[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าว HR : ทำไมต้องเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมให้อยู่ในจิตสำนึกของ ผู้บริหารองค์กรในยุคปัจจุบัน... (ตอนที่ 1)

                                                                                                                                                            โดย  ว่าที่ร.ต.สมชาย  พุกผล
                                                                                                                                                        [email protected]
                                                                                                            (วิทยากร และที่ปรึกษาอิสระ ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์)


           
              ในปัจจุบันมีการกล่าวถึงเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม ของผู้มีอำนาจ หรือผู้บริหารในภาครัฐ รวมไปถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในภาคเอกชน อย่างกว้างขวาง จนทำให้ผู้คนในสังคมปัจจุบันกำลังเกิดข้อกังขาว่าผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจ กำลังขาดหลักการบริหารเหล่านี้จริง (ทั้งที่สังคมไทยก็เป็นสังคมแห่งพุทธศาสนามากว่า 700 ปี) ถึงขนาดนำหลักการด้านการเสริมสร้างจริยธรรม ธรรมาภิบาล และการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ มาประกาศเป็นวาระแห่งชาติกันอย่างจริงจังในรัฐบาลยุคปัจจุบัน

              หลาย ๆ องค์กรพยายามที่จะสรรหา ควานหา แย่งตัว ซื้อตัว ''คนเก่ง'' ที่เป็นทั้ง ''คนเก่ง'' และ ''คนดี''  แต่ถ้าองค์กรใด ได้คนเก่งที่เป็นคนไม่ดีแล้ว คงจะไม่เป็นผลดีแก่องค์กรแน่ ความจริงอย่างหนึ่งคือ องค์กรต่าง ๆ มักจะมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรระดับกลาง ถึง ระดับล่าง มากเกินไป จนละเลยการพัฒนาฝึกอบรม ผู้บริหารระดับสูง ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ควรมีการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง ในด้านหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม จริยธรรม หรือจรรยาบรรณในการบริหารธุรกิจ เพราะปัจจุบันนี้จะมีเพียงผู้บริหารบางคนในบางองค์กรเท่านั้นที่ได้พัฒนาจิตใจของตัวเองโดยการฝึกสมาธิ ขัดเกลาจิตใจตัวเองโดยอาศัยคำสอนทางศาสนา การพัฒนา ''จิตใจ'' นี้ถือเป็นจุดสำคัญเพราะใจเป็นบ่อเกิดของกิเลส เป็นบ่อเกิดของความชั่วและความดี ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม การที่เราจะไปยับยั้งหรือป้องกันพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้น เป็นเรื่องที่ยากมากแต่ถ้าจะดับกิเลสให้ถาวรนั้นจะต้องพัฒนาจิตใจของผู้บริหารให้เกิดความเข้มแข็งและต่อสู้กับฝ่ายอธรรมในจิตใจของตัวเองให้ได้เสียก่อน เพราะว่ายิ่งเก่งกว่าคนอื่นมากเท่าไหร่ โอกาสเข้าใกล้การทุจริตคอรัปชั่นก็มีมากขึ้นเท่านั้น ในช่วงแรกๆ กระแสของ บรรษัทภิบาล มาแรงมาก เพราะทุกคนเชื่อว่ามันจะสามารถแก้ไขปัญหาความไม่สื่อสัตย์ ไม่โปร่งใสของการบริหารงานได้ แต่วินาทีนี้ ไม่มีใครออกมารับรองได้ว่าระบบบรรษัทภิบาลเพียงระบบเดียวจะสามารถสกัดกั้น ''กิเลส'' ของคนเก่งๆ ที่เป็นผู้บริหารได้ เพื่อป้องกันมิให้กิเลสของผู้บริหารเข้ามาลุกลามในองค์กร เราควรเสริมสร้างระบบคุณธรรม จริยธรรม แก่ผู้บริหาร หรือผู้ที่มีอำนาจ ได้อย่างไร ?

              ที่นี้เรามาดูกันสักหน่อยว่า คุณธรรม จริยธรรม ของผู้บริหารนั้นจะต้องเสริมสร้างในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สนองตอบและส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมไทยได้

>> ผู้บริหาร ที่ดีนั้นควรจะมี หลักธรรมที่เรียกว่า พรหมวิหาร 4 (Holy Abiding) ได้แก่

            1.  เมตตา (Living  Kindness) แปลว่า ความรัก หมายถึง รักที่มุ่งเพื่อปรารถนาดี โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ
            2.  กรุณา (Compassion) แปลว่า ความสงสาร หมายถึง ความปรานี ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ สงเคราะห์สรรพสัตว์ที่มีความทุกข์ให้หมดทุกข์ตามกำลังกาย กำลังปัญญา กำลังทรัพย์
            3.  มุฑิตา (Sympathetic Joy) แปลว่า มีจิตอ่อนโยน หมายถึง จิตที่ไม่มีความอิจฉาริษยาเจือปน มีอารมณ์สดชื่นแจ่มใสตลอดเวลา 
            4.  อุเบกขา (Neutrality)แปลว่า ความวางเฉย นั่นคือ มีการวางเฉยต่ออารมณ์ที่มากระทบ และทรงความยุติธรรมไม่ลำเอียงต่อผู้ใดผู้หนึ่ง
              คงไม่ต้องขยายความมากกว่านี้นะครับ  เพราะชาวพุทธ หรือไม่ใช่ชาวพุทธ ที่เคยเรียนโรงเรียนในประเทศไทยทุกคนทราบดีอยู่แล้ว แต่ผู้บริหารอย่าหลงไปยึดถือเอา พรมวินาศ 4 เป็นที่ตั้งก็แล้วกัน ซึ่งได้แก่ “บ้าอำนาจ ฉ้อราษฎร์บังหลวง หลอกลวงลูกน้อง ยกย่องคนชั่ว”

>> ผู้บริหาร ที่ดีนั้นควรจะมี ธรรมะที่เรียกว่า สังคหวัตถุ 4 (Base of Sympathy) ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจผู้อื่น หรือธรรมเพื่อให้คน เป็นที่รักของคนทั่วไป อันได้แก่

              1.  ทาน (Giving Offering) คือการให้ เสียสละ แบ่งปันแก่ผู้อื่น
              2.  ปิยวาจา (Kindly Speech) คือ พูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพ นุ่มนวล เหมาะแก่ บุคคล เวลา สถานที่ พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดในทางสร้างสรรค์ พูดให้เกิดเกิดพลังใจ
              3.  อัตถจริยา (Useful Conduct) ทำตนให้เป็นประโยชน์ ตามกำลังสติปัญญา ความรู้ ความ สามารถ กำลังทรัพย์ และเวลาที่มี อย่างไม่เป็นที่เดือนแก่ตน หรือผู้อื่น
              4.  สมานัตตตา (Even and Equal Treatment) คือวางตนให้เสมอต้น เสมอปลาย วางตนเหมาะสมกับฐานะ ตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ร่วมทุกข์ร่วมสุข สม่ำเสมอ คือ เราควร
จะเป็นคนที่ “โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ปวงชน วางตนได้เหมาะ“
             
>> ผู้บริหาร ที่ดีนั้นควรจะมี จริยธรรม (Ethics) มีมาตรฐานของการกระทำ และพฤติกรรม  อันเป็นเครื่องบ่งบอกให้เห็นถึงการเป็นผู้ทรงเกียรติ ที่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก หรืออะไรที่ผิด โดยใช้ดุลยพินิจพิจารณาในเชิงศีลธรรม คือ

            1.  มีบุคลิกภาพการเป็นผู้มีจริยาที่ดี ทั้งการแต่งกาย การพูดจา การแสดงออกทั้งทาง กายจริยา (กาย) วจีจริยา (วาจา) และมโนจริยา (ใจ) ให้เหมาะสมกับกาลเทศะ โดยต้องอยู่ในพื้นฐานของการให้เกียรติ (Honorific) ผู้อื่นเสมอ
                            -  กายจริยา หมายความว่า การปฏิบัติการงานซึ่งต้องใช้กายเป็นสำคัญ โดยต้องรักษาระเบียบแบบแผน ถือเอาเหตุผลเป็นสำคัญขณะเดียวกันต้องไม่ถ่วงเวลาผู้อื่น ไม่ละเลยงานในหน้าที่ และต้องทำงานให้ลุล่วงทั้ง ''ต่อหน้าและลับหลัง''
                            -  วจีจริยา หมายความว่า การปฏิบัติการงานด้วยคำพูดเป็นสำคัญ ต้องน่าเชื่อถือได้ ต้องถือหลักว่า ''เสียชีพอย่าเสียสัตย์''
                            -  มโนจริยา หมายความว่า ตั้งจิตใจมั่นในการปฏิบัติงานทุกอย่างซึ่งเป็นหน้าที่ของตน ปักใจลงในการงานนั้นเห็นว่าการงานดีทั้งหลายรู้ได้เมื่อทำเสร็จ มิใช่รู้ได้เมื่อกำลังทำ หรือก่อนทำปักใจลงในการทำงานอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติทางใจด้วยดี โดยต้องทำงานด้วยใจสัตย์ มีมานะในการทำงานไม่เกียจคร้าน ไม่หวังพึ่งพาผู้อื่น ต้องรู้จักแบ่งเวลาในการทำงานและเวลาพักผ่อนโดยสมควร รักษาความเป็นระเบียบแบบแผน รู้รักษาหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ ต้องทำจริง ไม่ดึงดันในสิ่งที่ผิด ต้องคอยหมั่นตรวจสอบการงานอยู่เสมอเพื่อป้องกันการผิดพลาดอันเป็นการรองรับสถานการณ์ที่ อาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกเวลา
            2.  มีความสามารถในการตัดสินใจ และแก้ปัญหาได้อย่างเป็นกระบวนการ
            3.  อดทน สุขุม เยือกเย็น รู้จักควบคุมอารมณ์
            4.  ปฏิบัติต่อผู้อื่น อย่างถูกต้อง และยุติธรรม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
            5.  ไม่หลงอำนาจ ไม่ระแวงสงสัย หรือแสดงการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น
            6.  รู้จักให้อภัย กล้ารับผิด รับชอบ
            7.  ไม่ปกป้องตนเอง และปกป้องพรรคพวกเพื่อนพ้องในทางที่ผิด
            8.  รู้จักการระงับโทสะ โมหะ อย่างมีสติ และมีเหตุมีผล
            9.  คำสั่งต้องชัดเจน บนพื้นฐานความถูกต้องของกฎหมายบ้านเมือง และไม่ขัดต่อวัฒนธรรม
            10.  มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ ประกอบไปด้วยความซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่ได้ไม่ทำอะไรที่ส่งผลกระทบ ต่อวิชาชีพ ต้องรักษาความลับ ไม่ทำอะไรที่ขัดหรือเสียต่อผลประโยชน์ขององค์กร

##  โปรดติดตามกันต่อใน (ตอนที่ 2) ว่าผู้บริหารต้องมี ภาวะผู้นำ และกล้าเปลี่ยนแปลงอย่างไร ?  ##





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: www.hrcenter.co.th

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง