[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : พิษแห่ฟ้องหมอส่งผล นศ.แพทย์สละสิทธิ์เพียบ!

      เผยนักเรียนสอบติดแพทย์สละสิทธิ์พุ่งสูงร้อยละ 25 สะท้อนค่านิยมคนเรียนแพทย์น้อยลง ด้านเลขาธิการแพทยสภา ระบุ หมอเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นมากขึ้น จากกรณีญาติและคนไข้ฟ้องหมอเพิ่มขึ้น มีเรื่องร้องเรียนค้างพิจารณาที่แพทยสภา 600 เรื่อง ด้านเครือข่ายผู้ป่วยติงแพทยสภาให้ตำรวจถามความเห็นก่อนรับแจ้งความฟ้องหมอเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปลัดยุติธรรมหนุนแพทย์ควรมีกฎหมายพิเศษดูแล ไม่ควรต้องรับโทษทางอาญา เหตุเพราะความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ หมอไม่ได้ตั้งใจทำร้ายผู้ป่วย เห็นด้วยตั้งกองทุนชดเชยความเสียหาย
     
      ศ.เกียรติคุณ นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี ประธานอนุกรรมการสิทธิด้านสุขภาพอนามัยและผู้สูงอายุ ผู้พิการสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดการสัมมนา “สิทธิปัญหาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการและผู้รับบริการทางการแพทย์” เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเท็จจริงในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ สิทธิของแพทย์ คนไข้และญาติ แนวทางแก้ปัญหารวมทั้งผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับริการสาธารณสุข พ.ศ...
     
      ศ.เกียรติคุณ นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับญาติและคนไข้นำไปสู่การร้องเรียนทางจริยธรรม การฟ้องศาลทางแพ่งและทางอาญาสูงขึ้น ซึ่ง 6 ปีที่ตนเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับการร้องเรียนหลายเรื่อง เช่น กรณีตั้งครรภ์มีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย แพทย์ขูดมดลูก แต่เด็กยังอยู่ ต้องวิตกกังวลจากการตั้งครรภ์เป็นเวลา 9 เดือน เกรงว่า ลูกจะพิการ หรือการเสียชีวิตของแม่และลูกจากภาวะรกเกาะต่ำ แพทย์ผ่าตัดให้แต่ไม่ได้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ทำให้เสียเลือดมาก ฯลฯ พบว่า หลายกรณีเกิดจากความไม่เอาใจใส่ในการให้บริการขาดการให้คำอธิบายกับคนไข้และญาติ คาดหวังว่า เวทีการสัมมนาครั้งนี้จะร่วมกันแสวงหากลไก ระบบการบริหารจัดการที่เหมาะสม แนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะวิชาชีพแพทย์เป็นที่ยอมรับและนับถือของคนในสังคม
     
      รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวในการอภิปรายหัวข้อ “สิทธิและปัญหาของผู้ให้บริการและผู้รับบริการทางการแพทย์” ว่า มีนักเรียนสอบได้คณะแพทยศาสตร์สละสิทธิ์ภาพรวมของทั้งประเทศคิดเป็นร้อยละ 25 เฉพาะที่คณะแพทย์ฯ ศิริราชมีสละสิทธิ์ร้อยละ 15 ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง ถือว่าความต้องการเป็นแพทย์ในภาพรวมลดลง ผู้ที่มีคะแนนสูงหันไปเรียนสาขาอื่นแทน ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ กำลังทำวิจัยเรื่องนี้อยู่
     
      สำหรับการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นนักศึกษาแพทย์นั้น มีข้อสอบวัดด้านจริยธรรมทางการแพทย์และเมตตาธรรม เมื่อเข้าเรียนก็มีกระบวนการเรียนการสอนปลูกฝังจริยธรรมและคุณธรรม เช่น การเข้าค่ายตั้งสติ การเรียนพยาธิสภาพโรค กายวิภาคด้วยการผ่าศพ เป็นการศึกษาจากร่างกายมนุษย์จริงๆ เพื่อหล่อหลอมให้นักศึกษาแพทย์ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ สอนให้เป็นผู้นำ มีทักษะการสื่อสาร มีความรู้พร้อมรักษาดูแลประชาชนอย่างมืออาชีพ
     
      ขณะที่ นายสัมภาษณ์ กุลศรีโรจน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายฝึกอบรมการบิน สายการบินนกแอร์ ผู้แทนเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยมีสิทธิในฐานะที่ควรได้รับการดูแลที่ปลอดภัยที่สุด แต่ปัญหาที่เจอบ่อยๆ เมื่อพิสูจน์ถึงสุดท้ายจะพบว่า ปัญหาเกิดจากการไม่ได้เป็นการรักษาด้วยใจ ขั้นตอนในการผลิตแพทย์ไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาคือ การควบคุมมาตรฐานการรักษาหลังจากนั้น สิทธิต่อมาที่ประชาชนมักถูกละเมิด คือ สิทธิพื้นฐานในการฟ้องร้องหลังจากเกิดความเสียหายขึ้น และสิทธิในความเป็นมนุษย์ที่ถูกละเมิด หลายๆ กรณีถูกละเมิดทั้งกายและใจ
     
      “ส่วนใหญ่ความเสียหายทางการแพทย์ จะถูกระบุว่าเป็นเหตุสุดวิสัย โดยไม่ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดทางการแพทย์ ขณะที่แพทยสภาก็ ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างแท้จริง เพราะไม่ได้รักษาความเป็นกลางระหว่างผู้เสียกับแพทย์แต่กลับทำหน้าที่ปกป้องแพทย์ เมื่อเปรียบเทียบกัน ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้คดีทางการแพทย์จำนวน 98,000 -190,000 รายต่อปี ขณะที่ประเทศไทย มีคดีทางการแพทย์ 25,000 – 500,000 รายต่อปี ขณะที่มีผู้ถูกตัดสินความผิดแค่ 30-40 ราย เท่านั้น”นายสัมภาษณ์กล่าว
     
      นายสัมภาษณ์กล่าวต่อว่า การฟ้องร้องในโรงพยาบาลเอกชน จะพบว่า มีจำนวนไม่มากเพราะ รพ.เอกชน มีเงินจ่ายเมื่อเกิดความเสียหายอย่างเต็มที่ ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐบาล ซึ่งมีสัดส่วนเข้ารับการรักษามากกว่า จะทำอะไรต้องระมัดอย่างสูง เพราะไม่มีงบประมาณจ่ายในส่วนนั้น ระบบการไตร่สวนเป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากไม่มีความผิดพลาดเอามาไตร่สวนเพื่อเป็นบรรทัดฐาน ปัญหาก็จะยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ เช่น พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่ช็อกจากการบล็อกหลัง การให้ยาสลบก่อนผ่าตัด การทำคลอด ซึ่งกรณีความผิดพลาดเหล่านี้ หากนำมาให้สังคมรับรู้ การผิดพลาดซ้ำๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต
     
      ด้าน นพ.อำนาจ กุสลานันท์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ช่วงเวลา 17 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนจริยธรรมแพทย์มายังแพทยสภากว่า 3,000 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยบกับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ การโฆษณาอวดอ้าง ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้รับบริการ แพทย์ที่ถูกร้องเรียนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 31-40 ปี โดยยังมีเรื่องค้างการพิจารณาที่แพทยสภากว่า 600 เรื่อง ทางกรรมการแพทยสภาชุดนี้ ยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด บนพื้นฐานความถูกต้องยุติธรรมทั้งต่อผู้ร้องและแพทย์ที่ถูกร้อง เพื่อคุ้มครองประชาชนและไม่กระทบต่อขวัญและกำลังใจของแพทย์ เพราะผลจากการฟ้องร้องแพทย์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้แพทย์จบใหม่จำนวนหนึ่งเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น เช่น เป็นเซลล์ขายตรงแทนการประกอบวิชาชีพแพทย์ หลายคนบอกว่า การฟ้องร้องลดน้อยลงจึงจะกลับมาประกอบอาชีพแพทย์ การผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....ซึ่งมีกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาได้
     
      นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาการขาดแคลนอยู่ สัดส่วนของแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุขมี 55% และส่วนมากกระจายอยู่ตามชนบท และต้องดูแลรับผิดชอบประชาชน 70-80% ทั่วประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบประเทศในภูมิภาคเดียวกัน คือ มาเลเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ภาระการรับผิดชอบคนไข้ แพทย์ไทย มีอัตราความรับผิดชอบแพทย์ ต่อประชาชนจำนวนมาก รองจากประเทศอินโดนีเซีย เพียงประเทศเดียว
     
      “ในอนาคตผู้ป่วยสูงอายุจะเพิ่มขึ้น หมายถึงไทยจะมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้ 60% ไม่สามารถทำงานได้ ต้องมีผู้ดูแล และหมายความถึงระบบสาธารณสุขต้องใช้ทรัพยากรทางการแพทย์จำนวนมาก ในการรับภาระโรคเรื้อรัง ทำให้ภาระแพทย์จะยิ่งเพิ่มขึ้นในอนาคต หากไม่มีมาตรการป้องกันจะยิ่งเกิดความขัดแย้งมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้แพทย์ในสาขาที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ สาขาศัลยศาสตร์ รองลงมาคือ อายุรศาสตร์ และสูติศาสตร์”นพ.ชาญวิทย์ กล่าว
     
      นายจรัล ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการแพทย์นั้น เบื้องต้นควรต้องยอมรับหลักการว่าผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ มีความตั้งใจในการช่วยเหลือคน ไม่ได้คิดอยากทำร้ายผู้ป่วย แต่ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีใครสมบูรณ์ในทุกเรื่อง ดังนั้นหากเป็นความผิดพลาดปกติที่สามารถยอมรับได้ ก็ไม่ควรดำเนินคดีกับแพทย์ โดยเฉพาะคดีอาญาเพราะไม่เกิดประโยชน์กับฝ่ายใดเลย ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายเดือดร้อนก็ไม่ได้ต้องการทะเลาะว่าใครผิดและต้องการการเยียวยา ชดเชย ดังนั้นกระบวนการตัดสินความผิดที่เกี่ยวกับแพทย์จึงควรมีการออกกฎหมายเฉพาะเพื่อพิจารณาคดี แต่ก็ไม่ถึงขั้นต้องตั้งศาลพิเศษเพราะไม่ได้ต้องการให้เกิดคดีขึ้นในจำนวนมาก
     
      “สังคมไทยขณะนี้คนไปหันไปใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหา เมื่อแบ่งเป็นสองฝ่าย ก็ต้องการคนแพ้ คนชนะ กลายเป็นการวิวาททางคดี ซึ่งไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดี จึงอยากให้เขียนบทคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ว่าไม่ต้องรับผิดทางอาญา ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นเหตุผลที่ควรจะคุ้มครอง เว้นแต่แพทย์เจตนา หรือ ประมาทอย่างร้ายแรง แพทย์จะได้มีความมั่นใจในการตัดสินใจ เพราะบางโรคจำเป็นต้องใช้ความมั่นใจ กล้าในการรักษา มิฉะนั้นแพทย์จะระมัดระวัง จนผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษาไป”นายจรัลกล่าว
     
      นายจรัลกล่าวต่อว่า หากจะไม่ใช้ระบบพิสูจน์ ถูกผิด ก็จำเป็นต้องหามาตรการอื่น มารองรับเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบ และมีมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งเห็นด้วยกับการตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ โดยเงินทุนควรจะมาจาก 4 ส่วน คือ 1.ภาครัฐ 2.ผู้ประกอบการสถานพยาบาลเอกชน ที่เชื่อว่าอาจจะคัดค้านแต่ปัจจุบันสถานประกอบการเอกชนก็ต้องจ่ายเงินประกันอยู่แล้ว การเปลี่ยนมาจ่ายเงินเข้ากองทุนแทนไม่น่าจะเกิดปัญหา 3.กองทุนประกันสังคม แม้ว่าจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายทางการแพทย์อยู่แล้ว แต่หากเกิดความเสียหาย ก็จะต้องจ่ายค่ารักษามากกว่าเดิม การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนก็ช่วยชดเชยความเสียหายดังกล่าวได้ และ4. ผู้ประกอบวิชาชีพ เพราะหากไม่มีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน อาจไม่ใส่ใจเพราะคิดว่ามีคนชดเชยความเสียหายให้ จึงถือเป็นการสร้างความรับผิดชอบร่วมกัน





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 18 กรกฎาคม 2550 17:29 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง