[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : ''ปู่วิจิตร'' ค้านเก็บ ''แอ๊บแบ๊ว'' รวมในพจนานุกรม

      “วิจิตร” ไม่เห็นด้วยเก็บคำแสลงวัยรุ่นรวมกับคำมาตรฐานในพจนานุกรม ชี้ไม่มีความจำเป็นต้องรวบรวม หรือหากจะเก็บก็ควรแยกเล่มต่างหาก ระบุครูสอนภาษาไทยควรมีการพัฒนาและต้องมีการประเมินทั้งครูใหม่และครูเก่าทั้งหมด
     
      ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องในปัจจุบันว่า ภาษาไทยเป็นปัญหาของการศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากผลสัมฤทธิ์การเรียนภาษาไทยของเด็กนักเรียนเฉลี่ยเพียง ร้อยละ 50 เท่านั้น อยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ปัญหาการใช้ภาษาไทยไม่เหมาะสม หรือการใช้ภาษาไทยปนกับภาษาต่างประเทศ เป็นพฤติกรรมการใช้ภาษาในปัจจุบันที่ควรมีมาตรการในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
     
      ปัญหาคือจะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยให้เหมาะสมกับในยุคปัจจุบัน
     
      รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ก็ได้ดำเนินการพัฒนาการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญ และควรศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการใช้ภาษาไทยว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และจะมีแนวทางในการพัฒนาอย่างไร ซึ่งการพูดเปิดประเด็นเป็นการย้ำเตือนที่ดี แต่หยุดอยู่เพียงแค่นั้นไม่ได้เพราะจะไม่เกิดผลอะไรขึ้น
     
      นอกจากนี้การที่ราชบัณฑิตยสถานจะดำเนินการจัดเก็บคำแสลงที่ใช้ในหมูวัยรุ่น เช่น คำว่า แอ๊บแบ๊ว ที่นำเอาภาษาอังกฤษมารวมกับภาษาไทย ก็ยังเกิดการถกเถียงกันว่า ควรดำเนินการหรือไม่ เพราะหากมีการรวบรวมไว้ก็จะบอกได้ว่าเป็นภาษามาตรฐานสามารถนำมาใช้ได้ แต่หากไม่เก็บก็เกรงว่าคำเหล่านี้จะหายไป
     
      “การสร้างคำด้วยวิธีนี้ มีแต่ทำให้สับสน เพราะภาษาไทยก็ไม่ใช่ ภาษาอังกฤษก็ไม่เชิง กลายเป็นภาษาอะไรก็ไม่รู้ และก็รู้ในหมู่ไม่กี่คน แต่หากเราไปยอมรับภาษาเหล่านี้ สื่อก็จะนำมาใช้กันอย่างเอิกเกริก ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ภาษาที่จะใช้เป็นสื่อกลาง หากจะเก็บรวบรวมผมเห็นว่าควรแยกเล่ม ไม่ควรเก็บรวมกับคำในพจนานุกรม เพราะพจนานุกรมควรจะเก็บคำที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งคำแสลงมีใช้กันอยู่ ผมไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องไปเก็บรวบรวมแต่อย่างใด”
     
      ศ.ดร.วิจิตรกล่าวอีกว่า การจะทำให้ใช้ภาษาไทยถูกต้อง ออกเสียงถูกต้องเป็นหน้าที่ของ ศธ.แต่ต้องไม่ลืมว่าบางคนมีข้อบกพร่อง เช่น คนใต้ออกเสียง ง.งู ไม่ได้ เราก็ต้องอยมรับว่าแต่ละคน หรือแต่ละภูมิภาคที่มีภาษาถิ่นของตัวเอง อาจจะไม่มีเสียงบางเสียง ดังนั้น เราก็ต้องพยายามสอนตามมาตรฐานกลางให้ถูกต้องมากที่สุด เพราะปัญหาการใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องส่วนหนึ่งคนอ่านออก เขียนได้ แต่อาจจะออกออกเสียง ร.เรือ ล.ลิงไม่ชัด หรือเสียงสูง-ต่ำไม่ชัดเจน แต่หากสามารถสื่อสารกันได้ ก็ไม่เสียหายมากนัก อยู่ที่เราจะเคร่งครัดมากแค่ไหน
     
      “ศธ.มีหน้าที่สอนภาษาไทยให้ถูกต้อง ซึ่งการรณรงค์อย่างเดียวไม่พอ ต้องกลับไปดูว่าการผลิตครูภาษาไทยมีคุณภาพมาตรฐานหรือไม่ ทั้งครูเก่าและใหม่ด้านภาษาไทยต้องประเมินกันใหม่หมด และหากพบมีจุดบอดก็ต้องปรับปรุง รวมถึงต้องไปดูหลักสูตรว่าคลอบคุลมถูกต้องแค่ไหน ที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาครู นอกจากนี้สื่อก็มีบทบาทสำคัญที่ทำให้การใช้ภาษาไทยผิด ดังนั้นสื่อก็ต้องระมัดระวังและตระหนักในเรื่องดังกล่าวด้วย“รมว.ศธ.กล่าว





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 27 กรกฎาคม 2550 14:35 น.

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 0

อ่าน 0 ครั้ง