[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : โลกมหัศจรรย์ของนักเรียนช่างทอง(หูหนวก)

      ครืด ครืด ครืด ... นักเรียนพิการทางการได้ยินประมาณ 40 คน กำลังก้มหน้าก้มตาตะไบปรับแต่งชิ้นงานของตัวเอง แล้วนำมาวัดกับเครื่องวัด เพื่อให้ได้ขนาดตามแบบ
     
      นี่คือจุดเริ่มต้นของการเรียน “พื้นฐานช่างทอง” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะผู้ที่จะเรียนได้นั้นจะต้องมีความประณีต อดทนเพื่อให้ผลงานออกสวยงามตามที่จินตนาการ แต่ถ้าหากไม่ตั้งใจเรียนผลงานอาจออกมาบูดๆ เบี้ยวๆ ยิ่งสำหรับผู้พิการทางการได้ยินหรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “คนหูหนวก” ด้วยแล้วยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ที่หลีกไม่พ้นจะต้องเผชิญกับปัญหาด้านการสื่อสาร
      ทว่า ก็ไม่มีอะไรที่ยากเกิน ถ้าหากตั้งใจ
     
      ผลแห่งพระมหากรุณาธิคุณ
      “อาจารย์ธวัช ศรีเพ็ชร์พันธุ์” รองผู้อำนวยการกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง เล่าให้ฟังว่า หลักสูตรช่างทองสำหรับผู้พิการทางการได้ยินจัดขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ เพื่อสนองพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ต้องการให้จัดการศึกษาด้านเครื่องประดับอัญมณีแก่นักเรียนผู้พิการทางการได้ยิน เพื่อให้นักเรียนนำความรู้ไปประกอบวิชาชีพ หรือไปสมัครเป็นพนักงานกับบริษัทที่ผลิตเครื่องประดับ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงตัวเองและไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม ประการสำคัญนักเรียนจะได้ภาคภูมิใจในความสามารถของตนเองอีกด้วย
     
      “ตอนที่พระองค์รับสั่ง ยังไม่มั่นใจว่าจะถ่ายทอดความรู้ให้เด็กยังไง เนื่องติดขัดปัญหาเรื่องการสื่อสาร ตอนหลังไม่มีปัญหาเราได้ล่ามมือมาเป็นสื่อกลาง ขณะเดียวกันอาจารย์ก็พยายามเรียนรู้ภาษามือไปด้วยจะได้สื่อกันง่ายขึ้น”
     
      ทั้งนี้ ก่อนที่จะรับนักเรียนเข้ามาเรียนได้มีการปรับเนื้อหาหลักสูตรวิชาเครื่องประดับอัญมณี 15 เดือน โดยเนื้อหาหลักสูตรแบ่งออกเป็น 2 ระยะ สำหรับระยะแรกเรียน 6 เดือน จะสอนงานรูปพรรณ 1-3 และงานประดับอัญมณี 1-3 พร้อมกับเสริมวิชาศิลปะและการออกแบบ ส่วนระยะที่ 2 จะสอนงานรูปพรรณ เครื่องประดับ ชนิดเข้มข้น พร้อมกันนี้ยังจัดให้นักเรียนเรียนวิชาสามัญเหมือนกับเด็กปกติ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้มีวุฒิเทียบเท่า ปวช. ซึ่งสามารถนำวุฒิไปสมัครงานได้
     
      อาจารย์ธวัชขยายความเพิ่มเติมว่า อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่แรกว่าจัดขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเฟ้นหานักเรียนกลุ่มนี้ประมาณ 6 คน เพื่อมาเป็นล่ามมือ เนื่องเพราะปีหน้ามีโครงการเปิดสอนระดับ ปวช. แล้วมีแผนขยายออกไประดับ ปวส. และปริญญาตรี
      “เรามองว่าผู้ที่จะสื่อสารกันได้ดีที่สุด ควรเป็นผู้พิการเหมือนกัน พูดง่ายๆ ว่าพูดภาษาเดียวกัน และจากการที่ได้สัมผัสกับนักเรียนกลุ่มนี้ ผมมองว่านักเรียนตั้งใจเรียน เขามีสมาธิ มั่นใจว่าอนาคตไกล ตอนนี้มีบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับหลายแห่ง มาจองตัวนักเรียนของเราเพื่อรับไปทำงาน”อาจารย์ธวัชแจกแจง
     
      ว่าที่นักประดิษฐ์เครื่องประดับ
      ศุภวัฒน์ แก้วสว่าง นักเรียนจากโรงเรียนโสตศึกษา จว.นครศรีธรรมราช เล่าว่า ก่อนที่จะเรียนจบ ม. 3 อาจารย์มาแนะนำว่าที่กาญจนาภิเษก ช่างทองหลวง จะเปิดหลักสูตรระยะสั้น “เครื่องประดับอัญมณี” ทำให้รู้สึกสนใจขึ้นมาทันที ประกอบกับสนใจศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ลองสมัครและก็ผ่านการคัดเลือกให้เข้ามาเรียน
     
      “พอรู้ว่าได้รับการคัดเลือกก็ยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่รู้ว่าจะเรียนได้ไหม การเรียนการสอนยากหรือหนักหรือเปล่า กลัวไปสารพัด ครั้นได้สัมผัสจริงๆ ผมยิ้มแก้มแทบปริเลย มันไม่ได้น่ากลัว ไม่ได้ยากอย่างที่คิด งานเบา สบายไม่ต้องใช้แรงเพียงแต่ต้องละเอียดอ่อนกับชิ้นงาน”
     
      “ผมกลับมองว่าคนที่พิการทางการได้ยิน น่าจะเรียนรู้ได้ดีและโชคดีกว่าคนปกติด้วยซ้ำไป เพราะผมและเพื่อนๆ ไม่ได้ยินเสียงดัง เวลาที่เราตะไบ หรือเจียระไนเครื่องประดับ เราไม่ได้ยินเสียงอีกอย่างเราตั้งใจทำไม่ชวนกันคุย หากเสียงดังมากๆ คนปกตินั่งทำนานๆ อาจทนความรำคาญเสียงดังไม่ไหว รึว่าทำงานติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน หลายปี คนปกติอาจกลายเป็นคนหูตึง หรือมีปัญหาทางการได้ยินตามมาก็ได้”
     
      ศุภวัฒน์บอกว่า ตอนนี้เริ่มหลงใหลกับของสวยงามอย่างเครื่องประดับอัญมณีชนิดถอนตัวไม่ขึ้นซะแล้ว คิดว่าน่าจะมาถูกทางและถ้ามีโอกาสอยากเรียนต่อจนจบปริญญาตรี จากนั้นจะไปสมัครงานเป็นพนักงานของบริษัทเครื่องประดับ
     
      ด้านวารี บุญวรรณ นักเรียนโรงเรียนโสตศึกษา จว.นครปฐม เล่าว่า ผู้หญิงกับของสวยงามเป็นของคู่กันมาตลอด โดยหลังจากตนเองและเพื่อนร่วมรุ่นที่ผ่านการคัดเลือกให้มาเรียนหลักสูตรนี้ ก็มีโอกาสเดินทางไปดูงานที่บริษัท แพรนด้า จิวเวอรี่ ซึ่งรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก เนื่องจากครื่องประดับที่วางโชว์ไว้สวยงามมาก ทำให้ตอนนั้นคิดในใจว่า สักวันหนึ่งจะดีไซน์สไตล์เก๋ไก๋ออกมาบ้าง
     
      “พอถึงเวลาเรียน หนูจะพยายามตั้งใจเก็บรายละเอียดที่อาจารย์สอน ลองทำตามที่อาจารย์สอนทุกขั้นตอน เพราะช่างทองหลวง มีการออกแบบเป็นเอกลักษณ์ของไทย ไม่เหมือนชาติอื่น แต่เราจะนำมาประยุกต์เข้ากับสมัยใหม่ เพื่อดีไซน์จะได้ต่างออกไปหลังเลิกเรียน หนูและเพื่อนๆ อีกหลายคน จะเข้าไปเซิร์ซในอินเทอร์เน็ต เพื่อค้นหาข้อมูลเทรนด์เครื่องประดับว่าขณะนี้นิยมสไตล์ไหน”
     
      สุดท้าย วารีบอกด้วยว่า ยิ่งเห็นโลกกว้างยิ่งได้เปรียบ จะได้รู้ความเคลื่อนไหวของแวดวงเครื่องประดับอัญมณี ที่มักจะเปลี่ยนไปตามเสื้อผ้าที่ใส่ อย่างไรก็ตาม ถ้าเรียนจบคงจะเรียนต่อในขั้นสูงขึ้นและสมัครเป็นพนักงานบริษัท ซึ่งหากบริษัทเปิดโอกาสให้ออกแบบก็จะยินดีมาก เพราะไม่อยากเป็นพนักงานที่นั่งทำตามแบบคนอื่นที่เขาออกแบบไว้ให้แล้ว





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 30 พฤษภาคม 2550 07:39 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง