[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : ''นามานุกรมวรรณคดีไทย'' มูลนิธิสมเด็จพระเทพฯ กระตุ้นเยาวชนรักการอ่าน

นับเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของ *มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์* ที่ได้จัดทำ *นามานุกรมวรรณคดีไทย* ขึ้น เพื่อหวังให้เยาวชนไทยหันมาสนใจศึกษาวรรณคดีมากขึ้น

*คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะเลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เล่าถึงที่มาที่ไปในการจัดทำนามานุกรมวรรณคดีไทยว่า

''ที่ผ่านมามูลนิธิมุ่งเน้นการจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่เสด็จฯเยือนต่างประเทศเพื่อเผยแพร่ แต่ด้วยความที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับภาษาไทย โดยเฉพาะวรรณคดีไทย ทรงเป็นห่วงเยาวชนไทยเพราะไม่ค่อยสนใจอ่าน และศึกษาวรรณคดีไทย เนื่องจากโรงเรียนสอนเกี่ยวกับวรรณคดีน้อยมาก ดังนั้น คณะกรรมการของมูลนิธิจึงได้ร่วมกันจัดทำนามานุกรมวรรณคดีไทยขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 50 พรรษา ในปี 2548 และในฐานะที่ทรงเป็นผู้ก่อตั้ง และทรงอุปถัมภ์มูลนิธิฯ''

''ถือเป็นครั้งแรกที่มูลนิธิจัดทำนามานุกรมขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด 3 ชุด ประกอบด้วย 1.ชื่อเรือง 2.ชื่อผู้แต่ง และ 3.ชื่อตัวละคร ชื่อสถานที่ และชื่อปกิณกะ ซึ่งได้รับงบประมาณในการจัดพิมพ์จากบริษัท จีอี มันนี่ ประเทศไทย ขณะนี้นามานุกรมชุดแรกได้จัดพิมพ์ และวางจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว โดยได้รวบรวมเรื่องย่อ และคำศัพท์เฉพาะในวรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กว่า 300 เรื่อง เช่น พระอภัยมณี รามเกียรติ์ พระลอ แก้วหน้าม้า เป็นต้น''

สำหรับจุดเด่นของนามานุกรมดังกล่าวนั้น คุณหญิงไขศรีกล่าวว่า จะเป็นคู่มืออำนวยความสะดวกให้เยาวชน และครูได้ศึกษาวรรณคดีไทยได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องอ่านหนังสือวรรณคดี ซึ่งมีคำศัพท์เฉพาะที่ยากต่อความเข้าใจ ที่สำคัญนามานุกรมดังกล่าวเหมาะสำหรับให้ครูนำไปสอนนักเรียนในโรงเรียน หากเยาวชนได้อ่านนามานุกรมแล้ว เชื่อว่าเยาวชนจะชอบวรรณคดีไทย และรักชาติไทยมากขึ้น เพราะวรรณคดีไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

คุณหญิงไขศรีกล่าวทิ้งท้ายว่า ''แม้ว่ากระแสวรรณคดีต่างประเทศจะได้รับความสนใจจากเยาวชนอย่างมากในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะดึงเยาวชนเหล่านั้นให้หันกลับมาสนใจวรรณคดีไทย ก่อนที่เยาวชนจะลืมว่ามีวรรณคดีไทยอยู่ นามานุกรมดังกล่าวจึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนสนใจวรรณคดีไทย เนื่องจากสามารถศึกษาวรรณคดีไทยได้ง่ายขึ้น หลังจากจัดพิมพ์ครบ 3 ชุด ผู้อ่านจะสามารถเข้าใจวรรณคดีไทยอย่างถ่องแท้''

นายพิริยะ วิเศษจินดา ประธานบริษัท จีอี มันนี่ ประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนงบประมาณในการจัดพิมพ์นามานุกรม กล่าวว่า วรรณคดีไทยส่วนใหญ่ถูกละเลย และขาดการสืบทอดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการทำความเข้าใจในวรรณคดีไทยเป็นเรื่องยาก ตนจึงอยากมีส่วนในการสืบสานวรรณคดีไทยให้คงอยู่ โดยสนับสนุนงบประมาณในการจัดพิมพ์ ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวรรณคดีไทยทำได้ง่ายขึ้น และหวังว่าจะทำให้เยาวชนไทยได้รู้จัก สนใจ และตระหนักถึงคุณค่าของวรรณคดีไทยมากขึ้น

ผู้ที่สนใจนามานุกรมวรรณคดีไทยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ กองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โทร.0-2280-3581-9 ต่อ 671





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: มติชนรายวัน ฉบับที่ 10687 [หน้าที่ 26 ] ประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2550

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง