[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์

โดย...คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช

บทนำ

สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เน้นให้ตรีวารปัสกาเป็นการฉลองปัสกาประจำปี ธรรมล้ำลึกปัสกา คือ ''การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า''

ตรีวารปัสกา คือ การสมโภชธรรมล้ำลึกปัสกาโดยใช้เวลา 3 วัน ซึ่งเริ่มจากมิสซาเย็นระลึกถึงการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ และจบลงใน ''วัตรเย็น'' ของวันอาทิตย์ปัสกา ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองพิธีกรรมในสามวันนี้แบบแยกส่วน แต่ควรมองแบบภาพรวมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะการตั้งศีลมหาสนิท(วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์) เป็นการล่วงหน้าถึงพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า (วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งสมบูรณ์ด้วยการกลับคืนชีพของพระองค์(มิสซาตื่นเฝ้าในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์และมิสซาวันอาทิตย์ปัสกา) ดังนั้นคริสตชนจึงควรมาร่วมพิธีกรรมทุกวัน

เป็นการเหมาะสมที่ชุมชนเล็ก ๆ ของนักพรต (religious) ทั้งที่เป็นพระสงฆ์และไม่เป็นพระสงฆ์ รวมทั้งกลุ่มฆราวาสอื่น ๆ จะมาร่วมพิธีเฉลิมฉลอง ''ตรีวารปัสกา'' ในวัดใหญ่ (principle church) ที่อยู่ในละแวกนั้น (คำแนะนำเรื่องเทศกาลมหาพรตและการเตรียมการสมโภชปัสกา ข้อ 43)

วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณระลึกถึงการเลี้ยงของพระคริสตเจ้า

ธรรมล้ำลึกที่ฉลองในวันนี้คือ การตั้งศีลมหาสนิท การตั้งศีลบวชเป็นพระสงฆ์ และพระบัญชาของพระคริสตเจ้าให้เรารักกันฉันพี่น้อง คำเทศน์ในมิสซาควรอธิบายถึงเรื่องดังกล่าวนี้ (คำแนะนำเรื่องเทศกาลมหาพรตและการเตรียมการสมโภชปัสกา ข้อ 45)

โครงสร้างของพิธีมีดังนี้ เริ่มพิธี พอถึงพระสิริรุ่งโรจน์ให้สั่นกระดิ่งและย่ำระฆัง หลังจากนั้นจะงดสั้นกระดิ่งและย่ำระฆังจนถึงบท ''พระสิริรุ่งโรจน์'' ของคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์มิสซาตื่นเฝ้าปัสกา อาจงดเล่นดนตรีด้วย หรืออาจเล่นดนตรีเพื่อช่วยในการขับร้องได้ มีบทอ่าน 2 บท และพระวรสาร หลังจากนั้นเป็นพิธีล้างเท้า บทภาวนาเพื่อมวลชน ภาคบูชาขอบพระคุณ การรับศีล บทภาวนาหลังรับศีล และการแห่ศีลไปที่พักศีล

เพลงเริ่มพิธีของวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้พูดถึงการตั้งศีลมหาสนิท แต่ให้ความหมายทั้งครบของตรีวารปัสกา ''ส่วนเราต้องภูมิใจในไม้กางเขนของพระเยซูคริสต์ พระเจ้าของเรา ในพระองค์นั้น มีความรอด มีชิวิตและการกลับคืนชีพของเรา อาศัยพระองค์เราจึงรอดและเป็นอิสระ'' (เทียบ กท 6:14)

อามาลาริอุสแห่งเม็ทซ (ค.ศ.850) ได้ให้ความหมายของการงดสั่นกระดิ่งและย่ำระฆังว่า ''เป็นการชี้ให้เห็นถึงการถ่อมพระองค์ และการมอบตนอย่างสิ้นเชิงเพื่อเราของพระคริสตเจ้า'' นักพิธีกรรมบางท่านให้ความหมายของการงดสั่นกระดิ่งและงดเล่นเครื่องดนตรีว่าเป็นการ ''จำศีลของหู'' (งดฟังเสียงที่ไพเราะ) เหมือนกับธรรมเนียมคลุมไม้กางเขนและรูปพระในวัดเป็นการ ''จำศีลของตา''

บทภาวนาของประธานกล่าวถึง ศีลมหาสนิทเป็นบ่อเกิดของความรักและชีวิตที่บริบูรณ์ของเรา ''โปรดให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ตักตวงความรัก และชีวิตอันบริบูรณ์จากธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่นี้ด้วย''

บทอ่านที่หนึ่งพูดถึงการเลี้ยงปัสกาของชาวยิว อพย 12:1-8.11-14 บทอ่านที่ 2 นักบุญเปาโลพูดถึงการตั้งศีลมหาสนิทของพระเยซูเจ้า ''ทุกครั้งที่ท่านกินปังนี้ และดื่มจากถ้วยนี้ ท่านก็ประกาศการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา(1คร 11:23-26)

พระวรสารพูดถึงพระเยซูเจ้าทรงล้างเท้าอัครสาวก เพราะความรักพระองค์จึงทรงสละชีวิตของพระองค์เพื่อกอบกู้มนุษย์ให้พ้นจากบาป และทรงให้แบบอย่างแห่งการเป็นผู้นำ คือ ''การรับใช้'' แก่บรรดาศิษย์ของพระองค์

ในการตั้งศีลมหาสนิทพระเยซูเจ้าทรงมอบของขวัญ 2 ประการแก่มนุษย์ ประการแรกคือชีวิตของพระองค์เพื่อความรอดพ้นของเรา ประการที่สอง พระองค์ทรงมอบพิธีกรรมเพื่อเราจะได้ฉลองธรรมล้ำลึกแห่งพระกายและพระโลหิตของพระองค์

พิธีล้างเท้า เริ่มหลังจากบทเทศน์ ให้ภาพของการล้างเท้าที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ สิ่งที่สำคัญของพิธีนี้คือ ท่าทีภายในของคริสตชนที่มาร่วมพิธีที่พร้อมจะเลียนแบบความรักที่เสียสละตนเองของพระเยซูเจ้า (จะเห็นว่าในหนังสือพิธีไม่มีการกำหนดว่าจะต้องเป็นการล้างเท้า 12 คน เพราะจำนวน 12 เป็นเพียงสัญลักษณ์ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ ความหมายที่ซ่อนอยู่จากกิจการที่พระเยซูเจ้าทรงทำ และท่าทีภายในของคริสตชนดังที่กล่าวข้างต้น ...ผู้เขียน)

ข้อสังเกต คือ พิธีนี้เป็นพิธีที่ทำด้วยเหตุผลของการอภิบาล ถ้ามีเหตุผลจำเป็นสามารถงดไม่ทำพิธีล้างเท้าได้ แสดงให้เห็นว่าส่วนสำคัญที่สุดของพิธีกรรมในวันนี้ไม่ได้อยู่ที่การล้างเท้า แต่อยู่ที่การตั้งศีลมหาสนิทของพระเยซูเจ้า การล้างเท้าทำให้ภาพความรักของพระเยซูเจ้าชัดเจนขึ้น (พิธีล้างเท้าผู้ชายที่คัดเลือกไว้แล้ว (คำแนะนำเรื่องเทศกาลมหาพรตและการเตรียมการสมโภชปัสกา ข้อ 51)เทียบหนังสือพิธีสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์หน้า 86)

หลังจากพิธีล้างเท้าเป็นบทภาวนาเพื่อมวลชน

การแห่เครื่องบูชาของสัตบุรุษ นอกจากปังและเหล้าองุ่นที่สัตบุรุษจะนำมาถวายแล้ว อาจรวบรวมเงินที่สัตบุรุษอดออมในเทศกาลมหาพรต เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบูชาเพื่อช่วยผู้ด้อยโอกาส จะทำให้ภาพการร่วมส่วนในความรักของพระเยซูเจ้าในพิธีกรรมวันนี้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น (เพลงลำนำกล่าวว่า ''เมตตาธรรมและความรักอยู่ที่ใด พระเป็นเจ้าก็ทรงอยู่ที่นั่น'' ''ความรักของพระคริสตเจ้าได้รวมเราให้เป็นหนึ่งเดียวกัน'' หนังสือพิธีสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์หน้า 87)

การรับศีลมหาสนิทให้ความหมายว่า เราพร้อมที่จะเป็นผู้รับใช้ พร้อมที่จะมอบชีวิตของตนเพื่อผู้อื่นเหมือนกับพระเยซูเจ้า

หลังจากบทภาวนาหลังรับศีลจะมีการแห่ศีลมหาสนิทไปยังที่พักศีล โดยมีข้อสังเกตดังนี้

การนำศีลมหาสนิทไปยังที่พักศีลเพื่อที่จะเตรียมศีลไว้สำหรับพิธีรับศีลมหาสนิทในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์

เป็นโอกาสที่คริสตชนจะได้รำพึงถึงธรรมล้ำลึกแห่งศีลมหาสนิท และร่วมส่วนกับพระทรมานของพระเยซูเจ้า เปรียบเหมือนบรรดาศิษย์ที่อยู่ในสวนเกทเสมานีกับพระองค์

ที่พักศีลควรได้รับการตกแต่งในลักษณะที่เรียบง่ายและสร้างบรรยากาศในการรำพึงภาวนา (คำแนะนำเรื่องเทศกาลมหาพรตและการเตรียมการสมโภชปัสกา ข้อ 49)

หลังมิสซา ต้องเก็บศีลมหาสนิทไว้ในตู้ศีลหรือผอบศีล ห้ามมิให้ตั้งศีลโดยใช้ ''รัศมี''''อย่างเด็ดขาด และไม่ควรทำให้ที่พักศีลมีลักษณะเป็นพระคูหา (คำแนะนำเรื่องเทศกาลมหาพรตและการเตรียมการสมโภชปัสกา ข้อ 55)

ในการเฝ้าศีลมหาสนิทเสนอให้อ่าน ยน 13-17 (คำแนะนำเรื่องเทศกาลมหาพรตและการเตรียมการสมโภชปัสกา ข้อ 56)

หลังจากนั้นให้เอาสิ่งของต่าง ๆ ออกจากแท่นบูชา ให้นำกางเขนไปเก็บไว้ในห้องสักการภัณฑ์ หรือมีผ้าสีม่วงหรือแดงคลุมกางเขนที่อยู่ในวัด ไม่มีการจุดเทียนหน้ารูปนักบุญในวัด (คำแนะนำเรื่องเทศกาลมหาพรตและการเตรียมการสมโภชปัสกา ข้อ 57)





http://www.catholic.or.th/spiritual/article/article06/arti068.html


โดย:
งาน: กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง