[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์

โดย...คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช

วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ระลึกถึงพระทรมานของพระเยซูเจ้า

วันนี้ไม่มีพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ เราฉลองพระทรมานของพระเยซูเจ้า แต่ไม่ใช่พระทรมานซึ่งนำมาซึ่งความเศร้าโศก แต่เป็น glorious passion พระสงฆ์ใส่กาซูลาสีแดงไม่ใช่สีดำ สีแดงหมายถึง พระโลหิตที่พระเยซูเจ้าจอมกษัตริย์ทรงหลั่งบนไม้กางเขนอันเป็นการแสดงความรักและลบล้างบาปของเรา (สีแดงเป็นสีของมรณสักขี ซึ่งยอมสละชีวิตของตนตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า)

พิธีระลึกถึงพระทรมานให้ทำตอนบ่ายราว 3 โมง แต่อาจจะเลื่อนไปทำในเวลาที่เหมาะกว่า เพื่อให้สัตบุรุษมาร่วมพิธีได้มากที่สุดก็ได้ แต่ต้องไม่ล่าเกิน 3 ทุ่ม

โครงสร้างของพิธีกรรมแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ

1. ภาควจนพิธีกรรม

2. ภาคนมัสการกางเขน

3. ภาครับศีลมหาสนิท

ภาควจนพิธีกรรม

เริ่มด้วยขบวนแห่ของพระสงฆ์และศาสนบริกร บรรยากาศเป็นการรำพึงเงียบ ๆ ไม่มีเพลงเริ่มพิธี หลังจากนั้นพระสงฆ์หมอบกราบลง ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงความต่ำต้อยของมนุษย์และความเสียใจของพระศาสนจักร (คำแนะนำเรื่องเทศกาลมหาพรตและการเตรียมการสมโภชปัสกา ข้อ 65)

หลังจากนั้นเป็นบทภาวนาของประธาน (ไม่กล่าวให้เราภาวนา) จากนั้นเป็นบทอ่าน 2 บท อสย 52:13-53:12 บทเพลงของผู้รับใช้ที่ 4 และ ฮบ 4:14-16.5:7-9 ''ถึงแม้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตร ก็ยังทรงเรียนรู้ที่จะนบนอบเชื่อฟังโดยการรับทรมาน และเมื่อทรงกระทำภารกิจของพระองค์สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ก็ทรงเป็นผู้บันดาลความรอดพ้นนิรันดรแก่ทุกคนที่ยอมนอบน้อมเชื่อฟังพระองค์''

ศูนย์กลางของภาควจนพิธีกรรมอยู่ที่การอ่านพระทรมานของพระเยซูเจ้าจากพระวรสารนักบุญยอห์น ซึ่งเล่าถึงพระทรมานของพระเยซูเจ้าเป็น เป็น glorious passion พระองค์ทรงรับพระทรมานด้วยใจสงบ ทรงเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นพระประสงค์ของพระองค์ (ไม่ใช่เพราะสถานการณ์บังคับ) ที่จะถวายชีวิตของพระองค์เป็นเครื่องบูชาแด่พระบิดา เพื่อความรอดพ้นของมนุษย์ทุกคน

หลังจากนั้นเป็นบทภาวนาเพื่อมวลชน โดยลักษณะของบทภาวนาเพื่อมวลชนเป็นการตอบรับพระวาจาของพระเจ้า และเป็นการทำหน้าที่สงฆ์แห่งศีลล้างบาปของคริสตชนที่จะภาวนาเพื่อเพื่อนมนุษย์และเพื่อโลก จะสังเกตว่าบทภาวนาเพื่อมวลชนในวันนี้มีถึง 10 ข้อ และครอบคลุมอย่างกว้าง ๆ ถึงความต้องการของพระศาสนจักรและของโลก และในกรณีที่สังคมมีความต้องการสำคัญจริง ๆ (พระสังฆราช) ประมุขท้องถิ่นอาจอนุญาตให้เพิ่มเจตนาพิเศษได้ ชี้ให้เราเห็นว่า พระทรมานของพระเยซูเจ้าเป็นการถวายบูชาเพื่อมนุษย์ทุกคน

ดังนั้นภาควจนพิธีกรรมจึงเน้นที่การประกาศพระทรมาน การรำพึงถึงพระทรมาน และการภาวนาวอนขอให้ผลของพระทรมานบังเกิดผลแก่มนุษย์ทุกคน

ภาคนมัสการกางเขน

กางเขนเป็นเครื่องหมายแห่งความรักและการลบล้างบาปที่พระเยซูเจ้าประทานแก่เรา ภาคนมัสการกางเขนเริ่มด้วยการแสดงกางเขนซึ่งมี 2 แบบ

แบบที่ 1 ผู้ช่วยพิธีถือกางเขนที่มีผ้าคลุม กับอีกสองคนถือเทียนที่จุดแล้วมายังแท่น พระสงฆ์ยืนหน้าแท่นบูชา รับกางเขน เปิดผ้าตอนบนออกเล็กน้อย ชูกางเขนขึ้น ร้องเพลง ''นี่คือไม้กางเขน'' ทุกคนร้องตอบว่า ''เชิญมากราบนมัสการร่วมกันเถิด'' หลังจากนั้นทุกคนคุกเข่านมัสการเงียบ ๆ ครู่หนึ่ง แต่พระสงฆ์ยังคงยืนถือกางเขนชูอยู่ หลังจากนั้นพระสงฆ์เปิดผ้าคลุมแขนขวาของกางเขนชูขึ้นอีกครั้งพลางร้องเพลงและสัตบุรุษตอบรับและนมัสการกางเขนเหมือนข้างต้น ที่สุดพระสงฆ์เปิดผ้าคลุมกางเขนออกหมด ชูขึ้นพลางร้องเพลงและสัตบุรุษตอบรับและนมัสการกางเขนเหมือนเดิม ต่อจากนั้น พระสงฆ์พร้อมกับผู้ถือเทียนสองคน นำกางเขนไปที่ระหว่างโต๊ะรับศีลหรือที่อื่นที่เหมาะสม วางกางเขนลง ณ ที่นั้น หรือมอบให้ผู้ร่วมพิธีถือไว้โดยมีเทียนตั้งอยู่ทางซ้ายและขวาของกางเขน และนมัสการกางเขน

แบบที่ 2 พระสงฆ์หรือสังฆานุกรพร้อมกับผู้ช่วยอื่นไปที่ประตูวัด รับกางเขนที่ไม่มีผ้าปิด ส่วนผู้ช่วยพิธีก็รับเทียนที่จุดแล้วแห่ผ่านกลางวัดไปยังสักการสถาน ผุ้ถือกางเขนชูกางเขนขึ้นที่ใกล้ประตูครั้งหนึ่ง กลางวัดครั้งหนึ่ง และระหว่างโต๊ะรับศีลอีกครั้งหนึ่ง พลางร้องเพลง ''นี่คือไม้กางเขน'' ทุกคนร้องตอบว่า ''เชิญมากราบนมัสการร่วมกันเถิด'' หลังจากนั้นทุกคนคุกเข่านมัสการเงียบ ๆ ครู่หนึ่ง ต่อไป นำกางเขนไปที่ระหว่างโต๊ะรับศีลพร้อมด้วยเชิงเทียน

พระสงฆ์สามารถเลือกวิธีหนึ่งได้ตามความเหมาะสม (ถ้าในวัดมีธรรมเนียมคลุมกางเขนและรูปพระน่าจะเลือกแบบที่ 1 แต่ถ้าที่วัดไม่มีธรรมเนียมคลุมกางเขนและรูปพระน่าจะเลือกแบบที่ 2 ...ผู้เขียน)

การนมัสการกางเขนให้สัตบุรุษนมัสการแต่ละคน เป็นเจตนาเฉพาะของพิธีในวันนี้ แต่ถ้ามีสัตบุรุษจำนวนมาก อาจให้ทุกคนนมัสการไม้กางเขนพร้อมกัน อย่างที่มีกำหนดไว้ในหนังสือพิธี ให้ใช้ไม้กางเขนเพียงอันเดียวสำหรับให้สัตบุรุษนมัสการ เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ที่สมบูรณ์ในพิธี ไม้กางเขนที่ใช้ควรมีขนาดใหญ่และสวยงามพอสมควร

ภาครับศีลมหาสนิท

การรับศีลเป็นการมีส่วนร่วมในพระทรมาน โดยการมีส่วนร่วมกับองค์พระเยซูเจ้าผู้ทรงมอบพระองค์เพื่อเรา และดำเนินชีวิตบนหนทางที่พระองค์ให้เป็นแบบอย่างแก่เรา

บทภาวนาหลังรับศีลเป็นบทวิงวอนเพื่อขอพระเจ้าได้โปรดรักษาผลงานแห่งพระเมตตาของพระองค์ไว้ในตัวของเรา

บทขอพรเพื่อประชากรกล่าวถึงธรรมล้ำลึกปัสกา ''ประชากรของพระองค์ได้รำลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระบุตร พร้อมกลับหวังว่าจะกลับคืนชีพในภายหน้าแล้ว...โปรดให้เขาได้รับความเอ็นดูปรานี ความทุเลาบรรเทา ความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์ และความรอดพ้นตลอดนิรันดร''

ข้อสังเกต การเดินรูปเป็นกิจศรัทธาที่ดีที่พระศาสนจักรสนับสนุน แต่สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรกในวันศุกร์ ศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธีกรรมระลึกถึงพระทรมานของพระคริสตเจ้า ดังนั้นการกำหนดเวลาต้องแสดงให้เห็นว่า พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์มีความสำคัญมากกว่ากิจศรัทธา

วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นวันชดเชยใช้โทษบาปโดยบังคับทั่วพระศาสนจักร โดยการอดเนื้อและจำศีลอดอาหาร

ไม่มีการประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นใดในวันนี้ นอกจากศีลอภัยบาปและศีลเจิมคนไข้ ถ้ามีพิธีฝังศพต้องทำโดยไม่มีการขับร้อง และไม่มีการตีระฆัง





http://www.catholic.or.th/spiritual/article/article06/arti069.html


โดย:
งาน: กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง