[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : 3 กุนซือแนะเคล็ดลับ ช่วยให้ลูก(ศิษย์)ให้เรียนดี

    คงต้องยอมรับกันว่า เด็กแต่ละคนนั้นมีความเฉลียวฉลาดแตกต่างกันไป เด็กบางคนเก่ง ฉลาดเรียนรู้ได้ไว ขณะที่บางคนก็เรียนรู้ช้ากว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป

      อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ใช่ว่าจะหมดหวังเสียทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนหนังสือ เพราะเขามีเทคนิคและเคล็ดลับที่จะช่วยพัฒนาลูก พัฒนาหลานและพัฒนาลูกศิษย์ให้มีพัฒนาการดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
     
      ดร.กุลยา ก่อสุวรรณ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) บอกเล่าประสบการณ์ที่ช่วยให้ลูกศิษย์เก่งขึ้นว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เด็กแต่ละคนจะมีความโดดเด่นหรือเก่งไม่เหมือนกัน เช่น บางคนมีความถนัดคณิตศาสตร์ บางคนชอบภาษาไทยเป็นพิเศษ ขณะที่เด็กอีกจำนวนไม่น้อยกลับชอบวาดภาพ เป็นต้น เพราะฉะนั้นจะต้องหมั่นสังเกตลูกศิษย์เป็นรายคนว่ามีความถนัดทางด้านใดเป็นพิเศษ
     
      ทั้งนี้ การแบ่งความสามารถหรือความถนัดของเด็กสามารถแยกแยะออกเป็น 2 แบบด้วยกันคือ ความถนัดด้านการใช้สายตา และความถนัดด้านการใช้เสียง เพื่อที่จะได้เลือกวิธีการสอนหรือรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเด็กร้อยละ 80 ถนัดการใช้สายตา
     
      “เด็กคนไหนถนัดการใช้สายตา พอเด็กอ่านแล้วจะเข้าใจ ขณะเดียวกันเด็กที่มีความถนัดการใช้เสียง ต้องใช้การฟังและการอธิบายจึงจะเข้าใจเรื่องนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้เด็กทั้ง 2 กลุ่มเข้าใจ อาจารย์ผู้สอนจะต้องใช้การสอน 2 แบบมาผสมผสานกัน เพื่อให้เด็กเรียนรู้ทันกันหรือใกล้เคียงกัน แต่ปัญหาที่เป็นอยู่ก็คือ ผู้สอนส่วนใหญ่จะเลือกแนวทางการสอนเพียงอย่างเดียว ไม่ค่อยมีท่านใดใช้วิธีการสอนแบบผสมผสาน ส่งผลให้เด็กบางรายเรียนไม่ทันเพื่อนร่วมห้อง แล้วเมื่อพ่อแม่เห็นว่าลูกเรียนอ่อน ทางออกส่วนใหญ่ที่นิยมใช้กันคือจะส่งให้ลูกไปเรียนพิเศษแทน”
     
      ดร.กุลยาบอกเคล็ดลับวิธีการช่วยจำเพิ่มเติมว่า ถ้าหากข้อมูลนั้นกระจัดกระจาย ก็ให้ครูผู้สอนจัดให้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน เพื่อให้เด็กจำได้ง่ายขึ้น หรือใช้วิธีเรียนรู้จากของจริงหรือสถานการณ์สมมติ เช่น มีใบรายการให้นักเรียนซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน 7-8 รายการ โดยกำหนดวงเงิน 100 บาทให้เด็กเลือกซื้อสินค้า
     
      แต่สิ่งที่ต้องจำเอาไว้ให้ขึ้นใจก็คือ อย่านำลูก หรือลูกศิษย์ ไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นเด็ดขาด เพราะถ้าทำเช่นนั้นจะทำให้เด็กรู้สึกมีปมด้อย แล้วเกิดความรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียนในที่สุด
     
      “เพื่ออนาคตของลูก พ่อแม่ผู้ปกครองกับอาจารย์ผู้สอน จำเป็นต้องพูดคุย ปรึกษาถึงการเรียนของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ต้องหมั่นคุยกับลูก ถามว่าวันนี้มีการบ้านกี่วิชา อะไรบ้าง แล้วพยายามโน้มน้าวให้ทำการบ้านให้เสร็จก่อนค่ำ ขณะเดียวกันเพื่อปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน อาจจัดมุมหนังสือเล็กๆ ไว้ในบ้าน แล้วนั่งอ่านให้ลูกเห็น หรือถ้าเด็กยังเล็กอ่านหนังสือไม่ได้ ควรอ่านให้เขาฟังบ่อยๆ พอเขาโตเริ่มอ่านหนังสือออกเขาจะหยิบหนังสือที่สนใจมานั่งอ่าน”
     
      “อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าลูกศิษย์จะเป็นเด็กประเภทไหนก็แล้วแต่ จะต้องสอนให้เด็กมีเป้าหมายของตนเอง สมัยที่เราเป็นเด็ก ผู้ใหญ่มักจะถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร อาจตอบว่า ขายไอศกรีม ครู ทหาร ตำรวจ พยาบาล พอเติบโตขึ้นมาหน่อยเป้าหมายของเขาอาจเปลี่ยนไป และไม่ว่าเป้าหมายจะเปลี่ยนไป วิศวกร โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ การเปลี่ยนเป้าหมายไม่ใช่ว่าเด็กโลเล แต่เป็นเพราะว่าเขารู้จักโลกกว้างขึ้นเห็นมากขึ้นและรู้ว่าอะไรเหมาะกับเขา ในขณะที่หลายคนเรียนจนจบมหาวิทยาลัยแล้วยังไม่รู้ว่าจะทำงานอะไร”

      ด้าน ณัฐณิชา รื่นบุญ อาจารย์โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้คำแนะนำที่น่าสนใจไม่แพ้กันว่า ปกติที่สาธิตเกษตรฯ จะมีระบบคัดกรองความรู้ความสามารถของเด็กเป็นรายคน หากเด็กคนไหนเรียนอ่อน สมาธิสั้นและอื่นๆ ทางโรงเรียนจะคัดเด็กออกมาร่วมทำกิจกรรมในช่วงเย็น โดยมีวัตถุประสงค์ให้เด็กเรียนทันเพื่อนและมีสมาธิในการเรียนรู้
     
      จากนั้นได้ยกตัวอย่างวิธีการสอนเด็กสมาธิสั้นว่า เด็กกลุ่มนี้ไม่ชอบเขียน ไม่ชอบคิดวิเคราะห์ ไม่ชอบทำงานเป็นกลุ่ม และมีพฤติกรรมเบื่อง่ายๆ คือ พอรู้แล้วสิ่งนี้ทำอย่างไรเขาจะไม่สนใจอีกแล้วหันไปสนใจสิ่งอื่นๆ แทน ขี้ลืม ของหายบ่อย
     
      “กรณีครูผู้สอนอาจใช้วิธีการเล่าเรื่องจากภาพ ให้เด็กทำ Mind Map แล้วให้เด็กลำดับเหตุการณ์ หรื เขียนข้อความสั้นๆ แล้วตัดเป็นประโยค จากนั้นให้เด็กมาเรียงประโยคเพื่อให้ได้ใจความที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบ เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก อีกอย่างทุกครั้งที่ให้ทำกิจกรรม ควรให้เด็กมีการจดบันทึกว่า กิจกรรมนั้นๆ ทำสำเร็จหรือไม่ ซึ่งจากการทดลองกับลูกศิษย์พบว่าครั้งแรกๆ ไม่ค่อยสำเร็จ ต่อมาเมื่อทำหลายครั้งถึงจะสำเร็จ”ณัฐณิชาแจกแจง
     
      และปิดท้ายกันที่ “ศรีสุดา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา” อาจารย์โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้คำแนะนำว่า วิธีใช้วิธีเรียนรู้ที่ได้ผลดีอย่างมากก็คือ การเรียนผ่านกิจกรรม เช่นให้วัสดุแก่เด็กเหมือนกันทุกคน แล้วให้เด็กประดิษฐ์ “บ้านแสนสุข” ภายในเวลา 15 นาที จากนั้นให้เด็กออกมาเล่าสิ่งประดิษฐ์ของเขา
     
      “การเรียนรู้ผ่านสิ่งประดิษฐ์จะกระตุ้นให้เด็กตั้งใจทำ ที่สำคัญเขาได้แสดงออกถึงความสามารถที่อยู่ในตัวของเขาผ่านสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งจะพบว่าเด็ก 30 คน จะมีไอเดียถึง 30 อย่าง และเมื่อเด็กมีความมั่นใจ ต่อไปจะให้เด็กทำงานกลุ่ม เพื่อแสดงพลังแล้วช่วยกันคนละไม้ละมือออกมาเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์”





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 20 มีนาคม 2550 08:17 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง