[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : เศรษฐกิจพอเพียง...เรียนเพื่อใช้ชีวิต

      แม้ว่าความรู้ทางวิชาการจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่นอกเหนือจากความรู้ทางวิชาการแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าคือทักษะในการใช้ชีวิตในสภาวะสังคมปัจจุบันให้อยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสบริโภคนิยมที่ทำให้คนตีคุณค่าความเป็นมนุษย์จากวัตถุสิ่งของ ส่งผลให้ “คน” มีความเห็นแก่ตัวมากยิ่งขึ้น
     
      กระแสพระราชดำริตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ถือเป็นแนวทางที่ทุกคนสามารถนำมายึดถือและปฏิบัติ เพื่อดำรงตนอยู่ในกระแสแห่งวัตถุนิยมได้โดยไม่ไหวเอน
     
      โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรมหรือศูนย์คุณธรรม นำร่องจัดค่ายด้านผู้นำเยาวชน และคิดค้นโครงงานตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พานักเรียนเข้าใหม่ในปีการศึกษานี้ ตั้งแต่ระดับม.1- ม.6 และครูกว่า 700 ชีวิต ไปร่วมทำกิจกรรม เป็นเวลา 3 วันในค่ายนวภพ จ.สระบุรี
     
      สำหรับค่ายเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์นั้น จัดแบ่งออกเป็น 10 ฐาน ได้แก่ ปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง คุณธรรมกับเศรษฐกิจพอเพียง ศิลปะกับเศรษฐกิจพอเพียง ธรรมชาติศึกษากับเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาแนวคิดจิตอาสา การสร้างรายได้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เทคโนโลยีกับเศรษฐกิจพอเพียง โครงงานประหยัดพลังงานและออมทรัพย์ แผนที่คนดี และดนตรีกับเศรษฐกิจพอเพียง
     
      ทั้งนี้ นักเรียนและครูจะถูกจัดเข้าประจำแต่ละฐาน แต่ทุกคนจะต้องหมุนเวียนเข้าฐานทุกฐานจนครบทั้ง 10 ฐาน เพื่อให้ได้เรียนรู้ถึงแนวคิดของแต่ละฐานด้วย
     
      “จิระพันธ์ สวัสดี” ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ เปิดเผยว่า จุดมุ่งหมายหลักของการจัดค่าย เพราะต้องการให้เด็กๆ เข้าใจหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างความเข้มแข็งให้แก่ตัวเอง และจะคัดเลือกนักเรียนฐานละ 5 คน รวม 50 คน มาเป็นวิทยากรแกนนำที่จะขยายผลหลักการใช้ชีวิตที่มั่นคงไปสู่ครอบครัวและชุมชน
     
      “หลังจากการจัดค่ายสิ้นสุดลงแล้ว เราจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น วิทยากรแกนนำทั้ง 50 คน ซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนเรา จะนำผลจากค่ายมาขยายต่อไปยังเพื่อนๆ ในโรงเรียน โดยกิจกรรมทั้ง 10 ฐาน จะถูกกำหนดให้เป็นวิชาเลือกเสรี ให้เด็กๆ ได้เลือกเรียนตามความสนใจ เพิ่มเติมจากกิจกรรมที่นักเรียนเคยเรียนกันอยู่ โดยจะมีครูที่ปรึกษาที่ไปออกค่ายร่วมกับนักเรียนมาแล้วร่วมเป็นพี่เลี้ยงด้วย ซึ่งถือเป็นปีแรกที่เราเปิดวิชาเลือกนี้ขึ้น เป็นการนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่หลักสูตรการศึกษา”
     
      ผอ.ร.ร.มัธยมประชานิเวศน์ ยังบอกด้วยว่า การขยายผลปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะไม่หยุดอยู่เพียงที่โรงเรียนเท่านั้น แต่จะสร้างเครือข่ายกระจายไปยังโรงเรียนในพื้นที่เดียวกันโดยพร้อมให้ใช้โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าว ขณะเดียวกันก็จะพยายามให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอนด้วย
     
      “ที่ผ่านมาเราก็เปิดให้ผู้ปกครองเข้ามาเป็นวิทยากรร่วม เช่น มาเป็นพี่เลี้ยงร่วมกับครูในการทำกิจกรรม หรือให้ผู้ปกครองมาสอนให้เด็กๆ ทำขนม ตามความสมัครใจของผู้ปกครอง ซึ่งการทำกิจกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ผู้ปกครองทุกคนสามารถที่จะมาช่วยเป็นวิทยากรร่วมกับครูได้ และจะช่วยให้ผู้ปกครองกับครูมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดในการดูแลเด็กร่วมกันด้วย”
     
      ด้าน พิชชาพร สุดวิชา หรือน้องอีฟ นักเรียนชั้นม.1 แกนนำฐานศิลปะกับเศรษฐกิจพอเพียง ยกตัวอย่างกิจกรรมของฐานนี้ให้ฟังว่า เป็นการใช้ศิลปะในการสื่อความหมายของคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เช่น รูปกระปุกออมสิน การใช้ของใช้ฟุ่มเฟื่อย การซื้อขนม สมุดบันทึกรายรับรายจ่าย ที่ต้องการบอกถึงการให้รู้จักอดออม มีการจดรายรับรายจ่ายประจำวัน ภาพที่วาดจะช่วยเตือนตัวเองให้รู้ว่าแต่ละวันเราใช้เงินหมดไปกับอะไรบ้าง เป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่
     
      “อีฟได้เงินค่าขนม 50 บาทต่อวัน ส่วนน้องได้วันละ 20 แต่น้องมีเงินเท่าไหร่ก็จะซื้อขนมหมดทุกวัน อีฟเลยบอกแม่ให้ลดค่าขนมน้อง แต่ถ้าน้องหิวก็ให้มาเอาเงินที่อีฟแทน เพราะแต่ละวันอีฟจะใช้ประมาณ 30 บาทเหลือเก็บอีก 20 บาทอยู่แล้ว แม่จะได้ประหยัดเงินจ่ายค่าขนมได้อีกด้วย”
     
      ส่วน “จินตนา ภาพันธ์” หรือ จิน นักเรียนชั้นม.4 แกนนำฐานดนตรีกับเศรษฐกิจพอเพียง อธิบายถึงกิจกรรมประจำฐานว่า เวลานี้เยาวชนไทยกำลังหลงใหลกับวัฒนธรรมต่างชาติ จนลืมรากเหง้าการละเล่นดนตรีไทย ค่ายเพลงเองแทนที่จะใช้บทเพลงสื่อความหมายที่ดี ก็กลับเน้นจุดขายไปที่รูปร่างหน้าตาของนักร้อง กิจกรรมหนึ่งของฐาน คือการเรียนรู้วิเคราะห์บทเพลง ให้เข้าใจเนื้อหามากกว่าแค่ฟังคลายเครียดเท่านั้น โดยหยิบเอาบทเพลงต่างๆ มาเรียนรู้และวิเคราะห์เนื้อร้องว่าสื่อถึงเรื่องอะไร
     
      “เราพบว่าบทเพลงพระราชนิพนธ์ ทุกเพลงจะมีความหมายดี ภาษาดี ผิดกับเพลงวัยรุ่นสมัยใหม่อีกหลายๆ เพลงที่เนื้อหาส่อเสียดไปทางลามกอนาจาร ทั้งยังใช้สำนวนหยาบคาย แต่ก็ใช่ว่าเพลงสมัยใหม่จะมีแต่ไม่ดี บทเพลงจำนวนไม่น้อยมีเนื้อหาปลุกเร้า สร้างกำลังใจให้คนพร้อมลุกขึ้นดำเนินชีวิตต่อไป หรือเป็นเพลงที่สื่อถึงสังคมในปัจจุบัน อยากให้ทุกคนเริ่มมองหาสิ่งดีๆ รอบตัวเพื่อมาเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิต ที่เริ่มต้นง่ายๆ จากเพลงที่เราฟังกันทุกวัน ลองฟังและวิเคราะห์เนื้อหาเพลงดู เราอาจจะได้สิ่งดีๆ มาเป็นต้นแบบดำเนินชีวิต”
     
      เชื่อว่าหากเด็กทุกคน ได้ร่วมกันเรียนรู้ถึงแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทบทวนถึงสิ่งที่พวกเขากระทำอยู่ในทุก ๆวัน เยาวชนไทยจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสติ และไม่หลงไปตามกระแสที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 5 มิถุนายน 2550 08:18 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง