[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

บทความน่ารู้ : เจาะทะลุทักษะการเรียนภาษาอังกฤษ

สาเหตุที่ทำให้การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่พูดไม่ออก ฟังไม่รู้เรื่อง อ่านไม่เข้าใจ

และเขียนภาษาอังกฤษไม่ได้ มีดังนี้

1.  มีความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า ตนเองมีไวยากรณ์ที่ถูกต้องและเพียงพอแล้ว แต่ความเป็นจริงคือ ไวยากรณ์ที่มีอยู่อาจจะไม่ถูกต้อง ไม่เพียงพอ หรือมีไวยากรณ์เพียงพอแต่นำมาใช้ไม่เป็น

2.  ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ใช้วัดระดับความรู้ทางภาษาอังกฤษไม่มีคุณภาพพอและไม่สามารถชี้นำให้นักศึกษาเรียนรู้เนื้อหาของการที่จะนำไปใช้ในการพูดการเขียนได้จริง ทำให้นักเรียนเข้าใจผิดว่า ตนเองรู้ภาษาอังกฤษโดยการตีความจากคะแนนสอบที่ออกมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระดับคะแนนที่สูงมิได้เป็นตัวสะท้อนถึงความรู้ในการใช้ภาษาอังกฤษเลย เพราะมาตรฐานที่ใช้ประเมินยังไม่มีคุณภาพ

3.  จากอดีตที่ผ่านมา การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยไม่เคยมีการสอนสำเนียงและวิธีการออกเสียงภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง ทำให้เมื่อพูดแล้วฝรั่งฟังไม่รู้เรื่อง สาเหตุที่สอนไม่ได้เพราะผู้สอนเองก็ไม่รู้วิธีการออกเสียงที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน

4.  ไม่มีการสอนให้คิดอย่างเป็นระบบ และจูงใจคนฟังได้ ทำให้ในขณะที่พูดกับชาวต่างชาติ นอกจากสำเนียงจะฟังลำบากแล้ว เนื้อหาที่พูดยังไม่ชัดเจน ไม่น่าสนใจ และไม่น่าเชื่อถือเพราะไม่มีเหตุผลมาสนับสนุนในสิ่งที่พูด ในการเขียนก็เช่นเดียวกัน สังคมตะวันตกเน้นเหตุและผลเป็นหลัก การเขียนประเด็นต่าง ๆ ขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่มีเหตุผลมาสนับสนุน หรือไม่มีการหักล้างประเด็นของฝ่ายตรงข้ามว่า อีกฝ่ายไม่มีเหตุไม่มีผลตรงจุดใด ถือว่าเป็นการยกประเด็นที่ฟังไม่ขึ้น หรือเป็นการโต้เถียงไปอย่างน้ำขุ่น ๆ

5.  ไม่มีการสอนให้สร้างมโนภาพ เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ต้องใช้มโนภาพเข้ามาเกี่ยวข้องในทุก ๆ ส่วน ทั้งพูด ฟัง อ่าน เขียน ดังนั้น การไม่มีมโนภาพจะทำให้การเรียนรู้ช้าและไม่เป็นระบบ

6.  ไม่มีการสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษมากพอ หรือศัพท์ที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน หรือสอนในลักษณะ Collocation เพื่อใช้เน้นเรื่องในการถ่ายทอดแนวความคิดออกมา

7.  มีความเชื่อที่ผิด ๆ ว่า “ถ้าอยากพูดภาษาอังกฤษได้ จะต้องไปเรียนสนทนาภาษาอังกฤษ” การจะเรียนสนทนาภาษาอังกฤษนั้น ควรเรียนเมื่อเราพอมีพื้นฐานในด้านไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่ถูกต้องในระดับหนึ่ง และมีคำศัพท์เพียงพอในการพูดเสียก่อน การเรียนสนทนาตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อฝึกพูดภาษาอังกฤษเป็นการเสียเวลา เพราะชาวต่างชาติมีวัฒนธรรมที่ว่า หากแก้ไขภาษาใครถือว่าเป็นการเสียมารยาท จึงพยายามเข้าใจในสิ่งที่เราพูดอยู่เสมอ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจผิดว่าสิ่งที่พูดนั้นถูกต้อง และต้องใช้เวลานานในการเรียนรู้และซึมซับการใช้ภาษาที่ถูกต้องจริง ๆ ดังนั้น การเรียนสนทนาภาษาอังกฤษควรเรียนเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย มีความชำนาญในการพูด และไม่เก้อเขินเมื่อต้องพูดคุยกับชาวต่างชาติ

วิธีการพัฒนาการเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง

ในกรณีที่เราไม่มีทุนทรัพย์มากพอที่จะไปเรียนต่างประเทศ หรือเรียนในโรงเรียนระบบอินเตอร์ และในกรณีที่เราจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษในหน้าที่การงานหรือในชีวิตส่วนตัว แต่ห่างเหินการใช้ภาษาอังกฤษมาเป็นเวลานาน การเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิผล มีวิธีการดังต่อไปนี้

1.  การพูด

    1.  พยายามเลียนวิธีการพูดของเจ้าของภาษา สังเกต เทียบเคียง และออกเสียงตาม และในขณะที่พูดจะต้องได้ยินเสียงของตัวเองเพื่อปรับสำเนียงและโทนเสียงให้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษาให้มากที่สุด

    2.  ต้องมีไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่ถูกต้องและแม่นยำเพราะไวยากรณ์จะช่วยให้พูดได้อย่างกระชับและชัดเจน นอกจากนั้น ต้องมีคำศัพท์มากพอเพื่อใช้ในการถ่ายทอดสิ่งที่เราต้องการจะพูดออกไป

    3.  พูดจาให้มีจังหวะจะโคน (Stress and Intonation) และไม่ควรพูดเสียงราบเรียบไร้อารมณ์

    4.  ขณะพูดต้องมีมโนภาพและความรู้สึกตามเรื่องราวที่เรากำลังพูดด้วย น้ำเสียงจึงจะไพเราะน่าฟัง และสามารถใช้ไวยากรณ์ได้อย่างถูกต้องตามมโนภาพที่ปรากฎ

    5.  ขณะที่พูดจะต้องรู้ตัวว่าตนเองกำลังจะพูดอะไร และพูดไปเพื่ออะไร เช่น พูดเพื่อขอร้อง พูดเพื่อแสดงความคิดเห็น หรือพูดเพื่อแสดงความขอโทษ เป็นต้น เราต้องรู้ซึ้งถึงประเด็นที่ตัวเองกำลังจะพูดอย่างชัดเจนเสียก่อน และต้องมีเหตุผลมาสนับสนุนเพื่อให้คำพูดมีน้ำหนัก ฟังแล้วน่าเชื่อถือ

      6.  อย่าอาย ขอเพียงตั้งใจพูดและพยายามสื่อความให้อีกฝ่ายเข้าใจมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ฝึกผสมเสียงที่ริมฝีปาก สังเกตการขยับปากที่ถูกต้องแบบเจ้าของภาษา และพูดจาอย่างนุ่มนวลไม่กรรโชกดุดัน

      7.  พูดมีหางเสียง พูดทีละคำให้ชัด ไม่ต้องพูดเร็ว

      8.  พูดภาษาอังกฤษกับตัวเองให้บ่อยที่สุดเพื่อให้เกิดความเคยชิน เมื่ออยู่ในสถานการณ์จริงจะได้พูดได้อย่างคล่องแคล่ว

2.  การฟัง

ฝึกฟังภาษาอังกฤษบ่อย ๆ ด้วยหูฟังอันใหญ่ ๆ วันละสองถึงสามชั่วโมง และในขณะที่ฟัง ผู้ฟังควรพยายามจับคำหลัก (Key words) และสร้างเป็นมโนภาพตาม จิตใจจะต้องจดจ่อไปที่แหล่งกำเนิดเสียง และที่สำคัญคือ ผู้ฟังควรมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องที่ฟังบ้าง ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ ควรฝึกอ่าน และฝึกฟังบ่อย ๆ เพื่อสะสมความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ไว้ให้มาก ๆ นอกจากนั้น อย่าคิดว่าชาวต่างชาติทุกคนจะต้องพูดรู้เรื่องเสมอไป เพราะชาวต่างชาติบางคนพูดจาไม่ตรงประเด็นก็มีมากมาย ก็ไม่ต่างกับคนไทยที่บางคนพูดจารู้เรื่องชัดเจน แต่บางคนพูดจากำกวม วกวนไปมา เป็นต้น

3.  การอ่าน

      1.  ฝึกสร้างมโนภาพในขณะที่อ่าน จะทำให้จิตใจมีสมาธิ สามารถจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ ทำให้อ่านแล้วไม่เหนื่อย วิธีฝึกสร้างมโนภาพคือ ฝึกอ่านหนังสือพิมพ์รายวันและพยายามสร้างมโนภาพตาม

      2.  แยกแยะและเปรียบเทียบข้อมูลเก่าและข้อมูลใหม่ว่า สิ่งที่เรากำลังอ่านอยู่นี้เหมือนหรือแตกต่างกับสิ่งที่เรารู้มา และยังไม่ควรเชื่อในทันที เพราะถ้าเชื่อหมดเราจะรู้สึกเหนื่อยหน่ายในการอ่าน เพราะมีข้อมูลใหม่อีกมากมายที่ต้องจดจำ ดังนั้น ในขณะที่อ่านให้ถามตนเองว่า “ข้อมูลพวกนี้เป็นจริงหรือ และผู้แต่งเอาข้อมูลมาจากไหน เชื่อถือได้หรือเปล่า ผู้แต่งมีมุมมองอย่างไร และข้อมูลใหม่นี้ให้ประโยชน์อะไรแก่เราได้บ้าง” เป็นต้น

        3.  พยายามหาประเด็นสำคัญที่ผู้แต่งต้องการจะบอกเรา

        4.  ขีดเส้นใต้ตรงเนื้อหาที่สำคัญ และเขียนความคิดเห็นของเราที่มีต่อข้อความนั้น ๆ ลงในหนังสือ เมื่อกลับมาอ่านอีกครั้ง จะทำให้จับประเด็นได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

        5.  จดสำนวนภาษาที่ไพเราะและน่าสนใจ เพื่อนำไปใช้ในการพูดและเขียนภาษาอังกฤษต่อไป

4.  การเขียน

        1.  สรุปประเด็นสั้น ๆ ก่อนลงมือเขียนจริงเช่น สิ่งที่จะเขียนมีกี่ประเด็น พร้อมเหตุผลและตัวอย่างประกอบ

        2.  ในหนึ่งย่อหน้าจะต้องมีประเด็นหลักเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น

        3.  เลือกใช้คำในบริบทที่ถูกต้องโดยเทียบเคียงกับการเขียนของเจ้าของภาษาว่า เขาจะเขียนกันอย่างไร อย่าผสมคำเองโดยเด็ดขาด

        4.  สร้างอารมณ์และความรู้สึกก่อนเขียน โดยตัวเราจะต้องรู้ก่อนว่าเราจะเขียนเพื่อจุดประสงค์อะไร เช่น เพื่อร้องเรียน เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือเพื่อแสดงความยินดี เป็นต้น ในขณะที่เขียน หากเรามีความรู้สึกสอดคล้องกับสิ่งที่เขียน ผู้อ่านจะรู้สึกได้และสามารถเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะบอกได้อย่างครบถ้วนและชัดเจน

        5.  อย่าใช้คำฟุ่มเฟือย อย่าเขียนแบบปากกาลากไป

        6.  ต้องอ่านหนังสือภาษาอังกฤษมาก ๆ เพื่อใช้เทียบเคียงว่าภาษาอังกฤษที่เขาใช้เขียนจริง ๆ เป็นอย่างไร

        7.  ควรเข้าใจในสิ่งที่ตนเองจะเขียนอย่างถ่องแท้เสียก่อน เพราะจะช่วยให้ประเด็นที่เขียนออกมาชัดเจนและเข้าใจง่าย หากตัวเราเองยังไม่เข้าใจ คงเป็นการยากที่จะถ่ายทอดให้อีกฝ่ายเข้าใจตามเราไปด้วย





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: Dr.Boonchai.com

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 1

อ่าน 0 ครั้ง