่มีอิทธิพลมากมาย และสามารถก่อให้เกิดอารมณ์
อันหลากหลายที่ตรงกันข้ามกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ ความยินดี
ความซึมเศร้า ความเฉื่อยชา และความกระตือรืนร้น กวีบางคนบอกว่า ความรักทำให้โลกหมุน ทำให้คนชั่วกลับกลายเป็นคนดี ความรักบันดาลได้มากมาย ที่สำคัญ ความรักมิได้มีความหมาย
เพียงความรักระหว่างหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงความรักระหว่างพ่อแม่กับลูก
อาจารย์กับศิษย์ เพื่อนฝูงต่อเพื่อนฝูง รวมไปถึงความรัก ที่มนุษย์มีต่อมวลมนุษย์ และสิ่งต่างๆที่อยู่ร่วมโลกเดียวกันอีกด้วย

และเพราะ “ความรัก” มีความหมายที่กว้างขวาง ไร้ขอบเขตอันจำกัด อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์
ทุกชาติทุกภาษาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขนี่เอง หลายๆคนจึงถือว่า “วันมาฆบูชา” อันเป็นวันสำคัญยิ่ง
ทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง เป็น “วันแห่งความรัก” ทั้งนี้ เนื่องจากวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์พิเศษ
ที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” ขึ้น และเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการ
และอุดมการณ์แห่งพุทธศาสนา อันมีเนื้อหาหลัก ว่าด้วยการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ตั้งมั่นในการทำความดี
ละความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นก็คือ ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ เป็นรักที่
ไม่เห็นแก่ตัว เพราะสอนให้รู้จักรัก และเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพระธรรม
คำสั่งสอนดังกล่าวไปเผยแพร่

คำว่า “มาฆบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือ เดือน ๓ หรือพูดง่ายๆว่า เป็นวันที่
พระจันทร์เต็มดวงในคืนขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ นั่นเอง เหตุที่พุทธศาสนิกชนถือว่า “วันมาฆบูชา”
เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ก็เพราะในวันนี้ ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ ๙ เดือน
(นับแต่วันวิสาขบูชาขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖) ขณะที่เสด็จประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน(อันเป็นวัดแห่งแรกใน
พุทธศาสนา) ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนั้น พระสงฆ์สาวกที่พระพุทธองค์ได้ส่งออกไป เผยแพร่
พุทธศาสนาตามเมืองต่างๆได้พร้อมใจกันกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายกันถึง ๑,๒๕๐ รูป
ซึ่งถือว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ยิ่ง เพราะสมัยโบราณที่ไม่มีการสื่อสารโทรคมนาคม การนัดหมาย
คนจำนวนมากที่อยู่คนละทิศคนละทางให้มาพบกันหรือประชุมกันที่ใดที่หนึ่ง เป็นเรื่องที่ยากและ
แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะการมาของพระพุทธสาวกเหล่านี้ ถือว่าเป็นการมาประชุมพิเศษ
ที่ประกอบด้วยองค์ ๔ อันเป็นที่มาของการเรียกวันนี้อีกอย่างว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” นั่นคือ

๑.เป็นวันมาฆปูรมี คือ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำกลางเดือนมาฆะ(เดือน ๓) จึงเรียกว่า “วันมาฆบูชา”

๒.พระภิกษุที่มาประชุมในวันนั้นมีจำนวนถึง ๑,๒๕๐ รูป

๓.พระภิกษุที่มาประชุมนี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ ที่สำเร็จอภิญญา ๖ กล่าวคือเป็นผู้มีความรู้
อันยอดยิ่ง ๖ ประการได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้
และมีญาณหยั่งรู้ในธรรมอันเป็นที่สิ้นแห่งกิเลสทั้งหลาย

๔.พระภิกษุเหล่านี้ ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา หมายถึง ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง

การประชุมที่ประกอบด้วยความพิเศษ ๔ ประการข้างต้นนี้ เกิดขึ้นใน “วันมาฆบูชา”
นี้เป็นครั้งแรกและเป็นเพียงครั้งเดียวในสมัยพุทธกาลเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนมชีพอยู่ ด้วยเหตุนี้
พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะแสดงโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นการประกาศหลักการ อุดมการณ์
และวิธีการปฏิบัติในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้นำไปใช้ได้ในทุกสังคม ซึ่งหลักธรรมคำสอนดังกล่าว
จะเรียกว่าเป็น ธรรมนูญแห่งพุทธศาสนา หรือ หัวใจของพุทธศาสนา ก็ได้

ในหนังสือวันสำคัญฯของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงหลักธรรมที่ว่านี้ว่า
แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ เป็นหลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ และวิธีการ ๖ ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

หลักการ ๓ หมายถึง สาระสำคัญที่ควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ได้แก่

๑.การไม่ทำบาปทั้งปวง ด้วยการไม่ประพฤติชั่วทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ประพฤติผิดในกาม
ไม่ลักขโมย ไม่ผูกพยาบาท

๒.การทำกุศลให้ถึงพร้อม ด้วยการทำความดีทุกอย่างทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่โลภมาก
และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

๓.การทำจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการละบาปทั้งมวล ทำใจให้ปราศจากกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

อุดมการณ์ ๔ หมายถึง หลักการที่ทรงวางไว้ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่

๑.ความอดทน ให้มีความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจาและใจ
๒.ความไม่เบียดเบียน ให้งดเว้นจากการทำร้าย รบกวนหรือเบียดเบียนผู้อื่น
๓.ความสงบ คือ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งกาย วาจาและใจ และ
๔.นิพพาน คือ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา ที่จะเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิต
ตามมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยง
ชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งใจมั่นชอบ

วิธีการ ๖ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติได้แก่

๑.ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้ายผู้อื่น
๒.ไม่ทำร้าย คือไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าผู้อื่น
๓.สำรวมในปาติโมกข์ คือการเคารพระเบียบ กติกา กฏหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคม ๔.รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี พอกิน พออยู่ หรือจะกล่าวแบบปัจจุบันว่าถือหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็ได้
๕.อยู่ในสถานที่ที่สงัด คืออยู่ในสถานที่ที่สงบ และมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
๖.ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิต หมั่นทำสมาธิภาวนา

จะเห็นได้ว่าธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสสั่งสอนนี้ ล้วนมีความหมาย และความสำคัญต่อการดำรงชีวิต
ไม่เพียงแต่ผู้อยู่ในเพศบรรพชิตที่บวชเรียนเท่านั้น คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน และฆราวาส
อย่างพวกเราทุกคนก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี ดังนั้น
ในโอกาสที่วันมาฆบูชาจะเวียนมาบรรจบในวันจันทร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ นี้ จึงขอเชิญชวน
ให้ทุกท่านได้ใช้วันนี้ เป็น “วันแห่งความรัก” ด้วยการ “ตามรอยพระพุทธองค์” มอบความรัก
ความเมตตาต่อตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และเพื่อนร่วมโลกทั้งหลาย โดยการประพฤติปฏิบัติ
ตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการพูดดี คิดดี ทำดี ไม่คิดร้ายทำลายผู้อื่นทั้งกาย
วาจา และใจ เพียงเท่านี้ สังคมทุกแห่งก็จะเกิดสงบสุข และโลกเราก็จะบานสะพรั่งด้วย ความรักสีขาว
ที่สะอาด บริสุทธิ์และปลอดพิษภัย







โดย:
งาน: งานผลิตเอกสาร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: อมรรัตน์ เทพกำปนาท สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง