[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : “วิจิตร” วิพากษ์วงการศึกษาไทยขาดภาวะผู้นำ

      ครุจุฬาฯ เชิดชู “ปู่จิตร” เป็นปูชนียาจารย์แห่งคณะครุศาสตร์ ด้าน “วิจิตร” แย้มวงการศึกษาไทยขณะนี้ขาดภาวะผู้นำ ที่มีอยู่นับ 100 องค์กรไม่ได้เรียกร้องเพื่อส่วนรวมจะออกมาก็ต่อเมื่อเสียประโยชน์ แนะนักเรียน ครูใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่าและอย่าให้เทคโนฯมาสอนแทนครู

      วันนี้ (10 ก.ค.) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสภาคณบดีครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดงานเฉลิมฉลอง 50 ปี คณะครุศาสตร์ 90 ปี จุฬาฯ และ 115 ปีการฝึกหัดครู โดยวันนี้ได้มีการประกาศเกียรติคุณปูชนียาจารย์แห่งคณะครุศาสตร์ พ.ศ.2550 ให้แก่ ศ.กิตติคุณ ดวงเดือน พิศาลบุตร, ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ เพียรชอบ, ศ.กิตติคุณ ดร.สุจริต เพียรชอบ, ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ และ ศ.กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล นอกจากนี้ ยังมีศิษย์เก่าเกียรติยศ 64 คน
     
      ศ.ดร.วิจิตร ได้กล่าวปาฐกถา ศ.ท่านผู้หญิง พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เรื่อง “โอกาสและความหวังในการพัฒนาการศึกษาไทย” กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้ถ้าหากจะดูว่าโอกาสการพัฒนาการศึกษาไทยให้เจริญก้าวหน้า พร้อมทั้งจะให้หลุดพ้นจากภาวะตกต่ำที่เป็นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานให้ได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 5 ปัจจัย สำหรับปัจจัยแรก เจตจำนงแห่งรัฐ ต้องปรากฏอย่างชัดเจนในกฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นหมายถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งให้ความสำคัญด้านการศึกษา เพราะได้มีการบรรจุไว้ในหมวดสิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่เพิ่งถูกยกเลิกไป ได้บัญญัติเรื่องการศึกษาไว้อย่างชัดเจน ที่ให้รัฐจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี โดยให้เยาวชนทุกคนได้รับการศึกษาฟรีไม่น้อยกว่า 12 ปี จนกลายเป็นที่มาของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หรือกฎหมายแม่บททางการศึกษาที่สำคัญและยังมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ต้องทำตาม
     
      ปัจจัยที่ 2 เจตจำนงแห่งรัฐบาล หรือเจตจำนงทางการเมือง หมายความว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ต้องดูว่ารัฐบาล หรือพรรคการเมืองนั้นให้ความสำคัญกับการศึกษาแค่ไหน แต่เป็นที่น่าพอใจเพราะพรรคการเมืองที่เหลืออยู่ในขณะนี้อย่างน้อย 2 พรรคซึ่งในอดีตเคยทำงานการศึกษาและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เช่น พรรคหนึ่งรับผิดชอบการปฏิรูปการศึกษา และอีกพรรคหนึ่งเข้ามาสานต่อตามแนวทางปฏิรูปการศึกษา จุดนี้ชี้ให้เห็นว่าเป็นพรรคที่มีเจตจำนงแน่วแน่ในการที่จะพัฒนาด้านการศึกษา
     
      ปัจจัยที่ 3 เจตจำนงของประชาชน เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ อยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษามากขึ้นโดยผ่านทางการบริหารงานแบบคณะกรรมการ รวมถึงออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องที่มีผลกระทบต่อบุตรหลานของตนเอง อย่างไรก็ดี ตนอยากให้การศึกษาทุกเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชนมีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาและจัดการศึกษาได้ดีมากยิ่งขึ้น
     
      ประการที่ 4 ปัจจัยด้านภาวะผู้นำ เพราะสังคมไทยในขณะนี้ขาดแคลนผู้นำทางการศึกษาที่เป็นคนกล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้าเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเรายังพบว่าวงการศึกษายังขาดแคลนผู้ขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ แต่มีการขับเคลื่อนแบบตัวใครตัวมันไม่มีความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังนั้น อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจับมือกันเร่งรัดพัฒนาการศึกษา หลักสูตรการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญ สถาบันที่สอนด้านการจัดการต้องทบทวนตนเองและปรับหลักสูตรเพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Agent ให้ได้
     
      “ที่ผ่านมา เรามีปรากฏการณ์ของกลุ่มคนในแวดวงการศึกษามีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เดิมสมาคม องค์กรวิชาชีพครู จะทำหน้าที่ชี้นำการพัฒนาทางวิชาการและวิชาชีพเพื่อส่วนรวม แต่สมาคม องค์กร ที่ขณะนี้มีกว่า 100 แห่ง รวมกลุ่มกันเพื่อพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของตน ตรงนี้ไม่ผิด เพราะการพิทักษ์ผลประโยชน์เป็นสิทธิอันชอบธรรม แต่การรวมกลุ่มเพียงแค่พิทักษ์ผลประโยชน์ส่วนตัวไม่มีการเรียกร้องเพื่อส่วนรวม
      ยกตัวอย่างเรื่อง การสอบโอเน็ต 8 วิชา เราจะพบว่ามีนักเรียนเท่านั้นที่ออกมาเรียกร้อง ทั้งๆ ที่องค์กรเหล่านี้ควรเข้ามามีบทบาทด้วย พอเรื่องที่ตนเองเสียประโยชน์หรือไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าจึงจะออกมาครั้งหนึ่ง ตรงนี้นับว่าเป็นจุดอ่อนที่สุดใน 5 ปัจจัย
     
      และปัจจัยที่ 5 ทรัพยากรและเทคโนโลยี ศ.ดร.วิจิตร กล่าวว่า ความจริงแล้ว รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้ ศธ.เป็นอันดับ 1 แต่ปัญหาอยู่ที่ยังขาดระบบการบริหารจัดการงบที่มีประสิทธิภาพ เพราะหลายคนยังยึดคติเก่า มองแค่ว่ารัฐบาลต้องจัดสรรเงินมาให้ก่อนจึงทำงาน ตนอยากให้มองงานเป็นตัวตั้งและเงินเป็นตัวรอง ตนถือว่าหากเราทำงานดีเงินก็จะตามมาเอง ไม่ใช่มานั่งรอเงินถึงจะทำงานถ้ายังยึดอย่างนี้การศึกษาคงไม่มีวันก้าวไปข้างหน้า
     
      สำหรับเทคโนโลยีมีความสำคัญ ต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอนในยุคดิจิตอล ดังนั้น เราจะต้องใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูง แต่ทุกวันนี้ยังใช้ไม่คุ้มค่า เนื่องจากเราพยายามผลักดันซื้อเครื่องคอมพ์เพื่อนำมาใช้งาน เรามีคอมพิวเตอร์แต่ไม่มีซอฟต์แวร์หรือเนื้อหา บทเรียนที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาเด็ก หากยังไม่มีเนื้อหาที่จะมากระตุ้นความรู้ของเด็กก็ถือว่าเราใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า
     
      “สิ่งที่ผมอยากจะฝากไปถึงครู และหน่วยงานที่เกียวข้องทุกหน่วยหันมาประสานจับมือกัน ว่า ระบบการศึกษาของเรายังขาดอะไรบ้างแล้วมาพัฒนาจุดนั้นให้ดี ขณะเดียวกันผมอยากให้ครูสอนเด็กให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสืบค้นข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต วิธีนี้เป็นการให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง และเทคโนโลยีนี้มาเป็นผู้ช่วยครู ซึ่งไม่ใช่มาแทนครู เพราะฉะนั้น ครูยุคนี้จะต้องศึกษาและใช้เทคโนโลยีได้อย่างชำนาญ ไม่เช่นนั้นครูที่ไม่ขยับมาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่จะถูกครูที่มีความเชี่ยวชาญแซงหน้า”





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 10 กรกฎาคม 2550 17:23 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง