[ Home ]  [ Today 's Event ]  [ FAQ ]  [ บันทึกงาน ]
User: Passwd:
ค้นหาข้อมูล:

ข่าวการศึกษา : ประสานเสียงใช้วันเยาวชนฯแก้ปัญหาเด็ก

ประสานเสียงยึดวัน “เยาวชนแห่งชาติ” เร่งแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ''ยูนิเซฟ'' วอนขอให้ถอนอนุสัญญา 2 ข้อ เพื่อผ่อนปรนการจดทะเบียนเกิด และการมีสถานะของผู้ลี้ภัยเด็ก ขณะที่ บรรดา ''ครู'' บอกว่าใน ''วันเยาวชนแห่งชาติ'' ต้องการให้ครูเห็นใจเด็กอย่างเท่าเทียมกัน อย่าเลือกปฏิบัติ ''ดร.วิจิตร'' รับลูก ให้สิทธิเรื่องการเรียนเด็กเท่าเทียม แต่มีปัญหาเรื่องใบรับรองวุฒิการศึกษา หนุนฟื้นแก้ ก.ม.ไร้สัญชาติ

ความคืบหน้ากรณีการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติที่ ''เดลินิวส์'' ได้เกาะติดมาอย่าง ต่อเนื่อง ซึ่งในโอกาสวันที่ 20 ก.ย.นี้ ถือเป็น ''วันเยาวชนแห่งชาติ'' และแน่นอนว่าเด็กไร้สัญชาติเหล่านี้ ย่อมได้รับโอกาสหรือสิทธิต่าง ๆ ที่ควรได้รับน้อยกว่าคนอื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้นั้น เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 ก.ย. นายเศรษฐศักดิ์ อรรคนิมาตย์ เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก องค์การเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ สำนักงานประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ยูนิเซฟมีความกังวลเรื่องเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทยมาก เพราะเป็นเหตุทำให้เด็กไม่สามารถเข้าสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการแสวงประโยชน์ และการละเมิดในรูปแบบต่าง ๆ โดยยูนิเซฟขอชื่นชมประเทศไทย ในความพยายามเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการไร้สถานะของบุคคลจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน แต่ในส่วนการปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐซึ่งเป็นหน่วยงานหลักนั้น ทางยูนิเซฟเห็นว่า ยังช้าอยู่ ซึ่งส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีความลำบากในการดำรงชีวิต

นายเศรษฐศักดิ์ กล่าวอีกว่า กรณีการสำรวจบุคคลในสถานศึกษาและการให้เลขประจำตัว 13 หลัก โดยมีเลข 0 นำหน้านั้น ถ้าเป็นไปได้ในส่วนการกำหนดสถานะนั้นน่าจะมีความคืบหน้าบ้าง เพื่อจะได้เอื้อประโยชน์แก่เด็กและเยาวชนจึงไม่ควรล่าช้า จึงอยากจะถือโอกาสในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ที่เป็น ''วันเยาวชนแห่งชาติ'' และในฐานะที่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เรียกร้องให้ประเทศไทยถอนข้อสงวนในอนุสัญญาฯ 2 ข้อ ซึ่งได้แก่ อนุสัญญาข้อ 7 ที่ว่าด้วยการจดทะ เบียนเกิด และการมีสัญชาติของเด็ก และข้อ 22 ที่ว่าด้วยการมีสถานะของผู้ลี้ภัยเด็ก เพราะก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเคยถอนอนุสัญญาฯ ข้อ 29 ว่าด้วยเรื่องการศึกษาไปแล้ว เหลืออีกเพียง 2 ข้อเท่านั้น และคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เคยทำความเห็นลงในรายงานความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาสิทธิเด็กที่ประเทศไทยไปแล้ว 2 ครั้ง นอกจากนี้ ยูนิเซฟต้องการเห็นการจดทะเบียนเกิดอย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวัฏจักรการไร้สถานะซ้ำซ้อน

ด้านนางมุกดา อินต๊ะสาร ครู รร.ถ้ำปินวิทยาคม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยเช่นกันว่า ที่โรงเรียนมีเด็กชาวเขาเผ่าเย้า ร่วมเรียนกับเด็กสัญชาติไทยด้วยกัน ซึ่งสภาพแวดล้อมในโรงเรียนยืนยันว่าไม่มีปัญหาในการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ เพราะผู้ปฏิบัติทุกคนมีความเข้าใจ ดูแลเด็กด้วยความเมตตา เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ และในฐานะที่เป็นข้าราชการครู อยากจะเห็นข้าราชการครูทุกคน ดูแล ช่วยเหลือ ไม่ทอดทิ้งเด็กที่ยากลำบาก เพราะเด็กทุกคนมีคุณค่าและมีโอกาสที่เจริญก้าวหน้าได้ หากได้รับการช่วยเหลือ สาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติของครูนั้น เกิดจากความไม่รู้และไม่เข้าใจ จนเกิดการอคติขึ้น ดังนั้น ก่อนที่จะมีความรู้สึกและมีความคิดตัดสินใจอะไรลงไปนั้น ควรจะหาข้อเท็จจริงก่อนว่า ความไร้สัญชาติไม่ใช่ความผิดของเด็ก นอกจากนี้ ในแง่ของการเรียนควรจะสอนวิธีคิดต่าง ๆ ให้เด็กไปด้วยสักระยะหนึ่ง เพราะเมื่อเด็กได้รับข้อมูลมากขึ้นจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ และที่ไม่ควรปฏิบัติก็คือ การให้เขารู้สึกแตกต่าง เพราะจะทำให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างไม่มีความแตกต่าง

ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ คำแพงอ้วน หัวหน้ากลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ รร.วัดแสมดำ กทม. กล่าวว่า ที่โรงเรียนได้รับฝากเด็กชาวเขาซึ่งเป็นเด็กไร้สัญชาติจากองค์การสหประชาชาติ 6 คน เรียนอยู่ในชั้นอนุบาล 2 คน และประถมศึกษาปีที่ 1 อีก 4 คน เบื้องต้นของการปฏิบัตินั้นจะต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะพูดภาษาไทยยังไม่ค่อยดี จึงต้องแบ่งออกมาสอนเพื่อจะได้เรียนตามเพื่อนทัน เมื่อผลการเรียนดีขึ้นจึงค่อยนำเข้าไปเรียนในชั้นเรียนปกติ โดยพบว่าเด็กเหล่านี้สามารถเข้ากับเพื่อน ๆ ได้ดี ''ในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ อยากจะให้ครูในสถานศึกษาที่มีเด็กไร้สัญชาติเรียนอยู่นั้น เข้าใจว่าตามหลักมนุษยธรรมแล้ว เด็กชาวเขาเหล่านี้เราต้องดูแลเป็นพิเศษกว่าเด็กไทย ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ การกิน เพื่อจะได้ไม่เกิดความแตกต่าง ส่วนครูเองก็ต้องมีจิตเมตตากับเด็ก เพื่อให้เขาสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะความไร้สัญชาติไม่ใช่ความผิดของเด็ก''

วันเดียวกัน ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว. ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร่งให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แจงหน่วยงานที่ดูแลเด็กไร้สัญชาติเมื่อเรียนจบให้ได้รับวุฒิการศึกษาที่เท่าเทียมกับเด็กไทยว่า เรื่องดังกล่าวต้องไปแก้ไขที่หน่วยงานต้นสังกัดในการดูแลผู้ไร้สัญชาติ นั่นก็คือกระทรวงมหาดไทย เพราะไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะต้องรับผิดชอบ แต่ต้องยกให้เป็นวาระแห่งชาติที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งทุกวันนี้มีคนต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เข้ามาอย่างถูกกฎหมายบ้างและไม่ถูกกฎหมายบ้าง ซึ่งกลุ่มผู้ไร้สัญชาติเหล่านี้เข้ามาตั้งรกรากที่ประเทศไทยจนมีลูกเกิดบนแผ่นดินไทย เมื่อคลอดบุตรออกมาก็ไม่สามารถไปแจ้งเกิดได้เพราะไม่มีหลักฐานที่อยู่อย่างชัดเจน ส่งผลให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ ดังนั้นเมื่อไม่มีสัญชาติก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง แม้กระทั่งจะเรียนหนังสือก็ไม่สามารถเรียนได้ อย่างไรก็ตามเท่าที่ทราบขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งให้มีกฎหมายสัญชาติอยู่ ซึ่งเชื่อว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน

ต่อข้อถามถึงศธ.มีระเบียบในการดูแลเรื่องการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติอย่างไรบ้าง ศ.ดร.วิจิตร กล่าวว่าหน้าที่ของศธ.คือการให้การศึกษาอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือไม่มีสัญชาติก็ตาม เด็กทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงเพราะการศึกษาไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร แต่ติดปัญหาคือ การออกใบรับรองวุฒิการศึกษาให้ เพราะเด็กไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าตัวเองเป็นคนไทยจึงจำเป็นต้องนำปัญหาวกกลับไปถามถึงต้นเหตุว่าเกิดจากอะไร เพราะเรื่องนี้จะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างเดียวไม่ได้แต่ก็มีบางกรณีที่จำเป็นจะต้องออกใบรับรองวุฒิให้ เช่น นักเรียนแพทย์ที่ไร้สัญชาติแต่ไม่สามารถเซ็นรับทุนได้เพราะไม่มีสัญชาติ ทางศธ.ก็จี้ไปทาง กระทรวงมหาดไทยดูแลการออกใบรับรองสัญชาติให้ เป็นต้น ซึ่งตนเห็นว่าจะทำแบบนี้กับทุกคนคงไม่ได้เพราะจำนวนเด็กไร้สัญชาตินับวันยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น ตนจึงเห็นด้วยที่จะนำเรื่องเด็กไร้สัญชาติมารื้อฟื้นกันใหม่อีกครั้ง.





ดูรายละเอียดเพิ่มเติม


โดย:
งาน: งานบุคลากร
อ้างอิงแผนงาน : -
อ้างอิงโครงการ : -
แหล่งที่มา: เดลินิวส์ ฉบับที่ 21161 [หน้าที่ 27 ] ประจำวันที่ 20 กันยายน 2550

ขอบคุณสำหรับการโวตท์
Vote
เป็นประโยชน์ต่อผู้โพสต์เอง
เป็นประโยชน์ต่อฉัน
เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครอง
เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน
มีประโยชน์ต่อทุกคน
บุคลากร 0 บุคคลภายนอก 1

อ่าน 0 ครั้ง