[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : ประกาศผลการตัดสินหนังสือดีเด่นประจำปี 50 มีหนังสือได้รับรางวัลดีเด่นเพียง 7 เล่ม และชมเชย 25 เล่ม

ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่น พร้อมคณะกรรมการฯ ร่วมแถลงข่าวผลการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2550 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย ดร.พนม กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเพื่อคัดเลือกหนังสือ 9 ประเภท ได้แก่ ประเภทสารคดี, นวนิยาย, กวีนิพนธ์, รวมเรื่องสั้น, หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี, หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 (ประเภทบันเทิงคดี / สารคดี), หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี (ประเภทบันเทิงคดี / สารคดี / บทร้อยกรอง), หนังสือการ์ตูนและนิยายภาพ และหนังสือสวยงาม ซึ่งในปีนี้มี สำนักพิมพ์ ผู้ประพันธ์ ผู้จัดทำภาพประกอบ ผู้ออกแบบและผู้จัดทำรูปเล่ม ส่วนราชการ สมาคม ผู้สนใจทั่วไป ฯลฯ ส่งหนังสือเข้าร่วมพิจาณาทั้งสิ้น 452 เรื่อง โดยในจำนวนนี้ คณะกรรมการฯ พิจารณาและตัดสินให้ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น 7 เรื่องและรางวัลชมเชย 26 เรื่อง

ดร.พนม เปิดเผยว่า สำหรับหนังสือที่ได้รับรางวัลดีเด่น และรางวัลชมเชย ในแต่ละประเภท มีดังนี้ 1.สารคดี รางวัลดีเด่น ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย โดย นิกร ทัสสโร รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ เจาะใจการ์ตูน โดย ครูอ็อด : ศักดา วิมลจันทร์ และทศชาติชาดกกับจิตรกรรมฝาผนัง เวสสันดรชาดก ภูริทัตตาชาดก จันทกุมารชาดก นารทชาดก วิธุรชาดก โดย นิดดา หงษ์วิวัฒน์

2.นวนิยาย ไม่มีหนังสือเล่มใดควรได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น แต่ได้รับรางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ 1.ผีเสื้อกับหิ่งห้อย โดย ประภัสสร เสวิกุล 2.โรงครู โดย มาโนช นิสรา และ 3.ลูกสาวฤาษี โดย ปริทรรศ หุตางกูร 3.กวีนิพนธ์ รางวัลดีเด่น ได้แก่ โคลงนิราศแม่เมาะ-นิราศแม่เมาะ โดย ก้องภพ รื่นศิริ รางวัลชมเชย ได้แก่ บทกวีแห่งรักแท้ โดย ก้องภาพ รื่นศิริ

4.รวมเรื่องสั้น รางวัลดีเด่น ได้แก่ พญาอินทรี โดย จรัญ ยั่งยืน รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ 1.จดหมายจากชายชราตาบอด โดย ประภัสสร เสวิกุล 2.คนเล็กหัวใจมหึมามหาสมุทร โดย ประชาคม ลุนาชัย และ 3.นาฏกรรมเมืองหรรษา โดย ชาติวุฒิ บุณยรักษ์, 5.หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี ไม่มีหนังสือเล่มใดควรได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ 1.คุณแม่พุงโต โดย วิมล วงษ์วันทนีย์-พริตชาร์ด 2.น้องโอกับลูกปัด โดย ระวี นิมมานะเกียรติ และ 3.โอม....เพี้ยง โดย เกวลิน กายทอง

6.หนังสือสำหรับเด็กอายุ 6-11 ปี แบ่งเป็น ประเภทหนังสือบันเทิงคดี ซึ่งไม่มีหนังสือเล่มใดควรได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น รางวัลชมเชย ได้แก่ ตัวเติมฝัน โดยหยาดฝน ธัญโชติกานต์ ประเภทหนังสือสารคดี ไม่มีหนังสือเล่มใดควรได้รับรางวัลดีเด่น และรางวัลชมเชย

7.หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี แบ่งเป็น ประเภทหนังสือบันเทิงคดี ไม่มีหนังสือเล่มใดควรได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ 1.คุณยายหวานซ่าส์ส์ส์ โดย ชมัยพร แสงกระจ่าง 2.พ่อนายกฯ สายไหม บ้านหนองฮี โดย สมคิด สิงสง และ 3.2589 เราเพียงผู้มาเยือน โดย เชตวัน เตือประโคน ประเภทหนังสือสารคดี รางวัลดีเด่น ได้แก่ แนวทางสู่ความสุข บทเรียนแห่งชีวิตในโลกยุคใหม่ โดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา และประเภทหนังสือบทร้อยกรอง ไม่มีหนังสือเล่มใดควรได้รับรางวัลดีเด่น สำหรับรางวัลชมเชย ได้แก่ ธรรมรักษา โดย สุวัฒน์ ไวจรรยา

8.หนังสือการ์ตูน และหรือนิยายภาพ รางวัลดีเด่น ได้แก่ ยายทองใบใจร้าย โดย เรืองศักดิ์ ดวงพลา รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ 1.ไพลินแห่งแม่น้ำแคว กาญจนบุรี โดย กองบรรณาธิการ E.Q.Plus ADVENTURE 2.มหากาพย์กู้แผ่นดิน บทที่ 1 องค์ดำแห่งหงสาวดี โดย อรุณทิวา วชิรพรพงศา และ 3.อภินิหารหลวิชัย-คาวี ภาค 1 โดย ชานุ ไชยะ

และ 9.หนังสือสวยงาม แบ่งเป็น ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป รางวัลดีเด่น ได้แก่ 100 ปี วังบางขุนพรหม โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ 1.ไม่ธรรมดา เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ โดย เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ 2.โสธรวรารามวรวิหาร นิมิตแห่งบุญ โดย ฐิรวัตร กุลละวณิชย์ และ 3.เหรียญบนแผ่นดิน ร.5 โดย ชัชวาล วูวนิช และประเภทหนังสือสวยงามสำหรับเด็ก รางวัลดีเด่น ได้แก่ พระสุธน-มโนห์รา โดย สุภลักษณ์ พูนสินบูรณะกุล และคณะ รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ 1.ปราบช้างตกมัน โดย กาญจนา ฐานวิเศษ 2.โลมาผจญภัย โดย ภัทรวลี นิ่มนวล และ 3.สี่สหายตะลุยสวนสนุก โดย กฤษณะ กาญจนาภา

ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลดีเด่นจะได้รับโล่รางวัล พร้อมเงินรางวัล จำนวน 30,000 บาท ส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลชมเชยจะได้รับเกียรติบัตร โดยผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 35 และงานหนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 5 ในวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม 2550 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ทั้งนี้ ดร.พนม ชี้แจงถึงสาเหตุที่คณะกรรมการฯ ไม่พิจารณาให้หนังสือได้รับรางวัลดีเด่นในบางประเภท ว่า เนื่องจากคณะกรรมการฯ พิจารณาว่ามีหนังสือที่ส่งเข้ามาประกวดนั้น บางเรื่องภาพกับเนื้อหาไม่สอดคล้องกัน หรือภาษาที่ใช้ในการเขียนใช้ภาษาปาก ไม่ใช้ภาษาเขียน รวมถึงการสะกดคำผิด เช่น กรณีหนังสือสำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี เล่าเรื่องว่า แมงป่องมี 8 ขา แต่ภาษาการ์ตูนที่สื่ออกมาวาด แมงป่องเพียง 6 ขา หรือที่พบว่าผิดมากคือ การสะกดคำผิด การใช้เครื่องหมาย การันต์ รวมถึงการใช้เครื่องหมาย ไม้ยมก ผิด เป็นต้น แบบนี้ถือว่าไม่ได้เพราะเด็กอยู่ในวัยที่กำลังจดจำในสิ่งที่ถูกต้อง หากให้เห็นสิ่งผิดๆ เด็กก็อาจจะจำในสิ่งที่ผิด เช่นเดียวกับหนังสือที่มีการตีพิมพ์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ก็จะพบความผิดพลาดในเรื่องของการใช้ไวยากรณ์ผิดหลักภาษาอังกฤษ ด้วย

สำหรับหนังสือนวนิยาย ส่งมาพิจารณา 25 เรื่องแต่ไม่เข้าเกณฑ์ไปแล้ว 3 เรื่อง แต่ที่เหลืออยู่ก็ขาดคุณสมบัติคือ คุณสมบัติของจำนวนหน้า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่อเสียด เสียดสีสังคม และเน้นเรื่องของเซ็กซ์โดยบรรยายอย่าชัดเจน ไม่ใช้ภาษาที่สื่อสารในด้านวรรณศิลป์ ดังนั้นที่พิจารณาไปพล็อตเรื่องส่วนใหญ่จึงอยู่ในระดับรางวัลชมเชย ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวและว่า ปัจจุบันจากการดำเนินการด้านนี้มา 35 ปีจะเห็นการพัฒนาของหนังสือไปมาก จากใช้ลายเส้นญี่ปุ่น ก็พัฒนามาใช้เทคนิคใหม่ๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น แต่ก็ขอฝากให้ทางสำนักพิมพ์ ผู้ประพันธ์ ฯลฯ ในการทำหนังสือให้เน้นในเรื่องคุณธรรม ความรู้ ให้แก่เด็กมากขึ้นด้วย





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: บ้านเมือง ฉบับที่ 1196 [หน้าที่ 13 ] ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2550

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 2

อ่าน 0 ครั้ง