[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : เลือกกระเบื้องลดร้อน…เซฟพลังงาน

      คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองของมนุษย์บนโลกใบนี้ ส่งผลให้ “ภาวะโลกร้อน” กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสำหรับทุกชาติอยู่ในขณะนี้
     
      แม้ว่าการแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่มีวิธีที่จะสามารถยุติภาวะเตาอบของดาวโลกได้ในทันทีทันใด แต่การเริ่มต้นลงมือแก้ปัญหา และสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชนรุ่นหลังได้พึงตระหนักและเอาใจใส่กับความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ย่อมดีกว่าการละเลยและคิดว่าไม่ใช่ปัญหาของตนอย่างแน่นอน
     
      ดังนั้น คณะกรรมการพลังงานหอการค้าไทย จึงได้ดำเนินการจัด“โครงการค่ายสร้างครู พัฒนาเยาวชนคนอนุรักษ์พลังงาน”ขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวจะเน้นด้านการอนุรักษ์พลังงานที่จะปลูกฝังวินัย และสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของชาติ
     
      “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ประธานโครงการค่ายสร้างครูพัฒนาเยาวชนคนอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า หากพิจารณาจากนโยบายปฏิรูปการเรียนรู้ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะพบว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมุ่งเน้นความสำคัญไปที่ผู้เรียน ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ทุกขั้นตอน ให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมองการคิด และสติปัญญาอย่างเต็มศักยภาพ และมีการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
     
      “คณะกรรมการพลังงานหอการค้าไทย จึงร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้ และปรับหลักสูตร การเรียนการสอนในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา โดยมีเป้าหมายในการลดใช้พลังงานของประเทศ ซึ่งโครงการค่ายสร้างครู พัฒนาเยาวชนคนอนุรักษ์พลังงาน ที่ให้นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ เสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ช่วยอนุรักษ์พลังงานเข้ามาแข่งขันกัน จะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงการอนุรักษ์พลังงานร่วมกับครู และเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ ที่สำคัญจะเป็นการปลุกจิตสำนึกในการลดใช้พลังงานทางหนึ่งด้วย”
     
      สำหรับผลงานโครงการวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษาที่เข้าตาคณะกรรมการจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาไปครองได้ เป็นของ ด.ช.กิตติ สวงนพฤกษ์ ด.ช.ณัฐพล มาวงศ์ และ ด.ช. อิทธิเดช เศษโคตร นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง โดยพวกเขาทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบสีของกระเบื้องมุงหลังคาที่มีผลต่อการดูดกลืนความร้อน”
     
      ด.ช.กิตติ ถ่ายทอดแนวคิดในการทำโครงงานชิ้นนี้ว่า ปัจจุบันมีการเสนอขายกระเบื้องมุงหลังคาหลากหลายสี ซึ่งการเลือกสีของกระเบื้องมุงหลังคานั้น มีผลต่อการดูดกลืนความร้อนภายในบ้าน ซึ่งถ้าเรารู้จักเลือกสีของกระเบื้องมุงหลังคาให้เหมาะกับสภาพอากาศก็จะทำให้เราประหยัดพลังงานมากขึ้น คือ ไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามาก ถ้าบ้านไม่ร้อน ก็จะลดการเปิดแอร์ หรือพัดลมในบ้านซึ่งเป็นพลังงานสิ้นเปลือง
     
      สำหรับวิธีทดลองของน้องๆ จากเมืองรถม้านั้น จะใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิขณะเริ่มต้น และหลังจากนั้นทุกๆ 10 นาที เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก็จะสามารถเปรียบเทียบได้ว่ากระเบื้องมุงหลังคาสีต่างๆ มีผลในการดูดกลืนและคายความร้อนต่างกันอย่างไร
     
      “กระเบื้องมุงหลังคาที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ และช่วยประหยัดพลังงานมากที่สุด คือ กระเบื้องมุงหลังคาสีเขียว เพราะจะมีการคายความร้อนได้ดีที่สุด รองลงมาคือสีน้ำเงิน สีแดง และสีขาวตามลำดับ ซึ่งหากเราเลือกสีกระเบื้องที่ดูดความร้อนมาก ก็จะส่งผลให้ภายในบ้านมีความร้อนเพิ่มขึ้นไปด้วย” ด.ช. กิตติ กล่าวเพิ่มเติม
     
      ในฐานะที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจพลังงาน กิตติ ฝากถึง เพื่อน ๆ ที่ยังใช้พลังงานสิ้นเปลือง ว่า อยากให้เพื่อน ๆ หันมาใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น และควรใช้พลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานสิ้นเปลืองให้น้อยลง
     
      “ทรัพยากรธรรมชาตินั้น เราไม่สามารถผลิตได้เอง เมื่อใช้ไปมาก ๆ สักวันมันต้องหมด เราจึงควรตระหนักและใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด”
     
      ขณะที่รางวัลชนะเลิศโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตกเป็นของ น.ส.วรรณวิษา ทองทา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ ด.ญ. ศศิธร ทรัพยาสาร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จากโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง “เซลล์ไฟฟ้าจากถ่านในการผลิตน้ำส้มควันไม้”
     
      น.ส.วรรณวิษา เล่าถึงจุดมุ่งหมายในการทำโครงงานครั้งนี้ว่า เพื่อศึกษาหาแหล่งพลังงานทดแทน โดยคำนึงถึงความสะดวกและประหยัดมากที่สุด ในการทดลองได้นำเอาถ่านไม้ 3 ชนิด ได้แก่ ถ่านไม้ไผ่ ถ่านผลมังคุด และถ่านไม้จากยางพารา ที่เหลือจากการผลิตน้ำส้มควันไม้ ซึ่งใช้เตาเผาอุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส
     
      “เราแบ่งถ่านทั้ง 3 ชนิดเป็นลักษณะต่าง ๆ คือ เป็นผงละเอียด ผงหยาบ และเป็นก้อน มาประดิษฐ์เป็นเซลล์ไฟฟ้าเบื้องต้น โดยการศึกษาหาค่าความต่างศักย์ของเซลล์ไฟฟ้าที่ใช้สังกะสี อะลูมิเนียม แมกนีเซียม และแกรไฟต์เป็นขั้วไฟฟ้า แล้วเลือกขั้วไฟฟ้าพร้อมด้วยชนิด สภาพถ่าน รวมถึงอัตราส่วนระหว่างถ่านและน้ำที่ให้ค่าความต่างศักย์สูงสุดและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป”
     
      การฝึกอบรมนั้นนอกจากจะได้ฝึกให้เด็กมีกระบวนการการเรียนรู้อย่างมีระบบแล้ว สิ่งสำคัญกว่านั้นการเรียนรู้นอกห้องเรียนยังช่วยสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่เยาวชนร่วมกันอนุรักษ์ ดูแลและรักษาพลังงานของประเทศ รวมถึงส่งผลให้น้อง ๆเยาวชนนั้นมีพัฒนาการในด้านสติปัญญา และจิตใจเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 22 มิถุนายน 2550 08:07 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง