[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : ฝีมือเด็กไทยคว้า 1 ทอง 2 เงิน 2 ทองแดง ฟิสิกส์โอลิมปิก

        เด็กไทยเจ๋ง คว้า 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง จากอิหร่านในเวทีฟิสิกส์โอลิมปิกโลก เจ้าของเหรียญทองเปิดเผยเรียนโดยไม่ปล่อยให้ตัวเองเครียด และจะไม่ยอมเครียดกับเรื่องที่ไม่รู้เรื่อง ย้ำต้องเรียนด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ท่องจำ และไม่อยากเห็นสังคมไทยเป็น “สังคมเรียนพิเศษ”
     
      นางสาวนารี วงศ์สิโรจน์กุล รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า จากที่ประเทศไทยได้คัดเลือกและจัดส่งผู้แทนประเทศไทยจำนวน 5 คน ไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 13-21 กรกฎาคม 2550 ณ เมืองอิสฟาฮาน ประเทศอิหร่านนั้นผลปรากฏว่าผู้แทนประเทศไทยสามารถทำได้ 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง ดังนี้
     
      นายกษิดิศ โตประเสริฐพงศ์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ฝ่ายมัธยม) กทม. เหรียญทอง
     
      นายประพฤทธิ์พงศ์ อธิวรัตถ์กูล โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ เหรียญเงิน
     
      นายชานน อริยประกาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. เหรียญเงิน
     
      นายพลณพ สมุทรประภูติ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. เหรียญทองแดง
     
      นายวรวิทย์ วรพิพัฒน์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เหรียญทองแดง

     
      การแข่งขันครั้งนี้มี รศ.สุวรรณ คูสำราญ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นหัวหน้าทีม ผศ.ดร.ปิยพงษ์ สิทธิคง มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นรองหัวหน้าทีม สำหรับผู้แทนประเทศไทยทุกคนจะได้รับทุนไปศึกษาต่างประเทศในระดับปริญญาตรีถึงหลังปริญญาเอกในสาขาวิชาที่ตนเองเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อกลับมาทำงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ประเทศไทย ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีผลผลิตของโครงการโอลิมปิกวิชาการที่เรียนจบปริญญาเอกและกลับมาปฏิบัติงานแล้วในหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆ สร้างคนรุ่นใหม่เป็นทรัพยากรบุคคลของชาติอย่างต่อเนื่อง
     
      นายกษิดิศ โตประเสริฐพงศ์ (แชมป์) โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยมเผยว่า ชอบเรียนฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ โดยเมื่อก่อนชอบทฤษฎีมากกว่าเพราะยังรู้สึกสนุกกับการคำนวณ แต่หลังๆได้รู้จักแลปที่สนุก ได้รู้จักเครื่องมือบางอย่างที่เหลือเชื่อ ตอนนี้จึงชอบทฤษฎีกับแล็บเท่าๆ กัน แชมป์มีหลักการเรียนคือไม่ยอมเครียด และอย่าไปเครียดเมื่อไม่รู้เรื่อง ที่สำคัญอย่าเรียนแบบท่องจำเพราะเดี๋ยวก็ลืม เรียนทุกอย่างต้องเรียนด้วยความเข้าใจ โดยเฉพาะไม่อยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมเรียนพิเศษ
     
      นายประพฤทธิ์พงศ์ อธิวรัตถ์กูล (เบ๊นซ์) โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ เผยว่า ทบทวนความรู้อย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความพร้อมก่อนการแข่งขัน ทุกคนในครอบครัวมีส่วนช่วยอย่างมากในการสนับสนุนให้ก้าวมาจนถึงจุดนี้ เพราะได้รับทั้งคำแนะนำและกำลังใจจากครอบครัวเต็มเปี่ยม วิธีเรียนดีวิชาฟิสิกส์ก็คือเน้นดูที่เหตุผลและทำความเข้าใจ ไม่เน้นท่องจำมากมายอะไรเพราะถ้าเพียงแต่เราเข้าใจเหตุผล ที่มาที่ไป เราก็จะทำได้ หรือหากเรียนแล้วมีจุดไหนสงสัย อย่าอาย อย่าเก็บเอาไว้กับตัว ให้ถามอาจารย์ครับ อยากให้เยาวชนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์กันให้มากขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจอยากเข้าโครงการโอลิมปิกวิชาการก็ขอให้ลองสมัครสอบเพราะได้ทั้งความรู้และประสบการณ์
     
      นายชานน อริยประกาย (หมี) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เล่าว่าโครงการโอลิมปิกวิชาการช่วยให้ได้ความรู้ด้านฟิสิกส์ทั้งด้านทฤษฏีคือการแก้ปัญหา และด้านปฏิบัติในการทำการทดลอง ได้รู้จักเพื่อนๆที่สนใจด้านเดียวกัน ได้เพิ่มพูนความรู้และทักษะการคิดแบบวิทยาศาสตร์ เคล็ดลับในการเรียนคือเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ส่วนเบื้องหลังความสำเร็จคือครอบครัวซึ่งคอยให้กำลังใจเต็มที่ นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลส่งเสริมการเรียนการสอนและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนสนใจวิชานี้เพิ่มขึ้น
     
      นายพลณพ สมุทรประภูติ (โพ) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการโอลิมปิกวิชาการเพราะอยากเพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับตนเอง ได้เรียนอย่างเข้มข้นในวิชาที่ชอบ ได้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่รัก และคิดว่าจะได้ค้นพบตัวเอง ชอบเรียนฟิสิกส์เพราะเป็นวิชาที่ช่วยเผยความงามของธรรมชาติ ทำให้สิ่งซับซ้อนเป็นสิ่งเรียบง่าย มีรูปแบบ วิชานี้จึงมีความน่าสนใจ ควรแก่การค้นหาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น วิธีเรียนของผมคือพยายามไม่รู้สึกต่อต้านความยากหรือปริมาณที่เยอะของเนื้อหาที่เรียน เรียนอย่างใจเย็น มีสมาธิ เก็บให้ได้ถึงรายละเอียด สำหรับการเรียนฟิสิกส์ควรฝึกแก้ปัญหาด้วยตนเอง พยายามไม่เปิดเฉลยในทันที ตั้งคำถามให้ตัวเองบ่อย ๆ เมื่อตอบไม่ได้จริงๆ จึงไปปรึกษาผู้อื่น ไม่หวงความรู้ คือสอนคนอื่นด้วย ส่วนหนังสือในดวงใจคือ The Tao of Physics เพราะกล่าวถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างฟิสิกส์ยุคใหม่กับความเชื่อทางฝั่งตะวันออก และคิดว่าจะรับทุนโอลิมปิกวิชาการไปเรียนต่อต่างประเทศ
     
      นายวรวิทย์ วรพิพัฒน์ (วิทย์) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เล่าว่า จากประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชียทำให้เรียนรู้ว่าจะต้องบริหารจัดการเวลาในการแข่งขันให้เหมาะสมอย่างไร ซึ่งก็ได้นำไปปรับใช้ในเวทีโลกครั้งนี้ครับ
     
      คณะผู้แทนประเทศไทยฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ จะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2550 นี้ เวลา 8.05 น. ด้วยเที่ยวบิน TG 518 สสวท.จะมีพิธีต้อนรับคณะผู้แทนประเทศไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตามกำหนดการดังกล่าว จึงขอเชิญชวนชาวไทยร่วมเป็นกำลังใจและต้อนรับคณะผู้แทนประเทศไทยด้วย





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 22 กรกฎาคม 2550 12:46 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง