[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ทำอย่างไรให้เป็นครูมืออาชีพ

                                                                              ทำอย่างไรให้เป็นครูมืออาชีพ

              คำว่า ''ครูมืออาชีพ'' กับ ''อาชีพครู'' นั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก สำหรับอาชีพครู ใครๆ ก็สามารถเป็นได้ ถ้าได้รับการว่าจ้างให้สอน แต่ ''ครูมืออาชีพ'' ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้สมกับความเป็นครูอย่างแท้จริงนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสภาพสังคมในปัจจุบัน
              หน้าที่ของครูที่แท้จริงนั้น ไม่จบเพียงการสอนในสาระวิชาที่ตนรับผิดชอบเท่านั้น แต่ยังกินความไปถึงการสอนถึงหลักการความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม เพื่อให้นักเรียนเติบโตขึ้นไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ คิดเป็น มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ รวมทั้งแสวงหาความรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดการเรียนรู้เพียงแค่เมื่อสำเร็จการศึกษาเท่านั้น ดังนั้น หากครูต้องการที่จะพัฒนาให้ตนเองเป็นครูมืออาชีพนั้น จะต้องทำอย่างไรบ้าง
              อันดับแรกสุด การเรียนรู้ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และเอื้อต่อการเรียนรู้ ส่งเสริมให้นักเรียนกล้าคิด กล้าถาม อย่าทำให้ห้องเรียน หรือโรงเรียนเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว กดดัน แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการปล่อยปะละเลยเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ครูจำเป็นต้องคงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ และปรับตัวเป็นคนที่มีระเบียบวินัย นอกจากนั้น ครูยังคงต้องรักษามาตรฐานต่างๆ ไว้ด้วย โดยเฉพาะมาตรฐานด้านการศึกษา ซึ่งมาตรฐานการศึกษาที่เหมาะสมนั้น ควรเป็นมาตรฐานที่ท้าทายระดับสติปัญญา ความรู้ ความสามารถของนักเรียน ไม่ย่อหย่อนมากจนทำให้นักเรียนไม่ต้องอาศัยความพยายามใดๆ ก็สามารถทำสำเร็จได้ เพราะจะทำให้นักเรียนเบื่อ ไม่มีความรู้สึกท้าทายใดๆ ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ยากเกินกว่าระดับความสามารถของนักเรียนที่จะก่อให้เกิดความท้อถอย นอกจากนี้ นักเรียนควรที่จะถูกฝึกให้สามารถประเมินความสามารถ และผลงานของตนเองได้อย่างถูกต้อง ไม่ลำเอียง กล่าวคือ มีความรู้จักตนเอง
            ประการที่สอง ครู โรงเรียน ครอบครัว และชุมชนควรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น การเชิญคนในชุมชนที่มีความสามารถด้านต่างๆ มาเป็นครูรับเชิญ เช่น หากใครเคยอ่านวรรณกรรมเยาวชนของประเทศญี่ปุ่นจะเห็นได้ว่ามีการเชิญครูชาวนา หรือครูทำขนม มาสอนวิธีการปลูกข้าว การทำขนมจริงๆ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติแล้ว การต่อยอดความคิดจะง่ายขึ้น เช่น การคิดแปรรูปผลิตภัณฑ์ เข้าใจว่าบางพื้นที่ในประเทศไทยเองก็มีการจัดการเรียนการสอนแบบนี้อยู่ แต่อาจไม่ต่อเนื่องนัก ผลดีของการเรียนรู้รูปแบบนี้ นอกจากจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ของจริงแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียน และชุมชน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนมีคุณค่า เป็นที่ยอมรับของครูรับเชิญ รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ของดีมีอยู่ของแต่ละท้องถิ่นได้อีกด้วย หรืออาจเป็นการสร้างโครงงานเข้าไปพัฒนา แก้ไขปัญหาของแต่ละชุมชน เช่น การบำบัดน้ำแหล่งน้ำสาธารณะ หรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
            ประการที่สาม ครูมืออาชีพต้องมีความสามารถในการขาย หมายถึงสามารถชี้แนะให้นักเรียนเห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นของการเรียนในวิชาดังกล่าวได้ หากครูไม่สามารถขายความจำเป็นที่จะต้องเรียนเนื้อหาวิชาแล้ว ความสนใจ และความเอาใจใส่ที่นักเรียนมีต่อการเรียนย่อมลดลง หลักสำคัญในการขายคือ การชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ในชีวิตประจำวันที่นักเรียนจะได้รับจากการเรียน หรือการเชิญบุคลในแต่ละสาขาอาชีพมาพูดคุยถึงหน้าที่การงาน หรือการพานักเรียนออกไปทัศนศึกษานอกสถานที่ เป็นต้น นอกจากนั้น ครูควรที่จะให้ความสำคัญกับหลักสูตรที่เน้นการเชื่อมโยงความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์จริง เน้นถึงวิธีการประยุกต์ความรู้
          ประการที่สี่ ครูต้องเตรียมนักเรียนให้มีความพร้อมก่อนเริ่มเรียน โดยชี้แจงเนื้อหาสาระของการเรียนในแต่ละคาบ พร้อมทั้งการจัดให้มีการทดสอบก่อนเรียน เพื่อดูความพร้อม
            ประการที่ห้า ครูมืออาชีพต้องกล้าเสี่ยง กล้าที่จะทดลองใช้วิธีการสอน อุปกรณ์การสอนแบบใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียน หากสอนด้วยวิธีนี้ไม่ประสบความสำเร็จ คือนักเรียนไม่สนใจมากเท่าที่ควร ครูต้องกล้าที่จะลองหาวิธีการสอนใหม่ที่เหมาะสมกับนักเรียนมากยิ่งขึ้น ห้องเรียนแต่ละชั้น นักเรียนแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การสอนจึงไม่มีคำตอบตายตัวว่าสอนแบบใดจึงจะได้ผล
          ประการที่หก ครูต้องมีความคิดเชิงระบบ มองเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคลในนักเรียน ที่แตกต่างกันทั้งทางร่างกาย สติปัญญา ความสามารถ รูปแบบการเรียนรู้ แรงจูงใจ และพื้นฐานทางครอบครัว โดยเฉพาะในรายที่มีความต้องการพิเศษนั้น ครูอาจขอคำแนะนำจากครูแนะแนวของโรงเรียน
            ประการที่เจ็ด นักเรียน และผู้ปกครองทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน แสดงให้นักเรียนเห็นว่าครูให้เกียรติ และรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนทุกคน สำหรับผู้ปกครองก็เช่นเดียวกัน อย่าให้ความแตกต่างใดๆ ไม่ว่าจะเป็นฐานะ สถานภาพทางสังคม หรือการศึกษามาเป็นตัวแปรในการเลือกปฏิบัติ
            ประการสุดท้าย ครูต้องสอนให้นักเรียนรู้จักที่จะเรียนรู้วิธีการเรียน (Learning how to learn) และเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (Life long learning) เนื่องจากในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นเร็วมาก และเกิดในลักษณะที่คาดการณ์ไม่ได้ ดังนั้น ความรู้ที่นักเรียนได้รับไปนั้นย่อมไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงการเข้าถึงแหล่งความรู้ที่เหมาะสม และเรียนรู้วิธีการเรียนด้วยตนเองเมื่อไม่มีครู เช่น รู้จักสังเกต ค้นคว้าด้วยตนเอง ดังคำกล่าวที่ว่า
''ให้ปลาหนูหนึ่งตัว หนูกินได้หนึ่งวัน สอนให้หนูหาปลา หนูมีปลากินได้ตลอดชีวิต''





รายละเอียด


โดย:
งาน: งานผลิตเอกสาร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์มติชนโดย กันยา ฤกษ์ขำ

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง